กรุงเทพฯ – 11 ตุลาคม 2559 – บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยวิสัยทัศน์แห่งอนาคตและนวัตกรรมล่าสุด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความสำเร็จบนเส้นทาง “Digital Transformation” ในทุกมิติ พร้อมรองรับการพลิกโฉมอนาคต ทั้งเพิ่มศักยภาพด้านนวัตกรรม เสริมการแข่งขันในภาคธุรกิจ สร้างคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถทันยุค และให้ทุกคนได้ใช้พลังด้านดิจิทัลที่อยู่ในมืออย่างสร้างสรรค์และปลอดภัย
ไมโครซอฟท์เผยวิสัยทัศน์ระดับโลก ย้ำเดินหน้าขับเคลื่อน พลิกโฉมประเทศไทยทุกภาคส่วนสู่ยุคดิจิทัล
นำโดยนายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (แถวหน้าที่สองจากซ้าย) และนางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (แถวหน้าซ้ายสุด) นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และพันธมิตร (แถวหน้าที่สองจากขวา) และนายเอกราช ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารสินค้าคอนซูเมอร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (แถวหน้าขวาสุด) เผยวิสัยทัศน์แห่งอนาคตและนวัตกรรมล่าสุด เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ความสำเร็จบนเส้นทาง “Digital Transformation” ในทุกมิติ
โดยยกเคสตัวอย่างระดับโลก นับตั้งแต่ระบบบอทแชตภาษาไทย เทคโนโลยีคลาวด์เพื่อลดต้นทุนเพิ่มความคล่องตัวให้ธุรกิจ ซอฟต์แวร์สำหรับสตาร์ทอัพ โครงการความร่วมมือกับภาครัฐ ไปจนถึงเทคโนโลยีที่เชื่อมต่อสิ่งของและสภาพแวดล้อมให้สื่อสารกันได้อย่างไร้ข้อจำกัด รวมทั้งเน้นความสำคัญของการปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยในโลกแบบดิจิทัล
“สำหรับไมโครซอฟท์แล้ว คำว่า Digital Transformation ไม่ใช่อนาคต แต่เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้ว โดยที่ทุกคนและทุกองค์กรจะต้องไม่พลาดโอกาสในการพลิกโฉมสู่โลกดิจิทัล หากต้องการจะประสบความสำเร็จในยุคนี้” นายอรพงศ์ เทียนเงิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ในฐานะผู้นำระดับโลกด้านเทคโนโลยี ไมโครซอฟท์ได้มีส่วนร่วมในความสำเร็จบนเส้นทาง Digital Transformation ของทั้งบุคคลและองค์กรทั่วโลกในหลากหลายมิติ ภายใต้แนวคิดที่แบ่งกระบวนการนี้ออกเป็น 4 มิติหลักๆ ได้แก่ การโต้ตอบและสื่อสารกับลูกค้า (Engage your customers) การเสริมศักยภาพให้กับพนักงาน (Empower your employees) การยกระดับประสิทธิภาพของธุรกิจ (Optimize your business) และการพลิกรูปแบบผลิตภัณฑ์หรือธุรกิจ (Transform your products / business)”
เพื่อเป็นการตอกย้ำถึงศักยภาพของไมโครซอฟท์ในการสนับสนุนกระบวนการ Digital Transformation ในทุกระดับ นายอรพงศ์ได้แนะนำเรื่องราวการประยุกต์ใช้นวัตกรรมจากไมโครซอฟท์ในระดับโลกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นแพลตฟอร์ม IoT (Internet of Things) สำหรับโลกอุตสาหกรรมอย่าง Predix ของ เจเนอรัล อิเล็กทริก (GE) ที่ใช้งานอยู่บนแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ระบบการใช้ภาพถ่ายเซลฟี่ยืนยันตัวตนผู้ขับขี่ของอูเบอร์ (UBER) ในสหรัฐอเมริกา หรือระบบวิเคราะห์ข้อมูลการทำงานของลิฟท์ของธิสเซ่นครุปป์ (Thyssenkrupp) ช่วยเสริมประสิทธิภาพการดูแลรักษาลิฟท์ให้ใช้งานได้ยาวนานและปลอดภัย เป็นต้น
