Asus Zenfone 3 Laser เป็นสมาร์ทโฟนในระดับช่วงราคาไม่เกินหมื่นบาทที่น่าสนใจตัวหนึ่งเลย แม้จะมองจากสเปคบนกระดาษก็ตามเพราะว่ามาพร้อม CPU Octa Core, Ram 3GB, มีพื้นที่ตัวเครื่อง 32GB และยังมีหน้าจอ Full HD ขนาดใหญ่ 5.5 นิ้ว อีกด้วย แน่นอนว่าเป็นรุ่น Laser ฉะนั้นจึงเน้นในส่วนของกล้องที่ให้ Laser Focus ติดมาด้วยเพื่อช่วยในการโฟกัสภาพถ่ายให้ดียิ่งขึ้น แต่จะดีจริงอย่างที่ผมบอกไว้ในตอนต้นหรือไม่คงต้องมาดูผลการรีวิวกันล่ะ
Asus Zenfone 3 Laser Specs:
– หน้าจอ IPS LCD ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD
– Qualcomm MSM8937 Snapdragon 430 Octa Core 1.4GHz
– Ram 3GB
– หน่วยความจำภายในตัวเครื่อง 32GB
– รองรับ Micro SD Card สูงสุด 256GB
– กล้องหลังความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง 2.0 พร้อม Laser Focus และไฟแฟลช LED คู่ เซ็นเซอร์กล้องขนาด 1/3 นิ้ว
– กล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง 2.0
– รองรับการใช้งาน 2 ซิมการ์ด หรือ 1 ซิมการ์ด+Micro SD
– รองรับ LTE: 1(2100), 2(1900), 3(1800), 5(850), 6(900), 7(2600), 8(900), 18(800), 19(800), 28(700), 38(2600), 41(2500)
– Fingerprint Scanner
– ขนาดตัวเครื่อง 149 x 76 x 7.9มม.
– น้ำหนัก 150 กรัม
– แบตเตอรี่ 3,000mAh
– Android 6.0.1 Marshmallow
– ราคา 8,990 บาท
แกะกล่อง
กล่องของ Zenfone 3 Laser เป็นกล่องสีขาวล้วน ดีไซน์กล่องยังเหมือนรุ่นก่อนๆ คือมีโชว์หน้าตาตัวเครื่อง ด้านข้างนึงบอกรุ่นอีกข้างบอกสเปคคร่าวๆ ส่วนด้านหลังก็พวก S/N, IMEI
อุปกรณ์ในกล่องประกอบด้วย
1.ตัวเครื่อง Zenfone 3 Laser
2.Adapter จ่ายไฟ 5.2V 1A
3.สาย Micro USB
4.Small talk แบบ In Ear
5.เข็มจิ้มซิม
ตัวเครื่อง Asus Zenfone 3 ที่ได้มารีวิวนั้นเป็นสีทองซึ่งตัวเครื่องเป็นแบบ Unibody ไม่สามารถถอดแบตมาเปลี่ยนเองได้ และใช้โลหะในการทำพร้อมชุบสีเป็นทองด้าน ทำให้ไม่เป็นรอยนิ้วมือได้ง่าย
ด้านหลังตัวเครื่องเนียนสวยดูดีเกินราคา
เหนือหน้าจอมีลำโพงสำหรับสนทนา, ทางซ้ายเป็นเซ็นเซอร์ ทางขวาเป็นกล้องหน้า
ใต้หน้าจอมีปุ่มสัมผัสตามสไตล์ Asus ประกอบด้วยปุ่ม Back, Home, Recent Apps
ด้านหลังตัวเครื่องมีกล้องถ่ายรูปพร้อม Laser Focus และไฟแฟลช LED ส่วนใต้กล้องถ่ายรูปนั้นเป็นเซ็นเซอร์สแกนลายนิ้วมือ
ด้านบนของตัวเครื่องมีไมโครโฟนตัวที่สองสำหรับตัดเสียงรบกวนขณะสนทนา และมีช่องเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5มม.
