สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม อยากให้คนไทยรู้จักอีคอมเมิร์ซมากขึ้น สามารถทำอีคอมเมิร์ซเป็น และรู้ว่าทำอย่างไรให้ขายของได้กำไรบนโลกออนไลน์ จัดเวทีเสวนาหัวข้อเรื่อง “เข้าสู่ตลาดออนไลน์อย่างไรให้ปังและเข้าเป้า” เชิญกูรูมากประสบการณ์ในแวดวงอีคอมเมิร์ซ ทั้งภาครัฐและเอกชน มาแชร์ความรู้และประสบการณ์ให้ผู้ที่ต้องการเข้าสู่เส้นทางเถ้าแก่ออนไลน์
ในวันที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่ยุคโมบายเฟิร์ส (Mobile First) เพราะสมาร์ตโฟนเป็นอุปกรณ์ที่คนขาดไม่ได้ เราสามารถทำการค้าได้แค่มีสมาร์ตโฟนเครื่องเดียว และการชอปปิงออนไลน์ได้ขยายตัวอย่างรวดเร็วจากการทำบนหน้าจอคอมพิวเตอร์มาสู่สมาร์ตโฟนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คนใช้สมาร์ตโฟนในการชอปปิงนับว่าเป็นกลุ่มที่น่าสนใจที่สุด เพราะสามารถซื้อผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ในทุกที่และทุกเวลา
ณัฐพร วุ่นกลิ่นหอม รองประธานกรรมการฝ่ายปฏิบัติการและเทคโนโลยีสารสนเทศธุรกิจออนไลน์ กลุ่มบริษัท เซ็นทรัลกรุ๊ป เผยว่า จากข้อมูลการซื้อขายผ่านโมบายของเว็บไซต์ชื่อดัง เช่น ลาซาด้า เทสโก้ เซ็นทรัล พบว่า มีลูกค้าที่เข้ามาซื้อสินค้าครั้งแรกและจ่ายเงินแน่ ๆ มีจำนวน 30–40% โดยการตัดสินใจซื้อจากเรตราคามี 43.44% การดูที่ความน่าเชื่อถือของสินค้า ภาพประกอบ ข้อมูลผลิตภัณฑ์ 36% ด้านเวลาในการส่งสินค้าและค่าจัดส่งมีผลในการตัดสินใจซื้อ 21%
สำหรับลูกค้าที่มาซื้อซ้ำอยู่ที่ 60% ของทั้งหมดที่ซื้อครั้งแรก โดยการตัดสินใจซื้อครั้งต่อมา ลูกค้าจะมองที่ความน่าเชื่อถือ หรือจากการบอกต่อ รวมถึงความประทับใจจากการซื้อครั้งแรก มีจำนวน 53% ด้านเวลาและค่าจัดส่งยังคงมีผลต่อการตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่จำนวน 31% ราคาของสินค้าถูกกว่าที่อื่นนับเป็นปัจจัยเช่นกันอยู่ที่ 26% ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ต่างจากการสำรวจจากเว็บไซต์โดยสิ้นเชิง หากผู้ประกอบการต้องการมุ่งไปยังการปิดการขายในโลกโซเชียล ข้อมูลเหล่านี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะนำมาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์การขาย
ภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ประกอบการออนไลน์ ต้องมองไปที่ผลิตภัณฑ์ของตนเองเป็นสำคัญ จากข้อมูลสินค้าที่ขายดีคือ สินค้าที่ขายให้กับกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มผู้หญิง กลุ่มที่มีอัตราซื้อที่สูงมาก พวกแก็ดเจ็ตไอทีต่าง ๆ เครื่องใช้ไฟฟ้าแปลก ๆ เครื่องจักรคงไม่เหมาะ แต่ถ้าจะขายให้ต่างประเทศคงไม่เหมาะที่จะขายบนเฟซบุ๊ก เราจึงจำเป็นต้องดูว่าเราจะขายอะไร เป้าหมายเป็นกลุ่มไหน และในแง่ธุรกิจจะไปยังต่างประเทศหรืออะไร จะเป็นตัวบ่งบอกว่าจะใช้แพลตฟอร์มไหนในการเปิดร้านค้า
มณีรัตน์ อนุโลมสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท การีนา ออนไลน์ (ประเทศไทย) จำกัด ได้เสริมมุมมองว่า คนในยุคปัจจุบัน ชอบอะไรเร็ว ๆ แม้แต่การซื้อสินค้าก็ต้องการการตอบสนองที่รวดเร็ว จากสถิติพบว่า ร้านค้า
ออนไลน์ที่มีการตอบคำถามของลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว จะขายสินค้าได้มากกว่าร้านค้าที่ไม่มีการตอบสนอง การใช้เครื่องมือแชทในการให้บริการนับเป็นการตอบโจทย์ได้อย่างดี
ณพงศ์ธวัช โพธิกิจ ผู้บริหารส่วนนโยบายการชำระเงินในประเทศ ฝ่ายนโยบายระบบการชำระเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุว่า ทางธนาคารแห่งประเทศไทยได้เตรียมความพร้อมให้การชำระเงินง่าย รวดเร็ว และตอบโจทย์มากที่สุด อย่างเช่นระบบพร้อมเพย์ การโอนเงินโดยหมายเลขมือถือแทนการกรอกเลขที่บัญชีเงินฝาก สามารถตอบโจทย์โซเชียลคอมเมิร์ซได้เลย เพราะการดีลปกติใช้เบอร์มือถืออยู่แล้ว โอนเงิน
0-5,000 บาท ฟรีทุกรายการ ซึ่งจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการค้าอีคอมเมิร์ซ
นอกจากงานนี้เอ็ตด้ายังคงเดินหน้าต่อไปเพื่อจัดงานคุณภาพ เชื่อมโยงระหว่างกูรูมากประสบการณ์และองค์ความรู้ทางด้านอีคอมเมิร์ซ เพื่อถ่ายทอดประโยชน์ในการช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลของประเทศต่อไป
You must be logged in to post a comment.