ส่วนในประเทศไทย นายอรพงศ์ได้เผยถึงระบบ BOT chat – Intelligent answer and suggestion ภาษาไทยรุ่นแรกที่พัฒนาโดยบริษัท บีทามส์ โซลูชั่น จำกัด ซึ่งพัฒนาต่อยอดขึ้นมาจากแพลตฟอร์ม Cortana Intelligence Suite ของไมโครซอฟท์ ให้เป็นระบบตอบรับอัตโนมัติแบบข้อความที่สามารถเข้าใจและโต้ตอบกับผู้ใช้ในภาษาไทยได้อย่างเป็นธรรมชาติ ผ่านทั้งทางหน้าเว็บไซต์และสไกป์ โดยระบบดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาเพื่อการใช้งานในทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่อไป
“นอกเหนือจากเทคโนโลยีล้ำยุคแล้ว ไมโครซอฟท์ยังคงเดินหน้าขยายขอบเขตความร่วมมือกับทุกภาคส่วนเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ดังจะเห็นได้จากการลงนามในข้อตกลงความร่วมมือกับคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ ด้านการยกระดับคุณภาพวิชาชีพ โดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) เพื่อพัฒนาอาชีวะฝืมือชน เสริมทักษะวิชาชีพนอกห้องเรียนด้านต่างๆ ที่ตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน ด้วยแพลตฟอร์ม ไมโครซอฟท์ ยูธเวิร์กส์ (Microsoft YouthWorks) โครงการศูนย์นวัตกรรม Chula Engineering Innovation Hub ร่วมกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มุ่งสร้างระบบนิเวศน์แห่งนวัตกร เพื่อตอบสนองความต้องการของสังคมไทยและสังคมโลก และผลิตวิศวกรยุคใหม่ที่มีความรู้รอบด้าน และล่าสุดกับการลงนามในข้อตกลง Government Security Program ร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) เพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยในโลกดิจิทัล ด้วยการมอบข้อมูลเกี่ยวกับดีไวซ์ที่ติดมัลแวร์ในประเทศไทยให้ทาง สพธอ. นำไปใช้กำจัดภัยร้ายนี้ต่อไป” นายอรพงศ์กล่าวเสริม
นางสาวศิริพร พัชรวัฒน์ ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเสริมว่า “หนึ่งในยุทธศาสตร์สำคัญของไมโครซอฟท์ คือ การสนับสนุนการสร้างกำลังคนที่มีความสามารถทันยุคสมัย และมีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ซึ่งสอดรับกับยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ใช้นวัตกรรมในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีแบบองค์รวม ขยายขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว ถือเป็นวาระสำคัญแห่งชาติที่จะส่งผลต่อการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจแบบยั่งยืน”
