สรุปข่าว! แจสชักดาบ ไม่ชำระค่าประมูล 4 จี คลื่น 900 MHz งวดแรกตามคาด โดนยึดเงินประกัน 644 ล้านบาท และเตรียมโดนฟ้องค่าเสียหายทั้งหมด

2016-03-21_220013

  วันนี้( 21 มี.ค.) เมื่อเวลา 16.45 น.ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธาน กสทช.และประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เปิดเผยว่า บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ซึ่งเป็นผู้ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิร์ตซ ที่เสนอราคา 75,654 ล้านบาท ไม่เข้ามาชำระเงินประมูลงวดแรกในจำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน (แบงก์การันตี) เงินประมูลที่เหลือ 67,614 ล้านบาท“ 

ภายหลังสิ้นสุดกำหนดการชำระเงินค่าใบอนุญาต 4จีบนคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ งวดแรก จำนวน 8,040 ล้านบาท พร้อมหนังสือค้ำประกันจากสถาบันการเงิน(แบงก์การันตี) ในวันที่ 21 มี.ค. เวลา 16.30 น.ของบริษัทแจส โมบาย บรอดแบนด์ (แจส) ในเครือ บริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ซึ่งผู้ชนะการประมูลไม่มาชำระเงิน

03ce59

             พ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กล่าวว่า เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าบริษัทแจสไม่สามารถมาดำเนินการได้ทันกำหนดเวลา ดังนั้นในเบื้องต้นกทค.ได้วางแนวทางดำเนินการกรณีผู้ชนะประมูลไม่มาชำระเงินตามกำหนดเวลาโดยยึดตามมติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 3/2559 เมื่อวันพุธที่ 3 ก.พ.2559

           

             ทั้งนี้บอร์ด กทค.จะประชุมอีกครั้งในวันที่ 23 มี.ค.2559 เพื่อกำหนดรายละเอียดในการออกประกาศที่ชัดเจน สำหรับการสรุปค่าเสียหายที่จะเรียกเก็บกับผู้ชนะประมูลแต่ไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต กทค.จะวิเคราะห์และสรุปค่าเสียหาย ทั้งหมด เรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อนดังนั้นต้องระมัดระวังในการดำเนินการ หลักการของกทค.จะต้องไม่ทำให้ประเทศสูญเสียทั้งรายได้และการให้บริการประชาชน ขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะสรุป

             อย่างไรก็ดี นับเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งแรกของประเทศไทยที่เกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้ แต่สำหรับครั้งแรกของโลกหรือไม่นั้นไม่แน่ใจ ที่ผ่านมาในต่างประเทศหากมีการเคาะราคาที่สูงเกินไปจะให้ทำการหยุดการเคาะประมูลทันที ขอยืนยันว่ากสทช.ทำหน้าที่ได้ดีที่สุดแล้ว โอเปอร์เรเตอร์จะต้องรับผิดชอบผู้ถือหุ้นต่างๆ ตามระเบียบข้อบังคับ

             เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมา บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ในเครือ บริษัท ทรูคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในชุดที่ 2 ช่วงคลื่น 905-915 คู่กับ 950-960 เมกะเฮิรตซ์ ได้นำเงินค่าประมูลงวดแรกจำนวน 8,040 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 อีก 562 ล้านบาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 8,602 ล้านบาท มาชำระให้กับทางสำนักงานกสทช.ซึ่งก่อนหน้านี้บริษัทได้วางหลักประกันจำนวน 644 ล้านบาท จึงเหลือเงินที่จะนำมาประมูลชะนะในวันดังกล่าว 7,958 ล้านบาท พร้อมกันนี้ได้นำหนังสือค้ำประกันจากสถาบันเงินเพื่อค้ำประกันการชำระเงินประมูลคลื่นความถี่ในส่วนที่เหลือวงเงิน 73,036 ล้านบาท จะมาชำระให้ตามเงื่อนไขเป็นที่เรียบร้อย

            