ด้านซ้ายของตัวเครื่องไม่มีปุ่มอะไรอยู่ แต่มีช่องให้จิ้มถาดซิมออกมา
ซึ่งถาดซิมของรุ่นนี้จะเป็นแบบ Hybrid slot คือต้องเลือกใช้งานระหว่าง Sim + Micro SD หรือ Sim + Sim
ด้านขวาของตัวเครื่องมีปุ่มเพิ่มลดเสียงและปุ่ม Power
ด้านล่างมีช่องเสียบสายชาร์จ/ซิงค์ แบบ Micro USB, ทางซ้ายมีไมโครโฟนและทางขวาเป็นลำโพงตัวเครื่อง
ขนาดหน้าจอ 5.5 นิ้วก็จริงแต่ตัวเครื่องไม่ได้ใหญ่มากเพราะขอบบนล่างไม่ได้สูงเท่าไหร่นัก
ลองเทียบขนาด Zenfone 3 Laser กับ Huawei P9 Plus ดูนี่แอบเตี้ยกว่าเล็กน้อยนั่นก็คือเล็กกว่าหน่อยนั่นเอง
User Interface
Zenfone ไม่ว่าจะรุ่นไหนก็ยังคงใช้ Zen UI เหมือนกันหมดคือเป็น UI ที่มีการแบ่งหน้า App Drawer, Home Screen ซึ่งสามารถสร้าง Folder และมีการแจ้งเตือนบอกว่ามีอะไรเข้ามาบ้างจำนวนเท่าไหร่แล้ว
ส่วน Notification Bar แบ่งออกเป็น 2 ชั้นโดยชั้นแรกจะเป็นการแจ้งเตือนต่างๆ ที่เข้ามาแต่หากลากอีกครั้งจะเจอกับทางลัดในการเปิดปิด Wi-Fi, Bluetooth ฯลฯ
ZenMotion
ZenMotion ยังคงใส่มาให้เช่นเดิมไม่มีการตัดออก เป็นการใช้ท่าทางต่างๆ ในการควบคุมเครื่อง อาทิเช่น เคาะหน้าจอสองครั้งเพื่อเปิดปิดหน้าจอ หรือจะวาดอักษรขณะหน้าจอดับเพื่อเข้าแอพพลิเคชั่นทันทีก็สามารถทำได้เช่นกัน
ทั้งนี้ยังมี One Hand Mode เผื่อเวลาใช้มือเดียวละลากไม่ถึงก็จะทำการย่อขนาดหน้าจอลงมาด้วย
Themes
Theme ของตัวเครื่องสามารถเปลี่ยนได้ด้วยซึ่งต้องไปดาวน์โหลดเพิ่มเติม ทั้งนี้มีทั้งแบบเสียเงินและแบบฟรี
Power Saver
การจัดการพลังงานของตัวเครื่องมีโหมดพลังงานให้เลือกหลากหลาย แต่จริงๆ ใช้ Normal ตามเดิมที่ตั้งมาก็ถือว่าเพียงพอสำหรับการใช้งานแล้ว นอกจากแบตใกล้หมดค่อยปรับเป็นโหมดประหยัดพลังงาน เพราะว่าตัวเครื่องใช้ชิปเซ็ตที่ไม่ได้กินพลังงานมากนัก จากการใช้งานจริงถ้าไม่เล่นหนักๆ นั้นบอกได้เลยว่ารอดวันนึงสบายๆ มาก
Benchmark
ทดสอบประสิทธิภาพตัวเครื่องผ่านแอพฯ Benchmark ต่างๆ ได้ผลดังนี้
– Antutu: 44278 คะแนน
– Geekbench4: Single Core 637, Multi Core 1993
– Quadrant Standard: 20730
– Multitouch: 10 จุด
Asus Zenfone 3 Laser มาพร้อมกล้องถ่ายรูปหลักความละเอียด 13 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง 2.0 พร้อม Laser Focus และไฟแฟลช LED คู่ เซ็นเซอร์กล้องขนาด 1/3 นิ้ว และมีกล้องหน้าความละเอียด 8 ล้านพิกเซล ค่ารูรับแสง 2.0
ที่เด็ดคือตัวเครื่องสามารถตั้งถ่ายภาพแบบ HDR Auto ได้โดยตัวเครื่องจะประมวลผลเองอัตโนมัติว่าภาพไหนควรใช้ HDR หรือไม่ใช้ ซึ่งก็จะช่วยให้การถ่ายภาพง่ายขึ้นมาก
โหมดถ่ายรูปต่างๆ ของกล้องหลังมีเยอะมาก เยอะขนาดไหนลองดูในภาพเอาละกัน
