รางวัลแด่ 10 คุณครูไทยผู้มีผลงานดีเด่นในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการสอน
ใน Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2016
ดร.สุพจน์ ศรีนุตพงษ์ ผู้อำนวยการโครงการภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (แถวหลังที่ 3 จากซ้าย) และนายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (แถวหลังที่ 3 จากขวา) ร่วมมอบรางวัลแก่ 10 ครูไทยผู้มีผลงานดีเด่นในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาการสอน ในกิจกรรม Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2016 ที่โรงแรมริเวอร์ไซด์ กรุงเทพฯ เมื่อเร็วๆ นี้
กรุงเทพฯ 14 มีนาคม 2559 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดงานประกาศผลครูหัวใจไอที ผู้ชนะเลิศจากการแข่งขันการนำเสนอผลงานวิชาการ Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2016 (ไทยแลนด์ อินโนเวทีฟ ทีชเชอร์ ลีดเดอร์ชิพ อวอร์ด 2016) โดยในปีนี้มีครู 10 ท่าน จากครูทั้งสิ้น 4,800 ท่านทั่วประเทศ ที่ผ่านการคัดเลือกด้วยผลงานอันโดดเด่นในการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียนอย่างมีประสิทธิภาพ
กิจกรรม Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2016 ในปีนี้จัดขึ้นเป็นปีที่ 12 โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพาร์ทเนอร์ อิน เลิร์นนิ่ง (Partners in Learning) ริเริ่มโดย บริษัท ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น ได้ร่วมมือกับภาคการศึกษาทั่วโลกในการสร้างเครือข่ายและชุมชนครูที่เข้มแข็ง เพื่อพัฒนาการศึกษาในโรงเรียนทั่วโลก
ที่ผ่านมาได้มีผลสำรวจของไมโครซอฟท์กับครูจำนวน 200 คนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก พบว่าครูทั้งหมดเห็นพ้องว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวแปรสำคัญในการปฏิรูปและพัฒนาการระบบศึกษาในอนาคต และครูเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 96) ได้นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนแล้ว และร้อยละ 95 เห็นความสำคัญของเทคโนโลยีในการปฏิรูปการศึกษาและการสร้างแรงบันดาลใจแก่นักเรียนผ่านสื่อการเรียนการสอน โดยมองว่าเทคโนโลยีสามารถยกระดับการเรียนรู้ พัฒนาประสิทธิภาพในการสอนของตัวคุณครูเองและช่วยเพิ่มประสิทธิผลในการสื่อสารกับนักเรียน
“ครูผู้สอนตระหนักว่าเทคโนโลยีมีพลังในการสร้างความเปลี่ยนแปลงการศึกษาและช่วยให้เยาวชนเติบโตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้สอนหลายท่านมีแนวทางการสอนที่สร้างสรรค์และน่าประทับใจผ่านเทคโนโลยี ทำให้เกิดรูปแบบการเรียนการสอนใหม่ๆ ที่เรียนได้ทั้งในและนอกห้องเรียน สำหรับผมครูเปรียบเหมือนยอดมนุษย์ที่มุ่งมั่นทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ โดยพยายามหาทางฉีกกรอบการเรียนการสอนแบบเดิมๆ สร้างสรรค์เนื้อหาผนวกกับสื่อทางเทคโนโลยี เพื่อนักเรียนได้รับประโยชน์มากที่สุด” นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด กล่าว
