ท่านเคยสงสัยไหมว่า ในท่ามกลางเศรษฐกิจที่ค่อนไปทางเงียบเหงา ซึ่งส่งผลกระทบให้ผู้ทำธุรกิจหลายธุรกิจต้องกุมขมับ และหาทางขยับมากกว่าจะขยายเพื่อให้อยู่รอด เจ้าของธุรกิจต่างๆ เหล่านี้เขามีแนวทางในการปรับตัวรับกับสภาวการณ์ปัจจุบันอย่างไร ทำให้นึกถึงเรื่องราวของคุณอัสมา ผู้ก่อตั้งผ้าคลุมผมของชาวมุสลิม (Hijab) ชื่อ Wo-manis ที่จากเดิมได้ทำการค้าผ่านร้านค้าชุมชนและมีเพียงลูกค้าที่อาศัยอยู่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เท่านั้น ปัจจุบันคุณอัสมาปรับธุรกิจมาขายสินค้าบนออนไลน์เพื่อสนองความต้องการของสาวชาวมุสลิมได้ทั่วโลก จนปัจจุบันมีรายได้อยู่ที่หลักแสนบาท
ถึงเวลาปรับตัว “เอสเอ็มอี” ผงาดขึ้นแท่นตลาด E-commerce โดย นายปานเทพย์ นิลสินธพ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานผลิตภัณฑ์บริการทางการเงิน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค
จากตัวอย่างของคุณอัสมาทำให้เห็นถึงการปรับตัวของกลุ่มผู้ประกอบการขนาดย่อม หรือ SME ถึงแม้จะเป็นธุรกิจขนาดเล็ก แต่ก็สามารถใช้อินเทอร์เน็ตและช่องทางออนไลน์เป็นเครื่องมือในการขยายธุรกิจและแข่งขันได้บนตลาดที่เรียกว่า E-commerce แต่ยังเป็นที่น่าแปลกใจว่าในประเทศไทย E-commerce นั้นมีมูลค่าเพียงไม่ถึง 2% ของตลาดค้าปลีกโดยรวม เมื่อเทียบกับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มีอยู่กว่า 60% ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับประเทศในเอเชียอย่างญี่ปุ่น เกาหลี และจีน นั่นหมายความว่ายังมีเอสเอ็มอีไทยอีกเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ปรับตัวเข้ากับยุคเศรษฐกิจดิจิทัลนี้ ในมุมกลับกันเราก็มองเห็นโอกาสในการที่จะได้พัฒนา E-commerce หรือการทำธุรกิจในรูปแบบ Digital Retail Marketing ในปีสองปีนี้ให้มีความชัดเจนมากขึ้น จนสามารถดันมูลค่าตลาดการซื้อขายให้เติบโตขึ้น
สมาร์ทโฟนยิ่งโต ตลาด E-commerce และ M-commerce ยิ่งสูงขึ้น
1.4 พันล้านเครื่อง คือ ตัวเลขการใช้งานสมาร์ทโฟนทั่วโลกในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2015 (ที่มา: Gartner, February 2016) สูงขึ้นกว่าปีที่แล้ว 20% และในประเทศไทยเองมีการคาดว่าจำนวนสมาร์ทโฟนที่ขายได้ในปี 2559 จะสูงถึง 17.9 – 18.7 ล้านเครื่อง ขยายตัวร้อยละ 14.7-19.9 จากปี 2558 (ที่มา: ศูนย์วิจัยกสิกรไทย,ธันวาคม 2558) ซึ่งจะเห็นได้ว่าสมาร์ทโฟนนั้น กลายเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของผู้บริโภค โดยเฉพาะในประเทศไทยที่มีมากกว่า 70% ของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตผ่านสมาร์ทโฟน สถิติเหล่านี้สะท้อนออกให้เห็นถึงโอกาสในการใช้อินเทอร์เน็ตในการทำธุรกรรมและโอกาสในการใช้ช่องทางออนไลน์ในการเข้าถึงลูกค้าที่ยิ่งมีมากขึ้นตามไปด้วย ช่องทางการชำระเงินที่หลากหลายช่วยสร้างโอกาสให้ SME ตอบโจทย์เรื่องวิธีการชำระเงินของลูกค้าแต่ละกลุ่มต้องการให้ครบถ้วน ดังที่เห็นได้ในหลายประเทศในเอเชีย อาทิเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี สิงคโปร์ ที่คนในประเทศมีอัตราการใช้งานมือถือเกือบ 100% ดังนั้นบทบาทโอเปอเรเตอร์มือถือก็จะไม่ได้เป็นเพียงแค่ผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต แต่ยังเป็นโอกาสในการสร้างการเติบโตของทุกธุรกิจด้วยเช่นกันที่หลากหลายสร้างโอกาสให้ SME ตอบโจทย์วิธีการชำระเงินที่ลูกค้าแต่ละกลุ่มต้องการครบถ้วย
การชำระเงินที่สะดวกเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้เอสเอ็มอีประสบความสำเร็จบน E-commerce
