30 มิถุนายน 2559 – ดีแทคประกาศผลศึกษาที่จัดทำขึ้นโดยความร่วมมือกับศูนย์วิจัยเทเลนอร์ โดยผลรายงานจาก 7 ประเทศในเอเชียและยุโรป พบว่าการใช้งานอินเทอร์เน็ตในกลุ่มคนรุ่นใหม่ในเอเชียที่ใช้งานบนมือถือมีความหลากหลายและแตกต่างกันไปแม้อยู่ในภูมิภาคเดียวกันและเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มยุโรป โดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้สมาร์ทโฟนของไทยเป็นทั้งผู้ใช้งานดิจิทัลที่ล้ำหน้าและใช้งานดิจิทัลทางอินเทอร์เน็ตมากสุด โดยมียอดการใช้งานอินเทอร์เน็ตสูงสุดติดอันดับทั้งวิดีโอและการโทรผ่านอินเทอร์เน็ต
ดีแทคและศูนย์วิจัยเทเลนอร์เผยคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนของไทยเป็นผู้ใช้งานดิจิทัลมากที่สุด
ผลการสำรวจ 7 ประเทศพบไทยเป็นกลุ่มผู้ใช้งานทันสมัยสุดทั้งโทรผ่านเน็ตและวิดีโอเทียบทั้งเอเชียและยุโรป
ดีแทคโดยความร่วมมือกับศูนย์วิจัยเทเลนอร์ได้เริ่มดำเนินการศึกษาเมื่อไตรมาสที่ 4 ปี พ.ศ. 2558 ที่ผ่านมากับกลุ่มตัวอย่าง 5,600 รายในประเทศไทย มาเลเซีย ปากีสถาน เซอร์เบีย ฮังการี สวีเดน และนอร์เวย์ จากกลุ่มอายุ 16-35 ปี ซึ่งเป็นผู้ใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตบนมือถือ โดยกลุ่มประชากรที่ถูกทำการสำรวจในครั้งนี้เทเลนอร์ระบุให้เป็น “ผู้ใช้งานดิจิทัลแถวหน้า (Digital Frontrunners)” ซึ่งรูปแบบต่างๆ ของการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือของผู้ใช้งาน จะเป็นดรรชนีชี้วัดในภาพรวมของแต่ละประเทศในปีหน้า จากการศึกษาพฤติกรรมพบว่าผู้ใช้งานสมาร์ทโฟนมีรูปแบบกิจกรรมการใช้งานอินเทอร์เน็ตหลากหลายในแต่ละวัน ทั้งการใช้ท่องเว็บ รับ-ส่งข้อความ แชร์คอนเทนต์ ช้อปปิ้ง และชมวิดีโอ
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ““เพื่อตอบสนองทิศทางของผู้ใช้บริการดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ใช้งานสมาร์ทโฟนของไทยเป็นผู้ใช้งานดิจิทัลบนอินเทอร์เน็ตมากที่สุด ดีแทคจึงมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำในการให้บริการอินเทอร์เน็ตของประเทศ โดยการสร้างและมอบโครงข่ายที่สมบูรณ์แบบที่สุดให้กับลูกค้าที่รักการใช้บริการข้อมูล ดีแทคจะเดินหน้าสู่เป้าหมายนี้ ด้วยการรุกขยายโครงข่าย สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการ และการปรับเปลี่ยนการทำงานสู่รูปแบบดิจิทัลของเรา ผมจะมุ่งทำงานร่วมกับทีมงานผู้บริหารดีแทคอย่างใกล้ชิดในการที่จะสร้างให้บริษัทอยู่ในตำแหน่งของการให้บริการดิจิทัลในระดับแนวหน้า”
