กรุงเทพฯ อีริคสัน ประเทศไทยเข้าร่วมงาน “5G เปลี่ยนโลก เปลี่ยนประเทศไทย” แบ่งปันวิสัยทัศน์และข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับ เทคโนโลยี 5G ให้แก่ผู้เข้าเยี่ยมชม ภายในงานอีริคสันยังจัดแสดงเทคโนโลยี 4G และ 5G สามารถเปลี่ยนวิถีชีวิตผู้คนผ่านเกมกีฬาอัจฉริยะ ด้วยแพลตฟอร์มซอฟท์แวร์ในการรวบรวม วิเคราะห์ และแชร์ข้อมูล เช่น วีดีโอสตรีมมิ่ง และตำแหน่งของผู้เล่นในสนามกีฬา นอกจากนี้เกมกีฬาอัจฉริยะนี้ยังสามารถตรวจติดตามตำแหน่งของผู้เล่นและอัตราการเต้นของหัวใจ เพื่อใช้ข้อมูลเหล่านี้เพื่อเป็นประโยชน์สำหรับการฝึกฝนนักกีฬา
อีริคสันพัฒนาแพลทฟอร์ม เผยความคาดหวังของผู้บริโภค พร้อมเดินหน้าเข้าสู่ยุค 5G
- อีริคสันพัฒนาซอฟท์แวร์ 5G พร้อมใช้งานทั้งในส่วน Radio Networks และ Core Networks พร้อมให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาสที่ 4 ปี 2561
- พัฒนาผลิตภัณฑ์ในส่วน Radio เพื่อให้เกิดการวิวัฒนาการไร้รอยต่อจาก 4G ไปยัง 5G
- ความคาดหวังของผู้บริโภค 6 ประการกับบริการในยุค 5G
อีริคสันกับความพร้อมเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเข้าสู่ยุค 5G
อีริคสันได้พัฒนาซอฟท์แวร์ 5G Radio Access Network (RAN) ที่สามารถให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ โดยได้รับการรับรองตามมาตรฐาน 3GPP 5G New Radio (NR) เป็นรายแรกของโลก โดยมีการนำเสนอสถานีฐานแบบใหม่ที่เรียกว่า Street Macro เพื่อตอบโจทย์ผู้ให้บริการที่มีข้อจำกัดในการหาสถานที่ตั้งสถานีฐานในเขตเมือง นอกจากนี้อิริคสันได้เพิ่มความสามารถ 5G Core ให้รองรับ 5G NR ด้วย พร้อมขยายขีดความสามารถของ Distributed Cloud Solution
นาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ผู้ให้บริการที่ต้องการเป็นเจ้าแรกในการพัฒนา 5G จำเป็นต้องเปิดตัวโครงข่าย 5G ภายในปีนี้ อีริคสันได้พัฒนาแพลทฟอร์มที่จะสามารถทำให้ผู้ให้บริการมีโครงข่ายที่มีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งสร้างรายได้ใหม่ ๆ จากผู้บริโภคและการใช้งานในอุตสาหกรรมต่าง ๆ”
ผู้นำเทคโนโลยีรายแรกที่พัฒนาเข้าสู่ 5G เชิงพาณิชย์
5G Software ที่พัฒนาทั้งใน RAN และ Core และสามารถใช้ได้ในทุกคลื่นความถี่เพื่อรองรับการติดตั้งได้ทั่วโลก ทำให้อีริคสันกลายเป็นผู้นำเทคโนโลยีรายแรกที่พัฒนาเข้าสู่ 5G เชิงพาณิชย์ซึ่งจะยกระดับบริการต่าง ๆ รวมทั้งบริการวิดีโอที่มีความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นเข้าสู่ระบบ 4K/8K หรือ AR/VR ได้
Distributed Cloud ของอีริคสันเร่งการเติบโตของ 5G และ IoT
ในส่วนของ Distributed Cloud จะเป็นส่วนเร่งการเติบโตของ 5G และ IoT โดยระบบคลาวด์ของอิริคสันจะเป็นการรวมตัวของส่วนที่ดีที่สุดของโทรคมนาคมและคลาวด์เพื่อสร้างเครือข่ายที่จะรองรับแอพพลิเคชั่นส์ตามความต้องการของผู้ให้บริการโทรคมนาคม ผู้บริโภค และธุรกิจ โดยสามารถใช้ได้กับระบบฮาร์ดแวร์หลายยี่ห้อได้ ทั้งนี้ระบบคลาวด์ของอิริคสันพัฒนาขึ้นตามแนวทาง Software Defined Infrastructure (SDI)
พัฒนาอุปกรณ์สถานีฐานแบบใหม่เพื่อรองรับการพัฒนาอย่างไร้รอยต่อจาก 4G ไปยัง 5G