การทำธุรกิจให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปเป็นเรื่องที่สำคัญ ดังนั้นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตอย่างเร่งรีบและต้องการความคล่องตัวสูงจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง จะเห็นได้ว่าผู้ให้บริการ E-commerce ที่ประสบความสำเร็จล้วนให้ความสำคัญกับ user experience ที่ต้องเข้าใจง่ายรวมถึงในแต่ละองค์ประกอบต้องสอดคล้องกันซึ่งรวมไปถึงประสบการณ์การชำระเงินของลูกค้าที่ต้องง่ายและรวดเร็วและมี user interface กับส่วนอื่นๆ บนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นด้วยเช่นกัน
บริการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์บนเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นจึงเป็นบริการที่หลายธุรกิจเริ่มนำมาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและยังเป็นช่องทางเสริมศักยภาพให้ธุรกิจขยายตัวได้อย่างรวดเร็ว โดยมีตัวเลขที่น่าสนใจจากรายงานของ World Payment (https://www.worldpaymentsreport.com) พบว่า ในกลุ่มประเทศยุโรปกลาง ตะวันออกกลาง อินเดีย จีน และอาเซียนมีอัตราการใช้ช่องทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เติบโตสูงถึง 22% และมีปริมาณการทำรายการสูงถึง 4 แสนล้านรายการ ซึ่งเป็นไปในทางเดียวกันกับข้อมูลผลสำรวจโดย ETDA ที่เผยตัวเลขมูลค่า E-commerce ไทยในปีพ.ศ.2558 ที่มีมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท จากตัวเลขดังกล่าวจะเห็นได้ว่าทิศทาง e-Payment ของโลกและประเทศไทยมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น สอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลและพฤติกรรมของคนไทยในการใช้เทคโนโลยีมากขึ้นซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการเกื้อหนุนให้ประเทศไทยก้าวไปสู่ Cashless society อีกทั้งช่วยให้เกิดการขยายช่องทางบริการไปยังประเทศอื่นๆทั่วโลกได้อย่างไร้ขอบเขต
ทั้งนี้ เชื่อว่าสิ่งที่ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีหลายคนยังเผชิญและไม่ปรับตัวให้ทันกับเศรษฐกิจยุคดิจิทัลนี้คือ เอสเอ็มอียังกังวลว่าการปรับตัวเป็นธุรกิจ E-commerce เป็นเรื่องยาก เพราะยังขาดความรู้หรือความชำนาญในเรื่องของการจัดการสินค้าและการชำระเงินออนไลน์ที่เป็นระบบครบวงจรรวม ทั้งยังกังวลกับการลงทุนและค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในการรับชำระเงินแบบออนไลน์ผ่านเพย์เมนท์เกตเวย์โปรไวเดอร์
แต่จากตัวเลขของบริษัท เพย์สบาย จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเพย์เมนท์เกตเวย์โซลูชั่นให้กับผู้ประกอบการออนไลน์มากว่า 10 ปี พบว่า มีจำนวนผู้ประกอบการที่หันมาใช้ เพย์เมนท์เกตเวย์โซลูชั่น ในการทำธุรกิจผ่านเพย์สบาย มากขึ้น 40% หรือมีมูลค่าการตลาดมากกว่า 4 พันล้านบาท และมีอีกจำนวนกว่า 80% ของธุรกิจที่กำลังพัฒนาบริการให้อยู่ในรูปแบบ Mobile Commerce ด้วย ซึ่งประสบการณ์ในการใช้ เพย์เมนท์เกตเวย์โซลูชั่น ที่ดีจะช่วยอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการธุรกิจได้ โดยสามารถตอบโจทย์การเป็นช่องทางที่ง่าย ส่งผลต่อการตัดสินใจซื้อได้ทันที และการมีระบบรายงานยืนยันการทำรายการแต่ละรายการ ดังนั้นจึงมั่นใจได้ว่า เพย์เมนท์เกตเวย์โซลูชั่น จึงเป็นคำตอบที่ดีที่สุดที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจเอสเอ็มอีเมืองไทยผงาดสู่การแข่งขันบนถนนออนไลน์อย่างเต็มตัว
You must be logged in to post a comment.