ดีแทคพร้อมเดินหน้าสร้างการเติบโตในอนาคต ด้วยความร่วมมือกับ บมจ.ทีโอที ในการให้บริการไร้สายบนคลื่น 2300 MHz พร้อมทั้งการชนะการประมูลคลื่น 1800MHz และ 900 MHz ในปีที่แล้ว และคลื่น 2100 MHz ที่มีอยู่แล้ว ทำให้ปัจจุบันดีแทคมีจำนวนคลื่นความถี่ที่แข็งแกร่งและสามารถแข่งขันกับผู้ให้บริการรายอื่นได้ คลื่นความถี่ในระบบสัมปทานของดีแทคได้สิ้นสุดลงโดยสมบูรณ์ หลังการเยียวยาได้สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา นอกจากนี้ ดีแทคยังมีแบนด์วิดท์สำหรับดาวน์ลิงก์ที่กว้างที่สุดในตลาด สัญญาเช่าที่ตกลงกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม หรือ CAT ทำให้ดีแทคสามารถเข้าใช้เสาสัญญาณ และโครงสร้างพื้นฐานสำหรับโครงข่ายได้ในระยะยาว นอกจากนี้ การลงทุนขยายโครงข่าย 2100 MHz และการให้บริการบนคลื่น 2300 MHz ที่โรมมิ่งกับ บมจ. ทีโอที ได้ช่วยเพิ่มพื้นที่ครอบคลุมการให้บริการ และความจุของโครงข่าย และยังช่วยปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของลูกค้าอีกด้วย สิ่งเหล่านี้ช่วยลดความไม่แน่นอนของการดำเนินธุรกิจ และยังเป็นรากฐานที่มั่นคงสำหรับดีแทคในการกลับมาเติบโตในปี 2562
นอกเหนือจากนี้ ความเสี่ยงทางกฎหมายของดีแทคที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงสัมปทานได้ลดลงอย่างมากจากการบรรลุข้อตกลงในการระงับข้อพิพาทที่กำลังรอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นในการประชุมสามัญประจำปีซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 4 เมษายน 2562
ณ สิ้นสุดปี 2561 จำนวนฐานลูกค้าอยู่ที่ 21.2 ล้านราย ซึ่งทั้งหมดได้ลงทะเบียนภายใต้ดีแทค ไตรเน็ต (DTN) ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตให้บริการคลื่นความถี่ 2100 MHz 1800 MHz และ 900 MHz นอกเหนือจากนั้น การให้บริการดีแทค เทอร์โบ ‘dtac Turbo’ ได้คืบหน้ากว่าแผนที่วางไว้ โดยในปี 2561 มีจำนวนสถานีฐานที่ติดตั้งเสร็จสมบูรณ์แล้วประมาณ 12,700 สถานี การพัฒนาโครงข่าย 2100 MHz ยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเพิ่มพื้นที่การครอบคลุมสัญญาณ และความจุของโครงข่าย โดยโครงข่ายโดยรวมของดีแทคสามารถครอบคลุม 94% ของจำนวนประชากรทั่วประเทศ
ตัวเลขผลประกอบการที่สำคัญสอดคล้องกับการคาดการณ์ผลประกอบการรายปี โดยรายได้จากการให้บริการไม่รวม IC สำหรับปี 2561 ลดลง 2.8% ขณะที่ EBITDA margin และCAPEX อยู่ที่ 37.9% และ 1.95 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ การลดลงของรายได้จากการให้บริการมีผลมาจากความไม่แน่นอนในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการสิ้นสุดระบบสัมปทาน การลดลงของรายได้จากบริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศ (IDD) การจัดระเบียบการให้บริการ CPA เพื่อปรับปรุงประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า และจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง นอกจากนี้ EBITDA (ก่อนรายการอื่นๆ) ลดลง 6.7% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผลมาจาก OPEX ของโครงข่ายที่เพิ่มมากขึ้นจากการขยายโครงข่าย และการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างต้นทุนหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน อาทิเช่น ค่าโรมมิ่งของโครงข่าย 2300 MHz ที่ทำกับทีโอที ค่ามาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการ เป็นการชั่วคราวระหว่างวันที่ 16 กันยายน ถึง 15 ธันวาคม 2561 และค่าเช่าเสาสัญญาณ และโครงสร้างโครงข่ายพื้นฐานจาก บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยค่าใช้จ่ายเหล่านี้บางส่วนได้ถูกชดเชย จากการลดลงของค่าใช้จ่ายในการขาย การตลาด และการบริหารงานทั่วไป
จากผลของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวจากการบรรลุข้อตกลงระงับข้อพิพาทกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม จำนวน 9.5 พันล้านบาท ได้ถูกชดเชยบางส่วนจากค่าใช้จ่ายจากการเสื่อมราคาและการตัดจำหน่ายที่ลดลงหลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ทำให้ผลประกอบการประจำปี 2561 มีผลขาดทุนจำนวน 4.4 พันล้านบาท อย่างไรก็ตาม กระแสเงินสดจากการดำเนินการ(EBITDA – CAPEX) ยังคงแข็งแกร่งโดยมีจำนวนอยู่ที่ 8.9 พันล้านบาทท่ามกลางการลงทุนอย่างมากในโครงข่าย นอกจากนี้ ฐานะทางการเงินยังคงแข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อ EBITDA ที่ 1.2x และมีเงินสดอยู่ที่ 1.41 หมื่นล้านบาท
ดีแทควางแผน CAPEX ในปี 2562 ไว้ที่ 1.3 – 1.5 หมื่นล้านบาท
นางอเล็กซานดรา ไรช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ด้วยระบบสัมปทานที่สิ้นสุดลง และปีประวัติศาสตร์แห่งการลงทุนด้านโครงข่ายในการขยายพื้นที่การครอบคลุมสัญญาณ และความจุของโครงข่ายทั้งบนคลื่น 2100 MHz และ 2300 MHz ที่ผ่านมา เราได้วางรากฐานที่ดีสำหรับการเติบโตในอนาคต และมีความมุ่งมั่นที่จะกลับไปสู่การเติบโตในปี 2562 โดยยังคงมุ่งเน้นไปที่ประสิทธิภาพในการดำเนินงาน เราจะทำการปรับปรุงโครงข่าย และประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ดีแทคอย่างต่อเนื่อง”
นายดิลิป ปาล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการเงินของดีแทค กล่าวว่า “โครงสร้างต้นทุนของดีแทคได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ หลังการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ซึ่งหนึ่งในนั้นเป็นค่าใช้จ่ายชั่วคราว นั่นคือค่าใช้จ่ายจากมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเป็นการชั่วคราว ระหว่างวันที่ 16 กันยายน ถึง 15 ธันวาคม 2561 ค่าธรรมเนียมและต้นทุนการดำเนินงานRegulatory costs ได้ลดลงอย่างมากเนื่องจากการที่ไม่ต้องจ่ายค่าส่วนแบ่งรายได้ให้กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม อีกต่อไป นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการโรมมิ่งโครงข่ายบนคลื่น 2300 MHzของบมจ.ทีโอที และค่าเช่าเสาสัญญาณ และโครงสร้างโครงข่ายพื้นฐานจาก CAT ได้เริ่มต้นในเดือนเมษายน และกันยายน 2561 ตามลำดับ ค่าตัดจำหน่ายของสิทธิในการใช้ทรัพย์สินภายใต้สัมปทานได้สิ้นสุดลงแล้วเช่นกันนับจากเดือนกันยายน 2561 แต่บางส่วนได้ถูกแทนที่ด้วยค่าตัดจำหน่ายของใบอนุญาตคลื่น 1800 MHz และ 900 MHz ในเดือนธันวาคม 2561 การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มีผลเล็กน้อยต่อผลการดำเนินงานของดีแทคในปี 2561 และจะมีผลเต็มที่ในปี 2562 นี้ นอกเหนือจากนั้น เราต้องการเวลาในการประเมินศักยภาพสำหรับการกลับไปเติบโตอีกครั้งในปี 2562 และเราจะให้รายละเอียดการคาดการณ์ผลประกอบการสำหรับปี 2562 ในไตรมาสที่สองของปีนี้”
You must be logged in to post a comment.