กรุงเทพฯ 29 มีนาคม 2559 – ไมโครซอฟท์ ประเทศไทย เดินหน้ายกระดับความปลอดภัยอุตสาหกรรมการแพทย์ ด้วยการให้บริการเพื่อการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (Software Asset Management – SAM) แก่เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ซึ่งถือเป็นโรงพยาบาลแรกที่นำการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์เข้ามาใช้ครอบคลุมทุกสาขา แสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจด้วยการบริหารจัดการที่โปร่งใสและถูกต้องตามหลักธรรมาภิบาล พร้อมทั้งสร้างความปลอดภัยแก่ข้อมูลองค์กรและข้อมูลผู้ป่วย ตอกย้ำความพร้อมสู่การดำเนินธุรกิจอย่างปลอดภัยในยุคโมบายและคลาวด์
นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ในโลกยุคดิจิตอลความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นสิ่งที่สำคัญมาก ซึ่งไมโครซอฟท์พยายามทำความเข้าใจถึงเทรนด์การทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในองค์กรธุรกิจต่างๆ รวมถึงอุตสาหกรรมการแพทย์ โดยในโลกของโมบายและคลาวด์นั้นทุกอย่างรอบตัวรวมถึงข้อมูลเปลี่ยนแปลงและเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เราจึงนำเสนอโซลูชั่น ที่คิดมาแล้วว่าสามารถตอบโจทย์เพื่อเสริมประสิทธิภาพให้กับองค์กรธุรกิจได้บรรลุผลสำเร็จที่ดียิ่งขึ้น เราให้ความสำคัญกับการพัฒนาบริการและเทคโนโลยี เพื่อให้ลูกค้าของเราไว้วางใจและเชื่อมั่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในด้านความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลของโรงพยาบาลหรือข้อมูลของคนไข้ซึ่งต้องถือว่าปัจจุบันเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับองค์กร โดยเพิ่มความมั่นใจให้กับเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ด้วยการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ (SAM) ที่จะเข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานด้านความปลอดภัยและความโปร่งใสในสินทรัพย์ของโรงพยาบาล ซึ่งเชื่อได้ว่าจะเสริมสร้างพื้นฐานงานระบบไอทีของโรงพยาบาลให้เกิดความน่าเชื่อถือและปลอดภัยที่สุด เราจะดูแลงานพื้นฐานได้อย่างไร เมื่อเราไม่ทราบว่ามีอะไรต้องดูแล ดังนั้น SAM จึงถือว่าสามารถเข้ามาตอบโจทย์ความต้องการของโรงพยาบาลที่ต้องการทราบข้อมูลทั้งหมดของสินทรัพย์ซอฟท์แวร์ที่มีอยู่ และตรวจสอบเพื่อความถูกต้องและสร้างความมั่นใจได้ว่าจะไม่มีซอฟต์แวร์ที่จะเปิดโอกาสให้เกิดความเสี่ยงทางด้านไซเบอร์ได้ นั่นหมายถึงคนไข้ที่เข้ามาใช้บริการสามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลทางการแพทย์ส่วนบุคคลจะถูกเก็บรักษาเป็นอย่างดี”
“อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่โลกของโมบายและคลาวด์ นับเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ ดังจะเห็นได้จากกรณีศึกษาหลายกรณีที่เกิดขึ้นกับองค์กรชั้นนำระดับโลกรวมถึงในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นการโจรกรรมข้อมูล การเรียกค่าไถ่ ซึ่งได้ทวีความซับซ้อนเพิ่มมากขึ้นและมีการจู่โจมที่รวดเร็วขึ้น จากรายงานของศูนย์ประสานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบคอมพิวเตอร์ประเทศไทย (ไทยเซิร์ต) ระบุประเทศไทยติดอันดับ 3 ของโลก[1] ในแง่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไมโครซอฟท์ ในฐานะองค์กรด้านไอทีชั้นนำของโลก เราได้มีการลงทุนมหาศาล มากกว่าพันล้านเหรียญสหรัฐในทุกปี เพื่อการค้นคว้าและพัฒนาด้านความปลอดภัยในทุกๆ ผลิตภัณฑ์และบริการของเรา เพื่อที่จะให้ลูกค้าของเรามั่นใจในการเข้าสู่ยุคโมบายและคลาวด์”
นายอัฐ ทองแตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล กล่าวว่า “เครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล มีความทุ่มเท เพื่อยกระดับมาตรฐานคุณภาพในทุกมิติ และมีความโดดเด่นในการผสมผสานความรู้ด้านการบริการทางการแพทย์ที่มีมาตรฐานระดับสากล เข้ากับการให้บริการลูกค้าอย่างเอาใจใส่ และเพื่อตอกย้ำการให้บริการที่มีมาตรฐานนี้ เราจึงเลือกไมโครซอฟท์ บริษัทไอทีชั้นนำที่ได้รับความไว้วางใจจากทั่วโลก เข้ามาบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเข้ามาช่วยดูแลโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีทั้งหมดของเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเทคโนยีที่เราใช้งานอยู่นั้นถูกต้องตามลิขสิทธิ์ ซึ่งเราถือว่าเป็นส่วนสำคัญในการช่วยป้องกันความเสี่ยงจากภัยคุกคามทางไซเบอร์ให้โรงพยาบาล และเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยของข้อมูลคนไข้ ทั้งยังช่วยควบคุมค่าใช้จ่ายในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นบริการที่ไมโครซอฟท์ดูแลให้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ การบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์นี้ ยังเป็นการตอบรับนโยบายของกลุ่มโรงพยาบาลในเครือกรุงเทพดุสิตเวชการในการไม่ล่วงละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและลิขสิทธิ์ รวมถึงตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการดำเนินงานอย่างโปร่งใสอีกด้วย และเมื่อโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีนั้นมีความมั่นคงแล้ว เรามั่นใจว่าจะเพิ่มศักยภาพการเติบโตของโรงพยาบาล ด้วยการช่วยทำให้โรงพยาบาลสามารถประเมินการวางแผนการลงทุนด้านไอทีในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล คุ้มค่าที่สุด และเรามั่นใจว่า SAM ช่วยให้พื้นฐานด้านไอทีของเครือโรงพยาบาลพญาไท-เปาโล พร้อมก้าวสู่การทำงานบนคลาวด์เต็มรูปแบบได้อย่างมั่นใจในอนาคต และจะทำให้เราดำรงอยู่บนหลักธรรมาภิบาลได้อย่างมั่นคง”
อาจารย์ปริญญา หอมเอนก ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงปลอดภัยสารสนเทศ กล่าวว่า “การขับเคลื่อนธุรกิจในองค์กรปัจจุบัน ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนสำคัญ แต่เมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไม่ระมัดระวังและไม่มีการควบคุมการใช้งานก็จะนำไปสู่ภัยคุกคามทางไซเบอร์ได้ มีผลสำรวจพบว่าเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ จะมีความเป็นไปได้อย่างมากที่จะถูกภัยคุกคามจากมัลแวร์[2] ดังนั้น เพื่อปกป้องสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ขององค์กร การสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการป้องกันภัยคุกคามทางไซเบอร์จึงเป็นสิ่งที่สำคัญมากสำหรับองค์กรในประเทศไทย เพื่อพร้อมตั้งรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นประจำวันในองค์กร ที่จะส่งผลถึงความสำเร็จและการเติบโตขององค์กรอย่างมีเสถียรภาพด้วยเช่นกัน สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมการแพทย์ที่เครื่องมือเครื่องใช้เริ่มเปลี่ยนลักษณะการประมวลผลเป็นข้อมูลมากขึ้น ยกตัวอย่างแค่เครื่องเอ็กซเรย์ที่เปลี่ยนจากการเก็บในรูปแบบฟิล์มเป็นการเก็บด้วยข้อมูล เราจะเชื่อได้อย่างไรว่าข้อมูลนั้นจะถูกต้องที่สุดไม่ว่าจะเก็บไว้นานแค่ไหนก็ตาม เราต้องมั่นใจได้ว่าคณะแพทย์สามารถดึงข้อมูลของคนไข้ได้อย่างสะดวก รวดเร็ว และแม่นยำ เพื่อประเมินและวางแผนการรักษา ดังนั้นการเลือกใช้การบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ไว้วางใจได้ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก ซึ่งควรจะเป็นบริการที่มีมาตรฐานและถูกต้องตามกฎระเบียบ พร้อมทั้งสามารถช่วยองค์กรตรวจสอบการทำงานของเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อกันทั้งหมดของโรงพยาบาลได้ เพื่อองค์กรจะสามารถบริหารจัดการระบบได้อย่างปลอดภัย”
โดยไมโครซอฟท์ ได้นำเสนอบริการในการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์หรือ Software Asset Management (SAM) ที่จะช่วยบริหารจัดการการใช้งานสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ในองค์กรได้อย่างเหมาะสม โดยคุณสมบัติของ SAM ประกอบด้วย
· การป้องกันและความปลอดภัย – ช่วยตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีขององค์กร ว่าทุกอย่างที่องค์กรใช้อยู่นั้นมีความปลอดภัย
· ควบคุมได้ – สามารถควบคุมโครงสร้างพื้นฐานด้านไอที ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทางด้านเทคโนโลยีและทำให้ระบบมีความมั่นคง
· ใช้งานซอฟต์แวร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ – จัดสรรการใช้งานซอฟต์แวร์ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายขององค์กรได้เป็นอย่างดี
· สร้างการเติบโตให้กับองค์กร – ช่วยให้องค์กรสามารถประเมินการวางแผนการลงทุนในอนาคตได้ดียิ่งขึ้น
โดยผู้ที่สนใจใช้บริการการบริหารจัดการสินทรัพย์ซอฟต์แวร์ ซึ่งให้บริการทั้งลูกค้าระดับองค์กรและกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMB) สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://www.microsoft.com/sam/ หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คุณสรัญญา โทรศัพท์ 02-257-4857 หรืออีเมล i-sarch@microsoft.com
ถูกใจบทความนี้ 0
You must be logged in to post a comment.