เทรนด์ของสมาร์ทที่ชูจุดเด่นในเรื่องเซลฟี่หรือกล้องหน้านั้นมาแรงตั้งแต่ปีที่ผ่านมา บางค่ายทำผลงานได้ดีสมราคาคุย แต่บางแบรนด์ก็ทำผลงานได้น่าผิดหวังเช่นกัน แต่สำหรับค่าย OPPO ที่ชูจุดเด่นในเรื่องคุณภาพของกล้องหน้ามาโดยตลอด ยังคงรักษามาตรฐานที่ดีไว้ได้เหมือนเช่นเคยครับ โดยเฉพาะ OPPO F1 ที่มาพร้อมกับนิยาม Selfie Expert นั้นสามารถพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี “ว่าพี่ไม่ได้มาเล่น ๆ” แต่พี่เอาจริงเอาจังในเรื่องกล้องหน้าอย่างแท้จริงครับ
ขอขอบคุณ OPPO thailand สำหรับเครื่องทดสอบและใช้ในการเขียนบทความนี้ครับ
สเปคเบื้องต้นของ OPPO F1
- หน่วยประมวลผล Qualcomm Snapdragon 616 Octa-core ความเร็ว 1.7 GHz
- หน่วยประมวลผลกราฟฟิก Adreno 405
- หน่วยความจำภายในตัวเครื่อง 16GB และรองรับหน่วยความจำภายนอก MicroSD card ได้สูงสุดที่ 128GB
- แรม : 3GB
- จอแสดงผล: ชนิด IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด HD 720P (1280×720 พิกเซล) , กระจกหน้าจอแบบ 2.5D Corning Gorilla Glass 4
- การเชื่อมต่อ 2G : 850/900/1800/1900MHz
- การเชื่อมต่อ 3G : 850/900/2100MHz
- การเชื่อมต่อ 4G LTE Bands 1/3/8
- รองรับการใช้งานในระบบ 2 ซิมการ์ด
- การเชื่อมต่อ Wi-Fi 802.11 a/b/g/n/, Bluetooth V. 4.0
- กล้องหลักด้านหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.2 ระบบโฟกัสแบบ PDAF+CAF
- กล้องด้านหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง f/2.0
- Android 5.1 ครอบทับด้วย ColorOS 2.1
- ขนาดตัวเครื่อง 143.5x71x7.25 มิลลิเมตร
- น้ำหนัก 134 กรัม
- แบตเตอรี่ความจุ 2500 mAh
- สีที่มีวางจำหน่าย Goldenราคาวางจำหน่าย 8,990 บาท
ปล. รูปในบทความสามารถคลิ๊กที่รูปเพื่อดูภาพขนาดใหญ่ได้ครับ
Packaging & Accessories
ตัวกล่องมาในขนาดกะทัดรัดกำลังดี คือไม่เล็กหรือใหญ่จนเทอะทะเกินไป ด้านหน้ากล้องพิมพ์รูปตัวเครื่อง OPPO F1 และสื่อด้านความงามด้วยภาพพักหน้าจอที่เป็นรูปตลับเครื่องสำอางค์ ส่วนด้านหลังของกล่องจะพิมพ์บอกสเปคไว้แค่พอสังเขป
เมื่อแง้มแกล่องออกมาจะพบกับตัวเครื่อง OPPO F1 นอนรออยู่ในถาดรอง
สำหรับอุปกรณ์ภายในกล่องจะมีอะไรบ้างมาสำรวจไปพร้อม ๆ กันเลยครับ
1. คู่มือการใช้งานอย่างย่อ และเข็มจิ้มเปิดถาดซิม
2. ซิลิโคสเคสแบบใส
3. อแดปเตอร์ชาร์จไฟ ให้ Output มาที่ 5V-1A
4. ชุดหูฟังสมอลทอร์คแบบ “เอียร์บัด”
5. สาย Micro USB สำหรับซิงค์และชาร์จไฟ
Design & Hardweare