อย่างไรก็ดี การสำรวจในครั้งนี้ ยังแสดงให้เห็นถึงหลายสิ่งที่ท้าทายของครูในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยคุณครูให้ความเห็นว่าอุปสรรคในการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเรียนการสอนคือ 1) การขาดการฝึกอบรมที่เหมาะสมและเพียงพอ (ร้อยละ 53) 2) การขาดเงินทุน (ร้อยละ 51) และ 3) การขาดการผสมผสานที่ดีพอระหว่างเทคโนโลยีและบทเรียน (ร้อยละ 46) ซึ่งความท้าทายทั้ง 3 ประการนี้ เป็นสิ่งกระตุ้นให้เกิดความพยายามในการเข้าถึงการศึกษาและเทคโนโลยีแบบองค์รวม และการสำรวจยังพบอีกว่าครูต้องการเห็นนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับการสอนคือ 1) การสร้างบทเรียนหรือเนื้อหาที่ออกแบบสำหรับตัวบุคคลโดยเฉพาะ (ร้อยละ 57) 2) มีเทคโนโลยีที่ทำให้นักเรียนคล้อยตามและสนุกขึ้น (ร้อยละ 56) และ 3) บริการอันชาญฉลาดที่ช่วยบริหารจัดการการเรียนการสอนในชั้นเรียน (ร้อยละ 46)
ด้วยเหตุนี้ กิจกรรม Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2016 จึงมีจุดมุ่งหมายในการกระตุ้นให้ครูทุกระดับชั้น ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการสอนด้วยการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยคุณครูภูมิพัฒน์ วนพิพัฒน์พงศ์ จากวิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 1 ใน 10 ครูผู้ได้รับรางวัล กล่าวว่า “ในโครงการ Partners in Learning ไมโครซอฟท์ได้มีการอบรมคุณครูให้รู้จักเทคโนโลยีที่ง่ายต่อการใช้งานและเป็นประโยชน์ต่อการเรียนการสอน อย่างการใช้โปรแกรมต่างๆ อาทิ Sway ในการสร้างผลงานออนไลน์ การทำอีบุ๊คด้วย PowerPoint การใช้ OneDrive เพื่อเก็บภาพหรือวีดีโอ ซึ่งเป็นการเปิดโอกาสให้ครูได้เรียนรู้วิธีใหม่ๆ ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ประโยชน์ในการสอน นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยีมาใช้ในห้องเรียนทำให้นักเรียนหันมาสนใจการเรียนมากขึ้น ทั้งยังกระตุ้นให้เด็กนักเรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ซึ่งตัวเด็กนักเรียนสามารถนำโปรแกรมต่างๆ ไปฝึกฝนและใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อช่วยเหลือครอบครัวหรือชุมชนได้”
นางสาวสุรางคณา ศรีสวัสดิ์ จากโรงเรียนสตรีศรีน่าน จังหวัดน่าน กล่าวเสริมว่า “เทคโนโลยีสามารถช่วยส่งเสริมโอกาสในการเรียนรู้ เติมเต็มทักษะในทางสร้างสรรค์ให้แก่นักเรียน เช่น หากตั้งโจทย์ให้นักเรียนหาข้อมูลเรื่องน้ำ นักเรียนจะสนุกในการค้นหาข้อมูลด้วย search engine และตื่นเต้นไปกับข้อมูลใหม่ๆ ที่ได้ค้นพบ เด็กนักเรียนสามารถนำความรู้มาสร้างเรื่องราวผ่านโปรแกรมต่างๆ อาทิ Word หรือ PowerPoint โดยครูจะทำหน้าที่ส่งเสริมการวิเคราะห์ สังเคราะห์ข้อมูล ตลอดจนสะท้อนวิธีคิดและเทคนิค นักเรียนเองสามารถเลือกประเด็นที่น่าสนใจมาตั้งเป็นโจทย์ใหม่ได้เรื่อยๆ ซึ่งทำให้เห็นว่าเทคโนโลยีได้ทำหน้าที่จุดประกายให้เด็กต่อยอดการเรียนรู้ต่อไปได้เรื่อยๆ”
