PDAMobiz สกู๊ปพิเศษ STOP Cyber bullying Day จากงาน ดีแทค ชวน “ใช้หัวคลิก” รณรงค์หยุดการรังแกกันบนโลกออนไลน์ เพื่อตอกย้ำการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมออนไลน์

dtac_4

  วันศุกร์สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิถุนายนในทุก ๆ ปี จะเป็นวันรณรงค์ต่อต้านการคุกคามทางอินเทอร์เน็ต (Stop Cyber Bullying Day ) สำหรับวัน Bullying Day นี้ ถ้าย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อนหน้านั้น อาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับประเทศไทยของเรา แต่ในความเป็นจริงแล้วมันเป็นปัญหาใหญ่ที่น่าตระหนกตกใจไม่น้อยเลยครับ และผมบอกได้เลยว่า Bullying Day นั้นเป็นปัญหาระดับสากล เป็นปัญหาระดับโลกที่นานาประเทศให้ความสำคัญ จนได้ร่วมกันจัดตั้งวันต่อต้านการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (STOP Cyberbullying Day) ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว-กำลังพัฒนา, ด้อยพัฒนา หรือที่เราคุ้นเคยจากการจัดอันดับ เช่น ประเทศโลกที่ 1-2-3 อะไรทำนองนี้  ต่างก็พบเจอและประสบกับปัญหา Bullying Day กันทั่วหน้า หลายประเทศถึงขนาดต้องตั้งทีม War Room เพื่อยกระดับความสำคัญให้เป็นวาระแห่งชาติ เพื่อรีบเร่งแก้ปัญหาในเรื่องนี้ ก่อนที่จะลุกลามบานปลายจนเกินจะควบคุมได้


ทั้งนี้ด้วยความเจริญของวัตถุรวมไปถึงการเข้าถึงเทคโนโลยีที่เปิดกว้างมากขึ้นอย่าง Internet จึงก่อให้เกิดปัญหาทางสังคมมากมาย และส่งผลกระทบจากโลกออนไลน์มาสู่โลกแห่งความเป็นจริง และมีหลายสิ่งที่เราอาจจะไม่เคยได้รับรู้หรือสัมผัสมาก่อน แต่ปัญหาเหล่านี้ ไม่ใช่จะไม่มีทางออกหรือวิธีแก้ไขนะครับ โดยสิ่งที่ควรตระหนักและเริ่มต้นแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ต้องเริ่มจากการปลูกจิตสำนึกและให้ความรู้ความเข้าใจ รวมไปถึงการบังคับใช้กฏหมายอย่างเคร่งครัด เพื่อแก้ไขและป้องกันไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมอันน่าเศร้าซึ่งเป็นผลมาจากการ Cyber Bullying Day หรือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั่นเอง


dtac_1

วันนี้ค่าย ดีแทค ออกแคมเปญใหญ่กระตุ้นสำนึกสังคมออนไลน์ “ใช้หัวคลิก” หยุดดู หยุดแชร์ หยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์ ชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการรณรงค์ไปพร้อมกับคนทั่วโลกเนื่องในวันต่อต้านการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (STOP Cyber bullying Day) ซึ่งจัดเป็นประจำทุกวันศุกร์ที่สามของเดือนมิถุนายน พร้อมเผยโพลความเห็นคนไทย 80% เล่นออนไลน์แบบเอาสนุก โพสแชร์ความเห็นขำๆ ทำให้อัตราการเกิดปัญหา Cyber bullying เพิ่มสูงขึ้น โดยภายในงานได้ คุณกวาง มินตรา เรืองศักดิ์วิชิต ผู้ตกเป็นเหยื่อการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์มาร่วมแสดงความคิดเห็นและมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งรณรงค์เรื่องนี้ด้วย

ทางเว็บ PDAMobiz ของเราได้มีโอกาสมาร่วมงานแถลงข่าวในวันนี้ด้วย ผมจึงขอสรุปเนื้อหาสาระสำคัญ ๆ พร้อมทั้งสอดแทรกมุมมองส่วนตัวเข้าไปในเนื้อหาหลักของงาน STOP Cyber bullying Day และเขียนเป็น “สกู๊ปพิเศษ” เพื่องานนี้โดยเฉพาะ

 

dtac_3

dtac_4

dtac_5

ปัญหาในเรื่องของการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ที่เราพบเห็นได้ง่ายและบ่อยที่สุด ก็จะมีประมาณนี้ครับ

1. มีการสร้างโปรไฟล์ปลอมเพื่อหลอกลวง รวมไปถึงเป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ก่อให้เกิดอาชญากรรมอีกด้วย

