ดีแทค ผนึก เทสโก้ โลตัส – กทม.-กรมควบคุมมลพิษ เปิดตัวจุดรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ ขับเคลื่อนวาระลดขยะแห่งชาติ จุดพลุรณรงค์ประชาชนยุค 4.0 ตื่นตัว

Tesco-dtac-3

 5 ตุลาคม 2560— เทสโก้ โลตัส  จับมือ ดีแทค เปิดตัวโครงการเก็บรวบรวมโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์ที่ไม่ใช้แล้ว ก่อนนำไปรีไซเคิลอย่างถูกวิธี ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม ตั้งเป้าจุดพลุโครงการรณรงค์ประชาชนยุค 4.0 ตื่นตัว ผ่านเฟสแรกในร้านค้าเทสโก้ โลตัส กลางกรุง หวังลดปริมาณขยะอันตรายในไทย ขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ 

 

Tesco-dtac 

นายสุเกียรติ กิตติธรรมโชติ  รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายรัฐสัมพันธ์ เทสโก้ โลตัส  กล่าวว่า  เทสโก้ โลตัส ให้ความสำคัญกับการดำเนินนโยบายเพื่อสิ่งแวดล้อมมาตลอดระยะเวลาการดำเนินธุรกิจ รวมถึงในเรื่องการลดปริมาณขยะ ซึ่งหนึ่งในนั้น คือการบริหารจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ที่เป็นหนึ่งในความสำคัญที่เราผลักดัน เนื่องจากในยุคแห่งเทคโนโลยี  สิ่งที่ทุกคนไม่อาจปฏิเสธได้ก็คือขยะที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยีของคนในยุคสมัยปัจจุบัน  อาทิ โทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์ต่างๆ  มีปริมาณเพิ่มมากขึ้นทุกปี

“ความร่วมมือในครั้งนี้ เทสโก้ โลตัส  ดีแทค กรุงเทพมหานคร และกรมควบคุมมลพิษ  เป็นความเข้มแข็ง และบูรณาการระหว่างภาครัฐ และเอกชน  ในการทำโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นวาระสำคัญระดับชาติ  โดยประเด็นที่ท้าทายและนำมาสู่ความร่วมมือในครั้งนี้ก็คือ การสร้างระบบเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่มีประสิทธิภาพ โดยเทสโก้ โลตัส ในฐานะช่องทางของผู้จัดจำหน่าย และธุรกิจค้าปลีกที่มีความใกล้ชิดกับชุมชน เรายินดีที่จะมอบพื้นที่ตั้งกล่องรับขยะเหล่านี้ เพื่อขยายช่องทางให้ผู้บริโภค โดยมีพันธมิตร ‘ดีแทค’ เป็นผู้ร่วมจัดเก็บและนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธี”
การเปิดตัวจุดรับมือถือ อุปกรณ์ ที่ไม่ใช้แล้ว ในห้างค้าปลีกอย่างเทสโก้ โลตัส  เกิดขึ้นจากโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการเก็บรวบรวมขยะอิเล็กทรอนิกส์ อันเป็นขยะอันตรายและกำลังสร้างปัญหาระดับชาติ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ประชนทั่วไปได้นำขยะเหล่านี้มาบริจาคผ่านจุดเก็บรวบรวมที่อยู่ใกล้ชุมชน และนำไปสู่การรีไซเคิลอย่างถูกวิธีไม่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม  อาทิ แบตเตอรี่โทรศัพท์ โทรศัพท์มือถือที่เสื่อมสภาพ รวมไปถึงอุปกรณ์เสริมต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโทรศัพท์

นางอรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กรและพัฒนาอย่างยั่งยืน บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า การดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญของดีแทค เพื่อช่วยในการพัฒนาทั้งทางเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม ภายใต้ความหลักความโปร่งใสและเป็นธรรม สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ “Empower societies”
ทั้งนี้ ดีแทค มุ่งมั่นในการรณรงค์ให้ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือคัดแยกขยะ ไม่ทิ้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพกับขยะทั่วไป เพื่อนำไปกำจัดอย่างถูกวิธี ผ่านโครงการ Think Smart มากกว่า10 ปี โดยจะส่งต่อขยะที่จัดเก็บแก่บริษัท เทส-แอม ผู้ให้บริการรีไซเคิลอุปกรณ์อิล์กทรอนิกส์แห่งเดียวในเอเชีย เพื่อนำไปกำจัด หรือรีไซเคิลอย่างถูกวิธีและปลอดภัย

 

Tesco-dtac- 1 

Tesco-dtac- 2 

ในปี 2559 ที่ผ่านมา ดีแทคสามารถจัดเก็บโทรศัพท์มือถือได้จำนวนกว่า 380,000 เครื่อง สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมได้ถึง 4.8 ตัน หรือเท่ากับสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 1 สระ
“ในปีนี้ ดีแทคตั้งเป้าหมายในการจัดเก็บเพิ่มเป็น 500,000 เครื่อง และหาพันธมิตรในการขยายจุดทิ้งโทรศัพท์มือถือและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เสื่อมสภาพ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนนำมือถือเก่า แบตเตอรี่และอุปกรณ์เสื่อมสภาพอื่นๆ มาทิ้งที่กล่องรับ ณ เทสโก้ โลตัส 6 สาขาทั่วกรุงในช่วงแรก รวมถึง ณ ดีแทคฮอลล์อีก 49 สาขาทั่วประเทศ”

ด้านนายสุเมธา วิเชียรเพชร ผู้อำนวยการสำนักจัดการการของเสียและสารอันตราย กรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถือเป็นขยะอันตรายที่กำลังสร้างปัญหามากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยมีปริมาณปีละ 600 ตันต่อปี แต่สามารถจัดการได้เพียงแค่ 40% และเพื่อให้การดำเนินงานแก้ปัญหาการจัดการของเสียอันตรายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ กรมควบคุมมลพิษ และกรุงเทพมหานคร จึงได้ดำเนินการขับเคลื่อนร่วมกับภาคเอกชน ดำเนินโครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชนขึ้นเพื่อเก็บรวบรวมของเสียอันตรายจากชุมชน เช่นเดียวกับความร่วมมือของเทสโก้ โลตัส และดีแทคครั้งนี้  เพื่อช่วยกันหยุดอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสิ่งแวดล้อม และโลกของเรา”

ด้านนางสุธิศา พรเพิ่มพูน ผู้อำนวยการกองจัดการขยะของเสียอันตรายและสิ่งปฏิกูล กรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ปัจจุบัน กทม. ผลิตขยะปริมาณวันละ 10,000 ตันหรือเท่ากับปริมาณสนามฟุตบอล 10 สนาม ซึ่งมาจากจำนวนประชากรตามทะเบียนราษฎร์และประชากรแฝงรวม 10 ล้านบาท  ทั้งนี้ แบ่งออกเป็นขยะอินทรีย์ 50% ขยะรีไซเคิล 30% และขยะทั่วไป 17% และขยะอันตราย 3% ขณะที่ กทม. สามารถจัดเก็บ 10% ของขยะอันตรายทั้งหมดเท่านั้น ซึ่งที่เหลืออนุมานได้ว่าอาจเก็บไว้เฉยๆ หรือมีการกำจัดไม่ถูกวิธีโดยการไถกลบหรือเผา ทำให้เกิดการความเสี่ยงต่อสุขภาพ ตลอดจนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศ

ทั้งนี้ เทสโก้ โลตัส ได้นำร่องโครงการดังกล่าว ด้วยการตั้งกล่องรับขยะอิเล็กทรอนิกส์ไว้ตามสาขาต่างๆ 6 สาขา ทั่วกรุงเทพฯ ประกอบด้วย บางแค ,พระราม 4 , บางนา ,ลาดพร้าว ,บางกะปิ ,สุขาภิบาล 1  ก่อนจะสขยายเพิ่มอีกหลายสาขาต่อไป    

ถูกใจบทความนี้  0