กรุงเทพฯ, 1 เมษายน 2559 – ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น จัดเวทีแสดงผลงานด้านการศึกษาระดับโลก E2: Educator Exchange ณ กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ผ่านมา โดยมีนายศักดา จันทร์กลั่น จากโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัย จังหวัดเพชรบุรี และ นายสมพร เหล่าทองสาร จากโรงเรียนดงบังพิสัยนวการนุสรณ์ จังหวัดมหาสารคาม เป็นตัวแทนครูจากประเทศไทย พร้อมกับตัวแทนครูจากทั่วโลกกว่า 240 คน กิจกรรมดังกล่าวจัดขึ้นเพื่อสร้างการรับรู้พร้อมเฉลิมฉลองความสำเร็จของคุณครูผู้ผสานเทคโนโลยี เข้ากับเนื้อหาและวิธีการสอน ได้อย่างสมบูรณ์ เพื่อปูทางแห่งความสำเร็จให้แก่นักเรียนทุกคน
คุณครูศักดา จันทร์กลั่น และ คุณครูสมพร เหล่าทองสาร ได้รับคัดเลือกจากคุณครู 10 ท่านที่ได้รับรางวัลจากกิจกรรมการแข่งขันครูไทยหัวใจไอที ปี 2558 หรือ Microsoft Thailand Innovative Teachers Leadership Awards 2015 ที่เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Partners in Learning (PiL) ของไมโครซอฟท์ และจัดขึ้นติดต่อกันมาเป็นระยะเวลานานกว่า 12 ปี โดยมีคุณครูกว่า 4,800 ท่านทั่วประเทศเข้าร่วมกิจกรรม โดยทั้งคู่ ได้รับคัดเลือกให้ร่วมแสดงผลงานด้านการศึกษาระดับนานาชาติของไมโครซอฟท์จากความคิดสร้างสรรค์ในการผสมผสานเครื่องมือต่างๆ ของไมโครซอฟท์ เพื่อยกระดับการเรียนวิชาฟิสิกส์และเคมีของนักเรียน โดยคุณครูศักดาได้นำแอพพลิชั่นต่างๆ รวมไปถึงโปรแกรม Microsoft Word และ Microsoft PowerPoint มาผสานกับวิชาเคมีเพื่อจุดประกายให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ ในขณะที่คุณครูสมพรได้พัฒนาสื่อการเรียนการสอนโดยใช้ Microsoft PowerPoint เพื่อให้นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับฟิสิกส์อะตอม (Atomic Physics) และ ฟิสิกส์นิวเคลียร์ (Nuclear Physics) ทั้งนี้เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจน ทั้งในด้านภาพรวม และในภาพแบบเจาะลึก เพื่อส่งให้เนื้อหาที่มีอยู่ในกระดาษสามารถออกมาเป็นภาพดิจิตอล ทำให้นักเรียนสามารถจดจำ เกิดความสนใจและเข้าใจได้อย่างลึกซึ้งมากขึ้น และคุณครูทั้งสองต่างให้นักเรียนส่งงานหรือด้วยโปรแกรม Microsoft Word, Microsoft PowerPoint หรือ Microsoft Excel
ในกิจกรรม E2: Educator Exchange นี้ คุณครูหัวใจไอทีจากทั่วโลกได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ และแบ่งปันประสบการณ์ที่เกี่ยวเนื่องการผสานเทคโนโลยีเข้ากับการจัดการการเรียนการสอน เพื่อยกระดับการเรียนรู้และเสริมสร้างให้นักเรียนบรรลุผลสัมฤทธิ์ที่ต้องการ ทั้งยังเป็นการปฏิรูประบบการศึกษาอีกด้วย ในระยะเวลา 3 วัน คุณครูทุกท่านได้แบ่งปันความรู้ผ่านแนวทางหลากหลายและแลกเปลี่ยนไอเดีย ในวันสุดท้าย คุณครูทุกท่านกลับบ้านด้วยแรงบันดาลใจและพลังเพื่อสร้างความสรรค์สิ่งใหม่ๆ ในการเรียนการสอน
“การร่วมกิจกรรม E2: Educator Exchange นี้เป็นการเปิดโลกและเป็นประสบการณ์อันน่าประทับใจ ในระยะเวลาเพียงแค่ 3 วัน เราได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับวิธีการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในห้องเรียน เพื่อให้นักเรียนบรรลุผลสำเร็จได้มากกว่า” นายศักดา จันทร์กลั่น กล่าว “นักเรียนจะได้รับประโยชน์จากโปรแกรมต่างๆ ของไมโครซอฟท์ ไม่ว่าจะเป็น Office365 หรือ Skype และโดยเฉพาะฟีเจอร์ใหม่ของ OneNote จะเป็นประโยชน์มาก เพราะสามารถสร้างห้องเรียนเสมือนที่ให้คุณครูเห็นความคืบหน้า และให้คำแนะนำแก่นักเรียนได้ ในขณะที่นักเรียนสามารถแชร์ไอเดียแก่ครูหรือเพื่อนๆ ด้วยกันได้”