03ce57

ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. กล่าวว่า การประเมินความเสียหายอาจต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่า 1 เดือน โดยจะมอบให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายเข้ามาพิจารณาเพื่อให้เกิดความชัดเจน ทั้งการดำเนินคดีและการคำนวณค่าเสียหาย โดยข้อสรุปจะนำเสนอกับบอร์ดกทค.พิจารณา จากนี้กสทช.สามารถยึดหลักประกันทางการเงินจำนวน 644 ล้านบาท หลังจากนี้เมื่อได้ข้อสรุปกทค.จะสรุปแนวทางและนำเสนอเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีเพื่อรับทราบต่อไป

             เมื่อช่วงเช้าของวันดังกล่าว นายฐากรกล่าวไว้ว่า ยังไม่ได้รับการติดต่อประสานงานจากบริษัทแจสโมบายแต่อย่างใด ทว่าได้ติดต่อประสานกับเจ้าหน้าที่ของแจส(หนึ่งในผู้เข้าร่วมประมูล) และเสนอว่าในฐานะบริษัทมหาชนไม่ว่าจะจ่ายหรือไม่จ่ายควรแถลงข่าวให้ประชาชนได้รับทราบเพื่อความชัดเจน แต่ทั้งนี้ผู้บริหารจากทางแจสแจ้งแต่เพียงว่าผู้ใหญ่ให้เตรียมตัว

             ขณะเดียวกัน ทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ได้ประสานสอบถามเข้ามาทางกสทช.ว่าเป็นอย่างไร ทางกสทช.เองก็ได้ประสานให้ตลท.สอบถามกับแจสถึงความชัดเจนด้วยอีกทางหนึ่ง

             ด้านนายสืบศักด์ สืบภักดี นักวิจัยโทรคมนาคม ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ กล่าวว่า หากแจสไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาต คงต้องเตรียมรับผลกระทบที่จะมีกับธุรกิจในเครือจัสมิน ซึ่งคาดว่าจะมีผลกระทบค่อนข้างมากอย่างแน่นอน เนื่องจากแจสเป็นบริษัทลูกของบริษัทจัสมินซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ และจากการทิ้งงานที่ร่วมกับภาครัฐ ในส่วนนี้แจสคงเตรียมรับผลกระทบไว้แล้วเมื่อตัดสินใจที่จะเลือกการไม่ชำระเงิน

             สำหรับทางออกที่ภาครัฐมองไว้โดยเริ่มจากการประมูลใหม่ในราคา 7.5 หมื่นล้านบาท อาจจะลำบากถ้าประมูลใหม่ภายใน 4 เดือน เพราะโอเปอเรเตอร์แต่ละรายได้ลงทุนทางด้านธุรกิจและการขยายเครือข่ายไปมากแล้ว ส่วนหากจะเก็บคลื่นไว้ 1 ปี จึงประมูลใหม่ ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งหนึ่งว่าผู้ให้บริการจะขานรับหรือไม่

             ด้านแนวทางที่กสทช.เตรียมเสนอให้สิทธิกับผู้เสนอราคาลำดับถัดมาให้มารับสิทธิในเงื่อนไขราคาที่แจสประมูลได้ อาจจะเป็นวิธีการหนึ่งที่เป็นทางออกของภาครัฐที่มีการรับรู้รายได้จากการประมูลไปแล้ว แนวทางนี้จะยังทำให้มีรายได้เข้ารัฐ แต่ก็ต้องดูด้วยว่าโอเปอเรเตอร์รายถัดไปจะยอมรับเงื่อนไขได้หรือไม่ ที่สำคัญรัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีจะเห็นชอบแนวทางใด เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีคงต้องตัดสินใจเอง ทว่าต้องไม่ลืมว่าไม่ว่าจะเลือกวิธีการได้ทางผู้ชนะประมูลอย่างทรูมูฟคงเตรียมทีมกฎหมายจับตาดูอยู่แล้วและพร้อมจะร้องต่อศาลเพื่อปกป้องธุรกิจของตัวเองด้วยแน่นอน

 

