เมกเกอร์ตบเท้าโชว์ผลงานสิ่งประดิษฐ์สุดสร้างสรรค์ในงาน ‘Maker Faire Bangkok 2019’

มหกรรมแสดงสิ่งประดิษฐ์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็นเมกเกอร์เนชั่น

กรุงเทพฯ (22 มกราคม 2562) – ปิดฉากอย่างสวยงามกับงาน Maker Faire Bangkok 2019: WE ARE ALL MAKERS ปล่อยพลังเมกเกอร์ในตัวคุณ” มหกรรมแสดงผลงานสิ่งประดิษฐ์ของสุดยอดเมกเกอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่จัดโดย บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมกับ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วยหน่วยงานพันธมิตร และกลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย โดยงานนี้   เมกเกอร์จากประเทศไทยและนานาประเทศต่างยกขบวนผลงานสิ่งประดิษฐ์มาอวดกันเต็มความจุพื้นที่กว่า 70 บูธ พร้อมกิจกรรมเวิร์กช็อป DIY สร้างความน่าตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้เข้าร่วมงานตลอด 2 วันจำนวนกว่า 7,000 คนที่ได้สัมผัสวัฒนธรรมเมกเกอร์และได้รับการจุดประกายความสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์และสานต่อความสำเร็จของงานเมกเกอร์แฟร์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นมาเป็น “เมกเกอร์เนชั่น” หรือประเทศแห่งนักพัฒนาที่ขับเคลื่อนด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ตามยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยงานนี้จัดขึ้นเมื่อวันที่ 19 และ 20 มกราคม 2562 ณ ลานหน้าศูนย์การค้าเดอะสตรีท รัชดา

กิจกรรมภายในงาน Maker Faire Bangkok 2019 มีทั้งการสาธิตผลงานบนเวทีกลางและลานกิจกรรม กิจกรรมเสวนา รวมทั้งการแสดงผลงานของเมกเกอร์ชาวไทยและต่างประเทศที่สร้างความน่าสนใจและตื่นตาตื่นใจให้แก่ผู้ร่วมงาน อาทิ รถไฟฟ้าหลายรูปแบบที่ใช้พลังงานสะอาดจากแบตเตอรี่ของขยะอิเล็กทรอนิกส์ หุ่นยนต์กระดาษที่เคลื่อนที่หรือใช้เครื่องดนตรีด้วยการเคลื่อนที่จากพลังงานลม หุ่นยนต์เพื่อการเกษตรที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการพรวนดิน รดน้ำ และใส่ปุ๋ย เครื่องดนตรีจากไก่โอ๊กที่สามารถเล่นประกอบวงดนตรีได้ งานศิลปะเครื่องแต่งกายคอสเพลย์ที่ทำจากวัสดุโฟมยางและผ้าหนังที่แปลงกายผู้สวมใส่เป็นตัวละครในจินตนาการได้อย่างสมจริง นอกจากนี้ ยังมีขบวนอิเลคทริคพาเหรดที่มาในธีมกลองยาวเป็นครั้งแรก ที่สร้างความบันเทิงให้กับผู้เข้าร่วมงาน พร้อมด้วยกิจกรรมเวิร์กช็อป DIY ที่น่าสนใจมากมาย อาทิ การใช้งานซอฟท์แวร์, ตุ๊กตาไขลาน, หุ่นยนต์แปรงสีฟัน เป็นต้น งานเมกเกอร์แฟร์ในปีนี้ถูกจัดขึ้นด้วยแนวคิดในการรณรงค์ลดการใช้วัสดุพลาสติกและกระดาษ การผลิตสิ่งของด้วยวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนถึงพื้นที่การจัดงานในลานกว้างเพื่อใช้พลังงานแสดงจากธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังมีการประกาศผลและมอบรางวัลให้แก่ผู้ชนะเลิศผลงานนวัตกรรมเพื่อโลกสีเขียวของนักเรียนสายสามัญและอาชีวะ โครงการ Enjoy Science: Young Makers Contest ปีที่ 3 โดยผู้ชนะเลิศสายสามัญคือ ผลงานหุ่นยนต์ขจัดคราบสกปรกบนผิวน้ำ จากโรงเรียนสตรีพัทลุง      ผู้ชนะเลิศสายอาชีวะคือ ผลงาน Clean Oyster จากวิทยาลัยเทคนิคสุราษฎ์ธานี โดยผู้ชนะเลิศจะได้ไปร่วมงาน Maker Faire Bay Area ณ เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อแสดงผลงานและกระทบไหล่เมกเกอร์ระดับนานาชาติเพื่อจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ต่อไป

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้กล่าวว่า “เป็นที่ยอมรับว่า ‘เมกเกอร์’ หรือนักสร้างสรรค์นวัตกรรม เป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาของประเทศ ผลงานของเมกเกอร์สามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นบ่อเกิดของนวัตกรรมใหม่ๆ ที่สามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของคนในสังคมให้ดีขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจมหาศาล ประเทศต่างๆ  จึงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนวัฒนธรรมเมกเกอร์ รวมถึงประเทศไทย โดยกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ประกาศวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่การเป็น ‘เมกเกอร์เนชั่น’ หรือ ‘เมืองแห่งนักพัฒนา’ ซึ่งเชฟรอนยินดีที่ได้มีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนวิสัยทัศน์นี้ โดยร่วมกับ สวทช. องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) กลุ่มเมกเกอร์ในประเทศไทย และองค์กรพันธมิตร ภายใต้โครงการ ‘Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต’ ส่งเสริมการพัฒนาของวัฒนธรรม    เมกเกอร์ในสังคมไทยผ่านกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดงานเมกเกอร์แฟร์ เพื่อเป็นเวทีให้เมกเกอร์ได้แสดงผลงานและแนะนำวัฒนธรรมเมกเกอร์ให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง และได้กลายเป็นงานเมกเกอร์แฟร์ที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของเมกเกอร์เยาวชนสายสามัญและอาชีพ Young Makers Contest ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่สามติดต่อกัน โดยมีเยาวชนส่งผลงานเข้าร่วมประกวดเพิ่มมากขึ้นทุกปี นอกจากนั้นผลงานที่ส่งเข้าประกวดจำนวนไม่น้อยยังมีศักยภาพสามารถนำไปผลิตและสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้จริง สะท้อนให้เห็นว่าเยาวชนไทยมีศักยภาพในการสร้างสรรค์ หรือมีความเป็นเมกเกอร์อยู่ในตัวสูงมาก นับเป็นเรื่องน่ายินดียิ่ง”

 ###

 เกี่ยวกับโครงการ ”Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต”

โครงการระยะยาว 5 ปี ด้วยงบประมาณรวมกว่า 1,000 ล้านบาท ที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ริเริ่มขึ้นในปี 2558 เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันให้กับประเทศไทย ผ่านการศึกษาในสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม (STEM) รวมถึงการศึกษาสายอาชีพหรืออาชีวศึกษาครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ โดยร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ การศึกษา สังคม และเอกชนที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย สํานักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.), สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.), สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.), สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.), สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), และกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยมีสถาบันคีนันแห่งเอเซียเป็นผู้ดูแลโครงการ

ถูกใจบทความนี้  1