15 กันยายน 2559, กรุงเทพฯ – สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงไอซีที ร่วมมือหน่วยงานรัฐ เร่งต่อยอดการใช้งานระบบการจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความน่าเชื่อถือ (Trusted e-Document Authority หรือ TeDA) พัฒนาระบบ Centrally-Signed Email หนุนเปลี่ยนระบบการชำระเงิน (Payment System) เข้าสู่ระบบอิเล็กทรอนิกส์แบบครบวงจร ทั้งในส่วนการชำระเงิน และการจัดเก็บภาษี เล็งยกระดับประเทศไทย ให้ติดอันดับที่สูงขึ้นของประเทศที่มีคุณภาพด้านระเบียบข้อบังคับที่มีผลต่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจ และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของภาคธุรกิจไทย
สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA กล่าวว่า เพื่อสนับสนุนการเติบโตของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) การทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Transaction) ไปจนถึงการอำนวยความสะดวกทางการค้าด้วยวิธีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Trade Facilitation) เพื่อรองรับการทำการค้าและธุรกรรมทางออนไลน์ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เอ็ตด้าในฐานะของหน่วยงานที่มีหน้าที่พัฒนา Soft Infrastructure ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานเบื้องหลังการธุรกรรมเหล่านี้ กำลังเดินหน้าผลักดันโครงการระบบการจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่มีความน่าเชื่อถือ (Trusted e-Document Authority หรือ TeDA) เพื่อเปลี่ยนเอกสารกระดาษให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีผลตามกฎหมาย เพื่อลดขั้นตอน พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการทำการค้าการลงทุนให้กับประเทศแบบครบวงจร
“ก่อนหน้านี้ มีคำพิพากษาฎีกาตัดสินเป็นบรรทัดฐานว่า เอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์มีผลตามกฎหมาย และลายมือชื่อซึ่งหมายถึงพาสเวิร์ดมีผลเป็นลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น เอ็ตด้าจึงพิจารณาว่าลายมือชื่อที่สามารถเชื่อถือได้จะช่วยยกระดับสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ จึงเป็นที่มาของโครงการ TeDA โดยรูปแบบของ TeDA มีคุณสมบัติที่ทำให้สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลใด ๆ ที่ปรากฏบนหน้าจอจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ในภายหลัง เพราะจะมีทั้งการลงลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) และการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Time Stamp) เพื่อยืนยันช่วงเวลาในการทำธุรกรรมอย่างชัดเจน ซึ่งก่อให้เกิดผลผูกพันในทางกฎหมาย” สุรางคณา กล่าว
ทั้งนี้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการในการติดต่อขอรับบริการ หรือทำธุรกรรมกับภาครัฐได้โดยสะดวก เอ็ตด้าอยู่ระหว่างการเข้าไปช่วยสนับสนุนให้ข้อมูลด้านเทคนิคให้กับหน่วยงานรัฐ เพื่อช่วยให้การใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ภายในหน่วยงานเป็นไปอย่างเป็นระบบ และมีความน่าเชื่อถือ โดยโครงการที่เอ็ตด้ากำลังเข้าไปให้ความช่วยเหลือในการพัฒนา ได้แก่ ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (e-Tax Invoice) ผ่านระบบที่เรียกว่า Centrally-Signed Email ที่จะเริ่มให้บริการในเดือนมกราคม 2560 นี้ รวมไปถึงระบบขอรับหนังสือรับรองการอนุญาตการผลิต และนำเข้า ให้กับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) โครงการ e-Trade Facilitation ซึ่งเป็นโครงการสนับสนุนการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัยในกระบวนการนำเข้า-ส่งออกสินค้า ซึ่งเป็นหนึ่งในโครงการเพื่อปรับปรุงกระบวนการทำงานในส่วนการค้าข้ามพรมแดน (Cross-Border Trade) และอื่น ๆ
เอ็ตด้าเชื่อมั่นว่าโครงการ TeDA จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มศักยภาพ พร้อมทั้งยกระดับคุณภาพ และประสิทธิภาพของระเบียบข้อบังคับที่มีผลต่อการดำเนินธุรกิจทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศของประเทศไทยให้เพิ่มสูงมากขึ้น รวมทั้งจะมีส่วนช่วยในการสนับสนุนการค้า การติดต่อของภาคธุรกิจเพื่อเพิ่มรายได้ และมูลค่าทางเศรษฐกิจได้อย่างสมบูรณ์
ดร.อนุชิต อนุชิตานุกุล ที่ปรึกษาคณะทำงานระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการที่จะผลักดันให้ประเทศก้าวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลนั้น การปรับปรุงระบบการชำระเงิน (Payment System) ถือเป็นแกนหลัก (backbone) สำคัญที่ต้องการการพัฒนาอย่างต่อเนื่องทั้งในส่วนของภาครัฐ และภาคเอกชน โดยการปรับระบบการชำระเงินถือเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างระบบการชำระเงินระดับประเทศ (National e-Payment) ที่จะทำให้การจัดเก็บเงิน ทั้งในส่วนของภาคการชำระเงิน และภาคการจัดเก็บภาษี อยู่บนระบบอิเล็กทรอนิกส์ครบทั้งวงจร