ในระดับบุคคลนั้น นายเอกราช ปัญจวีณิน ผู้อำนวยการฝ่ายการบริหารสินค้าคอนซูมเมอร์ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “การเข้ามาอย่างรวดเร็วของยุคดิจิทัล หลักใหญ่เกิดขึ้นจากการใช้งานด้านดิจิทัลของคนที่ขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจากรูปแบบการใช้ชีวิตหรือการทำงาน เพราะทุกคนมีดีไวซ์อยู่ในมือ ทำให้ทุกคนกลายเป็นนักเทคโนโลยีย่อมๆ ที่มีพลังในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ สามารถทำงานหรือใช้ชีวิตได้ทุกที่ ทุกเวลา ผ่านการเชื่อมต่ออุปกรณ์รอบตัวแทบทุกชนิด และด้วยเทคโนโลยีคลาวด์อัจฉริยะทำให้ดีไวซ์ทำงานได้ดีกว่าและฉลาดกว่าเดิม เพราะเทคโนโลยีได้แก่ machine learning, powerful algorithms, cloud, artificial intelligence ระบบอัจฉริยะต่างๆ เป็นพลังทางเทคโนโลยีอย่างมหาศาลที่มองไม่เห็น หลอมรวมอย่างเป็นธรรมชาติกลายเป็นระบบนิเวศน์ใหม่ในการใช้ชีวิตประจำวันของเรา ไมโครซอฟท์ทุ่มเทเรื่องการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีมากมายอย่างไม่หยุดนิ่ง อาทิ Windows 10 as a service, Azure IoT, การลงทุนมหาศาลด้านคลาวด์อัจฉริยะ ล่าสุดมีการเปิดแผนกเพื่อพัฒนา AI และขยายขอบเขตด้านการวิจัยในแผนกวิจัยใหม่นี้ เพื่อทำให้เทคโนโลยีที่เปี่ยมไปด้วยศักยภาพได้ผสานเข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวันอย่างลงตัว โดยไม่ได้แค่ทำให้อุปกรณ์ต่างๆ มีขีดความสามารถเพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่เราต้องการเปิดกว้างการเข้าถึงเทคโนโลยีเหล่านี้มากขึ้นเพื่อให้ทุกองค์กรและทุกคนทำทุกสิ่งได้มากกว่า และมีประสิทธิภาพมากขึ้น ในโลกของโมบายและคลาวด์”
“เมื่อทุกข้อมูลเชื่อมต่อกัน และเข้าถึงได้อย่างง่ายดายขึ้น อาจมีโอกาสของการเปิดช่องโหว่ให้ภัยคุกคามทางไซเบอร์มากขึ้นด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ที่ไม่ถูกลิขสิทธิ์ จะมีความเสี่ยงต่อการถูกภัยคุกคามจากมัลแวร์ หรือการถูกขโมยข้อมูลส่วนตัวได้ ซึ่งซอฟต์แวร์ที่ถูกลิขสิทธิ์จะมีการพัฒนาและอัพเดทความคุ้มครองรวมถึงความเป็นส่วนตัวของข้อมูลตลอดเวลา ซึ่งถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่งในยุคนี้” นายเอกราชกล่าวเสริม
สำหรับในภาคธุรกิจ ไมโครซอฟท์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ซึ่งสอดคล้องกับผลการสำรวจของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ในปี 2558 ว่ากลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมมีสัดส่วนคิดเป็น 99.7% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศไทย และ 80.3% ของการจ้างงานทั้งหมดทั่วประเทศ
“ในโลกยุคโมบายและคลาวด์นี้ ขนาดและประสบการณ์ไม่ได้เป็นเครื่องบ่งบอกถึงความได้เปรียบทางธุรกิจอีกต่อไป” นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย ผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมธุรกิจขนาดกลาง ขนาดย่อม และพันธมิตร กล่าว “โซลูชั่นคลาวด์อย่าง Office 365 และไมโครซอฟท์ อาซัวร์ ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีพนักงานเพียงไม่กี่คน สามารถยกระดับการทำงานให้มีมาตรฐานในหลายๆ ด้าน เนื่องจากไม่จำเป็นต้องลงทุนในระบบหลังบ้านมากเกินความจำเป็น อีกทั้ง สามารถยืดหยุ่นได้ตามแต่ตลาด และนำเงินไปจ้างพนักงานหรือลงทุนในส่วนที่มุ่งเน้นทางธุรกิจเท่านั้นได้ ไมโครซอฟท์มีลูกค้าตั้งแต่ Startup รายเล็ก จนไปถึงรายใหญ่ขนาดบริษัทข้ามชาติอย่างโรงแรมดุสิต ที่ต้องแข่งขันกับคู่แข่งทั้งภายในและภายนอกประเทศ แต่สามารถใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยสร้างประสบการณ์ที่เหนือระดับให้กับลูกค้าสอดคล้องกับรูปแบบพฤติกรรมยุคดิจิทัล ทำให้ไม่เพียงแค่ปรับตัวได้แต่เติบโตและก้าวขึ้นเป็นตัวแทนของธุรกิจไทยอย่างภาคภูมิ”
