ทักทาย วันจันทร์ มันส์เดย์ – คลื่นความถี่ นี่ นี้ ใครครอง?

มาชวนดูเรื่อง Frequency ครับ ซีรีส์สนุกไม่แพ้ซีรีส์อื่น อย่าถามว่าดูที่ไหนนะ? ไม่มีอะไรมากไปกว่า เรื่องคลื่นความถี่ ที่ตอนนี้น่าจะเป็นประเด็นร้อนก็เห็นจะเป็น การวิเคราะห์การประมูลจากสำนัก NERA.com ซึ่งจั่วหัวไว้ว่า “ความเสี่ยงจากการประมูลคลื่นความถี่ทำให้ประเทศไทยประสบกับการใช้งานดาต้าที่ช้า” โดยปีหน้าคาดว่าจะมีการประมูลคลื่นความถี่ 900MHz และ 1800MHz ซึ่งก็มีประเด็นมากมายที่น่าติดตาม แต่จากที่สำนักงานที่น่าเชื่อถืออย่าง NERA วิเคราะห์จากข้อมูลที่มี และให้ความเห็นเกี่ยวกับกฎการประมูล N-1 สำหรับผม บางอย่างก็เห็นด้วย แต่บางอย่างก็ไม่นะ แต่เอาจริงๆ ความรู้สึกว่าการใช้งาน data ที่ช้า สำหรับผม ณ ตอนนี้คือไม่ใช่ครับ ผมใช้อยู่ทุกค่ายตอนนี้ ผมว่าเร็วนะ แต่ก็เป็นไปได้เพราะส่วนใหญ่ผมอยู่ในตัวเมือง จะมีก็ช่วงเคลื่อนที่ ที่มีสัญญาณไม่ต่อเนื่อง เจอทุกค่ายเลยอันนี้ ก็จะมีว่าค่ายไหนเจอมากเจอน้อยแล้วแต่ แต่ก็เข้าใจว่าอาจจะมีความเสี่ยงได้ในอนาคตจากการประมูลคลื่นในปีหน้าทั้ง 900MHz และ 1800MHz ซึ่งยังตอบไม่ได้ชัดเจนว่าจะเสี่ยงมากน้อยแค่ไหน

ในการประมูลที่จะเกิดขึ้นยังมีข่าวว่า JAS มีขายหุ้นอาจจะมีรายที่ 4 เกิดขึ้น (อีกแล้ว) เพราะถึงยังไงซะการให้บริการอินเตอร์เน็ตในปัจจุบันก็หนีเรื่อง mobile internet ไม่พ้นอยู่ดี ผมว่าก็มีสิทธิที่ 3BB หรือ JAS จะเข้ามาประมูลอีกรอบ (ถ้าไม่ผิดกฎ) ส่วนอีกสามค่ายยักษ์เอาจริงๆ ตอนนี้ค่ายหลักอย่าง AIS และ TrueMove H น่าจะสบายตัว ตอนนี้ก็เห็นจะมีแต่ dtac ที่น่าจะต้องทุ่มเต็มกำลังที่จะเอาคลื่นกลับมาทให้บริการต่อ ผมเชื่อเลยว่าตอนนี้น่าจะลำบากสุด เพราะหากเกิดการประมูลขึ้น ไม่ว่าการประมูลสูตรการตั้งราคาแบบ N-1 จะเกิดหรือไม่ก็ตาม ยังไงซะ ไม่ว่า AIS หรือ TrueMove H คงจะมีแผนแก้เกมของ dtac อยู่แล้ว ผมเชื่อว่าปั่นราคาไปจนสุดกู่แน่ๆ การได้มาในราคาที่สบายกระเป๋าคงเป็นไปไม่ได้ ถึงแม้ว่า กสทช.จะไม่ได้กำหนดเพดานเริ่มต้นไว้สูงก็ตามที ก็ว่ากันไปตามเกมของคนที่จะเข้าประมูล ซึ่งเชื่อขนมกินว่าทั้ง AIS และ TrueMove H เองก็คงเอาจริงเอาจังไม่น้อย เพราะคลื่นในปัจจุบันยังไงก็คงยังไม่พอกับการขยายตัวของอุปกรณ์ บรรดา IoTs ต่างๆ ที่จะเข้ามาอีกเพียบในอนาคต ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มาในระยะเวลาอันใกล้ แต่ก็ต้องเตรียมคลื่นไว้ก่อน เพราะการประมูลจะไม่เกิดขึ้นไปอีกเป็นสิบปีเลยทีเดียว งานลำบากเลยเกิดกับ dtac ทั้งคู่แข่งเอง และทางฝั่งเงินทุนหมุนเวียนที่ต้องนำมาใช้ในการประมูลที่จะเกิดขึ้น