“ในการทำให้ระบบสมบูรณ์ การออกใบกำกับภาษีถือเป็นอีกส่วนสำคัญที่ต้องปรับเปลี่ยนการส่งเอกสารใบกำกับภาษีให้อยู่บนอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงต้องสามารถใช้เป็นหลักฐานยืนยันเพื่อการตรวจสอบจากองค์กรรัฐได้อีกด้วย ดังนั้น จึงมีโครงการที่เรียกว่า “Centrally-Signed Email” ที่เอ็ตด้า และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรนิกส์ร่วมพัฒนา เพื่อให้ผู้ประกอบการทั้ง B2B และ B2C สามารถส่งใบกำกับภาษีให้กับหน่วยงานรัฐ หรือสรรพากรผ่านระบบอีเมลกลางของภาครัฐ พร้อมลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์เพื่อยืนยันความถูกต้องได้โดยสะดวก โดยระบบจะเริ่มเปิดให้บริการในต้นปีหน้าเป็นต้นไป” ดร.อนุชิต กล่าว
ระบบ Centrally-Signed Email ซึ่งพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของโครงการ TeDA นี้ จะเปิดทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการในการจัดส่งใบกำกับภาษี ขณะที่ช่วยอำนวยความสะดวกให้กับหน่วยงานรัฐในการเรียกดูเอกสารเพื่อการตรวจสอบ การใช้ระบบอีเมลถือเป็นขั้นต้นของการให้บริการที่จะทำให้การเก็บส่ง และเรียกตรวจสอบเอกสารเข้ามาสู่รูปแบบ (format) ของอิเล็กทรอนิกส์ได้อย่างรวดเร็วที่สุด โดยผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องลงทุนในเทคโนโลยีลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Signature) ด้วยตัวเอง
ทั้งนี้ โครงการ TeDA จัดทำขึ้น เพื่อให้เป็นโครงการต้นแบบในการจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์แบบถาวรที่มีความน่าเชื่อถือ โดยจัดตั้งระบบรับรองและจัดเก็บเอกสาร ด้วยเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure: PKI) ในการยืนยันตัวบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับการบริหารจัดการเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ คุณสมบัติเฉพาะที่ระบบ TeDA มี เพื่อรองรับความต้องการของหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการดำเนินการโครงการ ได้แก่
· แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (โปรโจค TeDA Form) การสร้างแบบฟอร์มในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ตามมาตรฐาน ISO32000 : Portable Document Format เพื่อให้เป็นฟอร์มที่สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลได้โดยอัตโนมัติ
· การประทับเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (โปรโจค TeDA Time) เพื่อรับรองการมีอยู่ของเอกสาร ณ วันเวลาที่ร้องขอจาก Time Stamping Authority (TSA) เพื่อเป็นกลไกยืนยันเวลาของการทำธุรกรรมและตรวจสอบได้ว่าเอกสารถูกแก้ไขหรือไม่
· การรับรองเอกสารด้วยลายมือชื่อดิจิทัล (โปรโจค TeDA Sign) เพื่อให้สามารถบอกได้ว่าเอกสารถูกรับรองโดยบุคคลใด โดยการทำ Digital Signature ด้วยเทคโนโลยี PKI และทำให้สามารถตรวจสอบได้ว่าเอกสารถูกแก้ไขหรือไม่
· การจัดเก็บเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ระยะยาว (โปรโจค TeDA Safe & Long-term-Archive) การจัดเก็บเอกสาร หรือเก็บเฉพาะหลักฐานในการพิสูจน์เอกสาร (Evidence Record) เพื่อพิสูจน์ความถูกต้องแท้จริงของเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ที่ต้องจัดเก็บระยะยาว โดยสามารถเข้าถึงไฟล์ได้ง่าย ด้วย Web Application Client สามารถทำ time stamp ภายหลังจาก Certificate หมดอายุ หรือ Algorithm ที่ใช้หมดความน่าเชื่อถือ เพื่อรับรองว่าเอกสารไม่ถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไข
โดยรวม เอกสารอิเล็กทรอนิกส์สามารถลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง และค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษา ทั้งยังสามารถค้นหาได้ง่ายเมื่อต้องนำกลับมาใช้ รวมถึงสามารถพิสูจน์ความน่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ว่าเอกสารถูกเปลี่ยนแปลงแก้ไขหรือไม่ โดยเอกสารทางอิเล็กทรอนิกส์ที่มีคุณสมบัติตามที่ได้กล่าวมา มีผลตามตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 เหล่านี้เป็นประโยชน์ที่ได้ จากการเปลี่ยนผ่านจากกระดาษสู่ระบบเอกสารอิเล็กทรอนิกส์
ตัวอย่างการนำไปใช้งานในหน่วยงานต่าง ๆ ระบบที่ใช้งานแล้ว ได้แก่
1. ระบบออกใบรับรองการเป็นสมาชิกเนติบัณฑิตยสภา โดยใช้เทคโนโลยี TeDA Form, TeDA Time และ TeDA Sign
2. ระบบขอหนังสือรับรองการอนุญาตการผลิตและนำเข้า องค์การอาหารและยา โดยใช้เทคโนโลยี TeDA Form
และระบบที่กำลังพัฒนา ได้แก่
1. โครงการ e-Trade Facilitation เช่น การออกใบอนุญาต (e-Certificate) นำเข้า-ส่งออกอ้อยและน้ำตาล โดยใช้เทคโนโลยี TeDA Form, TeDA Time และ TeDA Sign
2. ระบบใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ Centrally-Signed Email โดยใช้เทคโนโลยี TeDA Time และ TeDA Safe
สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมของโครงการ TeDA ได้ที่เว็บไซต์ www.teda.th
You must be logged in to post a comment.