นายฐากรกล่าวอีกว่า ต้องการให้ทางผู้บริหารแจสเป็นผู้ออกมาชี้แจงเอง เพราะเป็นบริษัทมหาชน ควรมีธรรมภิบาลในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งทางตลาดหลักทรัพย์เองก็ได้พยายามติดต่อผู้บริหารแล้วแต่ก็ไม่สามารถติดต่อได้ จะจ่ายหรือไม่จ่าย ถือว่าเป็นเรื่องของกระบวนการ แต่ความชัดเจนในการดำเนินธุรกิจเป็นสิ่งที่ต้องชี้แจงให้ประชาชนรับรู้ เพราะถือว่าเป็นเรื่องสำคัญและหลังจากที่มีผู้ประสานงานติดต่อมาในช่วงเช้า และก็ไม่ได้มีการพูดคุยกันอีก เพราะหากเกินเวลา 15.30 น ที่เป็นเวลาทำการของธนาคาร ทางกสทช.ก็ถือว่าไม่มีการมาจ่ายแล้ว


1. หากมีการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz ครั้งใหม่เกิดขึ้น ราคาเริ่มต้นการประมูลจะต้องถูกกำหนดไว้ในราคาที่ผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้ว

2. การประมูลคลื่นความถี่ครั้งใหม่จะไม่ตัดสิทธิผู้ชนะการประมูลครั้งที่แล้ว ที่ได้นำเงินมาชำระในการที่จะเข้าประมูลใหม่เพื่อให้การแข่งขันมีมากราย

3. หากมีการประมูลแล้วไม่มีผู้สนใจเข้าร่วม ทางกสทช.จะไม่นำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาประมูลในครั้งที่สองทันที โดยจะเก็บคลื่นไว้ไม่น้อยกว่า 1 ปี และหากมีการประมูลใหม่หลังจากนั้น ราคาเริ่มต้นก็จะต้องไม่น้อยกว่าราคาที่ผู้ชนะการประมูลชนะไปในครั้งที่แล้ว

4. ผู้ชนะการประมูลที่ไม่นำเงินมาชำระตามกำหนดเวลา นอกจากจะริบหลักประกันแล้ว ทางกสทช.ยังจะเรียกร้องค่าเสียหายที่เกิดขึ้นตามกฏหมายหรือประกาศที่กำหนดไว้เพิ่มเติมอีก และจะตรวจสอบคุณสมบัติของการเป็นผู้ประกอบกิจการที่รับใบอนุญาตเดิมจากกสทช.ทั้งกิจการกระจายเสียง

5.เนื่องจากเรื่องนี้ยังเป็นสิทธิของผู้ชนะการประมูลที่จะนำเงินมาชำระได้จนถึงวันที่ 21 มี.ค. 2559 ดังนั้น ขอให้กทค.ทุกท่านรวมทั้งกสทช.หลีกเลี่ยงการให้ข่าวที่เป็นอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นในระหว่างนี้

640_8jacb8f95hhfhcbja9aeg

 

“ทีดีอาร์ไอ”แนะกสทช.เร่งเปิดประมูลรอบใหม่

             นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ประธานสถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงกรณีบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด (มหาชน) ไม่ชำระค่าประมูลใบอนุญาต4จี ให้กับสำนักงานกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม(กสทช.) ตามเส้นตายที่กำหนดว่าน่าจะเกิดมาจากสาเหตุที่บริษัท จัสมินไม่สามารถหาหลักประกันทางการเงินหรือแบงก์การันตีมาใช้ประกอบการชำระเงินได้เนื่องจากสถาบันการเงินที่บริษัทไปติดต่อขอแบงก์การันตีไม่มั่นใจในแผนธุรกิจ และไม่ต้องการรับความเสี่ยง ซึ่งกรณีนี้ถือว่าน่าเสียดายที่ทำให้ไม่มีผู้ประกอบการรายที่4เข้าสู่อุตสาหกรรมมือถือในประเทศไทย ทำให้โอกาสที่การแข่งขันจะสูงและผู้บริโภคได้ประโยชน์มากขึ้นจะลดลง