OPPO F1 โปรโมตในเรื่องของดีไซน์และ Hardware ภายนอกตามนี้ครับ “หรูหราด้วยดีไซน์โลหะพรีเมี่ยมแต่คงสัมผัสนุ่มนวลดุจกำมะหยี่” ตัวเครื่องนั้นมาในสไตล์ metal unibody ดีไซน์ขอบโค้ง 2.5 มิติ และตัดเส้นขอบเงินทำมุม 60 องศารอบตัวเครื่อง ส่งผลให้ตัวเครื่องนั้นมีความหรูหราพรีเมี่ยมและยังดูสวยงามยามเมื่อสะท้อนแสงอีกด้วย ในส่วนของ build quality ของ OPPO F1 นั้นเรียบร้อยดีมากครับ เท่าที่ได้สัมผัสมา 2 อาทิตย์ยังไม่เจอ Defect แต่อย่างใด
พูดถึง Handle การจับถือพกพา เนื่องจากดีไซน์ที่เน้นความโค้งมนไม่มีเหลี่ยมสัน และเมื่อบวกกับขนาดหน้าจอ 5 นิ้ว ทำให้การจับถือและพกพา ไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด และข้อดีอีกอย่างก็คือตัวเครื่องนั้นยังมาพร้อมกับความบางเบาอีกด้วย
OPPO F1 มาพร้อมกับจอแสดงผลชนิด IPS ขนาด 5 นิ้ว ความละเอียด HD 720P (1280×720 พิกเซล) ตัวกระจกเป็นแบบโค้ง 2.5D ตามสมัยนิยม และเสริมความแข็งแกร่งด้วยกระจกกันรอยจาก Corning Gorilla Glass 4
ด้านหน้าส่วนบนของตัวเครื่องจะประกอบไปด้วย กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล มีเซ็นเซอร์ขนาด 1/4 นิ้ว และค่ารูรับแสงกว้าง f/2.0, ซึ่งถือเป็นจุดเด่นหลักของตัวกล้องหน้า และถัดจากตัวกล้องจะเป็นที่อยู่ของลำโพงสนทนาและชุดเซ็นเซอร์ Accelerometer และ Proximity Sensor สุดท้ายไฟแจ้งเตือน LED Notification จะอยู่ที่มุมขวามือสุดของตัวเครื่อง
ด้านหน้าส่วนล่าง 3 ปุ่มควบคุมมาตรฐานของระบบแอนดรอยด์ จะเป็นแบบ Capacitive Button แต่ไม่มีไฟแบล็คไลท์มาให้ใช้งานนะครับ โดยตัวปุ่มนั้นจะสกรีนสัญลักษณ์ด้วยสีเงิน เมื่อใช้งานกลางวันหรือในทสภาพแสงที่ไม่น้อยจนเกินไปก็ยังพอมองเห็นได้อย่างชัดเจนครับผม
ด้านบนของตัวเครื่อง จะมีเพียงช่องเสียบหูฟัง 3.5 มม. เท่านั้น ส่วนด้านล่างจะประกอบไปด้วยไมค์สนทนาและพอร์ต Micro USB
ด้านขวามือของตัวเครื่องด้านบนจะเป็นที่อยู่ของช่องถาดซิม โดยถาดซิมของ OPPO F1 จะเป็นแบบไฮบริด คือใช้งานร่วมกันระหว่างซิมการ์ดและหน่วยความจำภายนอก MicroSD
ตัวถาดซิม 1 จะใช้ซิมแบบ Micro SIM ส่วนถาดซิมสองจะเป็นแบบ Nano SIM ซึ่งในถาดซิม 2 จะใช้งานร่วมกับ MicroSD จึงต้องเลือกว่าจะใช้งาน 2 ซิมหรือจะใช้งานหน่วยความจำภายนอก เพราะมันไม่สามารถใช้งานพร้อมกันได้นั่นเอง
ถัดจากช่องถาดซิมก็คือปุ่ม Power โดยตัวปุ่มนั้นใช้วัสดุเดียวกับตัวขอบเฟรมและฝาหลัง และการจัดวางตำแหน่งก็ทำได้ดีมากอีกด้วยครับ เพราะจากการใช้งานจริงแล้วมันสะดวกมาก ๆ ไม่ต้องเอื้อมนิ้วไปไกล และไม่รู้สึกเมื่อยนิ้วแต่อย่างใด
