CAT จับมือ กฟผ. บูรณาการด้านดิจิทัลและพลังงาน เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) หรือ CAT และ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์  ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. ร่วมลงนามบันทึกความร่วมมือ การบูรณาการด้านดิจิทัลและพลังงานระหว่าง CAT และ กฟผ. ซึ่งถือเป็นกรอบแนวทางในการเสริมสร้างโอกาสและความร่วมมือทางธุรกิจ รวมถึงการพัฒนาโครงการที่มีศักยภาพร่วมกันในอนาคต โดยการเชื่อมโยงและบูรณาการการดําเนินธุรกิจด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อสนับสนุนนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่จะเร่งผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล และเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ 27 เมษายน 2561

 

พันเอก สรรพชัย หุวะนันทน์  กรรมการผู้จัดการใหญ่ CAT เปิดเผยว่า “CAT ได้วางแนวทางดำเนินธุรกิจปี 2561 มุ่งเน้นธุรกิจด้านบริการดิจิทัล (Digital service) มากขึ้น เพื่อยกระดับการแข่งขันขององค์กรให้ทันกับเทคโนโลยีปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และสอดคล้องกับนโยบายการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคดิจิทัล  ซึ่งในการจับมือกับ กฟผ.ครั้งนี้ถือเป็นครั้งสำคัญระหว่างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของประเทศ ที่จะเปิดมิติใหม่ให้กับการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินธุรกิจด้านพลังงาน เทคโนโลยีดิจิทัล และการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศร่วมกัน โดย CAT จะให้การสนับสนุนด้านโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคม และ Big Data ในการทำโครงการ Smart Energy พร้อมกันนี้จะได้ร่วมกันศึกษาและพัฒนาการเชื่อมโยงและบูรณาการการดำเนินธุรกิจโทรคมนาคม และธุรกิจพลังงานไฟฟ้าที่สำคัญๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อผลักดันการพัฒนาอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล รวมทั้งเพิ่มศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศไทยได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมๆ กัน”

 

นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์  ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า จุดมุ่งหมายสำคัญของความร่วมมือในครั้งนี้คือ การนํานวัตกรรมพลังงานไฟฟ้ามายกระดับประสิทธิภาพของระบบพลังงานไฟฟ้าก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศไทย รวมถึงเป็นการเตรียมรองรับการเปลี่ยนแปลงให้ประเทศไทยพร้อมก้าวเข้าสู่ยุคของ “Energy Internet” ประกอบด้วย การศึกษาพัฒนาระบบตอบสนองความต้องการทางไฟฟ้า (Demand Response) เพื่อควบคุมการใช้ไฟฟ้าให้เหมาะกับต้นทุนการผลิตไฟฟ้าในแต่ละช่วงเวลาได้อย่างเหมาะสม โดยผ่านมาตรการต่างๆ เช่น การใช้เครื่องกําเนิดไฟฟ้าสํารอง (Standby Generator) การควบคุมอุณหภูมิปรับอากาศ การควบคุมระบบไฟฟ้าแสงสว่าง การปรับลดโหลดชั่วคราว เป็นต้น ร่วมกับการออกแบบด้านการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานในพื้นที่หรืออาคารให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Energy Efficiency) ในอนาคตอาจพิจารณาการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ (Solar) ระบบกักเก็บพลังงานสำรอง และการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาบริหารจัดการพลังงานภายในพื้นที่แบบครบวงจร ซึ่งจะเห็นได้ว่าการร่วมมือจะเน้นเสริมความมั่นคงด้านไฟฟ้า สนับสนุนการอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างนวัตกรรมด้านการบริหารจัดการพลังงานของประเทศให้ทันสมัยและน่าเชื่อถือ พร้อมรองรับการผลักดันอุตสาหกรรมดิจิทัลใหม่ (New S-Curve Digital Industry) ของประเทศ



ถูกใจบทความนี้  0