ดีแทคเสนอประเด็น กสทช. พิจารณาช่วงประมูลรอคลื่น 3500 MHz เพื่อใช้งาน 5G มีประสิทธิภาพ


2 ธันวาคม 2562 – ดีแทคพร้อมเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz เตรียมชูข้อเสนอต่อ กสทช. ในการประมูลคลื่นความถี่ที่จะจัดขึ้นเดือนกุมภาพันธ์ 2563

นายมาร์คุส แอดอัคทูสเซ่น รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มกิจการองค์กร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “การประมูลคลื่นความถี่ที่ถูกออกแบบมาอย่างเหมาะสม และจัดขึ้นตามกรอบเวลาอันสมควร จะทำให้ประเทศไทยก้าวสู่การให้บริการ 5G อย่างมีประสิทธิภาพ ดีแทคสนับสนุนการประมูลคลื่นแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน (Multiband auction) แต่เสนอให้ปรับช่วงเวลาที่เหมาะสมเพื่อนำคลื่น 3500 MHz มาร่วมประมูล ผู้ประกอบการจะสามารถนำมาวางแผนเพื่อประโยชน์ในการให้บริการได้สูงสุด และเพื่อพัฒนาการสื่อสารไทยเข้าสู่ 5G และต่อยอดการให้บริการอย่างยั่งยืน”

ทั้งนี้ ในการเข้ารับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ ย่าน 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz  ดีแทคจะยื่นข้อเสนอแนะต่อสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. เพื่อปูทาง 5G ไทยให้ยั่งยืนใน 3 ประเด็นดังต่อไปนี้

  1. การจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อนำออกประมูล

l กำหนดห้วงเวลาการประมูลใหม่ เพื่อรอความชัดเจนคลื่นความถี่ย่าน 3500 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี 5G

ดีแทคเห็นด้วยอย่างยิ่งต่อการประมูลแบบหลายย่านความถี่พร้อมกัน (Multiband auction) อย่างไรก็ตาม ควรมีการกำหนดห้วงเวลาในการประมูลใหม่ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz มาจัดสรรในการประมูลครั้งนี้ได้ ซึ่งจะทำให้ผู้เข้าประมูลได้รับประสิทธิภาพสูงสุดในเชิงเทคโนโลยีจากการประมูล 5G

ในทางเทคนิค คลื่นความถี่ย่าน 2600 และ 3500 เมกะเฮิรตซ์มีคุณสมบัติที่ทดแทนกันได้ และในหลักปฏิบัติสากล จะมีการนำคลื่นย่านความถี่กลาง (Mid-band) ทั้งสองย่านดังกล่าวมาจัดสรรพร้อมกัน เพื่อป้องกันในกรณีที่เผชิญความขาดแคลนของจำนวนคลื่น ดังนั้น คลื่นความถี่ย่าน 3500 MHz จึงเป็นตัวแปรสำคัญของผู้เข้าประมูลในการพิจารณา เพื่อนำไปพัฒนาในเชิงเทคโนโลยีสำหรับ 5G ในจังหวะเวลาที่ถูกต้อง\

l กำหนดเพดานการถือครองจำนวนคลื่น 2600 MHz เพื่อประโยชน์ต่อทุกฝ่าย

ในการประมูลเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ที่มีการกำหนดการถือครอง 190 MHz ดีแทคเห็นว่าควรมีการกำหนดเพดานในการถือครองเพื่อป้องกันการบิดเบือนของตลาดและกระจายการถือครองของผู้ให้บริการ อันจะทำให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยี 5G อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ กสทช. อาจพิจารณาออกหลักเกณฑ์การถือครองจำนวนคลื่นจากจำนวนผู้เข้าประมูล ตัวอย่างเช่น เพดานการถือครองที่ 60 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูลมากกว่า 3 ราย, 80 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 3 ราย และ 100 MHz สำหรับการประมูลที่มีผู้เข้าร่วมประมูล 2 ราย

l ความชัดเจนในการจัดการการรบกวนของคลื่นความถี่  (โดยเฉพาะอย่างยิ่งคลื่น 2600 MHz)

ปัจจุบัน พบว่าคลื่น 2600 MHz มีการใช้งานอยู่ 20 MHz ดังนั้น กสทช. จึงควรให้ความชัดเจนถึงแนวทางในการจัดการถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการรบกวนกันของคลื่นความถี่และข้อกำหนดในการใช้งาน เพื่อให้ผู้เข้าประมาณสามารถประเมินมูลค่าที่เหมาะสมในการลงทุน

