กรุงเทพฯ – 12 พฤษภาคม 2559 – โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต นำโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และสถาบันคีนันแห่งเอเซีย ผนึกกำลัง กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ จัดโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับ ‘เมกเกอร์’ หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ” เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคม และสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม โดยมีรางวัลเป็นทุนการศึกษา ตลอดจนทริปร่วมงาน Maker Faire ในทวีปยุโรปและในประเทศญี่ปุ่น รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท
Chevron Enjoy Science เปิดตัวโครงการ Enjoy Science Young Makers Contest ชวนนักเรียนนักศึกษาสายสามัญและอาชีวะ สร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ ชิงทุนการศึกษาและทริปร่วมงาน Maker Faire ในยุโรปและญี่ปุ่น
บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และ สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กระทรวงศึกษาธิการ เปิดตัวโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับ ‘เมกเกอร์’ หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ” – (ที่ 2 จากซ้าย) นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ อพวช., ดร. มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สอศ., นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, และ ดร. อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สวทช.นางหทัยรัตน์ อติชาติ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายด้านรัฐกิจและกิจการสัมพันธ์ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวว่า “โครงการ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest’ เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินโครงการ Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ที่เชฟรอนร่วมกับพันธมิตรทั้งจากภาครัฐและเอกชน ริเริ่มขึ้นในปี 2558 โดยเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ที่มุ่งพัฒนาการศึกษาในสาขาสะเต็มทั้งในระบบการศึกษาในสายสามัญและสายอาชีพ ตลอดจนสร้างการรับรู้ กระตุ้น และส่งเสริมให้เยาวชนคนรุ่นใหม่เห็นว่าวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก ใกล้ตัว จะช่วยให้พวกเขาเกิดแรงบันดาลใจและความสนใจที่จะศึกษาต่อในสาขาสะเต็ม ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีกำลังคนแห่งอนาคตที่มีทักษะในสาขาสะเต็มเพิ่มมากขึ้น โดยในปีแรก เราได้ร่วมกับสวทช. จัดโครงการ ‘Enjoy Science: Let’s Print the World’ การประกวดนวัตกรรมจากเทคโนโลยีการพิมพ์แบบสามมิติ และงาน ‘Bangkok Mini Maker Faire’ มหกรรมแสดงผลงานของเมกเกอร์ในประเทศไทย ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรก และเพื่อให้การสร้างความสนใจและแรงบันดาลใจในสาขาสะเต็มแก่เยาวชนเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปีนี้เราจึงจัดการประกวด Young Makers Contest ในหัวข้อสิ่งประดิษฐ์เพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการขึ้น โดยมี สวทช. เป็นผู้ดำเนินงานหลักเช่นเดิม และที่น่ายินดีคือปีนี้เรามีหน่วยงานพันธมิตรที่ให้เกียรติมาร่วมโครงการเพิ่มเติม ได้แก่อพวช. และสอศ. โดยเราหวังว่าการประกวดจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียนนักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษาในการสร้างสรรค์นวัตกรรมให้แก่สังคมไทย”
ดร. อ้อมใจ ไทรเมฆ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 2 ล้านคน และผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีอายุกว่า 9.4 ล้านคน ซึ่งสัดส่วนของผู้สูงอายุต่อประชากรทั้งหมดกำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยองค์การอนามัยโลกคาดว่าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 โดยมีผู้สูงอายุมากกว่า 15 ล้านคน หรือร้อยละ 23 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งนับเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ประเทศไทยจึงต้องมีการพัฒนานวัตกรรมเพื่อให้พร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ เพื่อช่วยให้พวกเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี จึงเป็นที่มาของหัวข้อการจัดการแข่งขันการ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest’ ในปีนี้”