2. การคุมคามที่มีเนื้อหาเกี่ยวเนื่องในเรื่อง Sex ไม่ว่าจะเป็นการเต็มใจหรือไม่ก็ตาม

3. แม้กระทั่งแวดวงอุตสาหกรรมของเกมออนไลน์ ในยุคนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ก่อให้เกิดการ Cyber Bullying ได้ง่ายมาก ๆ

dtac_6

dtac_7

สถิติที่น่าสนใจ พร้อมกับน่าตกใจไปพร้อม ๆ กัน ก็คือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ หลาย ๆ คนมองว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ขำ ๆ ไม่สลักสำคัญอะไร พูดง่าย ๆ  คือมันเป็นเรื่องปรกติธรรมดา ที่เด็ก-เยาวชนรวมไปถึงคนทั่วไปมองว่านี้คือ natural ของสังคมยุคนี้  ทั้ง ๆ ที่ในโลกแห่งความเป็นจริง เรื่องเล็กน้อย ๆ ในมุมมองของเรา อาจจะทำร้ายและมีผลกระทบรุนแรงอย่างคาดไม่ถึงกับบุคคลที่สามก็ตาม

 

dtac_8

dtac_9

ณ ปัจจุบัน หลายประเทศให้ความสำคัญกับ Cyber bullying ถึงขนาดมีการออก พรบ. ออกกฏหมายและบทลงโทษขั้นรุนแรงกับผู้ที่ก่อเหตุคุกคามหรือกลั่นแกล้งทางออนไลน์ ยกตัวอย่าง สิงคโปร์ ประเทศเพื่อนบ้านเราก็มีกฏหมายที่ให้ความสำคัญกับเรื่อง Cyber bullying อย่างจริงจังไม่แพ้ประเทศในโลกตะวันตกที่พัฒนาแล้ว

 

dtac_10

ย้อนกลับมาพูดถึงสถานการณ์ Cyber bullying ในบ้านเรากันบ้างครับ เชื่อว่าหลาย ๆ คน น่าจะได้เสพผ่านสื่อต่าง ๆ กันมาบ้างแล้ว ไม่ว่าจะเป็นประเด็นดังที่ออกสู่สาธารณะชนหรือจะไม่เป็นประเด็นดังก็ตามที สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับก็คือ ปัญหา Cyber bullying ในบ้านเราค่อนข้างรุนแรง และน่าหวั่นวิตกไม่น้อยเลยครับ

 

dtac_11

หนึ่งในเหยื่อของ Cyber bullying ที่เราน่าจะรู้จักและเพิ่งจะเป็นประเด็นร้อนแรงในโลกออนไลน์ไปเมื่อเร็ว ๆ นี้  ก็คือน้องกวาง มินตรา ที่ถูกคนไม่รู้จักใน ขบวนรถ BTS แอบถ่ายรูปและเอาไปโพสประจานเรื่องของบุคลิคและสไตล์การแต่งตัวแต่งหน้าของน้องกวาง ซึ่งตรงนี้แหละครับ คือประเด็นและปัญหาที่เด่นชัดของ Cyber bullying อย่างแท้จริง

เท่าที่ได้ฟังการสัมภาษณ์ของน้องกวาง ผมเองก็เพิ่งรู้ว่าน้องกวางโดนหนักมาก หลังจากโดนแชร์ (ในสิ่งที่เป็นความส่วนตัวของน้อง) ไปยังโลกออนไลน์  โดยมีผลกระทบตามมาดังนี้ครับ มีทั้งการทับถม ซ้ำเติม (จากบรรดากองเชียร์) ความอยากรู้อยากเห็นโดยการสืบค้นข้อมูลของน้อง การแชร์ต่อ การ Add เข้ามาเพื่อเป็นเพื่อน หรือส่งกำลังใจมาให้ ฯลฯ เอาเป็นว่าเหตุการณนี้เปลี่ยนโลกของน้องเขาไปเลยก็ว่าได้ โชคดีที่น้องเป็นคนเข้มแข็ง มีสติ และมีกำลังใจที่ดี จึงผ่านพ้นมาโดยโดยไม่เกิดปัญหาร้ายแรงเหมือนกับหลาย ๆ เคส ที่มีผลมาจาก Cyber bullying

สำหรับเหตุการณ์นี้ ผมขอสรุปตามที่น้องเขาให้สัมภาษณ์นะครับ คือคนที่แอบถ่ายรูปน้องกวางและเอาไปโพส ณ ตอนนี้ 17/6/59 ก็ยังไม่ออกมาขอโทษอย่างเป็นทางการ มีแต่เพื่อนของผู้ที่นำไปโพสติดต่อมา บอกว่าอยากจะพาคนโพสเข้ามาขอโทษ แต่ท้ายที่สุดก็ไม่มีความเคลื่อนไหวแต่อย่างใด