“เทคโนโลยีเป็นเพียงเครื่องมือไม่ใช่คำตอบ ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง ก็ต่อเมื่อคุณครูผู้สอนต่างเข้าใจและรู้จักการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการสอนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเสริมสร้างทักษะสำคัญสำหรับศตวรรษที่ 21 ให้แก่เด็กนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นความคิดสร้างสรรค์ การคิดวิเคราะห์ การสื่อสารหรือความเข้าใจในเทคโนโลยี และไมโครซอฟท์ก็พร้อมเป็นกำลังสำคัญให้กับครูผู้สอนและนักเรียนทุกคนเพื่อผลสำเร็จที่ดียิ่งกว่า และเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับการศึกษาไทย” นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐและการศึกษา บริษัท ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย จำกัด กล่าวสรุป
คุณครู 10 ท่านผู้ชนะเลิศ ในโครงการ Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2016 ได้แก่
นายจันทร์ ติยะวงศ์ โรงเรียนสุรนารีวิทยา จังหวัดนครราชสีมา จากโครงงาน “รูปแบบการสอนคณิตศาสตร์ที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ(PPP C AA Model)ที่ส่งผลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน กระบวนการและคุณลักษณะที่พึงประสงค์” |
นายชนกนันท์ พะสุโร โรงเรียนบ้านบ่อหิน จังหวัดยะลา จากโครงงาน “การเรียนการสอนแบบภควันตภาพ[1]เพื่อนักเรียนในศตวรรษที่ 21” |
นางสาวโซเฟีย อีซอ โรงเรียนมหาราช 2 จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากโครงงาน “ห้องเรียนคณิตศาสตร์บูรณาการสู่ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Math บ้านเรา) By ครูเฟีย” |
นายนวัช ปานสุวรรณ โรงเรียนบรรหารแจ่มใสวิทยา 3 จังหวัดสุพรรณบุรี จากโครงงาน “การเรียนด้วยของเล่นวิทยาศาสตร์แบบสเต็มศึกษา” |
นายภูมิพัฒน์ วนพิพัฒน์พงศ์ วิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก จากโครงงาน “Technology QR Code by WBI วิชาโปรแกรมมัลติมีเดียเพื่อการนำเสนอ” |
นายศักดิ์อนันต์ อนันตสุข โรงเรียนนารายณ์คำผงวิทยา จังหวัดสุรินทร์ จากโครงงาน “การใช้โปรแกรมพื้นฐานทางดาราศาสตร์ส่งเสริมความเข้าใจและฝึกวิจัยการโคจรของวัตถุท้องฟ้า” |
นายศุภโชค พุทธิสารวิมล โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัยสมบูรณ์กุลกันยา จังหวัดสงขลา จากโครงงาน “เรียนรู้ สนุกคิด กับฟิสิกส์ ผ่านระบบ ICT ด้วยเทคโนโลยีพื้นฐานและการทดลองเสมือน” |
นายสิทธิชัย ผ่องใส โรงเรียนฝางชนูปถัมภ์ จังหวัดเชียงใหม่ จากโครงงาน “คณิตศาสตร์กับเทคโนโลยี ทักษะชีวิตและการทำงาน” |
นายสุทธิกิตติ์ ธิติวรนันท์ โรงเรียนอัสสัมชัญธนบุรี จังหวัดกรุงเทพมหานคร จากโครงงาน “ห้องเรียน “มนุษย์ที่สมบูรณ์” ในศตวรรษที่ 21” |
นางสาวสุรางคณา ศรีสวัสดิ์ โรงเรียนสตรีศรีน่าน จังหวัดน่าน จากโครงงาน “เรียนเล่นให้เป็นเรื่อง”
|
นอกจากนี้ ครูผู้ชนะเลิศทั้ง 10 ท่าน ในปีนี้ ยังได้รับพระกรุณาธิคุณเข้าเฝ้าเพื่อรับพระราชทานถ้วยรางวัลจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต ในเดือนกรกฎาคม ที่จะถึงนี้ด้วย
[1] การศึกษาภควันตภาพ หรือ Ubiquitous Education เป็นระบบการศึกษาแห่งอนาคตที่เป็นการศึกษาแบบองค์รวมผ่านทางเทคโนโลยี แนวคิดของการศึกษาภควันตภาพคือการศึกษาที่ไม่คำนึงถึงระยะทาง (การศึกษาทางใกล้ หรือ เผชิญหน้าในห้องเรียน และการศึกษาทางไกล หรือ เรียนเองที่บ้านหรือที่ทำงาน) โดยนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้ทุกที่ทุกเวลา
You must be logged in to post a comment.