กระทรวงวิทย์ฯ เชิญชมคนไทยชมนิทรรศการอยู่กับยุง แบบไม่ยุ่งวุ่นวาย พร้อมชมสาธิตการให้เลือดยุงเพื่อการวิจัยและพัฒนายาภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติฯ” ตั้งแต่วันนี้ – 28 สิงหาคม นี้ ที่อิมแพ็ค เมืองทองธานี

IMG_9928

 นนทบุรี / 27 สิงหาคม 2559 – กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จัดแสดง “นิทรรศการอยู่กับยุง (Living with Mosquitos) ขึ้น ภายในงาน “มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559” (National Science and Technology Fair 2016) ตั้งแต่วันที่ 18-28 สิงหาคม 2559  ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี อย่าพลาดชมสาธิตการให้เลือดยุงเพื่อการวิจัย และส่องดูหน้าตาเชื้อโรคจากยุงวายร้ายนานาชนิดที่ก่อให้เกิดโรคกับมนุษย์และสัตว์ผ่านกล้องจุลทรรศน์ พร้อมร่วมทำกิจกรรม Hands on สเปรย์หอมไล่ยุงจากตะไคร้หอม และประดิษฐ์เครื่องดักยุงอย่างง่ายด้วยตัวเอง…..แล้วนิทรรศการนี้จะทำให้เรารู้ว่าอยู่กับยุงได้อย่างไรไม่ให้ยุ่งวุ่นวาย      

 

IMG_0116

IMG_0117
ดร.พิเชฐ  ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ยุงถือกำเนิดขึ้นในโลกใบนี้ตั้งแต่ปลายยุคพาเลโอโซนิค หรือกว่า 200 ล้านปีมาแล้ว มียุงบนโลกมากกว่า 4,000 ชนิด แต่มียุงเพียงไม่กี่ชนิดที่เป็นพาหะนำโรคที่คร่าชีวิตคนบนโลกมากกว่า 7 แสนรายต่อปี สำหรับประเทศไทยเริ่มพบโรคไข้เลือดออกประปรายตั้งแต่ปี พ.ศ. 2492 พบการระบาดใหญ่ครั้งแรกในประเทศไทย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2501 ในช่วง 50 ปีที่ผ่านมามีการระบาดเพิ่มมากขึ้น ทั้งจํานวนผู้ป่วยและพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง และแพร่กระจายไปทั่วประเทศโดยในช่วง 20 ปีแรก มักระบาดปีเว้นปี ต่อมา 20 ปีหลัง มีรูปแบบการกระจายแบบระบาดสูง 2 ปีแล้วลดต่ำลง หรือลดต่ำลง 2 ปีแล้วเพิ่มสูงขึ้น สถานการณ์โรคไข้เลือดออกประเทศไทยนับตั้งแต่ ปี 2501 เรื่อยมามีแนวโน้มที่สูงขึ้นมาโดยตลอด ล่าสุดการระบาดของโรคไข้เลือดออก รวมทั้ง โรคอื่นๆ ที่เกิดจากยุงเป็นพาหะมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น สถานการณ์โรคไข้เลือดออกในประเทศยังมีความน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง โดยข้อมูลสถิติจากสำนักระบาดวิทยา พบว่าในปี 2559 มีผู้ป่วยสูงกว่าในช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 2 เท่า ทำให้หลายฝ่ายต่างตระหนักถึงผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่เกิดขึ้น อันจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชน กระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอีกมากมาย เช่น เป็นภาระของครอบครัว มีผลต่อการเรียน ต่อการทํางาน สูญเสียค่าใช้จ่ายที่ต้องรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ของครอบครัวผู้ป่วย ตลอดจนอาจมีผลทําให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวันอันสมควร ดังนั้น เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจว่า แล้วเราจะอยู่กับยุงอย่างไรแบบไม่ยุ่งวุ่นวาย ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงจัดแสดงนิทรรศการ “อยู่กับยุง” (Living with Mosquitos) ขึ้น ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559 ระหว่างวันที่ 18-28 สิงหาคม 2559 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งนิทรรศการหลักที่มีผู้สนใจเข้าชมและทำกิจกรรมกันเป็นจำนวนมาก

 

IMG_0118

IMG_9748

ภายในนิทรรศการนี้ผู้เข้าชมจะได้เรียนรู้ว่า ยุงร้ายกว่าเสืออย่างไร, โรคต่างๆ ที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ, มาส่องดูเชื้อโรคจากยุงวายร้ายนานาชนิดที่ก่อให้เกิดโรคกับมนุษย์และสัตว์ผ่านกล้องจุลทรรศน์, ตื่นตะลึงกับ Model ยุงยักษ์, ยุง…ทำไมกัดแล้วจึงทำให้เราคัน, ยุงหาเหยื่อได้อย่างไร, ชมนวัตกรรมไล่ยุง อาทิ มุ้งนาโนไล่ยุง จากศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค โดยใช้สารสกัดเลียนแบบสารในกลุ่มไพเรธรอยด์ (Pyretroid) ในเก๊กฮวย ดาวเรือง โดยเคลือบและผสมลงในเส้นใย เมื่อปลายขายุงสัมผัสกับมุ้งนาโนนี้ จะทำให้ยุงบินช้าลงและตายในที่สุด, สเปรย์นาโนไล่ยุง โดย นาโนเทค, การควบคุมจำนวนยุงด้วยวิธีทางชีวภาพที่ก้าวล้ำจากแบคทีเรีย โดยนักวิจัยจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล, เครื่องดักยุงด้วยเชื้อราชีวภาพ In2Care โดยบริษัทในเนเธอร์แลนด์ และตัวเราจะมีวิธีป้องกันและกำจัดยุงร้ายได้อย่างไร Together We Can….., กำจัดยุงง่ายๆ ด้วยสมุนไพรในครัวเรา พลาดชมไม่ได้กับการสาธิตการให้เลือดยุงเพื่อการวิจัยและพัฒนายาและวัคซีน เพื่อการป้องกันและรักษาโรคที่เกิดจากยุงเป็นพาหะ โดยนักวิจัยจากคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมร่วมทำกิจกรรม Hands on สเปรย์หอมไล่ยุงจากตะไคร้หอม และประดิษฐ์เครื่องดักยุงอย่างง่ายด้วยตัวเอง

สุดท้ายนี้ ดร.พิเชฐฯ ได้กล่าวเชิญชวนเยาวชนและประชาชนทุกท่านให้เข้าชมงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ประจำปี 2559 ในระหว่างวันที่ 18-28 สิงหาคม 2559 ตั้งแต่เวลา 09.00 – 19.00 น. ณ อาคารเอ็กซิบิชั่น ฮอลล์ 2-8 อิมแพ็ค เมืองทองธานี ร่วมสนุกและเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่ทุกคนสามารถเข้าชมได้อย่างเพลิดเพลิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเข้าชมและร่วมกิจกรรม

สำหรับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่ต้องการเข้าชมเป็นหมู่คณะ ติดต่อได้ที่ โทร 0 2577-9960 เวลาที่เหมาะสำหรับการเข้าชมสำหรับประชาชนทั่วไป วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 15.00-19.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-19.00 น. ติดตามข้อมูลข่าวสารและรายละเอียดงานได้ที่ www.thailandnstfair.com หรือ Facebook : มหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ  LINE ID: thailandnstfair  หรือ Instagram : ThailandNSTFair

 



ถูกใจบทความนี้  0