เวทีประกวด “เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด” ปีที่ 9 เผย 3 เทรนด์แรงเกษตรไทย “เกษตรเชิงข้อมูล – พลังงานหมุนเวียน – ชีววิธี”

7 ธันวาคม 2560 – ดีแทค กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และมูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด  เผย 3 แนวโน้มสำคัญเกษตรไทย ชูกลยุทธ์ เกษตรเชิงข้อมูล – พลังงานหมุนเวียน – ชีววิธี” ขับเคลื่อนเกษตรครบวงจร ปูทางสู่ เกษตรกร 4.0  พร้อมประกาศผลเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2560 โดยนางสาวจิราวรรณ คำซาว เกษตรกรผู้เพาะเห็ดถั่งเช่าจากปุ๋ยชีวภาพ จากจังหวัดเชียงใหม่ ชูจุดเด่น นวัตกรรม” พิชิตใจกรรมการ

 

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า จาก 9 ปีของการประกวด พบพัฒนาการของผู้เข้าประกวดอย่างมีนัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการวางแผนการเกษตรครบวงจร โดยใช้งานวิจัยและเทคโนโลยีเป็นฐานในการขับเคลื่อนธุรกิจ ครอบคลุมการผลิต การตลาด และการขาย โดยผสานกับภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตัวเองมี ซึ่งต่างจากอดีตที่เป็นเกษตรเชิงวัฒนธรรม ทำตามๆ กันจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ตลาดในปัจจุบัน

“ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า ภาคการเกษตรไทยจะเปลี่ยนโฉมหน้าอย่างมีนัยสำคัญ โดยจะถูกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารอย่าง 5G และอินเทอร์เน็ตสรรพสิ่ง (Internet of Things) ทำให้เกษตรกรต้องเตรียมพร้อมและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น เช่น ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร สภาวะโลกร้อน ปัญหาความยากจน  ซึ่งทำให้เกิดทั้งความท้าทายและโอกาสเชิงเศรษฐกิจและสังคม” นายลาร์ส กล่าว

ทั้งนี้ จากผู้สมัครเข้าประกวดกว่า 80 คน ในปีนี้ พบแนวโน้มสำคัญของเกษตรไทยยุคใหม่ โดยแบ่งออกเป็น 3 เทรนด์ ได้แก่

1.เกษตรเชิงข้อมูล (Data-driven farming)  เกษตรกรนำเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาปรับใช้ในการวางแผนการทำงาน เพื่อประเมินปัจจัยทางการเกษตรต่างๆ ตลอดจนทำนายความต้องการของตลาดในแต่ละช่วงการผลิต ผ่านระเบียบวิธีวิจัยและสถิติอย่างเป็นระบบ ร่วมกับการวิเคราะห์ข้อมูลเปิดจากแหล่งอื่นๆ ทำให้เกิดความแม่นยำในการทำการเกษตร ลดต้นทุน เพิ่มคุณภาพของผลผลิต และสอดคล้องต่อความต้องการของตลาด

  1. พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) เกษตรกรมีการใช้พลังงานที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในพื้นที่การเกษตรนั้นๆ โดยคิดค้นนวัตกรรมเครื่องมือที่ทำให้เกิดการนำพลังงานมาใช้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการผลิต และลดต้นทุนจากการใช้พลังงานในขั้นตอนอื่นๆ
  2. ควบคุมศัตรูพืชด้วยชีววิธี (Bio-pesticides) ถือเป็นวิธีการที่ได้รับความนิยมขึ้นในปัจจุบัน โดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านร่วมกับงานวิจัยที่เกษตรกรคิดขึ้น ทำให้ผลผลิตมีความปลอดภัยและลดต้นทุนจากสารเคมีได้ เช่น การคิดค้นปุ๋ยชีวภาพที่ผลิตจากเชื้อราไมคอร์ไรซาและเชื้อไรโซเบียม ช่วยในการเจริญเติบโตและป้องกันโรคพืชที่เกิดขึ้น

จากเทรนด์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว พบว่ามีจุดร่วมสำคัญคือการใช้ “นวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงข้อมูล” เป็นฐานของการทำการเกษตร ตั้งแต่การวางแผน การวิเคราะห์ตลาด การเพาะปลูก การแก้ปัญหาโรคพืช ตลอดจนการส่งต่อถึงมือผู้บริโภค ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของเกษตรไทย โดยเฉพาะวิธีคิดและทักษะ พัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรไทย ตอกย้ำอุดมการณ์สำนึกรักบ้านเกิด

นางสาวภาณี บุณยเกื้อกูล ผู้อำนวยการกองพัฒนาเกษตรกร กรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาการเกษตรและสหกรณ์ 20 ปี (พ.ศ. 2560-2579) กำหนดว่า “เกษตรกรมั่นคง ภาคการเกษตรมั่งคั่ง ทรัพยากรการเกษตรยั่งยืน” โดยเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิมในปัจจุบัน ไปสู่การเกษตรสมัยใหม่ที่เน้นการบริหารจัดการและเทคโนโลยี (Smart Farming)

สำหรับปี 2561 เป็นปีแห่งการยกระดับคน การบริหารจัดการมาตรฐานสินค้าเกษตร สู่เกษตร 4.0 กล่าวคือ เกษตรกรมีส่วนในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-based economy) โดยเกษตรกรต้องมีรายได้มากขึ้นและเป็นเกษตรกรผู้ประกอบการด้านการเกษตร (Entrepreneur) มากขึ้น เพื่อไปสู่การเป็น Smart Enterprises และ Startups ที่มีศักยภาพสูงต่อไป