โดย Street Macro จะเข้ามาเติมเต็มช่องว่างระหว่างสถานีฐานแบบ Macro และ Micro โดยสถานีฐานชนิดใหม่นี้สามารถไปติดตั้งในพื้นที่ที่จำกัดตามตึกสูงในเมืองได้เหมือนแบบ Micro แต่สามารถให้การครอบคลุมของสัญญาณได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนแบบ Macro นอกจากนี้เทคโนโลยีของผลิตภัณฑ์สถานีฐานชนิดใหม่ Massive MIMO Technology จะช่วยการพัฒนาเครือข่าย 4G เดิมเข้าสู่ 5G โดยตอบสนองความต้องการในการเพิ่มความเร็วขึ้น ทั้งนี้ระบบสถานีฐานของอิริคสันที่มีการติดตั้งตั้งแต่ปี 2558 สามารถอัพเกรดเป็น 5G NR โดยการติดตั้งซอฟท์แวร์จากทางไกลได้ โดยการผสมผสานของผลิตภัณฑ์ใหม่ของอิริคสันรวมทั้งการสนับสนุน 5G บนสถานีฐานที่ติดตั้งไปแล้วจะทำให้ผู้ให้บริการสามารถเข้าสู่ยุค 5G ได้อย่างยืดหยุ่นและสร้างโอกาสใหม่ ๆ สำหรับแอพพลิเคชั่นส์ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ได้
ความคาดหวังของผู้บริโภคเมื่อเข้าสู่ยุค 5G
จากรายงาน Towards a 5G consumer future ของอิริคสันที่มีการสำรวจความต้องการพื้นฐาน 6 ประการของผู้บริโภคเพื่อเข้าสู่เทคโนโลยี 5G มีดังนี้
- ลดความซ้ำซ้อนของแพ็คเกจต่าง ๆ จากการสอบถามผู้ใช้บริการหกในสิบคิดว่าแพ็คเกจดาต้าของผู้ให้บริการมีความซับซ้อนสร้างความสับสนเป็นอย่างมาก จนบางครั้งรู้สึกว่าสิ่งที่ซื้อบริการไม่ใช่สิ่งที่ตนต้องการ ดังนั้นความคาดหวังของผู้ใช้บริการต้องการแพ็คเกจที่ใช้ง่ายไม่ซับซ้อนจนเกินไป
- นำเสนอบริการดาต้าที่ไม่ต้องกังวลถึงข้อจำกัดปริมาณการใช้ แม้ว่าผู้บริโภคไม่ได้คาดหวังถึงการใช้งานข้อมูลโดยไม่มีขีดจำกัด แต่ก็พวกเขาต้องการที่จะใช้งานโดยไม่ต้องกังวลถึงข้อจำกัดเหล่านี้ ผู้ให้บริการควรมีทางเลือกอื่น ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค มากกว่าการนำเสนอแพ็คเกจแบบ Unlimited data plan เพียงอย่างเดียว
- จำนวนดาต้าทราฟฟิกที่ซื้อไว้ไม่ว่าจะใช้หรือไม่ก็ตามผู้ใช้บริการควรได้ผลประโยชน์เต็มที่ โดยเฉลี่ยผู้ใช้บริการสมาร์ทโฟนจะมีจำนวนดาต้าที่ไม่ได้ใช้อยู่ประมาณ 31 กิกกะไบท์ในแต่ละปี ซึ่งจำนวนนี้พอที่จะสามารถใช้วิดีโอโฟนได้ถึง 65 ชั่วโมง หรือใช้ฟังเพลงออนไลน์ได้ถึง 517 ชั่วโมง หรือนำมาดูซีรีย์ เช่น Game of Throne ได้ถึง 6 ซีชั่นส์ โดยสองในห้าของผู้ใช้บริการคาดหวังว่าในอนาคตส่วนเกินนี้ผู้ใช้จะสามารถนำมาใช้ในการทำธุรกรรม ซื้อ ขาย หรือแลกเปลี่ยนได้เหมือนกับสกุลเงิน
- ควรให้ทางเลือกมากกว่า Data Bucket ในปัจจุบันผู้ให้บริการมักจะใช้ระบบ Data Bucket ในการคิดเพียงปริมาณการใช้งานดาต้าทราฟฟิกเท่านั้น แต่ความเป็นจริงแล้วความเร็วของดาต้าและสัญญาที่เป็นธรรมมีความสำคัญกว่าระบบ Data Bucket มาก เนื่องจากปัจจุบันคอนเท้นท์ที่เป็นวิดิโอหรือบริการภายใต้นวัตกรรมใหม่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นผู้ใช้บริการคาดหวังถึงการแพ็คเกจที่มีความสร้างสรรค์และตอบโจทย์ความเป็นส่วนบุคคลมากขึ้นเพื่อให้สอดคล้องการใช้งานที่มีความแตกต่างในแต่ละคน
- 5G สามารถให้ได้มากกว่า จากความเชื่อเดิมที่คาดว่าผู้บริโภคไม่น่าจะสนใจ 5G มากนัก แต่จากการสำรวจผู้บริโภคที่ใช้สมาร์ทโฟนทั่วโลกพบว่า 76 เปอร์เซ็นต์ สนใจ 5G และ 44 เปอร์เซ็นต์ พร้อมที่จะจ่ายเงินเพื่อจะได้ใช้บริการ 5G และผู้บริโภคเหล่านี้เชื่อว่า 5G จะขึ้นมาเป็นบริการหลักภายใน 3–4 ปีข้างหน้า โดยมากกว่าครึ่งคาดว่าจะใช้บริการ 5G ภายในสองปีและมีความคาดหวังว่า 5G จะให้บริการที่มีความเร็วสูงขึ้น ครอบคลุมมากกว่า และราคาประหยัดลง รวมทั้งประหยัดพลังงาน อุปกรณ์มีความหลากหลายมากกว่าโทรศัพท์ และไม่อยากจ่ายค่าบริการตามจำนวนกิกกะไบท์อีกต่อไป แต่คาดหวังว่าจะเป็นค่าบริการอัตราเดียวสำหรับบริการ 5G หรือตามจำนวนอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อ
