ดีแทคยื่นประมูลคลื่น 1800 MHz ไม่ร่วมประมูลคลื่น 900 MHz มุ่งเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่าย 4G และให้บริการ 2G อย่างต่อเนื่องเพื่อลูกค้าหลายล้านราย

8 สิงหาคม 2561 – บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เผยคณะกรรมการบริษัทมีมติเห็นชอบยื่นคำขอเพื่อเข้าร่วมประมูลใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz เพื่อให้บริการโทรคมนาคมต่อสำนักงาน กสทช. แต่ไม่เข้าร่วมประมูลคลื่น 900 MHz

  39

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคได้พิจารณากฎเกณฑ์การประมูลอย่างถี่ถ้วนและมีผลสรุปจะที่ยื่นเอกสารเพื่อเข้าร่วมประมูลและเพื่อขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 1800 MHz หลังจากที่ กสทช ได้ประกาศปรับเงื่อนไขกฎเกณฑ์การประมูลคลื่น 1800 MHz ให้มีความยืดหยุ่นสำหรับผู้เข้าประมูล และยังช่วยส่งเสริมการแข่งขันในการประมูลด้วย ดีแทคมีความพยายามที่จะจัดหาคลื่นความถี่ 1800 MHz มาใช้งานเพื่อให้บริการลูกค้าอย่างต่อเนื่อง พร้อมกันนี้ ดีแทคยังได้เตรียมมาตรการต่างๆ รวมถึง การบังคับใช้แผนความคุ้มครองลูกค้าในช่วงหลังสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน ดีแทคไม่เพียงแต่มีแผนที่จะนำคลื่น 1800 MHz ที่เราตัดสินใจเข้าประมูลครั้งนี้มาใช้ให้บริการ 2G อย่างต่อเนื่องเพื่อรองรับฐานลูกค้าที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังมุ่งมั่นที่จะนำคลื่นความถี่ดังกล่าวมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายบริการ 4G ตอบสนองความต้องการการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็ว”

ทั้งนี้ ดีแทคประกาศไม่เข้าร่วมการประมูลและจะไม่ยื่นคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ซึ่งก่อนหน้านี้ คณะผู้บริหารได้เคยชี้แจงเกี่ยวกับข้อกังวลในเงื่อนไขที่ระบุเพิ่มในประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ (IM) อันจะส่งผลต่อความเสี่ยงในการดำเนินงานและความไม่แน่นอนด้านงบประมาณค่าใช้จ่ายของผู้ชนะประมูลโดยประกาศหลักเกณฑ์การประมูลคลื่นความถี่ดังกล่าวที่ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม ระบุให้ผู้ชนะการประมูลใบอนุญาตคลื่น 900 MHz จะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนกันของคลื่นความถี่และการรบกวนระบบอาณัติสัญญาณของระบบคมนาคมขนส่งทางรางทั้งหมดที่จะสร้างขึ้นต่อไปในอนาคตแต่เพียงผู้เดียว นอกจากนั้น กสทช. ยังขอสงวนสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนการใช้คลื่นความถี่เป็นช่วง 885-890/930-935 MHz ในกรณีที่จำเป็น โดยผู้ชนะการประมูลจะต้องมีหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการป้องกันการรบกวนคลื่นความถี่ ซึ่งในกรณีจะต้องติดตั้งวงจรกรองสัญญาณ (filter)  ณ สถานีฐานของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz เพิ่มเติมจากที่ต้องดำเนินการในกรณีแรก ทำให้เกิดผลกระทบต่อความเสี่ยงและความไม่แน่นอนในการดำเนินงานของผู้ชนะใบอนุญาตคลื่น 900 MHz

“ดีแทคยังคงเดินหน้าเจรจากับ กสทช เรื่องมาตรการคุ้มครองลูกค้าใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ร่วมกัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการใช้งานของลูกค้าดีแทค หลังจากสิ้นสุดสัมปทานระหว่างดีแทค และ CAT ในวันที่ 15 กันยายน 2561  ดีแทคได้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช อย่างเคร่งครัดที่จะให้บริการอย่างต่อเนื่องสำหรับลูกค้าจำนวนมากที่ยังคงใช้งานอยู่บนคลื่น 850 MHz และ 1800 MHz เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของลูกค้า โดยถือเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างดีแทค และ กสทช ที่จะดำเนินตามแผนคุ้มครองลูกค้า ตามที่ กสทช ได้เคยดำเนินการร่วมกับผู้ให้บริการรายอื่นในช่วงสิ้นสุดสัมปทานที่ผ่านมา โดยตามหลักการนั้น มาตรการคุ้มครองลูกค้าให้ใช้งานบนคลื่นความถี่จะมีผลอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีการจัดสรรคลื่นให้ผู้บริการรายใหม่” นายลาร์ส กล่าว

ข่าวเกี่ยวข้อง

ดีแทคชี้เงื่อนไขการประมูลคลื่น 900 MHz มีความเสี่ยงต่อผู้ชนะประมูลและอุตสาหกรรมโทรคมนาคมระยะยาว

http://www.dtac.co.th/blog/newsroom/900-mhz.html

ถูกใจบทความนี้  1