  1. การกำหนดราคาคลื่นความถี่

l การกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความถี่ที่สูงเกินไป

จากร่างประกาศการประมูล กำหนดให้คลื่น 2600 MHz มีราคาเริ่มต้นที่ 1,862 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต (10 MHz) ซึ่งเป็นราคาสูงกว่าค่ากลางของสากล ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการลงทุนต่อเนื่อง โดยเฉพาะการขยายโครงข่าย ขณะที่คลื่น 1800 MHz ซึ่งมีราคาเริ่มต้นการประมูลที่ 12,486 ล้านบาทต่อ 1 ใบอนุญาต มีราคาสูงกว่าราคาสุดท้ายในการประมูลของประเทศอื่นๆ หลายเท่าตัว ซึ่งอาจทำให้เกิดความล้มเหลวในการประมูลได้ โดยข้อมูลจากสมาคมจีเอสเอ็ม ระบุว่า ราคาเริ่มต้นการประมูลคลื่น 1800 MHz ในปี พ.ศ. 2561 และ พ.ศ. 2563 มีราคาสูงกว่าตลาดโลกอย่างมาก

  1. วิธีการประมูลและหลักเกณฑ์

l วิธีการประมูลควรได้รับการพิจารณาอย่างรอบคอบ

จากร่างประกาศฯ กำหนดให้ใช้วิธีการประมูลคลื่นความถี่หลายย่านพร้อมๆ กัน (Simultaneous Ascending Clock Auction) ซึ่งเป็นการกำหนดตามคุณลักษณะทางเทคนิคของคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ ดังนั้น วิธีการประมูลจึงจำเป็นต้องได้รับการพิจารณาใหม่ เพื่อให้สอดรับกับคุณสมบัติทางเทคนิคของคลื่นย่านอื่น

l การวางหลักประกันการประมูล

ดีแทคสนับสนุนให้มีการกำหนดคุณสมบัติของผู้ร่วมประมูลอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกณฑ์ในการวางหลักประกันทางการเงินจากผู้เข้าประมูลทุกราย

5G จะเกิดต้องมองรอบด้านอย่างยั่งยืน

การเข้าถึงและกระบวนการในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานควรได้รับการแก้ไขอย่างเป็นระบบ ตัวอย่างเช่น การออกใบอนุญาตก่อสร้างตั้งเสาโทรคมนาคม นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลควรแสดงบทบาทในการส่งเสริมให้มีการใช้โครงการพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันผ่านสิทธิพิเศษ เพื่อเพิ่มแรงจูงใจ ตลอดจนการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้ทันสมัย

ขณะเดียวกัน เพื่อให้วาระการขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ประสบความสำเร็จ รัฐบาลควรแสดงบทบาทในการประสานความร่วมมือระหว่างภาครัฐเอกชน ตัวอย่างเช่น โครงการเมืองอัจฉริยะ (Smart city) การใช้เทคโนโลยี 5G ในการบริการสาธารณะและภาคการผลิต ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้เทคโนโลยี 5G อย่างแท้จริงและแพร่หลายในอนาคต

“การทำให้ 5G เกิดขึ้นนั้น ไม่ใช่เพียงบทบาทของผู้ประกอบการโทรคมนาคมเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือการขับเคลื่อนของทุกภาคส่วนในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรกำกับดูแลและผู้ให้บริการโครงสร้างพื้นฐาน ผู้ประกอบการโทรคมนาคมจะยังไม่ได้รับประโยชน์จากครอบครองคลื่นความถี่สำหรับเทคโนโลยี 5G โดยการใช้งานจริง (use case) ยังต้องได้รับการพัฒนาและคำนึงถึงโมเดลในการหารายได้ที่ยังคงไม่มีความชัดเจน ภาครัฐจึงมีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในเชิงกลยุทธ์ที่จะกระตุ้นการลงทุนเชิงโครงสร้าง ความร่วมมือจากหลากหลายอุตสาหกรรมที่จะร่วมกันขับเคลื่อนสู่เทคโนโลยี 5G” นายมาร์คุส กล่าวในที่สุด

ถูกใจบทความนี้  0