มองต่างมุม! ราคาประมูลคลื่น 900/1800 MHz ที่สูงเกินความเป็นจริง ผู้บริโภคได้ประโยชน์จริงหรือไม่ ?

 มีโอกาสได้เข้าฟังบรรยายของ ฮานส์ อีลเล ทีปรึกษาอาวุโส เนร่า อีโคโนมิค คอนซัลติ้ง (NERA Economic Consulting) เกี่ยวกับผลวิเคราะห์ร่างหลักเกณฑ์ในการประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz และ 1800 MHz ของสำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่จะมีการประมูลคลื่นความถี่รอบใหม่ในปี 2561 ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจหลากหลายแง่มุม แน่นอนว่าบางอย่างอาจจะดูเป็นเรื่องไกลตัว หรือเป็นเรื่องที่ประชาชนทั่ว ๆ ไป อาจจะเข้าไม่ถึง จึงเป็นที่มาของบทความนี้ที่จะมาเจาะประเด็น พร้อมบทสรุปในมุมมองของผู้บริโภคที่ไม่เน้นในเชิงเศรฐศาสตร์หรือเศรษกิจมากนัก

 

 

เท้าความกันสักเล็กน้อย เมื่อการประมูลคลื่น 900 MHz ในปี 2558 สิ้นสุดลง ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นเจ้าของสถิติใหม่ขึ้นมาทันที โดยคลื่นความถี่ในย่าน 900 MHz ของบ้านเรามีราคาแพงที่สุดในโลกและสูงกว่าค่าเฉลี่ยจากการประมูลทั่วโลกถึง 6 เท่า!  ส่วนคลื่น 1800 MHz แพงเป็นอันดับ 4 และแพงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลก 3 เท่าอีกด้วย โดยเหตุการในครั้งนั้นต้องบอกว่า มีปัจจัยพิเศษเข้ามาเป็นตัวแปรหลายด้าน ทั้งผู้เล่นหน้าใหม่อย่าง แจส โมบาย ที่เข้ามาสร้างความฮือฮาและเพิ่มแรงกดดันในการแข่งขันให้เข้มข้นขึ้น (ชนะการประมูลแต่สุดท้ายก็ไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าไลเซนส์ได้) ในขณะที่ทางฝั่งของเอไอเอสและทรู ก็อยู่ในสถานการณ์หลังผิงฝาเนื่องจากสัมปทานสิ้นสุดลง จึงต้องกัดฟันสู้ไม่ว่าจะต้องจ่ายสูงกว่าความเป็นจริงก็ตาม จึงต้องบอกเลยว่าการประมูลครั้งนั้นเป็นการขับเคี่ยวในสถานการณ์ที่ไม่ปรกติสักเท่าไหร่

เกร็ดที่น่าสนใจ ราคาประมูลคลื่นความถี่ทั้ง 900 MHz และ 1800 MHz จากทั่วโลก ในช่วงคลื่น 900 MHz จำนวน 5 MHz ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ราว ๆ 5,000 ล้านบาท

 

การประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz/ 1800 MHz รอบใหม่ในปี 2561

สำหรับร่างหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นของ กสทช.จะเป็นการนำคลื่นภายใต้สัมปทานระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม (แคท) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) ที่จะสิ้นสุดสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 มาออกประมูล ซึ่งประกอบไปด้วย

1. คลื่น 900 MHz เปิดประมูล 1 ใบอนุญาต ขนาด 5 MHz ราคาเริ่มต้นที่ 37,988 ล้านบาท

2. คลื่น 1800 MHz เปิดประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 MHz ราคาเริ่มต้น 37,457 ล้านบาท

ซึ่งจะอยู่ภายใต้กฎ N-1 โดยมีรายละเอียดดังนี้ครับ

● กรณีที่มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยราย จะไม่นำคลื่นความถี่บางช่วงเข้ามาประมูล

● กำหนดราคาตั้งต้นที่สูงเป็นพิเศษ โดยอ้างอิงจากราคาในการประมูลเมื่อปี 2558

จุดประสงค์ของกฎ N-1 คือเพื่อให้เกิดการแข่งขันในการประมูล โดยใช้หลักให้มี “คลื่นน้อยกว่าผู้ประมูล” ยกตัวอย่าง คลื่น 1800 MHz เปิดประมูล 3 ใบอนุญาต ถ้ามีผู้เข้าร่วม 3 ราย (AIS, dtac, True) กสทช.จะนำคลื่นมาประมูลเพียง 2 ชุด และจะเก็บอีกชุดหนึ่งไว้ (โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภค)

สำหรับกฎ N-1 และการนำเอาราคาการประมูลครั้งก่อนในปี 2558 มาเป็นราคาตั้งต้นในการประมูลรอบใหม่ อาจไม่ได้ส่งผลดีในระยะยาว เพราะผู้บริโภคแทนที่จะได้กลับต้องเสียมากกว่า โดยผมจะสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ตามนี้ครับ

ในกรณีทีมีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย ในคลื่นย่าน 1800 MHz จะถูกนำออกมาใช้เพียง 2 ชุด โดยอีก 1 ชุดจะถูกเก็บไว้โดยไม่มีการนำมาใช้งานให้เกิดประโยชน์

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วประเทศไทย มีการนำคลื่นความถี่มาใช้งานอยู่ในเกณฑ์ที่น้อยและล่าช้ากว่าบางประเทศเพื่อนบ้านเสียอีก ในขณะที่ความต้องการเข้าถึงและใช้งานมีแต่จะเพิ่มขึ้นทุกปี ๆ ฉะนั้นการประมูลโดยยังใช้ กฏ N-1 จึงเป็นสิ่งที่สวนทางกันอย่างเห็นได้ชัดเจน แม้ว่าในทางทฤษฎีการจำกัดการเข้าถึงคลื่นความถี่ จะเป็นสิ่งที่พลักดันให้ราคาประมูลคลื่นความถี่มีมูลค่าสูงขึ้น แต่ราคาที่สูงขึ้นนี้ก็อาจไม่สามารถหักกลบกับรายได้ ที่ต้องเสียไปจากการปล่อยให้คลื่นความถี่ไม่ได้ถูกใช้งาน

และยังไม่นับรวมการผ่องถ่ายเทคโนโลยี 4G ไปยัง 5G ในอนาคตอันใกล้นี้อีกด้วย ซึ่งจากการที่จำกัดการเพิ่มคลื่นความถี่และตั้งราคาสูงจนเกินความเป็นจริง ย่อมส่งผลต่อการพัฒนาประเทศยุคดิจิทัลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ อีกทั้งยังส่งผลให้คนไทยพลาดโอกาสในการได้รับบริการด้านโทรคมนาคมที่มีคุณภาพ ทั้งในแง่ความทั่วถึงครอบคลุมทุกพื้นที่, ความเร็วความเสถียร รวมไปถึงค่าบริการที่มีความสมดุลเหมาะสมกับสภาพเศรษกิจและรายได้โดยรวมของประชากรในประเทศ ซึ่งถ้าเปรียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็ประมาณว่า เรามีพื้นที่เพาะปลูกขนาดใหญ่ แต่ปล่อยทิ้งร้างเอาไว้โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ นั่นเองครับ

ส่วนการกำหนดราคาเริ่มต้นที่สูงเกินความจริง ส่วนหนึ่งเป็นผลพวงมาจากเหตุการณ์ไม่ปรกติ เมื่อครั้งประมูลในรอบที่ผ่านมา โดยผู้ชนะประมูลรายหนึ่งไม่สามารถชำระเงินค่าไลน์เซนส์ได้ ทำให้ราคาตั้งต้นในการประมูลรอบใหม่ เป็นการพลักดันจากราคาที่ยังไม่ใช่ราคาแท้จริงของตลาดที่เหมาะสมในบ้านเรา และที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างให้เห็นแล้วที่ประเทศอินเดีย กล่าวคือมีการนำราคาที่ชนะในการประมูลมาใช้เป็นบรรทัดฐานสำหรับราคาเริ่มต้น แต่สุดท้ายเมื่อตั้งราคาดังกล่าวก็ไม่มีโอเปอเรเตอร์รายใดเข้าประมูลครับ

 

สำหรับแนวโน้มและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นในการเปิดประมูลคลื่น 900 MHz/ 1800 MHz รอบใหม่ในปี 2561 ผมขอสรุปย่อ ๆ ดังนี้

1. มีความเป็นไปได้ที่ผู้ประกอบการที่มีคลื่นในมือเพียงพออยู่แล้วอาจจะไม่เข้าร่วมประมูล ทำให้คลื่นความถี่ส่วนหนึ่งไม่ถูกนำออกมาใช้งานให้เกิดประโยชน์ (ด้วยข้อจำกัดของ กฎ N-1)

2. อาจจะทำให้เกิดความล่าช้าในการขยายคลื่นความถี่ให้เพียงพอต่อการใช้งาน รวมไปถึงคุณภาพและราคาที่จะไม่สมดุลกับสภาพความเป็นจริง อีกทั้งไม่สอดคล้องรองรับกับเทคโนโลยีที่จะมีการผ่องถ่ายในอนาคต

กล่าวคือ ไม่ว่าทรูหรือเอไอเอส หากไม่เข้าร่วมประมูล ยังไงดีแทคก็ไม่สามารถครอบครองคลื่นที่นำออกมาประมูลทั้งหมดได้อยู่ดี ในมุมกลับกัน หากมีการตั้งราคาเริ่มต้นที่สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับค่ามาตรฐาน และแบ่งซอยคลื่นออกให้เล็กลงเช่นอยู่ในฐาน 2×5 MHz (เป็นคู่) หรือ 5 MHz (ไม่เป็นคู่) จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันและเป็นธรรมมากกว่า เพราะวิธีการนี้ได้รับการนำมาใช้งานโดยหลายองค์กรกำกับดูแลทั่วโลก ซึ่งเป็นวิธีที่ทำให้ผู้ให้บริการมีความยืดหยุ่นสูงสุดในการกำหนดเป้าหมายจำนวนคลื่นความถี่ที่ตนเองต้องการและเพิ่มการแข่งขันในการประมูลของช่วงความถี่ที่เพิ่มขึ้น แม้ว่าจะอยู่ในสถานการณ์ที่มีผู้เข้าร่วมประมูลน้อยรายก็ตามครับ