ภายในงานยังมีการแนะนำเครื่องมือต่างๆ ที่ช่วยให้การเรียนการสอนให้สนุกสนานยิ่งขึ้น อาทิ Minecraft in the classroom ที่ได้รับการตอบรับทางบวกจากครูทุกท่าน เพราะสามารถช่วยให้นักเรียนเรียนรู้การเขียนโค้ดผ่านเกม Minecraft ด้วยแนวคิดการเปลี่ยนจากผู้เล่นเป็นผู้สร้าง จะช่วยเสริมทักษะการคิดอย่างมีระบบและการแก้ปัญหาได้
Microsoft’s Surface Digital Ink อีกหนึ่งเครื่องมือของไมโครซอฟท์ โดย Surface Pen ช่วยให้นักเรียนวาดแผนภาพไดอะแกรม เขียนสมการและเป็นเครื่องมือในวิชาศิลปะ
นอกจากนี้ การสาธิตโปรแกรม Skype-based live lesson ด้วยการให้คุณครูพูดคุย ถามตอบ กับนักสำรวจในพื้นที่อาร์คติกผ่านโปรแกรม Skype จะช่วยให้การติดต่อครูผู้สอนและนักเรียนเป็นได้อย่างง่ายดายขึ้น และ
ฟีเจอร์ที่อัพเดทใหม่บน OneNote ซึ่งช่วยคุณครูทำงานได้ง่ายขึ้น และยังมีคลังรวบรวมเนื้อหาต่างๆ รวมไปถึงสมุดจดของนักเรียน ไปจนถึงพื้นที่สำหรับการทำงานกลุ่มร่วมกัน
นอกเหนือจากการแสดงให้เห็นถึงเครื่องมือในการเรียนการสอน คุณครูได้รับโจทย์ให้สร้าง “เคล็ดลับ” ให้กับชั้นเรียนของตนเอง จากธีมของงาน “Hack the Classroom” ซึ่งเป็นโอกาสดีสำหรับคุณครูที่มีวัฒนธรรมที่แตกต่างจะได้ร่วมกันทำงานเป็นทีมเพื่อร่วมกันแก้ไขปัญหา แชร์มุมมองด้านความคิด เพื่อสร้างสรรค์งานจากความต่าง ในขณะที่กิจกรรม Learning Marketplace เปิดโอกาสให้คุณครูได้แสดงผลงานของตนเอง ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีเพราะเป็นพื้นที่ให้คุณครูจากประเทศต่างๆ ได้แลกเปลี่ยนความรู้และไอเดีย สมชื่องานแลกเปลี่ยนโดยแท้จริง
“ผมได้แรงบันดาลใจและกลับประเทศไทยด้วยไอเดียดีๆ มากมาย ผมเห็นวิธีใหม่ๆ มากมายที่สามารถนำมาประยุกต์เพื่อปฏิรูปการศึกษาไทยได้ เทคโนโลยีสามารถช่วยลดช่องว่างทางการศึกษาและช่วยให้นักเรียนในถิ่นทุรกันดารได้รับการเรียนการสอนแบบเดียวกับเด็กนักเรียนในเมือง ไมโครซอฟท์มีเครื่องมือหลากหลายที่ช่วยพัฒนาทักษะศตวรรษที่ 21 ที่สำคัญแก่นักเรียนได้ สำหรับผมเอง จะนำห้องเรียนจำลอง OneNote และ การทำสื่อผ่าน Sway มาใช้ในการสอน และจะแนะนำให้เพื่อนที่เป็นครูใช้เช่นกัน” นายสมพร เหล่าทองสาร กล่าว
“กิจกรรม E 2 Educator Exchange เป็นตัวอย่างที่ดีที่ทำให้เห็นว่าไมโครซอฟท์พร้อมเป็นกำลังสำคัญให้ทุคนบนโลกนี้บรรลุผลสำเร็จมากขึ้นจริงๆ จากการให้ความสำคัญ ณ จุดเริ่มต้นของการพัฒนาการศึกษาหลักของโลกนั่นก็คือคุณครู” นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกร ผู้อำนวยการฝ่ายภาครัฐ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “คุณครูเปรียบเสมือนยอดมนุษย์ที่ทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ ด้วยการฉีกกรอบการสอนแบบเดิมๆ แม้ว่าพวกเขาอาจจะไม่ใช่ครูวิชาคอมพิวเตอร์หรือติดตามเทคโนโลยีตลอดเวลา แต่พวกเขาก็ยังทำสิ่งยิ่งใหญ่ได้มากมายด้วยเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ต้องการสร้างเครือข่ายและชุมชนครูระดับโลก และช่วยพวกเขาค้นหาแนวทางการเรียนการสอนใหม่ๆ โดยใช้เทคโนโลยีสร้างการศึกษาที่แข็งแกร่งและยั่งยืนต่อไป”
“ผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่คุณครูศักดา จันทร์กลั่น และคุณครูสมพร เหล่าทองสาร ได้มีโอกาสแบ่งปันความคิดสร้างสรรค์และไอเดียดีๆ กับคุณครูจากประเทศอื่นๆ ในขณะเดียวกัน ก็ได้รับแรงบันดาลใจกลับมาเช่นกัน ผมมั่นใจว่าพวกเขาจะใช้ความรู้และประสบการณ์ในครั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างศักยภาพของนักเรียนต่อไปในอนาคต” นายสมศักดิ์ มุกดาวรรณกรกล่าว
You must be logged in to post a comment.