ทรูมูฟ เอช ชี้แจงประเด็นขอพิจารณาผ่อนผันการชำระค่างวด เงินประมูลคลื่นความถี่ 900 MHz

ทรูมูฟ เอช ชี้แจงกรณียื่นขอพิจารณาผ่อนผันเงื่อนไขการชำระค่าคลื่นความถี่ 900 MHz ไปยังคสช. มิได้เป็นการขอลดจำนวนเงินค่าประมูลคลื่น  แต่เป็นการขอความช่วยเหลือในการขยายจำนวนงวดชำระสำหรับงวดสุดท้ายที่เป็นเงินก้อนใหญ่ พร้อมจ่ายดอกเบี้ยตามสภาวะต้นทุนการเงินในตลาด และมิได้เป็นการผิดนัดชำระจนต้องคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ ซึ่งไม่ทำให้ภาครัฐเสียประโยชน์ใดๆ   อีกทั้งยังทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมมีกระแสเงินสดที่ดีขึ้น มีเงินทุนหมุนเวียนเพื่อพัฒนาระบบสื่อสารโทรคมนาคมที่จะมีความจำเป็นในอนาคต อาทิ  เทคโนโลยี 5G และ IoT ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศต่อไป  

 

นายสฤษดิ์ จิณสิทธิ์ หัวหน้าคณะผู้บริหาร ด้านรัฐกิจสัมพันธ์ บมจ.ทรู  คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ตามที่ผู้ประกอบการโทรคมนาคมผู้ได้รับใบอนุญาต 900 MHz ได้ยื่นหนังสือถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ขอพิจารณาผ่อนผันการชำระค่าเงินประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz  งวดสุดท้ายในปี 2563 ออกไปเป็น 7 งวด โดยไม่มีดอกเบี้ย ตั้งแต่ เดือนกันยายน 2560  ซึ่ง คสช. ได้ส่งให้ กสทช. พิจารณาเหตุผลและความจำเป็นต่ออุตสาหกรรมอย่างรอบด้าน และ กสทช. ได้พิจารณาเสนอกลับไปยัง คสช. ให้ขยายออกไปเพียง 5 งวด พร้อมให้ชำระดอกเบี้ยนโยบายซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยกลางที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ประมาณ 1.5%) นั้น    นับว่าเป็นข้อเสนอมาตรการผ่อนผันที่เพียงพอที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการโทรคมนาคม  เช่นเดียวกับอุตสาหกรรมทีวีดิจิตอล ที่ได้รับการพิจารณามาตรการผ่อนผันการชำระเงินประมูลทีวีดิจิตอลเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2559  ซึ่งผู้ประกอบการทั้ง 2 อุตสาหกรรมเป็นผู้ที่ได้ใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นความถี่จากกสทช. เช่นเดียวกัน จึงควรได้รับการพิจารณาในหลักการเดียวกัน

 

สำหรับการยื่นขอพิจารณาผ่อนผันการชำระค่างวดเงินประมูลดังกล่าว ขอชี้แจงว่า ไม่ได้เป็นการขอลดจำนวนเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ที่ต้องชำระให้แก่รัฐแต่อย่างใด แต่เป็นการขอความช่วยเหลือเพื่อขยายจำนวนงวดชำระงวดสุดท้าย  และพร้อมที่จะชำระดอกเบี้ยนโยบายที่รัฐกำหนด  ซึ่งไม่ได้ทำให้รัฐเสียประโยชน์   ขณะเดียวกัน บริษัทยังคงปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช.กำหนดไว้เดิม โดยได้มีหลักประกันธนาคารให้แก่ กสทช. ครบถ้วนตามมูลค่าคลื่นที่ต้องชำระ  ดังนั้น การขอแบ่งชำระของบริษัท จึงไม่ได้เป็นการผิดนัดการชำระ จนต้องคำนวณเป็นอัตราดอกเบี้ยค่าปรับ (15%) หรือทำให้รัฐเสียประโยชน์จากการผิดนัด    นอกจากนี้ หากบริษัทต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาชำระค่าคลื่นดังกล่าว ภาระทางการเงินในส่วนดอกเบี้ยจากการกู้เงิน จะอยู่ประมาณ 3-4% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (1.5%) ไม่ได้เป็นตัวเลขความเสียหายของรัฐจำนวนสูงตามที่มีการกล่าวอ้างแต่อย่างใด

 

นายสฤษดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากคสช. มีข้อสรุปไม่ให้ขยายระยะเวลาการชำระค่างวดเงินประมูลคลื่นความถี่  บริษัท ฯ ก็เคารพในการตัดสินใจของ คสช.    แต่หาก คสช. มีข้อสรุปให้ผ่อนผันการชำระหนี้พร้อมเงื่อนไขจ่ายดอกเบี้ยให้กับรัฐด้วยนั้น ก็จะทำให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคม มีกระแสเงินสดหมุนเวียนเพิ่มขึ้นในการลงทุนขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมและการลงทุนด้านเทคโนโลยี 5G และ IoT ที่สำคัญต่ออุตสาหกรรมได้อย่างต่อเนื่อง   อันจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและการพัฒนาประเทศในอนาคตต่อไป



ถูกใจบทความนี้  33