สำหรับด้านซ้ายมือของตัวเครื่องจะมีเพียง ปุ่มเพิ่ม-ลด ระดับเสียงเท่านั้นครับ และตัวปุ่มนั้นแข็งแรงแน่นหนาดีมาก
ด้านหลังของตัวเครื่องจะประกอบไปด้วยกล้องดิจิทัลความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ที่มีรูรับแสงขนาด f/2.2 พร้อมไฟแฟลช LED 1 ดวง ส่วนลำโพงมีเดียหรือลำโพงเสียงภายนอกจะอยู่ที่มุมล่างซ้าย เรื่องความดังอาจจะไม่โดดเด่นหรือดังกระหึ่มมากนัก แต่จะได้ในเรื่องคุณภาพความใส และเมื่อเร่งเสียงจนสุดก็ไม่มีอาการแต่กพร่าแต่อย่างใด
ในส่วนของการสำรวจ Hardware ภายนอกของ OPPO F1 ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ครับ
Software & Featere
OPPO F1 เปิดตัวมาพร้อมกับ Android 5.1.1 (Lollipop) และครอบทับด้วย user interface ” ColorOS v2.0.1i ” สำหรับพื้นที่ของ ROM 16GB จะเหลือให้ใช้งานจริงราว ๆ 8GB
ColorOS เป็น User interface ที่ผู้ใช้งานค่ายนี้รู้จักและคุ้นเคยเป็นอย่างดี ในภาพรวมก็จะเหมือนกับรอมจีนทั่วไป ๆ ที่เน้นความเรียบง่ายและไม่มีหน้า App Drawer ซึ่งจะคล้าย ๆ กับ iOS นั่นเอง และสำหรับจุดเด่นในช่วงหลัง ๆ ของ ColorOS ก็คือการปรับแต่ง Firmware ให้เครื่องนั้นมีความสมูทมากขึ้น ไม่อัดฟีเจอร์ Gimmick และ third party apps มาให้มากเกินไป จนส่งผลกระทบไปถึงความลื่นไหลในการใช้งาน
อีกหนึ่งจุดเด่นของ ColorOS ก็คือการที่ผู้ใช้งานสามารถปรับแต่งหน้าตาให้ดูสวยงามด้วยธีมที่มีให้เลือกใช้งานมากมาย
ฝั่งแอพพลิเคชั่นที่น่าสนใจก็จะประกอบไปด้วย Securit Center โดยตัวแอพจะทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางอำนวยความสะดวกในด้านความปลอดภัยและการใช้งานของเรา ทั้งลบไฟล์ขยะ เคลียร์แรม ควบคุมปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ต บล็อคเบอร์ที่ไม่พึงประสงค์ การประหยัดพลังงานเป็นต้น เรียกว่าเป็นแอพ Manager ที่รวมการจัดการสิ่งสำคัญ ๆ ไว้ในตัวแอพครับ
O-Cloud เป็นแอพที่ช่วยจัดการสำรองข้อมูลสำคัญอย่างเช่นรายชื่อและข้อความไปยังพื้นที่ฝากไฟล์ออนไลน์ของ OPPO เซอร์วิส
ในด้านการจัดสรรพลังงาน OPPO F1 มีโหมดประหยัดพลังงานแบบ Ultra-Long standby ซึ่งเป็นโหมดประหยัดพลังงานแบบพิเศษ ที่จะทำการปิดการเชื่อมต่อทั้งหมด โดยจะเปิดให้ใช้งานเฉพาะโหมดโทรศัพท์และข้อความเท่านั้น ซึ่งจะช่วยในเรื่องของการประหยัดพลังงานได้มากที่สุดนั่นเองครับ
