ไทยพาณิชย์ และดิจิทัล เวนเจอร์ส จัดสัมมนา Faster Future Forum 2018 ปลดล็อก Blockchain เทคโนโลยีพลิกโฉมธุรกิจโลก

 

ธนาคารไทยพาณิชย์ ร่วมกับบริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด บริษัทผู้พัฒนานวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารฯ จัดงานสัมมนา ‘Faster Future Forum 2018’ ปีที่สอง ภายใต้หัวข้อ UNLOCK BLOCKCHAIN: The World DISRUPTIVE Technology นำเสนอข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับบล็อกเชน เทคโนโลยีแห่งอนาคตที่จะมาเปลี่ยนโลกธุรกิจในแง่มุมที่หลายคนอาจคาดไม่ถึง พร้อมกรณีศึกษาจริงจากการนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจที่เกิดขึ้นแล้วในต่างประเทศ  โดยมีผู้บริหารระดับสูงของธนาคาร ลูกค้าองค์กรของธนาคารในธุรกิจต่าง ๆ ตัวแทนหน่วยงานกํากับดูแลสถาบันการเงิน ผู้คร่ำหวอดในแวดวงฟินเทคและสตาร์ทอัพ ตลอดจนสื่อมวลชน มาร่วมรับฟังกว่า 600 คน

 

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวเปิดการสัมมนาว่า “บล็อกเชนคือเทคโนโลยีที่กำลังส่งผลกระทบกับโลกอย่างมากในอนาคตอันใกล้ หลักการของบล็อกเชนคือการอาศัยความสามารถของคอมพิวเตอร์มาสร้างให้เกิดความไว้วางใจ (trust)ระหว่างบุคคลสองฝ่ายที่ไม่รู้จักกัน โดยไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง หรือบุคคลที่สาม ซึ่งเป็นการลดขั้นตอน ลดต้นทุน จึงน่าจะเป็นสิ่งที่ธุรกิจต่าง ๆ อยากได้ แต่คำถามคือเราจะกำกับดูแลอย่างไร หน่วยงานใดจะเป็นผู้รับผิดชอบ จะคุ้มครองทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องอย่างไร และผู้บริโภคจะเชื่อมั่นในความปลอดภัยได้ไหม สัมมนาครั้งนี้จึงเกิดขึ้นเพื่อทำความเข้าใจ แบ่งปัน และแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับบล็อกเชน ตลอดจนการนำไปใช้จริงในธุรกิจ เพื่อให้เราสามารถนำเทคโนโลยีนี้ไปใช้ได้อย่างเต็มศักยภาพ”

ในการบรรยายพิเศษในหัวข้อ “Blockchain Changes the World” พลภัทร อัครปรีดี กรรมการผู้จัดการ หน่วยงาน Corporate Venture Capital บริษัท ดิจิทัล เวนเจอร์ส จำกัด สรุปภาพรวมของบล็อกเชนว่าเป็นเทคโนโลยีที่ใช้หลักการเข้ารหัส (Cryptography)  บล็อกเชนเปรียบเสมือนสมุดบัญชีที่เรียงร้อยบล็อกของข้อมูลต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และเป็นวิวัฒนาการอีกขั้นของอินเทอร์เน็ต โดยมีจุดแข็งคือความโปร่งใส ด้วยหลักการเก็บข้อมูลแบบกระจาย (Distributed) ผู้เกี่ยวข้องทุกคนจึงต่างมีข้อมูลเหมือนกันหมด ข้อมูลเปิดเผยให้ทุกคน และหากต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลใด ๆ ก็จะต้องได้รับความเห็นชอบจากทุกฝ่าย และด้วยเหตุที่ข้อมูลนี้ถูกเก็บในลักษณะกระจาย การที่แฮกเกอร์ต้องการจะล้วงข้อมูลไปใช้ในทางทุจริตจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก เพราะจะต้องตามไปแฮ็กในทุกโหนดข้อมูล ต้องใช้คอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพการประมวลผลสูงมาก เสียทั้งกำลังคนและเวลามากมายมหาศาล ไม่คุ้มค่าที่จะทำ จึงเป็นการอุดช่องโหว่ในเรื่องการรักษาความปลอดภัยของระบบ  ปัจจุบัน บล็อกเชนได้ก่อให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินและธุรกิจในรูปแบบต่าง ๆ ที่นำมาใช้จริงแล้ว เช่น Smart Contracts, การยืนยันตัวตนแบบดิจิทัล (Digital Identity), การเลือกตั้งออนไลน์, และ การติดตามตรวจสอบสินค้าจากแหล่งกำเนิดจนถึงมือผู้บริโภค (Supply Chain)