ในโอกาสนี้ นายธนพงษ์ได้ประกาศแคมเปญ “SMEs ไอทียกแพค” ที่นำเสนอพื้นที่บนคลาวด์ 1,000 GB อีเมลบริษัท และ ชื่อโดเมน (Domain Name) พร้อมข้อเสนอพิเศษสุดอีกมากมาย เช่น คลาสเรียนลัด Microsoft Office Online by SkillLane ให้กับผู้ประกอบการ SME ทุกขนาด ตั้งแต่เริ่มต้นที่ราคาเพียง 6 บาทต่อวัน ตั้งแต่วันนี้จนถึง 26 ธันวาคม 2559 โดยผู้ประกอบการ 500 บริษัทแรกที่เข้าร่วมแคมเปญจะได้รับชื่อโดเมนฟรี นอกจากนี้ ผู้ประกอบการทุกรายที่เข้าร่วมแคมเปญยังจะได้รับส่วนลดพิเศษสำหรับการสั่งซื้อ Office 365 รุ่น Business Essentials สำหรับผู้ใช้จำนวน 3 คนขึ้นไปอีกด้วย โดยผู้สนใจสามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมทางโทรศัพท์ได้ที่ 02 263 6888 หรือ หากสนใจโซลูชั่นอื่นๆหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อ บริษัทคู่ค้าของไมโครซอฟท์ หรือที่ https://www.microsoft.com/th-th
และในโอกาสนี้ไมโครซอฟท์ได้เปิดสำนักงานใหญ่ประจำประเทศไทยโฉมใหม่ให้สื่อมวลชนได้เยี่ยมชมอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรก ภายใต้คอนเซ็ปท์การทำงานแบบ Intelligent Workplace ที่สนับสนุนให้พนักงานทำงานได้อย่างยืดหยุ่นและอิสระ ไม่มีที่นั่งประจำ สามารถทำงานกับใครก็ได้ มีห้องทำงานร่วมกัน (Collaborative Room) 4 แบบโดยแบ่งลักษณะห้องเป็น meeting room, focus room, phone room และพื้นที่เปิดที่สนับสนุนให้คนทำงานด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด โดยในห้องประชุมจะมีอุปกรณ์เชื่อมต่อเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประชุมที่ทำงานที่อื่นหรือต่างประเทศสามารถเข้าร่วมประชุมหรือแม้แต่เป็นผู้นำการประชุมได้ พนักงานยังสามารถรับโทรศัพท์สำนักงานจากที่ไหนก็ได้ ซึ่งเบอร์โทรศัพท์จะถูกเชื่อมต่ออยู่กับดีไวซ์ไม่ว่าจะเป็นแล็ปท็อปหรือโทรศัพท์มือถือ และยังสามารถแสดงผลงาน วีดิโอหรือ พรีเซ้นต์งานแบบเรียลไทม์ได้บนสไกป์สำหรับธุรกิจ (Skype for Business) เช่นกัน ทั้งนี้ ยังมีตู้ล็อคเกอร์ เพื่อเก็บของส่วนตัวของพนักงาน แต่เอกสารสำคัญต่างๆ พนักงานสามารถจัดเก็บไว้ในรูปแบบเอกสารออนไลน์บนคลาวด์ได้ทั้งหมด และสามารถเลือกการเก็บรักษาอย่างปลอดภัยอยู่บนแชร์พอยต์ โดยพนักงานสามารถเรียกดู ทำงานร่วมกันหรือแบ่งปันไฟล์กันอย่างปลอดภัยได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด สอดคล้องกับนโยบายที่สนับสนุนให้พนักงานทำงานนอกสถานที่ พบลูกค้า หรือทำงานจากที่ใดก็ได้ และสิ่งหนึ่งที่ชี้ให้ถึงการสนับสนุนนโยบายนี้ คือการที่ไมโครซอฟท์มีโต๊ะทำงานอัตราส่วน1 ที่นั่งต่อ 1.6 คน และยังมีโปรแกรมที่ชื่อ Find Me แสดงผลบนหน้าจอ ตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อค้นหาตำแหน่งที่นั่งของเพื่อนพนักงาน หากต้องการพบกันในที่ทำงานอีกด้วย
####
ถูกใจบทความนี้ 1
You must be logged in to post a comment.