LINE ศูนย์กลางแห่งประสบการณ์ดิจิตอล ประกาศ 4 กลยุทธ์หลัก ปี 2017 สยายปีกสู่ “Mobile Portal” มุ่งตอบสนองความต้องการผู้ใช้ชาวไทย เปลี่ยนชีวิตให้ง่ายขึ้น

2017_LINE MOBILE PORTAL 5

กรุงเทพฯ ประเทศไทย – LINE ผู้นำด้านแพลตฟอร์มบนมือถือยอดนิยมระดับโลก เผยความสำเร็จปี 2016 พร้อมประกาศกลยุทธ์ “Mobile Portal” ชี้เทรนด์ดิจิตอล พร้อมนำเสนอเซอร์วิสและโซลูชั่นต่างๆ ที่จะช่วยให้ชีวิตผู้คนง่ายขึ้น ครอบคลุมทุกมิติของการใช้ชีวิต ได้แก่ การติดต่อสื่อสาร (Communication), คอนเทนต์ (Content), บริการ (Services) และการขายสินค้าและบริการ (Commerce) 

 

2017_LINE MOBILE PORTAL 1

2017_LINE MOBILE PORTAL 2

2017_LINE MOBILE PORTAL 3

2017_LINE MOBILE PORTAL 4

2017_LINE MOBILE PORTAL 6

นายอริยะ พนมยงค์ กรรมการผู้จัดการ LINE ประเทศไทย กล่าวว่า “ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความสำคัญเป็นอันดับ 2 ของ LINE ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่สูงถึง 94% ในปี 2016 LINE ตั้งเป้าในการเป็นมากกว่าแชทหรือ ‘Beyond Chat’ และต่อยอดธุรกิจสติกเกอร์ ซึ่งได้รับความสำเร็จมากมาย อาทิ

·       LINE TV สร้างการเติบโตของยอดวิวที่เพิ่มขึ้น 136% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พร้อมสร้างปรากฏการณ์ของซีรี่ส์ที่เป็นทอล์ค ออฟ เดอะ ทาวน์ อย่าง ‘I HATE YOU I LOVE YOU,’ ‘ไดอารี่ตุ๊ดซี่ส์,’ และ O-Negative

·       LINE MAN บริการใหม่ซึ่งประกอบไปด้วยแมสเซนเจอร์ สั่งซื้ออาหารและของสะดวกซื้อ ที่เพิ่งเปิดตัวไปในเดือนพฤษภาคม 2559 ด้วยจำนวนผู้ใช้งานสูงถึง 400,000 คน พร้อมจำนวนร้านอาหารมากกว่า 20,000 ร้านตั้งแต่สตรีท ฟู้ด ไปจนถึงภัตตาคาร ทำให้ LINE MAN ขึ้นสู่อันดับ 1 บริการส่งอาหารภายในระยะเวลาไม่ถึงหนึ่งปี

·       LINE GAME ครองอันดับ 1 ตลาดเกมมือถือในประเทศไทย

·       LINE STICKERS ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องด้วยจำนวนสติกเกอร์ดาวน์โหลดที่สูงกว่า 500 ล้านเซ็ตแสดงให้เห็นว่า สติกเกอร์ยังคงเป็นเครื่องมือสื่อสารที่คนไทยนิยมใช้ในการแสดงความรู้สึก

นอกจากนี้แล้ว LINE ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นหนึ่งใน Best Brand ในประเทศไทย และได้รับคัดเลือกให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่คนอยากทำงานด้วยเป็นอันดับ 1 ในประเทศไทย”

 

และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา LINE ตระหนักดีว่า ประเทศไทยเป็น “Mobile First Country” ด้วยจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่สูงถึง 44 ล้านคน หรือประมาณ 2 ใน 3 ของจำนวนประชากรทั้งประเทศจึงพิสูจน์ให้เห็นว่า โทรศัพท์มือถือเป็นศูนย์กลางของโลกดิจิตอล เนื่องจากคนไทยเข้าใช้งานอินเทอร์เน็ตครั้งแรกผ่านทางสมาร์ทโฟนมากกว่าคอมพิวเตอร์ ด้วยเหตุนี้ LINE จึงตั้งเป้าที่จะเป็นศูนย์กลางของสมาร์ทโฟนหรือที่เรียกว่า “Mobile Portal” เพื่อช่วยให้ชีวิตคนไทยง่ายและสะดวกมากยิ่งขึ้น

 

กลยุทธ์ของ LINE ถูกสร้างขึ้นจาก 4 ปัจจัยหลักในการใช้ชีวิต ได้แก่ การติดต่อสื่อสาร (Communication), คอนเทนต์ (Content), บริการ (Services) และ การขายสินค้าและบริการ (Commerce)

·     การติดต่อสื่อสาร (Communication) จากผลสำรวจของ Nielsen พบว่า คนไทยใช้เวลาเฉลี่ยบนสมาร์ทโฟน สูงถึง 234 นาทีต่อวัน โดย 1 ใน 3 ของเวลาการใช้งานสมาร์ทโฟน หรือประมาณ 70 นาทีต่อวันถูกใช้บนแพลตฟอร์ม LINE เราจึงไม่หยุดนิ่งในการพัฒนาบริการเพื่อตอบรับกับไลฟ์สไตล์ต่างๆ