ด้วยหลักการทำงานที่ต้องอาศัยการเห็นชอบจากทุกฝ่าย มีการลงประทับวันเวลา (Timestamp) และตรวจสอบได้ การทุจริตจึงทำได้ยาก แพล็ตฟอร์มบล็อกเชนจึงสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในธุรกิจต่าง ๆ นอกเหนือจากการเงินได้ ยกตัวอย่างเช่น การซื้อขายพลังงานที่ผู้บริโภคและผู้ขายสามารถติดต่อกันโดยตรง ไม่ผ่านคนกลาง ในธุรกิจการผลิตทางอุตสาหกรรม ซึ่งเนสเล่ ยูนิลีเวอร์ และวอลมาร์ทนำมาใช้แล้วในการติดตามตรวจสอบผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบตลอดช่วงวงจรซัพพลายเชน หรือธุรกิจการค้าสามารถใช้ตรวจสอบวัตถุมีค่าต่าง ๆ ว่าเป็นของแท้หรือไม่ เช่น งานศิลปะ เครื่องเพชร หรือนาฬิกา

สัมนนาครั้งนี้ ยังมีมุมมองจากผู้เชี่ยวชาญในการบุกเบิกบล็อกเชนระดับโลกอย่าง แบรด การ์ลิงเฮาส์ ซีอีโอ (Brad Garlinghouse) และหนึ่งในคณะกรรมการบริหารของ Ripple ผู้ให้บริการโอนเงินระหว่างประเทศทั่วโลกแบบเรียลไทม์โดยใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน โดยแบรดให้คำจำกัดความง่าย ๆ ของ Ripple ว่าเป็นผู้แก้ไขปัญหาในโลกจริงของธุรกิจโดยอาศัยจุดแข็ง 3 ประการคือ ความเข้าใจในการทำธุรกรรมการโอนเงินของธนาคาร ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และความเข้าใจในด้านกฏระเบียบของหน่วยงานกำกับดูแล การใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน และคุณค่าสำคัญในเชิงธุรกิจของบล็อกเชนคือ สามารถทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการที่มีคุณภาพดีขึ้นในราคาที่ถูกลงได้

ปิดท้ายด้วยช่วงเสวนา “Unlock Blockchain to Endless Possibilities” ได้วิทยากรรับเชิญซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและนักธุรกิจมาร่วมเผยประสบการณ์จากการนำแพล็ตฟอร์มบล็อกเชนไปพัฒนาเป็นโซลูชั่นที่ใช้จริงแล้ว ทั้งในแวดวงราชการ ธุรกิจประกัน และธุรกิจการเกษตร

เริ่มจาก ดร. ภูมิ ภูมิรัตน ที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยี คณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งอยู่ในคณะทำงานโครงการพัฒนาระบบการยืนยันตัวตนแทนการใช้รหัสผ่านโดยใช้บล็อก เพื่อการตรวจสอบสถานะตัวบุคคลแบบดิจิทัล ซึ่งประเทศไทยถือจะเป็นประเทศแรก ๆ ในโลกที่ใช้ระบบนี้ กล่าวถึงความท้าทายของเทคโนโลยีในการขอความเห็นชอบจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง แต่มองว่าเทคโนโลยีนี้เป็นสิ่งจำเป็นที่ไม่อาจมองข้ามในการส่งเสริมศักยภาพและขีดความสามารถ และทำให้เกิดแนวทางในการดำเนินธุรกิจใหม่ ๆ

ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จากสิงคโปร์  วาเลนเซีย แยป (Val Yap) ผู้ก่อตั้ง PolicyPal สตาร์ทอัพด้าน InsurTech และได้รับการจัดอันดับจาก Forbes ให้เป็นหนึ่งใน 30 ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่อายุต่ำกว่า 30 ปี เล่าถึงที่มาของการก่อตั้งธุรกิจว่าเกิดจากประสบการณ์จริงที่เผชิญความยุ่งยากในการเคลมค่ารักษาพยาบาล  และค่าชดเชยจากการเสียชีวิตกระทันหันของสมาชิกในครอบครัวจากบริษัทประกันภัยต่าง ๆ จึงเกิดไอเดียริเริ่มธุรกิจผู้ให้บริการตัวแทนประกันดิจิทัลโดยใช้แพล็ตฟอร์มบล็อกเชน เพื่อช่วยเหลือลูกค้าในการซื้อและบริหารกรมธรรม์หลายฉบับให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการพัฒนาแพล็ตฟอร์มบริการในการช่วยให้ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถเข้าถึงบริการประกันภัยโดยลดอุปสรรคต่าง ๆ จากเงื่อนไขความคุ้มครองของประกันภัยแบบเดิม ๆ

สุดท้าย เดวิด เดวี่ส์ (David Davies) ผู้ก่อตั้งและซีอีโอของ AgUnity บริษัทด้านการลงทุนเพื่อสังคม ซึ่งช่วยส่งเสริมศักยภาพของเกษตรกรในประเทศกำลังพัฒนาด้วยโซลูชั่นบล็อกเชน ผ่านประสบการณ์ทำงาน ทั้งด้านเทคโนโลยีมาและธนาคารเพื่อการลงทุนระดับโลกหลายแห่งมาแล้ว เสริมว่าแพล็ตฟอร์มบล็อกเชนทำให้เกิดโมเดลของการประสานความร่วมมือในรูปแบบใหม่ และสามารถติดตามตรวจสอบได้ตลอด Value chain ของธุรกิจ ซึ่งทำให้ AgUnity สามารถดำเนินการช่วยเหลือกลุ่มเกษตรกรที่รายได้น้อยที่สุดของโลกให้พ้นจากความยากจนมาแล้วโดยการส่งเสริมความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้เกิดการร่วมมือกัน สร้างตลาดกลางที่เชื่อมโยงไปสู่ผู้ซื้อผลผลิตโดยตรง โดยไม่ผ่านคนกลาง จึงทำให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้นอย่างชัดเจน

งานสัมมนา Faster Future Forum 2018 ครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งในภารกิจของดิจิทัล เวนเจอร์สที่ได้ไปสร้างรากฐานและเครือข่ายธุรกิจในระบบนิเวศด้านฟินเทคในต่างประเทศ ทั้งเครือข่ายในด้านการลงทุน และเทคโนโลยี และเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะได้นำความรู้เหล่านี้กลับมาส่งต่อให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ ตลอดจนลูกค้าองค์กรของธนาคารในภาคธุรกิจต่าง ๆ เพื่อสร้างความตื่นตัว และพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลไปพร้อมกัน นับเป็นส่วนหนึ่งของความมุ่งมั่นในการร่วมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการเงินของไทย

เกี่ยวกับ ดิจิทัล เวนเจอร์ส (Digital Ventures)

ดิจิทัล เวนเจอร์ส คือบริษัทผู้สร้างสรรค์นวัตกรรมทางการเงินในเครือธนาคารไทยพาณิชย์ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2559 ตามกลยุทธ์ในการก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัล (Digital Transformation) ของทางธนาคารฯ ดิจิทัล เวนเจอร์ส มุ่งมั่นที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมธนาคารผ่านการลงทุน การค้นคว้านวัตกรรม รวมถึงการบ่มเพาะ สนับสนุนให้เกิดระบบนิเวศสำหรับผู้ประกอบการสตาร์ทอัพในประเทศไทย เบื้องต้น ดิจิทัล เวนเจอร์ส มีเงินลงทุนใน Financial Technology จำนวน 1,750 ล้านบาทหรือประมาณ 50 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ข้อมูลเพิ่มเติม www.dv.co.th

ถูกใจบทความนี้  0