ฟีเจอร์อื่น ๆ ที่น่าสนใจก็จะมี Dirac HD Sound ที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพเสียงเพลงให้เต็มอรรถรสมากยิ่งขึ้นเมื่อฟังเพลงผ่านชุดหูฟัง, Eye protection display หลักการก็จะคล้าย ๆ โหมดการตัดแสงสีฟ้าของจอแสดงผล เพื่อเป็นการถนอมสายตาของผู้ใช้งานนั่นเอง ส่วน Simple mode ตรงนี้จะเป็นโหมดที่้เอื้อต่อผู้ใช้งานสูงวัยหรือในเด็กเล็กนั่นเองครับ
สุดท้าย จุดขายหลักของค่ายนี้และต้องบอกว่าเป็นแบรนด์แรก ๆ ที่บุกเบิกฟีเจอร์ Gesture & motion จนเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และผมเชื่อว่าหลายคนรู้จักกันดีอยู่แล้ว ฉะนั้นขออธิบายคร่าว ๆ นะครับ
หลักการทำงานของ Gesture & motion คือการวาด – การเคาะบนหน้าจอ โดยสามารถทำงานได้ทั้งบนหน้าจอที่เปิดและ wake off หรือปิดอยู่ อย่างเช่นการวาดเป็นรูปตัวอักษรบนหน้าจอเพื่อเรียกใช้งานแอพ, การเคาะหน้าจอ 2 ครั้งเพื่อ wake on, wake off หรือ Smart call ที่จะทำงานร่วมกับเซ็นเซอร์เป็นต้นครับ
Multimedia
มี FM Radio ให้ใช้งานแบบทศนิยม 1 จุด ภาครับสัญญาณอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ภาพรวม ๆ แล้ว ความสามารถน้อยไปนิดครับ เพราะไม่สามารถบันทึกไว้ฟังในแบบออฟไลน์ได้
Music Player เป็นแอพบันเดิลที่พัฒนาโดยค่าย OPPO เอง หน้าตาดูสวยงามและเรียบง่าย และในส่วนของ Widget ก็ดูสวยงามดีมากครับ ตรงนี้เป็นจุดขายมานานแล้วของค่ายนี้ เพียงแต่ความสามารถโดยรวมไม่ได้เยอะอะไรนัก ที่สำคัญปรับ EQ ไม่ได้นะครับ ต้องไปเปิดในโหมด Dirac HD Sound เพื่อใช้งานทดแทนครับ
VDO Player มีบางฟังก์ชั่นที่สามารถใช้งานได้คล้าย ๆ กับแอพยอดนิยมอย่าง MX Player ก็คือ การ Swipe ด้านซ้ายหรือขวา เพื่อเป็นการปรับความสว่างหรือระดับเสียง นอกจากนี้ยังรองรับการเล่นในหน้าต่างป็อปอัพขนาดเล็กได้อีกด้วย
Performance
สำหรับผลคะแนนอาจจะไม่ได้แรงมากมายนัก แต่ถ้าเทียบกับแบรนด์อื่น ๆ ที่ใช้ตัวชิปเซ็ต Snapdragon 615 – 616 เหมือน ๆ กัน
OPPO F1 นั้นทำคะแนนได้ดีกว่าเล็กน้อยครับ อาจะเป็นเพราะ OPPO ปรับแต่ง Firmware มาค่อนข้างดี และข้อได้เปรียบอีกอย่างก็คือความละเอียดของจอแสดงผลที่ OPPO F1 นั้นมาพร้อมกับความละเอียดเพียง HD เท่านั้น ตรงนี้มีผลในเรื่องความลื่นไหลและผลคะแนนเมื่อเทียบกับบางรุ่นที่มาพร้อมกับจอ Full HD อย่างแน่นอนครับ
และในการใช้งานจริง ภาพรวมของ OPPO F1 มีความลื่นไหลที่ดีครับ ยังไม่พบเจอ Bug ร้ายแรงแต่อย่างใด
Camera & Sample