นายบียอร์น ทัลเล่ แซนด์เบิร์ก หัวหน้าศูนย์วิจัยของเทเลนอร์ กล่าวว่า “การสำรวจในครั้งนี้มีความสำคัญอย่างมากที่จะศึกษาจากกลุ่ม “ดิจิทัลแถวหน้า (Digital Frontrunners)” ซึ่งจะช่วยในการคาดการณ์เทรนด์ของการใช้งานในอนาคตที่กำลังมา สิ่งนี้ไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่การวางแผนในการบริการดิจิทัลของเรา แต่ยังน่าสนใจสำหรับที่จะศึกษาการใช้งานที่มีความคล้ายกันของระหว่างประเทศซึ่งมีความหลากหลายออกไปในประเทศไทย ฮังการี ปากีสถาน หรือนอร์เวย์ เช่นถ้าเราคาดว่า 2 ประเทศอาจจะมีพัฒนาการแบบเดียวกัน แต่บนความคล้ายกันจะมีจุดแตกต่างของแต่ละท้องถิ่นเฉพาะออกไป”
ประเทศไทยและเอเชีย ล้ำหน้ายุโรปในการสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต
จากการศึกษาพบว่ามีหลายประเทศจากการสำรวจ 7 ประเทศกำลังเพิ่มการก้าวสู่การใช้งานบริการอินเทอร์เน็ตต่างๆ สำหรับในส่วนของประเทศไทยพบว่ามีการเติบโตการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นทั้งรูปแบบการโทรผ่านอินเทอร์เน็ตและวิดีโอคอลล์ตั้งแต่เดือนเมษายน พ.ศ. 2557 ถึง ธันวาคม พ.ศ. 2558 ด้วยการใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 48% เป็น 65% และ 37% เป็น 52% ตามลำดับ โดยมีเพียง 3% กล่าวว่ายังไม่เคยใช้งานสื่อสารรูปแบบนี้ โดยประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่มีความถี่ในการใช้งานผ่านอินเทอร์เน็ตเพิ่มสูงสุดโดยมีจำนวน 86% ที่ใช้งานทุกวัน รองจากประเทศเซอร์เบีย 89%
จากผลสำรวจกลุ่มประเทศนอร์ดิกชี้ว่ามีจำนวน 37% ใช้บริการเล็กน้อยในการโทรผ่านอินเทอร์เน็ต และในจำนวน 36% ของชาวนอร์เวย์ และสวีเดนระบุว่าไม่เคยใช้งานการโทรรูปแบบนี้มาก่อน เปรียบเทียบกับความนิยมการใช้งานวิดีโอคอลล์ในกลุ่มผู้ใช้งานดิจิท้ลแถวหน้าของประเทศไทย โดยมีจำนวน 52% ที่ใช้งานทุกวัน เทียบกับชาวนอร์เวย์มีจำนวนเพียง 5% ใช้งานทุกวัน
ทั้งนี้ จากการเพิ่มขึ้นอย่างหลากหลายของแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟน อาจจะคาดได้ว่าคนใช้งานรุ่นใหม่จะมองข้ามฟังก์ชั่นการโทรซึ่งเป็นการใช้งานหลักของมือถือที่ถูกผลิตมา อย่างไรก็ตามผลสำรวจแสดงให้เห็นว่าการโทรมือถือแบบปกติยังเป็นส่วนหนึ่งการการใช้งาน โดยจำนวน 58% ของผู้ใช้งานแถวหน้าในประเทศไทยยังมีการใช้งานโทรแบบปกติหลายครั้งต่อวัน
ในขณะที่ผลสำรวจของชาวไทยยังเชื่อว่าการใช้งานโทรศัพท์ด้วยเสียงยังเป็นบริการการสื่อสารที่สำคัญที่สุดของโทรศัพท์มือถืออยู่ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจจากประเทศอื่นๆ ยกเว้นประเทศมาเลเซีย ที่กล่าวว่าแอปพลิเคชันส่งข้อความเป็นบริการสื่อสารที่สำคัญที่สุด
การส่งข้อความทางอินเทอร์เน็ตนั้นมาแรงมาก
ทั้งคนไทย (68%) และมาเลเซีย (71%) ที่ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาใช้แอปฯ ข้อความจำนวนหลายครั้งต่อวัน ทำสถิติแซงหน้า สวีเดน (44%) นอร์เวย์ (53%) เซอร์เบีย (76%) และฮังการี (60%)