ส่วนของคนใช้งานอย่างเราๆ มีอะไรจากข่าวนี้บ้าง จริงๆ ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น ในอนาคต (ตอนนี้ยังไม่เกิด) ต้องถามคนใช้งานทั่วๆ ไปล่ะครับว่า ตอนนี้รู้สึกว่าจ่ายค่าบริการแพงจนเกินไปหรือเปล่ากับ แพ็กเกจต่างๆ ที่ผู้ให้บริการออกมาและปริมาณที่ได้รับ ผมว่าจากการประมูลครั้งที่แล้วก็เห็นการแข่งขันออกมาที่เป็นประโยชน์กับเรามากขึ้นนะ มีการทำแพ็กเกจแบบ unlimited ตอนนี้สูงสุดคือ 6Mpbs ที่ผมเคยฝันถึงเมื่อประมาณ 3-4 ปีที่แล้ว ว่าแพ็กเกจที่ให้ความเร็วระดับ broadband แบบไม่อั้นจะต้องมาบน Mobile แน่นอน ในที่สุดก็มา และมันเพียงพอกับการใช้งาน ยกเว้นแต่ว่า อาจจะมีบางค่ายที่มีเครือข่ายไม่ครอบคลุมหรืออาจจะให้บริการได้ไม่เต็มความเร็วอันนั้นต่างหากที่เป็นประเด็นสำคัญ โดยความรู้สึกส่วนตัวแล้ว ผมว่าเราได้การใช้งานคุ้มค่าและมากขึ้นจากเดิม และไม่รู้สึกว่าแพงหรือโดนเอาเปรียบจากผู้ให้บริการนะครับ ช่วงก่อนหน้านี้ยังมี พวก FUP 64Kbps อะไรแบบนี้ มันแทบใช้อะไรไม่ได้แล้ว แถมยังมีแพ็กเกจแบบ Unlimited จริงๆ ที่ไม่จำกัดความเร็วอีกต่างหาก แต่จ่ายแพงหน่อย และบางค่ายก็มีเงื่อนไขต้องเปิดใช้งานกับเครื่องโทรศัพท์บางรุ่น ซึ่งผมว่าช่วงที่ผ่านมานี่พัฒนามาไกลมาก เรื่องแพ็กเกจต่างๆ ผลมาจากการแข่งขันหลังจากการประมูลทั้งคลื่น 900/1800MHz เมื่อครั้งก่อนนั่นเอง ถามว่าคลามถี่ นี่ นี้ ใครครอง? ผมว่าผู้ใช้งานอย่างเราๆ นี่ล่ะครอบครอง เพราะเป็นของสาธารณะ ทาง กสทช. ก็กำกับดูแล ได้เงินเข้ารัฐ นำมาพัฒนาประเทศส่วนอื่นๆ ซึ่งก็วนกลับมาหานายทุนที่เข้าประมูล เขาก็ต้องเอาให้คุ้ม ให้ได้กำไรแน่ๆ ก็จะวนกลับมาหาผู้ใช้งานอย่างเราๆ ที่ต้องจ่ายเงินออกไป วนลูปกันแบบนี้ล่ะครับ ซึ่งในปีหน้าก็จะรู้แล้วว่า คลื่น 900MHz/1800MHz ที่เหลือ จะตกไปอยู่ในมือผู้ให้บริการเจ้าไหน?



ถูกใจบทความนี้  5