บรรยายภาพ – มร.แบรด มิดเดิลตัน (ที่ 3 จากขวา) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เชฟรอน เอเชียเซ้าท์ จำกัด, คุณอาทิตย์ กริชพิพรรธ (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล (ที่ 4 จากขวา) ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และ ดร.มงคลชัย สมอุดร (ที่ 4 จากซ้าย) ผู้อำนวยการ สำนักวิจัยและพัฒนการอาชีวศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ถ่ายภาพร่วมกับเยาวชนที่ได้รับรางวัลชนะเลิศโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับ “เมกเกอร์” หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ
การยกระดับให้ผู้สูงอายุและผู้พิการมีคุณภาพชีวิตทัดเทียมกับคนทั่วไป นับเป็นหนึ่งในนโยบายที่ภาครัฐให้ความสำคัญ ด้วยเป้าหมายลดความเหลื่อมล้ำในสังคม ตามแนวทางประชารัฐ นอกจากนั้น จำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วสวนทางกับจำนวนประชากรในวัยทำงาน หรือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุยังสร้างความท้าทายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้น และการขาดแคลนผู้ดูแลคนกลุ่มนี้ จึงมีความจำเป็นที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนานวัตกรรมที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการ ซึ่งไม่เพียงจะช่วยให้พวกเขาสามารถช่วยเหลือตัวเองได้มากขึ้นและมีชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้นแล้ว แต่ยังช่วยลดการพึ่งพานวัตกรรมจากต่างชาติซึ่งมีราคาสูง ทั้งยังสามารถส่งออกเพื่อสร้างรายได้ให้กับประเทศได้อีกด้วย
เพื่อส่งเสริมเยาวชนไทยในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์เพื่อสังคม และสร้างแรงบันดาลใจและความสนใจในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด จึงร่วมกับ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) จัดโครงการ “Enjoy Science: Young Makers Contest” การประกวดสิ่งประดิษฐ์สำหรับ ‘เมกเกอร์’ หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญและอาชีวศึกษา ในหัวข้อ “นวัตกรรมเพื่อผู้สูงอายุและผู้พิการ” ชิงทุนการศึกษาและรางวัลต่าง ๆ รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท โดยประกาศผลผู้ได้รับรางวัล ณ งาน Bangkok Mini Maker Faire ปี 2 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า “ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขระบุว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการกว่า 2 ล้านคน ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าในอีก 5 ปีข้างหน้าประเทศไทยจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ หรือมีสัดส่วนประชากรอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปมากกว่า 20% และจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด หรือมีประชากรอายุเกิน 60 ปีกว่า 28% จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพัฒนานวัตกรรมสำหรับผู้สูงอายุและผู้พิการของเราเอง เพื่อให้พร้อมรับมือกับสังคมผู้สูงอายุและผู้พิการ ตลอดจนลดการพึ่งพานวัตกรรมและเทคโนโลยีจากต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง จึงเป็นที่มาของหัวข้อการประกวดโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากนักเรียน-นักศึกษาทั้งสายสามัญและอาชีวศึกษาทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วม 257 โครงการ และมีทีมที่ผ่านเข้ารอบผลงานผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 39 โครงการ แบ่งเป็นสายสามัญ 20 โครงการ และสายอาชีวะ 19 โครงการ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีไอเดียที่โดดเด่นและมีแนวโน้มสามารถนำไปใช้หรือพัฒนาต่อ ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้พิการและผู้สูงอายุได้จริง ทั้งยังสะท้อนให้เห็นว่าไม่เพียงเยาวชนจากทั่วประเทศที่ให้ความสนใจกับการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ แต่ยังได้รับการผลักดันจากครูอาจารย์อีกด้วย นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง”
โดยผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายอาชีพ ได้แก่ผลงาน “ไม้เท้าแจ้งเตือนการล้มสำหรับผู้สูงอายุ” โดยนักศึกษาจากวิทยาลัยสารพัดช่างสงขลา ขณะที่ผลงานที่ได้รับรางวัลชนะเลิศสายสามัญ ได้แก่ผลงาน “ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุโดยใช้กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ ตรวจจับการล้มพร้อมแจ้งเตือน” โดยนักศึกษาจากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ซึ่งนักศึกษาเจ้าของผลงานชนะเลิศแต่ละประเภท ได้รับทุนการศึกษาและทริปร่วมงาน Maker Faire UK มหกรรมแสดงผลงานของเมกเกอร์ที่สหราชอาณาจักร รวมมูลค่ารางวัลละกว่า 400,000 บาท
นางสาวกุลนิดา มานะชำนิ และนางสาวรุจิภา ภูมิ นักศึกษาวิทยาลัยสารพัดช่างสงขลา ผู้ชนะเลิศในสาขาอาชีวศึกษา กล่าวว่า “พวกเรายินดีมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ผลงาน ‘ไม้เท้าแจ้งเตือนการล้มสำหรับผู้สูงอายุ’ ของเราได้รับแรงบันดาลใจในการประดิษฐ์มาจากคุณยาย เพราะกลัวว่าคุณยายจะลื่นล้มเมื่อไม่มีใครอยู่บ้าน จึงนำวิชาที่เรียนในวิทยาลัยคือไมโครคอนโทรลเลอร์ มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ผลงานชิ้นนี้ โดยออกแบบให้ไม้เท้าสามารถแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือของลูกหลานได้ทันที หากผู้สูงอายุล้มขณะใช้ไม้เท้า ในอนาคตพวกเราหวังว่าจะพัฒนาต่อยอดให้ไม้เท้ามีระบบ GPS เพื่อบอกพิกัดตำแหน่งของผู้ที่ลื่นล้มได้”