             สำหรับแนวทางการจัดการคลื่นความถี่900เมกกะเฮิร์ตที่ กสทช.ไม่ได้ออกใบอนุญาตให้บริษัทจัสมิน นายสมเกียรติกล่าวว่า กสทช.ควรจัดให้มีการประมูลโดยเร็วเพราะเป็นคลื่นความถี่ที่ประชาชนจะได้ใช้ประโยชน์ การเก็บคลื่นความถี่ไว้นานไม่เกิดประโยชน์ต่อประชาชน และประเทศ ซึ่งแนวทางการจัดประมูลใหม่ควรใช้วิธีการกำหนดราคาประมูลเริ่มต้นให้เท่ากับช่วงที่ผู้ประกอบการ3รายยังแข่งขันกันอยู่ คือในช่วงก่อนที่บริษัท ดีแทค จะถอนตัวจากการประมูลออกไปซึ่งราคาอยู่ที่ประมาณ7หมื่นล้านบาท เป็นราคาที่อยู่ในช่วงที่ยังมีการแข่งขัน โดยมองว่าการกำหนดราคาที่ระดับนี้มีความเหมาะสมและจำนวนผู้ประกอบการที่น้อยลงจะเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่เหลือสามารถเคาะราคาแข่งขันกันได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากไม่ต้องกังวลเรื่องการทำโปรโมชั่น หรือแข่งขันกันเรื่องราคามากเกินไป ซึ่งวิธีการแบบนี้น่าจะส่งผลดีมากกว่าการใช้ราคาประมูลที่บริษัทจัสมินชนะเป็นตัวตั้งต้นแล้วเคาะราคาลดลงมา

             “การไม่จ่ายใบอนุญาตของจัสมินในครั้งนี้สะท้อนว่าแม้จะเป็นการทำธุรกิจขนาดใหญ่ ที่มีมูลค่าหลายหมื่นหลายแสนล้านบาท แต่การตัดสินใจของผู้บริหารยังมีการตัดสินใจในแบบใช้สัญชาตญาณ จากความเป็นไปได้ มากกว่าการทำตามโมเดลธุรกิจที่มีการศึกษาไว้ เหมือนทำธุรกิจสไตล์เจ้าสัวซึ่งต่างจากการตัดสินใจของผู้บริหารมืออาชีพที่ทำตามแผนธุรกิจที่วางไว้เพราะราคาขนาดนั้นผู้บริหารต่างชาติเขาถอนตัวไปแล้วเพราะราคาเกินกว่าความสามารถที่จะประมูลสูงแค่ไหน แล้วพอจะจ่ายได้ ซึ่งเข้าใจว่า กรณีของจัสมินที่ไม่จ่ายค่าใบอนุญาต กสทช.คงมีมาตรการในการปรับ เรียกร้องค่าเสียหายในการประมูล และดำเนินการฟ้องร้องซึ่งเรื่องของคดีความคงใช้เวลานานกว่าจะสรุปว่าจะต้องชดเชยค่าเสียหายเท่าไหร่”นายสมเกียรติกล่าว

 

ดีแทคแนะประมูลใหม่ตั้งต้น1.6 หมื่นล.-เอไอเอส โนคอมเม้นท์

             นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทคกล่าวว่าเป็นสถานการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมาก นับเป็นประวัติการณ์ของวงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งต้องพิจารณาร่วมกันหาทางออกอย่างรอบคอบที่สุดเพื่อความยุติธรรมกับทุก ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

             “หากจัดประมูลครั้งใหม่หนดราคาประมูลเริ่มต้นควรอยู่ที่ 16,080 ล้านบาท (ในกรณีที่มีผู้ร่วมประมูลน้อยกว่า 3 ราย) เท่าเดิม ซึ่งจะเป็นราคาที่นำไปสู่การสะท้อนมูลค่าคลื่นความถี่ที่แท้จริง”

             นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์เอไอเอส กล่าวว่า เอไอเอส ยังไม่มีความเห็นเกี่ยวกับการบริหารคลื่น 900 ส่วนที่ยังว่างอยู่ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ กสทช. ในการบริหารจัดการ จึงยังไม่สามารถให้ข้อมูลได้

อ้างอิง nationtv.tv

komchadluek

dailynews

posttoday

tnnthailand

สามารถพูดคุยเกี่ยวกับบทความนี้ได้ที่หน้าเว็บบอร์ดเดิมครับ โดยคลิ๊กที่ลิงก์นี้ครับ >>> pdamobiz.com



ถูกใจบทความนี้  0