ทักทาย วันศุกร์ วันสุข – ใครก๊อปใครกันแน่?

ปัจจุบันเรื่อง Smartphone มีการพัฒนามาเยอะแล้วนะครับ นั่นสิ ใครเป็นออริจินอลกันแน่? จนถึงปัจจุบันมี หัวข้อใหญ่ที่ยังอยู่ในความสนใจของกระแสโลก ก็คือ Huawei และสหรัฐอเมริกา จนมีหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์นึงที่น่าสนใจก็คือ จีนนักก๊อป หรือใครว่าไม่จริง? แล้วอเมริกาไม่เคยก๊อปใครเลย? ก็ไม่ใช่ แล้วใครเลวกว่าใคร? ประเด็นแตกออกไปหลากหลายแง่มุมมาก แต่ถ้าหากเป็นเรื่องก๊อปปี้ อย่างที่เห็นที่ผ่านมา เรามักจะเห็นคำว่า ก๊อปปี้แล้วพัฒนาต่อ จริงๆ ไม่ใช่แต่วงการ Smartphone ทุกวงการก็เป็นทั้งนั้น กลับมาที่การก๊อปปี้ มักจะนำไปสื่อความหมายในด้านลบ ซึ่งการก๊อปปี้ก็คือการทำซ้ำนั่นล่ะครับ ก๊อปไปใช้ส่วนตัวก็คงไม่เท่าไหร่ แต่ในด้านธุรกิจแล้ว ถือว่าเป็นการเอาเปรียบผู้คิดค้น แต่ถามว่าผู้คิดค้นจะไม่ได้ก๊อปปี้ไอเดียใครมาเพื่อตั้งต้นเลยใช่ไหม? เริ่มมาจากศูนย์เลยหรือเปล่า? เอาจริงๆ ก็ไม่ใช่ ผมว่าจริงๆ คือธรรมชาติของมนุษย์เลยล่ะ ถึงมีการพัฒนาสิ่งต่างๆ มาได้ถึงปัจจุบัน มีการนำไอเดียต่างๆ มาต่อยอด และพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ ไม่มีวันหมด ทั้งๆ ที่บางครั้งเราคิดแล้วว่า ไอ้หลอดไฟที่ โทมัน อัลวา เอดิสันคิดค้นมาแล้วนั้น สุดยอดได้ใช้งานกันทั้งโลก แต่จะรู้ไหมว่า วันนี้หลอดไฟมันเป็นมากกว่าหลอดไฟ มันดันปล่อย WiFi ได้ และคนเอามาทำธุรกิจค้ากำไรล่ะ ต้องยังไง โดนหาว่าก๊อปปี้แล้วเอามาพัฒนาต่อหรือเปล่า? จริงๆ ประเด็นมันคงมีรายละเอียดปลีกย่อยมากมาย ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์มากกว่า เช่นก๊อปปี้มาแล้วแจกจ่ายต่อทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย ส่วนใหญ่ก็ทางธุรกิจนี่ล่ะครับ ทำให้ธุรกิจทั้งหมดในสินค้านั้นๆ ไปไม่รอด ไม่มีการพัฒนาต่อ อันนี้ต่างหากที่น่าเป็นห่วง แต่การเกิดการแข่งขันนั้นเป็นเรื่องปกติ และทำให้เกิดการพัฒนาต่อยอดนั่นเอง แต่ไม่ใช่ก๊อปปี้ source code มาทั้งดุ้น เปลี่ยนแต่คำสั่งบางบรรทัด หรือแค่บางคำสั่ง อันนี้มันก็น่าเกลียดเกินไปหน่อย (ใครอยู่วงการอุปกรณ์เน็ตเวิร์กในช่วงที่ผ่านมาน่าจะรู้ถึงความหมาย) เอาเป็นว่าจนตอนนี้โลกมันพัฒนาก้าวมามาก และจะยิ่งมากขึ้นไปอีก ลองอ่านความคิดเห็นนี้เรื่องสิทธิบัตรดูนะครับ คิดว่าน่าจะได้อีกแง่มุมของการก๊อปปี้ ฝากไปคิดกันต่อ

ที่ถกเถียงกันอยู่มันคือเรื่องของ “สิทธิบัตร”
สิทธิบัตรคุ้มครองผู้ที่คิดค้นได้เจ้าแรก ห้ามคนอื่นก๊อปปี้ไปขายเชิงพาณิชย์
แต่การคุ้มครองมีระยะเวลาจำกัด เมื่อใดที่พ้นกำหนด สิ่งๆนั้นทุกคนสามารถก๊อปปี้ไปขาย

