บรรยายภาพ – นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ (ที่ 3 จากซ้าย) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายเอกสิทธิ์ คุณานันทกุล (ที่ 4 จากซ้าย) เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และ นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ (ที่ 5 จากซ้าย) ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับ นายอาเบล เติ้ง (ที่ 1 จากซ้าย) ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ส่งมอบโซลูชัน AI เทคโนโลยีเดียวกับที่เคยใช้ฝ่าวิกฤติโควิด-19 ในโรงพยาบาลชั้นนำของจีน ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยมี ศาสตราจารย์ นายแพทย์ปิยะมิตร ศรีธรา (ที่ 2 จากซ้าย) คณบดี คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี รับมอบ
– นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมด้วย นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับ นายอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ส่งมอบโซลูชัน AI จาก HUAWEI CLOUD ที่ใช้ฝ่าวิกฤตโควิด-19 ในโรงพยาบาลชั้นนำของประเทศจีน ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์สามารถวิเคราะห์รูปภาพทางการแพทย์เชิงปริมาณ เพื่อรายงานผลตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ในผู้ป่วยต้องสงสัยติดเชื้อโควิด-19 ลดระยะเวลาในการวิเคราะห์ผลที่จะเป็นไปอย่างถูกต้องและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยเวลาเพียง 25 วินาทีต่อหนึ่งเคส
โซลูชัน AI จาก HUAWEI CLOUD สามารถระบุผลตรวจแบบ CT Quantification โดยอัตโนมัติได้อย่างรวดเร็วและแม่นยำ ทั้งนี้ โรงพยาบาลในประเทศจีนกว่า 20 แห่งได้นำโซลูชันนี้ไปปรับใช้เพื่อรับมือสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งหลังจากได้รับการปรับแต่งระบบและฝึกอบรมบุคลากรเพิ่มเติม ส่งผลให้โซลูชัน AI จาก HUAWEI CLOUD ตัวนี้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นเป็นอย่างมาก โดยมีอัตราความแม่นยำในการวินิจฉัยสูงถึง 96% และได้รับคะแนน DICE score สูงกว่า 85 คะแนน จึงช่วยลดระยะเวลาการรักษาผู้ป่วยและลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรทางการแพทย์ ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ของไทยสามารถกระจายบุคลากรไปดูแลเคสผู้ป่วยได้อย่างทั่วถึงมากขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยได้อย่างดียิ่งขึ้น
ก่อนหน้านี้ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ ประเทศไทย (จำกัด) ได้ส่งมอบระบบนวัตกรรมสื่อสารทางไกลเพื่อการแพทย์ Huawei Telemedicine Video Conference Solution ให้แก่กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทย เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของแผนรับมือการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยระบบดังกล่าวเป็นระบบเทเลคอนเฟอเรนซ์แบบเรียลไทม์เต็มรูปแบบที่สามารถช่วยให้การดำเนินงานของบุคลากรแพทย์ในประเทศไทยมีความคล่องตัว สามารถตรวจวินิจฉัยได้จากทุกที่ทุกเวลาผ่านอุปกรณ์มือถือของตน ที่สำคัญคือลดความเสี่ยงจากการ ติดเชื้อให้แก่ทีมแพทย์ในไทยด้วยเช่นกัน
You must be logged in to post a comment.