- เครือข่าย 5G ที่เชื่อถือได้จริง ผลรายงานชี้ให้เห็นว่ามีเพียง 4 เปอร์เซ็นต์ของผู้ให้บริการที่มีสถิติคุณภาพเครือข่ายเป็นไปตามโฆษณา ผู้ใช้บริการเรียกร้องให้ผู้ให้บริการหลีกเลี่ยงการสร้างสโลแกนโฆษณาที่ไม่ได้สอดคล้องกับคุณภาพของเครือข่ายตนเอง แต่อยากให้ทำการตลาดอย่างซื่อสัตย์เป็นจริง
คาดการณ์ 5G จากรายงาน Ericsson Mobility Report
เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2560 ได้มีการประมาณการณ์ว่าจะมีผู้ใช้บริการ 5G ถึงหนึ่งพันล้านรายทั่วโลกภายในปี 2566 หรือในอีกห้าปีข้างหน้า โดยการใช้งานเทคโนโลยี 5G นั้นคาดว่าจะเริ่มต้นจากพื้นที่เขตเมืองที่มีประชากรหนาแน่น และจะแพร่หลายครอบคลุมถึง 20 เปอร์เซ็นต์ของจำนวนประชากรโลกภายในสิ้นปี 2566 โดยคาดว่าผู้ให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์จะเกิดขึ้นภายในปี 2562 และจะขยายตัวเป็นอย่างมากภายในปี 2563 โดยประเทศกลุ่มที่คาดว่าจะมีการใช้งานเป็นกลุ่มแรก ๆ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และจีน
จับตามองประเทศไทย
จากรายงาน Ericsson Mobility Report เผยว่าประเทศไทยจะมีการเติบโตของผู้ใช้บริการจาก 95 ล้านรายในปี 2560 เพิ่มขึ้นเป็น 115 ล้านรายภายในปี 2566 โดยทั้งนี้จะเป็นผู้ใช้สมาร์ทโฟนถึง 100 ล้านราย หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 87 เปอร์เซ็นต์
นาดีน อัลเลน ประธานบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “เราคาดว่าปริมาณผู้สมัครใช้บริการ LTE/5G จะเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจากปี 2560 ถึงปี 2566 ซึ่งจะทำให้ในปี 2566 สัดส่วนของผู้สมัครใช้บริการ LTE/5G มีมากกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ของผู้สมัครใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด”
“เทคโนโลยี 5G ยังสามารถสร้างรายได้ให้แก่ผู้ให้บริการเครือข่ายเพิ่มขึ้นได้ถึง 22 เปอร์เซ็นต์ หรือ 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทย รวมถึงภาครัฐ ควรมีการเตรียมความพร้อมที่จะนำศักยภาพของเทคโนโลยี 5G มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคชาวไทยและผู้ประกอบการ อีริคสันและกลุ่มผลิตภัณฑ์สำหรับเครือข่าย 5G จะสามารถช่วยให้ผู้ให้บริการเครือข่ายในประเทศไทยย้ายจากเทคโนโลยี 4G มาเป็น 5G ได้อย่างต่อเนื่อง” นาดีน กล่าวเพิ่มเติม
เกี่ยวกับอีริคสัน
อีริคสันช่วยให้ผู้ให้บริการด้านเทคโนโลยีการสื่อสารสามารถใช้งานการเชื่อมต่อได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ตั้งแต่เครือข่าย บริการทางดิจิทัล บริการด้านการจัดการ และธุรกิจใหม่ ๆ เพื่อให้ลูกค้ามีศักยภาพ ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล และสามารถสร้างรายได้จากการลงทุนแบบใหม่ การลงทุนของอีริคสันในนวตกรรมต่าง ๆ ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการใช้โทรศัพท์และโมบายบอร์ดแบนด์แก่ผู้คนทั่วโลก อีริคสันจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในกรุงสต็อกโฮล์ม และ NASDAQ ในกรุงนิวยอร์ค ติดตามข้อมูลข่าวสารของอีริคสันได้ที่ www.ericsson.com
You must be logged in to post a comment.