ล่าสุดน้องกวางได้ดำเนินคดีทางกฏกหมายแบบเต็มรูปแบบและจัดเต็ม ทั้งการฟ้องอาญาและแพ่ง เอาเป็นว่าเราคงได้เห็นความเคลื่อนไหวของเหตุการณ์นี้ผ่านโลกโซเชี่ยลกันอีกครั้ง

สรุป นี่เป็นตัวอย่างที่ดีครับ ในมุมหนึ่งเราเห็นแล้วถึงผลกระทบจากการแชร์ การละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น และพฤติกรรมอันน่ารังเกียจของ Cyber bullying หรือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์ และสำหรับเคสของน้องกวางต้องบอกว่าน้องคือเหยื่อของ Cyber bullying ที่เรามีโอกาศเห็นได้บ่อย ๆ ในสังคมปัจจุบันนั่นเองครับ

ทั้งนี้โดยส่วนตัวผมมองว่า ถ้าเรามีการรณรงค์พร้อมกับบังคับกฏหมายอย่างเคร่งครัด ก็น่าจะช่วยป้องกันปัญหาตรงนี้ให้ลดน้อยได้อย่างแน่นอน

 

dtac_12

dtac_13

dtac_14

Cyber bullying หรือการกลั่นแกล้งทางออนไลน์นั้นมีทางออกครับ โดยต้องเริ่มจากตัวเรา ที่จะไม่ละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของผู้อื่น ไม่แชร์ ไม่เป็นกองเชียร์ (อันนี้สำคัญมาก) ใช้สมองให้มากกว่าสองมือ ก่อนที่จะกด จะแชร์ จะถ่าย จะพิมพ์ จะเผือก (ฮ่า) พูดง่าย ๆ คือสร้างจิตสำนึกที่ดีโดยเริ่มจากตัวเรา และพร้อมจะส่งต่อไปยังบุคคลรอบข้างนั่นเอง

 

dtac_2

ขอปิดท้ายกันไปด้วยเนื้อหาหลักจากทีมผู้บริหารขอว dtac ที่ได้จัดงานแถลงข่าวในวันนี้ครับ

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ปณิธานที่แน่วแน่ของดีแทค” คือ การดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม (Responsible Business) ที่ขณะนี้กำลังก้าวสู่การเป็นสังคมดิจิทัล (Digital Society) อย่างเต็มตัว ภายใต้โครงการ Safe Internet ที่มุ่งเน้นการให้ความรู้เท่าทัน การเสริมสร้างทักษะ การสร้างจิตสำนึกในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ รวมไปถึงเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นสังคมให้เกิดการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง โดยเฉพาะเรื่องการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ซึ่งเป็นปัญหาระดับโลกที่นานาประเทศให้ความสำคัญ จนได้ร่วมกันจัดตั้งวันต่อต้านการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์ (STOP Cyberbullying Day) ซึ่งในปีนี้ตรงกับวันที่ 17 มิถุนายน นั่นจึงเป็นแรงผลักดันให้ดีแทค เริ่มเดินหน้าทำโครงการอย่างต่อเนื่อง ซึ่งที่ผ่านมาดีแทคได้เน้นเรื่องของความให้ความรู้เป็นหลัก แต่แค่ความรู้คงไม่เท่าการกระทำ ในปีนี้จึงได้จัดแคมเปญรณรงค์ภายใต้ชื่อ “ใช้หัวคลิก” รณรงค์เพื่อหยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์ เพื่อกระตุ้นให้คนไทยในโลกออนไลน์ลุกขึ้นมาแสดงสัญลักษณ์ในการต่อต้านปัญหานี้ด้วยกัน ดีเดย์เริ่มแสดงพลังในวัน STOP Cyberbullying Day นี้”

ทั้งนี้ ดีแทค ยังได้ข้อมูลที่ทำให้เห็นถึงปัญหาที่ชัดเจนมากขึ้นคือผลสำรวจคนไทยบนโลกออนไลน์ โดยได้ร่วมกับ จส.100 จัดทำโพลสำรวจความคิดเห็นของคนออนไลน์จำนวนกว่า 34,000 คน พบตัวเลขและความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาการกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ที่น่าสนใจว่า

·       80% รู้ว่ามีการ Cyberbullying และมองว่าปัญหานี้รุนแรงต่อสังคม

·       55% เห็นการทำ Cyberbullying ในรูปแบบแอบถ่ายรูปคนอื่นแล้วนำไปโพสต์เม้าท์กับเพื่อน รองลงมาคือ 19% เอารูปไปตัดต่อล้อเลียน และ 15% ถูกสวมรอยสร้างโปรไฟล์ปลอม