ในขณะที่ผู้ที่ใช้งานเป็นส่วนน้อย ได้แก่ ปากีสถาน ที่มีการใช้งานเพียง 29 % แต่พวกเขากลับเป็นผู้ใช้การส่งข้อความแบบดั้งเดิมผ่าน SMS มากที่สุด โดยคนรุ่นใหม่จำนวน 66% ยังมีการใช้งานส่ง SMS วันละหลายครั้งต่อวัน
อย่างไรก็ตาม การใช้ SMS ก็ไม่ใช่ปัจจัยการแบ่งแยกระหว่างตลาดเกิดใหม่ (Emerging) และตลาดเติบโต(established)ได้ เพราะผู้ใช้งานแถวหน้าในนอร์เวย์ (56%) และสวีเดน (48%) มีการใช้ SMS วันละหลายครั้ง เช่นกัน แม้จะเป็นตลาดเติบโตแล้วก็ตาม (Established Markets)
ในขณะที่ผู้ใช้งานแถวหน้าของไทยใช้ SMS น้อยที่สุด ซึ่งจำนวน 49% บอกว่าพวกเขาอยู่ในกลุ่มใช้เดือนละครั้ง น้อยกว่านั้น หรือไม่ได้ใช้เลย ซึ่งเป็นไปตามคาดเพราะปัจจุบันการใช้ SMS ในเมืองไทยนั้นได้รับความนิยมในการใช้งานน้อยลง
สำหรับความนิยมในการสื่อสารแบบข้อความของบุคคลบนโทรศัพท์ผ่านอินเทอร์เน็ต แอปพลิเคชันที่นิยมสูงสุดในประเทศไทยคือ LINE ตามด้วย Facebook Messenger อย่างไรก็ตามความนิยมจะแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศที่ทำการาสำรวจมา โดยประเทศมาเลเซียนิยม WhatsApp, เซอร์เบียนิยม Viber และสวีเดนนิยมสื่อสารผ่านอีเมล
การใช้งานแบบใหม่ของโมบายล์อินเทอร์เน็ต
ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มตลาดผู้นำของเอเชีย ในการรับเอาเทคโนโลยีใหม่ของโมบายล์อินเทอร์เน็ตมาใช้งาน ผู้ใช้งานชาวไทยและมาเลเซียมีสถิติการใช้งานสูงสุดในการใช้งานบริการแผนที่ แชร์พิกัดสถานที่ ช้อปออนไลน์ และเล่นเกม อย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
ผลสำรวจที่น่าสนใจคือ จำนวน 22% ของคนไทยกล่าวว่าพวกเขาช้อปออนไลน์เป็นประจำทุกวัน รวมทั้งชมทีวีและวิดิโอออนไลน์ ซึ่งมากกว่ากลุ่มอื่นที่ร่วมในการสำรวจในครั้งนี้ โดย 91 % ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่าพวกเขาทำกิจกรรมที่กล่าวมาข้างต้นอย่างน้อย 1 ครั้ง ต่อสัปดาห์
คนไทยมีการใช้บริการทางการเงิน และการโอนเงินผ่านอินเทอร์เน็ตมากถึง 49 % เป็นรองแค่สวีเดน 57%
“การทำตลาดในหลากหลายภูมิภาคทั้งในทวีปเอเชียและยุโรป เราต้องฟังเสียงของผู้ใช้งานเพื่อพัฒนาไปพร้อมๆ กับพวกเขา ถ้าเราค้นพบว่าคนไทยหรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ชอบช้อปปิ้งออนไลน์ หรือชาวมาเลเซียชอบใช้งานแอปพลิเคชันในการสนทนา ดังนั้น ในฐานะผู้ให้บริการด้านดิจิทัล นี่คือหน้าที่ของเราที่ต้องนำเสนอบริการดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการและเทรนด์การใช้งาน” นายทัลเล่ กล่าวในที่สุด
ถูกใจบทความนี้ 0
You must be logged in to post a comment.