“การส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกร ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 มุ่งเน้นให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร มีการจัดทำแผนการผลิตรายบุคคล (Individual Farm Production Plan – IFPP) ในการวิเคราะห์ กำหนดแผนการผลิตของตนเอง เพื่อไปสู่การผลิตที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ทำให้ผลผลิตที่เกิดขึ้นสามารถจำหน่ายได้ในราคาที่เหมาะสม เกษตรกรได้รับผลตอบแทนที่ดีขึ้นตามไปด้วย ทำให้การผลิตทางการเกษตรในลักษณะ smart agriculture เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาและสร้างความอยู่ดีมีความสุขได้อย่างแท้จริง” นางสาวภาณีกล่าว

 

นายบุญชัย เบญจรงคกุล ประธานกรรมการ มูลนิธิร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด กล่าวว่า โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาเป็นปีที่ 9 ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เกษตรแบบครบวงจร” โดยเน้นการใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อนภาคเกษตรกรรม สอดคล้องกับยุทธศาสตร์พัฒนาประเทศ Thailand 4.0 ซึ่งเกษตรกรต้นแบบทั้ง 10 ท่านปีนี้ มีคุณลักษณะโดดเด่นในเรื่องทักษะการบริหารจัดการทรัพยากรที่ดิน แรงงาน ทุน ตลอดจนการเพาะปลูกและแปรรูปสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค อยู่บนพื้นฐานการใช้องค์ความรู้ ความคิดสร้างสรรค์ ตลอดจนการนำภูมิปัญญาท้องถิ่นเข้ามาประยุกต์ใช้กับนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์การเกษตรให้มีคุณภาพมากขึ้น

“นอกจากนี้ ยังมีทักษะความเป็นเกษตรกรมืออาชีพ สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร และนำมาใช้ในการบริหารจัดการเกษตรได้อย่างมีประสิทธิภาพ เปลี่ยนการเกษตรดั้งเดิมสู่เกษตรสมัยใหม่ รู้จักการวางแผนธุรกิจ ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสร้างการตลาดนำการผลิต พร้อมแบ่งปันบทเรียนและถ่ายทอดประสบการณ์แก่เกษตรกรทั่วไป มูลนิธิฯ มีความภาคภูมิใจเป็นอย่างมาก เพราะปีนี้ นอกจากเราจะได้เกษตรกรต้นแบบ 10 ท่านที่เป็นคนเก่ง เรายังได้เกษตรกรที่มีความภูมิใจในการเป็นเกษตรกรอย่างยิ่ง พร้อมคำนึงถึงคุณภาพสินค้าและความปลอดภัยของผู้บริโภค สังคมและสิ่งแวดล้อมอีกด้วย” นายบุญชัย กล่าว

 

รายชื่อผู้ชนะเลิศ โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี 2560

จากการพิจารณาของคณะกรรมการ ได้ตัดสินให้เกษตรกรหัวคิดแบบนักวิจัย นางสาวจิราวรรณ คำซาว เกษตรกรผู้เพาะเห็ดถั่งเช่าจากปุ๋ยชีวภาพ จากจังหวัดเชียงใหม่ เป็นผู้ชนะเลิศ โครงการประกวดเกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ. 2560 โดยชูจุดเด่นด้าน “นวัตกรรม” พัฒนาสินค้าเกษตรอินทรีย์ตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันและมีแนวโน้มเติบโตในอนาคต โดยนำความรู้ที่เรียนในระดับปริญญาเอก มาต่อยอดพัฒนาปุ๋ยชีวภาพทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี สร้างแบรนด์ของตัวเอง ทั้งยังใช้เทคโนโลยีคิวอาร์โค้ด ทำให้ผู้บริโภคตรวจสอบที่มาของสินค้าได้ นอกจากนี้ ยังรวมกลุ่มกับวิสาหกิจชุมชนกระจายรายได้สู่ท้องถิ่นที่อยู่

 

รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ นายพิเชษฐ์ กันทะวงศ์ เกษตรกรผู้เพาะปลูกเมล่อน ภายใต้แบรนด์โอโซนฟาร์ม จากจังหวัดเชียงราย โดยยึดหลักเกษตรอินทรีย์ ปลูกพืชโดยไม่พึ่งสารเคมี เป็นทางเลือกใหม่เพื่อสุขภาพที่ดีกว่าของผู้บริโภค ภายใต้การบริหารจัดการและควบคุมคุณภาพผลผลิตที่ยึดมั่นตามมาตรฐานหลักการทำเกษตรที่ดีของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (GAP) นอกจากนี้ ยังสร้างแบรนด์ด้วยการตลาดออนไลน์ผ่านเฟสบุกแฟนเพจ โดยมีผู้ติดตามกว่า 42,000 คน และพัฒนาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์หรือสินค้าใหม่ๆ ที่ต่อยอดจากเมล่อนอีกหลายรายการ

 

 

รองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ นางสาวสิริพร เที่ยงสันเที้ยะ เกษตรกรยุคดิจิทัล ผู้ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่จากไร่พวงทรัพย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ที่ต้องการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำนาในอดีตที่ใช้สารเคมีอย่างหนักในการกำจัดศัตรูพืช มาเป็นการทำนาแบบปลอดสารพิษ เพราะเล็งเห็นว่าการรับประทานข้าวที่ปลูกโดยสารเคมีนั้น ไม่ต่างจาการรับประทานข้าวอาบยา ซึ่งมีอันตรายต่อร่างกายเป็นอย่างมาก โดยใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ผสานกับภูมิปัญญาไทย โดยประยุกต์การตากข้าวแบบธรรมชาติร่วมกับเทคโนโลยีการสีและบรรจุหีบห่อด้วยเครื่องสุญญากาศ ทำให้การเก็บรักษามีอายุที่ยาวนานขึ้น

ถูกใจบทความนี้  0