user interface หรือหน้าเมนูกล้องบน OPPO F1 จะดูเรียบง่ายสะอาดตา สามารถใช้งานและเข้าถึงโหมดการถ่ายภาพและการตั้งค่าได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
โหมดการถ่ายภาพที่หลากหลาย และสามารถดาวน์โหลดมาเพิ่มเติมในภายหลังได้อีกด้วย
โหมดการตั้งค่า อาจจะไม่ไม่เยอะหรือละเอียดยิบย่อย แต่ก็เพียงพอและช่วยอำนวยความสะดวกให้ผู้ใช้งานได้เป็นอย่างดีครับ เช่นการสั่งถ่ายรูปด้วยเสียง หรือสั่งถ่ายรูปจากท่ามือเป็นต้น
จากนี้มาดูคุณภาพกล้องของ OPPO F1 กันได้เลยครับ และเหมือนเช่นเคยที่ผมจะให้ความสำคัญไปที่โหมด Auto เป็นหลัก เพราะการใช้งานจริงของชีวิตประจำวันส่วนใหญ่เราจะใช้โหมดนี้กันอยู่แล้ว และจรงนี้จะเป็นการวัดคุณภาพจากฝั่ง Software ได้เป็นอย่างดีอีกด้วยนะครับ
ผมขอเริ่มจากจุดขายของ OPPO F1 กันก่อนเลยนะครับ ก็คือการ Selfie จากกล้องหน้า และผมจะใช้โหมด Beautify 3.0 ซึ่งสามารถปรับได้ 4 ระดับโดยเรียงจากระดับ 0 – 4 ดังนี้
1. Off -ปิด, 2. Weak – น้อย, 3. Medium – กลาง และ 4. Strong – มาก
คลิ๊กที่รูปเพื่อดูภาพขนาดใหญ่ได้ครับ
Normal mode
HDR mode
สรุปกล้องหน้าและหลัง คุณภาพกล้องหน้าของ OPPO F1 ทำได้สมราคาคุยครับ เรียกว่าชั่วโมงนี้ต้องยกให้ OPPO F1 เป็นเบอร์หนึ่งของการเซลฟี่อย่างแท้จริง ส่วนกล้องหลังก็ทำผลงานได้ดีไม่น้อยเลยครับ แต่จุดอ่อนเดิม ๆ ก็ยังแก้ไม่หาย คือการถ่ายในสภาพแสงน้อยยังทำผลงานได้ไม่ดีเท่าที่ควรครับ
สรุป OPPO F1
ข้อดี
1. คุณภาพกล้องหน้าทำได้ดีมาก ๆ สมราคาโปรโมต
2. ดีไซน์สวย บางเบา วัสดุพรีเมี่ยม และมีงานประกอบที่เรียบร้อยแข็งแรงดีสมราคาค่าตัว
3. แม้จะไม่ได้ชูจุดขายเรื่องกล้องหลัง แต่คุณภาพของกล้องหลังก็น่าประทับใจไม่แพ้กล้องหน้าเลยครับ
4. Firmware หรือ ROM ของตัวเครื่องปรับแต่งมาค่อนข้างดีมาก ทำให้การใช้งานในภาพรวมมีความลื่นไหลที่ดี
สิ่งที่ต้องพิจารณา
1. ตัวเครื่องค่อนข้างร้อนไวเมื่อใช้งานหนัก ๆ
2. ความละเอียดหน้าจอ HD ในราคานี้คู่แข่งเขาให้ Full HD แล้วจร้า
3. ตัดเทคโนโลยีการชาร์จแบตเตอรี่ความเร็วสูง (VOOC Flash Charge) ออกไป ทั้งที่จริง ๆ แล้วควรจะใส่มาให้นะ
ก็คงจะฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ สำหรับรีวิว OPPO F1 แล้วพบกันใหม่ในรีวิวทดสอบด้านเอนเตอร์เทนครับ
สุดท้ายนี้ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านกันนะครับ ^^
สามารถพูดคุยเกี่ยวกับบทความนี้ได้ที่หน้าเว็บบอร์ดเดิมครับ โดยคลิ๊กที่ลิงก์นี้ครับ >>> pdamobiz.com
ถูกใจบทความนี้ 2
You must be logged in to post a comment.