แม้จะเป็นสมาร์ทโฟนราคาไม่แพงแต่ก็มีโหมดโปรมาให้ซึ่งสามารถปรับตั้งค่าเองได้ตั้งแต่ White Balance, EV, ISO, Speed Shutter, Focus
Zenfone 3 Laser มีโหมด Depth of field ด้วยซึ่งโหมดนี้จะทำการถ่ายรูปสองครั้งและนำภาพทั้งสองมาประมวลรวมผลกันเพื่อทำภาพหน้าชัดหลังเบลอ พอถ่ายเสร็จก็จะให้เราปรับค่าทันทีว่าจะเอาเบลอแค่ไหน หากเลือกเสร็จแล้วจะไม่สามารถกลับมาแก้ไขความเบลอของภาพได้
กล้องหน้ามาพร้อมโหมด Beautification ที่ยังคงจัดเต็มเหมือนเดิมคือปรับได้ทั้งตาโต หน้าเรียว หน้าเนียน หน้าบริ๊ง หรือจะแต้ม Brush ก็ได้อีก ซึ่งแต่ละค่าสามารถปรับเอาเองได้เลย อันนี้ถือว่าดีงามสำหรับสาวๆ มาก
ส่วนโหมดการถ่ายรูปจากกล้องหน้าก็มีให้เยอะไม่แพ้กันเลยล่ะ เอาจริงๆคือ ให้มาเยอะไปไหมเทออ
ต่อไปเป็นตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องของ Zenfone 3 Laser ซึ่งแน่นอนว่าภาพทุกภาพมิได้มีการตกแต่งใดๆ นอกเสียจากย่อขนาดภาพและใส่ลายน้ำเข้าไปเท่านั้น โดยภาพที่ถ่ายส่วนใหญ่จะใช้โหมด Auto และตั้ง HDR Auto และจะมีบางส่วนที่ใช้โหมด Depth of field
เริ่มจากภาพช่วงเวลาเช้าเมื่อแดดออกก่อนเลย
ต่อไปลองถ่ายอาหาร, วัตถุต่างๆ ดู
ภาพนี้เวลาประมาณบ่ายสองบ่ายสาม แดดส่องมาเต็มๆ
ลองโหมด Depth of field หน่อย ถ้าระยะวัตถุห่างกับฉากหลังนี่ก็พอใช้งานได้เลยล่ะ
ต่อไปลองถ่ายอาหารในสภาวะแสงน้อย เป็นแสงเหลืองๆ บางๆ ส่องลงมาที่โต๊ะ
แสงน้อยก็ยังใช้โหมด Depth of field ได้นะ
ปิดถ่ายด้วยตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องหน้าที่มีแสงส่องมาจากหน้าต่างทั้งด้านหน้าด้านหลัง ยังคงเก็บรายละเอียดหน้าได้ดีอยู่จริงๆ (อันนี้ Beauty 5) แถมหน้าเด้งได้อีก ฮ่าๆๆ
สรุป: Asus Zenfone 3 Laser เป็นสมาร์ทโฟนที่อยุ่ในระดับราคาไม่เกินหมื่นบาทที่จัดเต็มทั้งวัสดุ, สเปคตัวเครื่องที่ใช้งานได้ลื่นๆ สบายๆ มีพื้นที่ในเครื่องให้ค่อนข้างเยอะเลย และให้กล้องถ่ายรูปคุณภาพดีในระดับที่หาคู่แข่งราคานี้ได้ยากอยู่ เพราะจากภาพถ่ายที่ได้หลังกล้องนี่ถือว่าประทับใจพร้อมใช้งานได้เลยนะ แต่สภาวะแสงน้อยก็ยังแย่ๆ อยู่ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องปกติของสมาร์ทโฟนอยู่แล้ว ทั้งนี้แบตเตอรี่ก็มีขนาดใหญ่ตามมาตรฐานซึ่งจากการใช้งานคือจะเล่นหนักช่วงเดินทางคือเช้าเย็น ยังมีแบตเหลือกลับบ้านสบายๆ แบบไม่ต้องกังวลอะไร
ส่วนข้อเสียนั้นจะมีเรื่องของถาดใส่ซิมที่เป็นแบบ Hybrid Slot ซึ่งไม่สามารถใช้งาน 2 Sim พร้อม Micro SD Card ได้ ซึ่งจุดนี้คู่แข่งในระดับราคาเดียวกันเค้าสามารถทำได้นี่ล่ะ แล้วก็ปุ่มสัมผัสใต้หน้าจอที่ยังคงไม่มีไฟแจ้งมาให้ ซึ่งถ้าใช้งานในที่แสงน้อยๆ นี่ต้องชินพอตัว ไม่งั้นอาจแตะผิดถูกกันได้
You must be logged in to post a comment.