หัวใจของสิทธิบัตร
เจ้าแรกที่คิดค้นได้ ต้องเปิดเผยวิธีการสร้าง ให้สาธารณชนได้รับรู้ว่าประดิษฐ์ยังไง แตกต่างจากคนอื่นยังไง
เช่นเรื่อง Face ID ของ iPhone คนทั่วไปสามารถค้นข้อมูลได้  http://bit.ly/2ETrItK ถ้าคุณมีความสามารถมากพอคุณก็ประดิษฐ์มันได้
แต่ถ้าดูแล้วไม่คุ้มคุณก็ซื้อสิทธิของเขามาแล้วมาประกอบเข้ากับชิ้นงานของคุณเป็นสินค้าตัวใหม่ เห็นไหมครับกลไกการค้าเริ่มมา

ทำไมต้องเปิดเผยต่อสาธารณชน >>> เพราะหัวใจของเขาคือ การพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ เน้นนะครับว่าเขาต้องการให้มีการแข่งขันกัน พัฒนาสิ่งประดิษฐ์หรือกรรมวิธีใหม่ๆ ต้องการให้เกิดการต่อยอดเทคโนโลยี
ลองดูมือถือโบราณกับปัจจุบันสิครับ โลกเรามาไกลแค่ไหน จากอันเท่าท่อนไม้ จนปัจจุบันสามารถยัดกระเป๋าเสื้อได้
แต่กลับกันถ้าคนที่คิดค้นได้ แต่เก็บมันไว้ในลิ้นชัก โลกเราไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยครับ มันจะตายไปเงียบๆพร้อมกับคนที่สร้างมัน

เกิดอะไรเมื่อมีการเปิดเเผยแล้ว
1. เกิดการนับเวลาถอยหลังของผู้ประดิษฐ์เจ้าแรก ในการกอบโกยผลประโยชน์
2. เกิดสิทธิให้เจ้าแรกไปฟ้องเรียกค่าเสียหายคนที่ก๊อปปี้โดยไม่ได้ความยินยอม (พวกก๊อปปี้ 100%)
3. เกิดการก๊อบปี้งานเดิม แล้วเพิ่มสิ่งใหม่เข้าไปอีก การเพิ่มเติมสิ่งใหม่นั้นต้องสูงกว่าเทคนิคเดิมๆ ถึงจะได้รับการยอมรับและสินค้าใหม่สามารไปจดสิทธิบัติได้  แต่ไม่ใช่เติมแต่งแบบกะโหลกกะลานะครับ ข้อนี้ละครับสำคัญ เกิดสินค้าตัวใหม่ๆ

เราควรทำตัวยังไง
เอาที่สบายใจครับ ผมเพิ่งไปซื้อยาลดน้ำมูกมา เขาหยิบกล่องราคา 125 บาท มาให้ ผมขอแบบราคาถูก เขาก็เปลี่ยนไปหยิบกล่อง 30 บาท มาให้
ยาถือว่าเป็นสินค้าที่จดสิทธิบัตรได้อย่างนึง ถ้าวันนึงเราป่วย ในโลกนี้มีประเทศเดียวที่สามารถคิดค้นได้ แต่ขายเม็ดละ 1 ล้านบาท
คงมีคนหลายคนที่นอนรอความตายเพราะไม่มีเงินซื้อ  คนรวยเท่านั้นที่เข้าถึง และไม่มีใครกล้าก๊อปปี้เลยเพราะกลัวผิดกฎหมาย
ในขณะเดียวกันนักผลิตยารู้แล้วว่าส่วนผสมมีอะไรบ้างแต่ผลิตไม่ได้
คุณลองชั่งน้ำหนักดูครับว่าเราในฐานะมนุษย์ ควรมองเรื่องนี้ยังไง

เพราะฉะนั้นการก๊อปปี้ไม่ใช่ผู้ร้าย 100% ครับ มันมีกลไกของมันอยู่

จาก user เจ้าชายรองเท้าแตะ 655@pantip.com

ก็ตามนั้นเลยล่ะครับ ถ้าเราอยู่ในฐานะผู้บริโภค ก็เลือกใช้สิ่งที่คิดว่าดีที่สุด คุ้มที่สุด เหมาะที่สุดกับตัวเองก็แล้วกัน ส่วนเรื่องธุรกิจ การค้า เค้าก็ว่ากันไปตามกฎต่างๆ มันเป็นเรื่องของผลประโยชน์เสียมากกว่าซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้ว เค้าก็ไม่ได้นึกถึงผู้บริโภคสักเท่าไหร่ นึกถึงผลประโยชน์ของตัวเองมาก่อนเสมอ ส่วนผู้บริโภคมักจะเป็นทางเลือกที่หาวิธีแก้ปัญหากันต่อไป สำหรับเคสล่าสุด ไม่ว่าจะเป็นทางฝั่งไหนก็เหมือนกัน กระทบผู้ใช้งานอย่างแน่นอน เพียงแต่ว่าจะมากน้อยแค่ไหน ยังไง และเราจะเลือกทางไหนแค่นั้นเอง ดังนั้นใครก๊อปใครกันแน่ อันนี้ไม่มีคำตอบที่แน่ชัดหรอกครับ



ถูกใจบทความนี้  1