·     คอนเทนต์ (Content) ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นวิดีโอ เพลง และสิ่งพิมพ์ ต่างถูกย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ โดยคนไทยใช้เวลาดูวิดีโอออนไลน์สูงถึง 133 นาทีต่อวัน หรือคิดเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกที่ 65 นาทีต่อวัน จากรายงานของสมาคมโฆษณาดิจิทัล ประเทศไทย (DAAT) พบว่า งบโฆษณาบนช่องทางดิจิตอลจะเติบโตขึ้นกว่า 30% ในปีนี้ และเพื่อเป็นการตอบรับกับเทรนด์ดิจิตอลที่เกิดขึ้น LINE TV เตรียมสร้างสีสันด้วยการเปิดตัวคอนเทนต์กลุ่มใหม่ทั้งกีฬา (Sports) และความงาม (Beauty) เพิ่มขึ้นจากละคร (Drama), บันเทิง (Entertainment), เพลง (Music), อนิเมชั่น (Animation) และถ่ายทอดสด (LIVE) พร้อมกันนี้ยังวางแผนขยายพันธมิตรรายใหญ่ต่างๆ อาทิ ช่อง 8, พีพีทีวี, ไทย ไฟท์ และจีบัน นอกจากนี้ยังมี LINE TODAY ที่เพิ่งเปิดตัวไปภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ด้วยฟีเจอร์ “News Tab” ที่ช่วยให้การเข้าถึงข้อมูลข่าวสารง่ายขึ้นพร้อมตั้งเป้าขึ้นสู่อันดับ 1 แพลตฟอร์มข้อมูลข่าวสารบนมือถือ โดยจะเริ่มสร้างรายได้ในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้

·     บริการ (Services) ปัจจุบันมีแอพพลิเคชั่นจำนวนมากที่ถูกสร้างขึ้นรวมทั้งสิ้นประมาณ 2.2 – 2.6 ล้านแอพพลิเคชั่น ในขณะที่จำนวนแอพพลิเคชั่นเฉลี่ยที่คนส่วนใหญ่ดาวน์โหลดมีเพียง 32 แอพพลิเคชั่นต่อหนึ่งอุปกรณ์เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นมีเพียง 3 – 5 แอพพลิเคชั่นที่ถูกใช้งานในแต่ละวัน ด้วยเหตุนี้ LINEจึงพัฒนา Chat BOT ขึ้นมาเพื่อใช้ทดแทนแอพพลิเคชั่นด้วยการเข้าถึงบริการต่างๆ ได้จาก LINE เพียงที่เดียว   โดยไม่ต้องดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเพิ่ม ไม่ว่าจะเป็น Chat BOT ของ LINE เอง เช่น LINE FINANCE หรือจากพาร์ทเนอร์ เช่น Uber และ Wongnai รวมถึงแบรนด์ต่างๆ อาทิ Citibank, FWD, Lazada,Krungthai AXA, Maybank, Shell และ Uniliver

·     การขายสินค้าและบริการ (Commerce) ปัจจุบันการขายสินค้าออนไลน์หรือ e-commerce ยังคงมีสัดส่วนที่เล็กมากเพียง 3.8% ของมูลค่าการค้าปลีกทั้งหมด LINE จึงมองเห็นโอกาสในการเชื่อมต่อโลกออฟไลน์และออนไลน์ หรือที่เรียกว่า บริการในรูปแบบ O2O (Offline to Online) เราจึงมีการเปิดตัว Beacon ซึ่งร้านค้าต่างๆ สามารถติดตั้ง Beacon เพื่อให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์และมอบคูปองโปรโมชั่นต่างๆ เมื่อลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านค้า นอกจากนี้ยังมี LINE MAN ที่ขยายรูปแบบการให้บริการจากแมสเซนเจอร์ สั่งซื้ออาหารและของสะดวกซื้อ ไปสู่บริการรับส่งพัสดุ (Postal) โดยการจับมือกับ Alpha เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ใช้งาน

 

2017_LINE MOBILE PORTAL 7

2017_LINE MOBILE PORTAL 8

“ในฐานะผู้นำด้านแพลตฟอร์มบนมือถือและเป้าหมายการเป็น ‘Mobile Portal’ LINE ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาเซอร์วิสและโซลูชั่นใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้คน และเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต พร้อมทั้ง สานต่อพันธกิจในการเชื่อมต่อข้อมูล ผู้ใช้ และบริการให้ใกล้กันมากขึ้น ภายใต้แนวคิด ‘Closing the Distance’และพร้อมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระบบดิจิตอล อีโคโนมี่ (Digital Economy) ในประเทศไทย” นายอริยะกล่าวทิ้งท้าย
เกี่ยวกับ LINE คอร์ปอเรชั่น

LINE คอร์ปอเรชั่น (NYSE:LN/TSE:3938) ตั้งอยู่ในประเทศญี่ปุ่น เป็นผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่น LINE สำหรับส่งข้อความในมากกว่า 230 ประเทศและภูมิภาคทั่วโลก โดยมีฟีเจอร์ให้บริการส่งข้อความฟรี ทั้งแบบส่วนตัว (สนทนา 1:1) แบบกลุ่ม และสติกเกอร์ที่สามารถส่งแทนความรู้สึกต่างๆ ได้แทนคำพูด หรือข้อความ รวมถึงบริการโทรฟรีและโทรแบบวิดีโอฟรีทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ นอกจากการให้บริการส่งข้อความแล้ว LINE ยังมีบริการอื่นๆ อีกมากมายตั้งแต่แอพฯ เกมต่างๆ ไปจนถึงแอพฯ ถ่ายภาพ / แชร์รูปภาพ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม สามารถดูได้ที่ http://linecorp.com/th/



ถูกใจบทความนี้  1