นายรัชพล แขมภูเขียว และนายสุธีบูรณ์ ชูวิทยา นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิศวกรรม
ชีวการแพทย์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ชนะเลิศสายสามัญ กล่าวว่า “ผลงาน ‘ระบบเฝ้าระวังผู้สูงอายุโดยใช้กล้องตรวจจับการเคลื่อนไหวแบบ 3 มิติ’ ออกแบบให้ทำงานโดยใช้แสงอินฟราเรด จึงไม่ต้องติดตั้งอุปกรณ์กับผู้สูงอายุ และสามารถใช้ได้ทั้งกลางวันและกลางคืน โดยกล้องจะตรวจจับการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ ทั้งยังสามารถแยกได้ว่าผู้สูงอายุล้มจริงหรือแค่ก้มเก็บของ หากผู้สูงอายุล้มตัวลงไซเรนก็จะร้อง และถ้าผู้สูงอายุไม่มากดหยุด ระบบก็จะส่งข้อความไปยังญาติหรือโรงพยาบาลที่ระบุไว้นอกจากนั้น เรายังเขียนโปรแกรมให้กล้องบันทึกการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ และแปรผลเป็นภาพโครงกระดูกแบบสามมิติจึงช่วยให้การวินิจฉัยของแพทย์ทำได้เร็วขึ้นและรักษาได้อย่างทันท่วงที เพราะสามารถดูจากวิดีโอได้ว่าผู้ป่วยได้รับการกระทบกระเทือนในส่วนไหนบ้าง”
เยาวชนทั้งสอง กล่าวต่อไปว่า “สิ่งที่เราประทับใจมากที่สุดในโครงการ Young Makers Contest คือกิจกรรมเวิร์กชอป ที่เปิดโอกาสให้ผู้ผ่านเข้ารอบสุดท้าย ได้นำเสนอผลงานให้ผู้เชี่ยวชาญและเพื่อนๆ ทีมอื่นได้ฟัง เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิด สำหรับนำไปพัฒนาผลงานของเราให้ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงแก่นแท้ของความเป็นเมกเกอร์ ซึ่งไม่ได้เป็นเพียงนักประดิษฐ์ แต่คือนักคิดนักสร้างสรรค์ที่เปิดกว้างและพร้อมจะแลกเปลี่ยนกับเมกเกอร์คนอื่น ๆ อย่างไม่หวงความรู้ ที่จะช่วยให้การสร้างสรรค์ผลงานของเมกเกอร์ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว พวกเราดีใจมากที่จะได้ไปร่วมงานเมกเกอร์แฟร์ที่สหราชอาณาจักร เพื่อไปสัมผัสกับวัฒนธรรมเมกเกอร์ในต่างแดน และจะนำความรู้และประสบการณ์ที่ได้รับมาแลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ เมกเกอร์ชาวไทย และพัฒนาผลงานของตัวเองต่อไป”
สำหรับผลงานอื่น ๆ ที่ได้รับรางวัลจากโครงการ Young Makers Contest ในครั้งนี้ อาทิ ผลงาน ‘อุปกรณ์ช่วยเดิน (walker) สำหรับช่วยลุกยืนของผู้สูงอายุและผู้พิการ’ โดยเยาวชนจากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎร์ธานี ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในระดับนักเรียน-นักศึกษาอาชีวศึกษา ที่ช่วยให้การลุกยืนของผู้สูงอายุและผู้พิการทำได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น ซึ่งใช้เวลาในการสร้างสรรค์กว่า 6 เดือน รวมถึงการนำไปให้ผู้ป่วยในโรงพยาบาลสุราษฎร์ธานีได้ทดลองใช้ และนำคำแนะนำที่ได้รับมาพัฒนาผลงานให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และผลงาน ‘หุ่นเคลื่อนที่ดูแลผู้สูงอายุช่วยประคองเดิน’ โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ซึ่งได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ในระดับนักเรียน-นักศึกษาสายสามัญ ซึ่งเป็นผลงานที่มีเป้าหมายเพื่อช่วยลดการเจ็บเวลาเดิน โดยหุ่นนี้สามารถช่วยประคองผู้สูงอายุในการเดินเพื่อทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกสบายมากขึ้น ทั้งยังสามารถช่วยประคองขาผู้สูงอายุในการทำกายภาพบำบัดได้อีกด้วย โดยทั้งสองผลงานจะได้รับทุนการศึกษาและทริปร่วมงานแสดงผลงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี Nano Tech Japan ที่ประเทศญี่ปุ่น รวมมูลค่ารางวัลละ 300,000 บาท
คุณอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด หนึ่งในคณะกรรมการตัดสินโครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest กล่าวว่า “การประกวด Young Makers Contest เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมภายใต้โครงการ ‘Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ซึ่งเป็นโครงการระยะยาว 5 ปี ที่มุ่งส่งเสริมความสนใจในการศึกษาสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือ สะเต็ม ทั้งในระบบการศึกษาสายสามัญและสายอาชีพ ครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ทั้งนี้ ผมรู้สึกภูมิใจและประทับใจอย่างมากในความสามารถในการประดิษฐ์คิดค้นของเยาวชนไทย โดยผลงานหลายๆ ชิ้น มีทั้งความคิดสร้างสรรค์และประโยชน์ในการใช้งานที่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุและผู้พิการให้สามารถดำเนินชีวิตได้ทัดเทียมกับคนปกติมากขึ้น สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยทีศึกษาทั้งในสายสามัญและอาชีวศึกษาต่างมีศักยภาพในการเป็นนักสร้างสรรค์นวัตกรรม หรือ เมกเกอร์ ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญในการเตรียมความพร้อมสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ในการนำพาประเทศไปสู่สังคมเศรษฐกิจแบบใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรม”
เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”
โครงการระยะยาว 5 ปี ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ
You must be logged in to post a comment.