CAT เดินหน้า Digital Innovation Park จับมือการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กอน.) ร่วมพัฒนาพื้นที่เพื่อรองรับอุตสาหกรรมนวัตกรรมดิจิทัล

cat

 ดร.สุรพันธ์ เมฆนาวิน กรรมการบริษัท รักษาการในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) และนายวีรพงศ์  ไชยเพิ่ม ผู้ว่าการ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) เพื่อพัฒนาพื้นที่อุทยานนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation Park) โดยได้รับเกียรติจากนายพรชัย ตระกูลวรานนท์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงอุตสาหกรรม และนายพันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ร่วมเป็นสักขีพยาน ณ อาคาร CAT Tower บางรัก เมื่อวันที่ 1 สิงหาคมที่ผ่านมา

 

  cat1
โดยดร.สุรพันธ์ฯ เปิดเผยว่า “หลังจากรัฐบาลได้มอบนโยบาย THAILAND 4.0  โดยประกาศแผนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงการส่งเสริมให้อุตสาหกรรมดิจิทัลมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศนั้น เพื่อตอบสนองนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล  บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด มหาชน จึงเริ่มศึกษาเพื่อพัฒนาพื้นที่ขนาด 600 ไร่ในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ซึ่งมีความได้เปรียบในด้านทำเลที่ตั้ง ที่ใกล้กับจุดเชื่อมต่อเครือข่ายทางทะเล และขนาดของพื้นที่กว้างใหญ่ สามารถจัดสรรพื้นที่ใช้สอยเพื่อจัดตั้งศูนย์รวมเทคโนโลยีต่างๆ ที่ให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย มีคุณภาพ และสามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้ตรงความต้องการ อย่างครบวงจร เพื่อเป็น “Digital Innovation Park” ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ภายใต้แนวคิด Smart City โดยจะเป็นศูนย์กลางการพัฒนาด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัย อันจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต

“บันทึกความเข้าใจ ความร่วมมือการพัฒนาพื้นที่อุทยานนวัตกรรมดิจิทัล (Digital Innovation Park) ระหว่าง CAT กับการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จัดขึ้นเพื่อทั้งสองหน่วยงานจะได้ร่วมกันพัฒนาขับเคลื่อนพร้อมศึกษาความเป็นไปได้ของพื้นที่ที่จะใช้จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมดิจิทัล ที่จะต้องมีความพร้อมด้านระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบสื่อสารโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพสูง และสามารถรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลในอนาคตได้อย่างครบวงจร ทั้งนี้ พื้นที่ดังกล่าว อยู่ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor) ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายที่รัฐบาลใช้รองรับ 10 กลุ่มอุตสาหกรรมที่สำคัญ อาทิ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) และคาดการณ์ว่ากลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้จะมีอัตราการเติบโตด้านการลงทุนเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคต โดย CAT จะร่วมลงทุนและสนับสนุน Digital Infrastructure ทั้งระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในโครงการ”

“ทั้งนี้ Digital Innovation Park  จะเป็นศูนย์รวมเทคโนโลยีต่างๆ อาทิ Data Center, Cloud Computing, Internet of Things (IOT), Industrial Park ในด้าน IT และ Hardware, Software Park  รวมถึงอาคารสำนักงานเพื่อให้บริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่ทันสมัยมีคุณภาพสามารถตอบสนองผู้ใช้บริการได้ตรงตามความต้องการอย่างครบวงจร นอกจากนี้ยังใช้เป็นพื้นที่สนับสนุนด้านไอที( IT Support)ในการสื่อสารภายในประเทศ ตลอดจนเป็นพื้นที่สำหรับบ่มเพาะสตาร์ท อัพ (Startups) เพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมและสนับสนุนอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตอีกด้วย”

 



ถูกใจบทความนี้  0