เมื่อมองบทวิเคราะห์ของ NERA แบบผ่าน ๆ ดูเหมือนจะเอื้อประโยชน์ให้กับผู้ประกอบการบางรายเป็นพิเศษ แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะผลประโยชน์สูงสุดน่าจะตกอยู่ที่ผู้บริโภคในบ้านเรามากกว่า ถ้ามีการตั้งราคาเริ่มต้นที่สอดคล้องหรือใกล้เคียงกับค่ามาตรฐาน พร้อมแบ่งซอยคลื่นออกให้เล็กลง จะก่อให้เกิดการแรงดึงดูดในการแข่งขันเพิ่มขึ้น  ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการที่มีคลื่นเพียงพออยู่ในมืออยู่แล้ว หรือผู้เล่นหน้าใหม่อย่างแจส โมบาย ก็ยังสามารถเข้าร่วมการประมูลได้ เพราะในภาพรวมนั้นยังอยู่ในเงื่อนไขที่รองรับศักยภาพของผู้เข้าร่วมประมูลนั่นเอง ซึ่งไม่แน่ว่าเราอาจจะได้เห็นผู้ให้บริการเครือข่ายหน้าใหม่เกิดขึ้นเป็นรายที่ 4 ของประเทศก็เป็นได้  หรือในอีกมุมหนึ่งทั้งทรูและเอไอเอสก็อาจจะได้คลื่นความถี่เข้าไปเสริมทัพ ทำให้ยกระดับการบริการที่มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

 

อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจจะแย้งในใจ ว่าการประมูลคลื่นความถี่ราคาสูงนั้นไม่เห็นจะเสียหายตรงไหน ก็เห็นค่ายโอเปอเรเตอร์ในบ้านเรานั้นจ่ายไหว และเงินก็เข้าคลังแบบเต็ม ๆ

ในความเป็นจริงแล้ว เม็ดเงินที่เข้าคลังนั้นไม่ได้ย้อนกลับมาก่อให้เกิดประโยชน์ในด้านบริการและคุณภาพของกิจการโทรคมนาคมแต่อย่างใด ในขณะที่ผู้ให้บริการต้องแบกรับภาระทางการเงิน ซึ่งจะลดแรงจูงใจในการลงทุนและแข่งขันกันในการให้บริการ ซึ่งถ้าหากผู้บริการในบ้านเราจ่ายค่าประมูลคลื่นความถี่ที่สูง (เกินราคามาตรฐาน) จะส่งผลกระทบในแง่การลงทุนด้านบริการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เราอาจจะเข้าถึงเครือข่ายได้ครอบคลุมขึ้น แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพมากกว่าเดิม เพราะเงินที่จมลงไปกับค่าไลเซนส์ทำให้การลงทุนด้านการบริการเกิดการชะงักงั้น แม้อัตราค่าบริการจะไม่ได้สูงขึ้นตามไปด้วยเพราะโดนข้อกำหนดบังคับไว้ แต่ในระยะยาว เราจะได้ใช้บริการที่มีอัตราคงที่หรือแย่ลง (เท่ากับแพงขึ้นในความเป็นจริง)  เพราะไม่มีการลงทุนด้านบริการนั่นเอง ในทางกลับกัน หากทุกค่ายโอเปอเรเตอร์สามารถเข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่ในอัตราที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจภายในประเทศ จะก่อให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง ทั้งในแง่คุณภาพที่ดีขึ้นและค่าบริการที่ถูกลงอีกด้วย

 

สรุปส่งท้าย ในมุมของผู้บริโภคอย่างเรา ๆ นั้นย่อมคาดหวังที่จะได้รับการบริการที่มีคุณภาพและราคาที่สมเหตุสมผล ซึ่งคนส่วนใหญ่หรือผู้ใช้งานคาดหวังอะไรกับการให้บริการ?  ประเด็นหลักก็คงไม่พ้นเรื่องของการเข้าถึงได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่ในประเทศไทย รวมไปถึงความเร็วความเสถียร และสุดท้ายค่าบริการที่เข้าถึงได้ง่ายและรองรับกับเทรนด์ของอนาคตไม่ว่าจะเป็น Content HD, 4K Streaming, และโครงข่าย 5G ในอนาคต

สำหรับการเปิดประมูลด้วย กฎ N-1 และตั้งราคาสูงที่สุดในโลก นั้นใช่คำตอบสำหรับประเทศไทยหรือไม่ ก็คงต้องติดตามบทสรุปจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง

ข้อมูลอ้างอิง https://goo.gl/TbwDJJ



ถูกใจบทความนี้  8