·       54% เคยเป็นส่วนหนึ่งของ Cyberbullying ด้วยการโพสต์แกล้งเพื่อนขำๆ รองลงมา 26% รู้สึกว่าก็แค่แสดงความคิดเห็นลงไปในรูปหรือข้อความที่ไม่ใช่เรื่องของตัวเองเพื่อความสนุก และ 20% แชร์ช่วยสังคมโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่าทำลายสังคมให้แย่ลงกว่าเดิม

·       74% เรียกร้องให้สร้างจิตสำนึกในสังคมออนไลน์ เพื่อลดปัญหา Cyberbullying รองลงมา 26% หยุดโพสต์ หยุดแชร์ในเรื่องที่ไม่รู้จริง

นางสาวปารมี ทองเจริญ ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานแบรนด์ คอมมูนิเคชั่น ดีแทค เผยว่า “แคมเปญ ‘ใช้หัวคลิก หยุดดู หยุดแชร์ หยุดรังแกกันบนโลกออนไลน์’ จะเป็นแคมเปญออนไลน์ที่เน้นเรื่องของการมีส่วนร่วมในการแสดงพลังต่อต้านปัญหา CyberBullying โดยดีแทคได้จัดทำหนังสั้นภายใต้แนวคิด ‘หนังสั้นที่อยากให้คนหยุดดู’ เพื่อสะท้อนให้เห็นว่าโลกออนไลน์มีผลต่อชีวิตใครหลายคนมากกว่าที่คุณคิด หนังสั้นเรื่องแรกที่ทำขึ้นเพื่อให้คนดูเป็นคนกำหนดตอนจบได้เอง โดยผู้กำกับมือรางวัล เต๋อ นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ โดยนำเรื่องราวที่เกิดจากการที่ทำไปโดยไม่รู้ตัว เพราะคิดว่ามันเป็นเรื่องเล็กๆ เรื่องเล่นๆ หรือแม้กระทั้งหวังดี จึงดูและแชร์ไป โดยไม่คิดว่าจะมีผลร้ายอะไร แต่เรื่องที่เล็กๆในชีวิตจริงที่อาจกลายเป็นเรื่องใหญ่บนโลกออนไลน์จนทำร้ายชีวิตใครสักคนได้ ซึ่งในภาพยนตร์สั้นเรื่องนี้ อยากเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่ง่ายและมีประสิทธิภาพมากที่สุด นั่นคือการ ‘หยุด’ หยุดดู หยุดแชร์เรื่องต่างๆที่เข้าข่าย CyberBullying หยุดตอนที่ยังหยุดได้ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไปแล้วโลกออนไลน์จะดีขึ้นได้เพียง ‘ใช้หัวคลิก’ ก่อนการโพสต์ แชร์ คอมเมนท์ ทั้งนี้หนังสั้นจะถูกปล่อยในวัน Stop CyberBullying Day นี้ในทุกช่องทางโซเชียลมีเดีย และทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการร่วมรณรงค์ครั้งนี้ได้ด้วยการแสดงสัญลักษณ์หน้าโปรไฟล์เฟสบุ๊ก พร้อมติดแฮชแทก #STOPCyberBullying โดยสามารถติดตามผ่านช่องทาง Youtube Channel : dtac”

 

 

สุดท้ายนี้ ผมเองก็หวังว่าแคมเปญดี ๆ จากดีแทค จะส่งผลในแง่บวก และก่อให้เกิดประโยชน์ในระยะยาวในการช่วยแก้ปัญหา Cyber bullying ของบ้านเรา เพราะปัจจุบันปัญหานี้ถือว่ารุนแรงและพบเห็นได้บ่อยในทุก ๆ สังคมของประเทศไทย

ก่อนจากกัน ขอฝากแง่คิดดี ๆ กันสักนิดครับ “ใช้หัวคลิก”  สักนิด หยุดทำร้ายผู้บริสุทธิ์ ด้วยการใช้มือคลิก โดยไม่คำนึงถึงผลที่ตามมากันนะครับ

ลากันไปแต่เพียงเท่านี้ พบกันใหม่ใน “สกู๊ปพิเศษ” ในโอกาสพิเศษ ๆ นะครับ ^^

 

สามารถพูดคุยเกี่ยวกับบทความนี้ได้ที่หน้าเว็บบอร์ดเดิมครับ โดยคลิ๊กที่ลิงก์นี้ครับ >>> http://goo.gl/cBb3Yl

 



ถูกใจบทความนี้  0