นางกรรณิการ์ เฉิน ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) กล่าวว่า “อพวช. ยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ในครั้งนี้ ในปัจจุบัน ประเทศไทยกำลังก้าวเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตัลและสังคมแห่งนวัตกรรม ซึ่งขีดความสามารถของประเทศขึ้นอยู่กับความสามารถในการพัฒนาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ งานฝีมือ การส่งเสริมความสนใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้กับเยาวชนในวงกว้างเป็นพันธกิจหนึ่งของอพวช. ที่จะช่วยให้ประเทศไทยพัฒนาขีดความสามารถดังกล่าวได้อย่างมั่นคง โดยอพวช. จะมุ่งสร้างความสนใจในวัฒนธรรมเมกเกอร์และสาขาสะเต็มให้กับสาธารณชน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่อย่างต่อเนื่อง อาทิ การจัดแสดงผลงานของเมกเกอร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม รวมถึงผลงานที่ได้รับรางวัลจากโครงการนี้ ณ พิพิธภัณฑ์ในสังกัด อพวช. เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจให้กับเยาวชนในสาขาสะเต็มตลอดจนเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนสังคมให้ทัดเทียมกันมากยิ่งขึ้น”
ดร. มงคลชัย สมอุดร ผู้อำนวยการสำนักวิจัยและพัฒนาการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กล่าวว่า “โครงการ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest’ ถือเป็นเวทีที่เปิดโอกาสให้นักเรียน-นักศึกษาอาชีวะมีโอกาสได้แสดงความสามารถของตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ รวมถึงได้มีโอกาสเรียนรู้และแลกเปลี่ยนทักษะความเชี่ยวชาญร่วมกับนักเรียนสายสามัญที่เข้าร่วมแข่งขันผ่านกิจกรรมเวิร์กชอป โครงการนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายของสอศ. ที่มุ่งส่งเสริมให้นักเรียนอาชีวศึกษามีความรู้และทักษะในสาขาสะเต็มเพิ่มมากขึ้น เพื่อรองรับกับความต้องการแรงงานในสาขาสะเต็มซึ่งเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนช่วยยกระดับความสามารถของนักศึกษาอาชีวะในการสร้างสรรค์ ประดิษฐ์ คิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถประเทศได้อย่างยั่งยืน”
ด้านนายปิยบุตร ชลวิจารณ์ ประธานอำนวยการ สถาบันคีนันแห่งเอเซีย ในฐานะผู้บริหารโครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต กล่าวว่า “โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ถือเป็นโครงการหนึ่งซึ่งจะเข้ามาช่วยรับมือกับการเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยของไทย ซึ่งคาดการณ์ว่า ในปี พ.ศ. 2563 ผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไป จะมีจำนวนกว่า 12 ล้านคน ตรงกันข้ามกับวัยแรงงาน ที่จะลดเหลือ 46 ล้านคน ส่งผลให้สังคมไทยในอนาคตจะมีความต้องการการดูแลด้านสุขภาพเพิ่มขึ้น การสนับสนุนให้คนรุ่นหนุ่ม-สาวหันมาใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเข้ามาสนับสนุนการช่วยเหลือและดูแลผู้สูงวัย และผู้พิการ และการสร้างความตระหนักทางด้านอาชีพให้แก่พวกเขาว่าในปัจจุบันและในอนาคตอันใกล้จะมีความต้องการการบริการและเครื่องไม้เครื่อมือสำหรับผู้พิการและผู้สูงอายุ ถือว่ามีความสำคัญและมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ โครงการนี้ ยังตอบรับกับวัตถุประสงค์หลักของโครงการ Enjoy Science ในการผลักดันการใช้นวัตกรรมและองค์ความรู้ใหม่ๆ ด้านสะเต็มเพื่อพัฒนาและเตรียมความพร้อมให้แก่บุคคลากรและแรงงานในประเทศให้มีความสามารถตอบรับกับความต้องการด้านแรงงานและอาชีพในศตวรรษที่ 21 อีกด้วย”
โครงการ ‘Enjoy Science: Young Makers Contest’ เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ – วันที่ 30 มิถุนายน โดยแบ่งการประกวดเป็น 2 ประเภท คือ คือ นักเรียน-นักศึกษาสายอาชีพ (ระดับไม่เกินปวส.) และนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญ (ระดับไม่เกินปริญญาตรี) โดยประกวดเป็นทีม ทีมละ 3 คน ประกอบด้วยนักศึกษา 2 คน และอาจารย์ที่ปรึกษา 1 คน โดยแต่ละทีมจะต้องส่งข้อเสนอโครงการนวัตกรรมของตนเอง ซึ่งบรรยายถึงผลงานที่ต้องการสร้าง รวมถึงเอกลักษณ์และประโยชน์ใช้สอยและแผนการใช้งบประมาณเพื่อพัฒนานวัตกรรม (ในวงเงินไม่เกิน 30,000 บาท) ไปที่ contest@bangkokmakerfaire.com โดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจะพิจารณาความน่าสนใจและความเป็นไปได้ของโครงการ และคัดเลือกโครงการที่เข้ารอบจำนวน 40 ทีม (ประเภทละ 20 ทีม) ซึ่งจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์กชอปเพื่อแลกเปลี่ยนความรู้กับวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิและนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการและผู้เข้าร่วมประกวด ก่อนที่จะพัฒนาผลงานให้แล้วเสร็จและนำเสนอต่อคณะกรรมการสำหรับการตัดสินหาผู้ชนะในแต่ละประเภท ซึ่งรางวัลชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษา และตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าชมงาน Maker Faire ในทวีปยุโรป และรองชนะเลิศอันดับหนึ่งจะได้รับทุนการศึกษา และตั๋วเครื่องบิน พร้อมที่พัก เพื่อเข้าชมงานแสดงผลงานทางเทคโนโลยีที่ประเทศญี่ปุ่น และยังมีรางวัลอื่นๆ รวมมูลค่าทั้งสิ้นกว่า 1.5 ล้านบาท
ผู้ที่สนใจสามารถดาวน์โหลดใบสมัคร พร้อมดูรายละเอียดและกติกาการเข้าแข่งขัน เพิ่มเติมได้ที่ www.bangkokmakerfaire.com/contest หรือเพจเฟซบุ๊ก Enjoy Science: Young Makers Contest
###
เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”
โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ
ถูกใจบทความนี้ 0
You must be logged in to post a comment.