หัวเว่ยมุ่งนำเทคโนโลยีดิจิทัลเสริมแกร่งประเทศไทยด้วยการขยายส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัล สนับสนุนไทยสู่การเป็นดิจิทัลฮับ และขึ้นผู้นำด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอาเซียน

ในขณะที่ประเทศไทยยังเป็นตลาดกลยุทธ์หลักของหัวเว่ย หัวเว่ยเตรียมพร้อมเร่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในประเทศไทยอย่างเต็มที่ ด้วยการขยายส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัลเป็นครั้งแรกในประเทศไทย และการลงทุนอย่างต่อเนื่องทั้งในด้าน 5G คลาวด์ และการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศ โดยหัวเว่ยจะมุ่งเสริมแกร่งประเทศไทยสู่การก้าวขึ้นเป็นดิจิทัลฮับแห่งอาเซียน และผู้นำด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอาเซียน ตามพันธกิจของหัวเว่ยในการ “เติบโตในประเทศไทยและสนับสนุนประเทศไทย”

คุณเจย์ เฉิน รองประธานหัวเว่ยเอเชียแปซิฟิก ได้กล่าวถึงเทรนด์เทคโนโลยีทั่วโลกที่น่าสนใจในยุคนิวนอร์มัล (New Normal) ภายในงานสัมมนาออนไลน์ “HUAWEI Meet the Press II” ไว้ว่า “สองปีที่ผ่านมาเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายสำหรับทุกคน การรับมือกับสถานการณ์โรคระบาดในขณะนี้ทำให้เราเห็นว่าทุกประเทศหันมาพึ่งพาเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น โดยข้อมูลจากรายงาน Global Connectivity Index ฉบับล่าสุดของหัวเว่ยระบุว่าประเทศที่มีความพร้อมทางด้าน ICT มากกว่าประเทศอื่นจะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้น้อยกว่า ทั้งในแง่ของภาคสังคมและภาคเศรษฐกิจ รวมทั้งยังสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่า ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือตลาดประเทศไทย ที่สถานการณ์ระบาดในตอนนี้ทำให้เห็นว่าการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ICT และเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเต็มที่ในช่วงก่อนหน้านี้ มีผลเป็นอย่างยิ่งกับการช่วยให้ประเทศยังคงฟื้นตัวและเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ”

คุณเจย์ เฉินได้เน้นย้ำว่าหัวเว่ยยังคงมุ่งมั่นในพันธกิจด้านการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งในประเด็นนี้ ประเทศไทยค่อย ๆ ก้าวขึ้นมาเป็นดิจิทัลฮับในภูมิภาคอาเซียนจากหลายองค์ประกอบ เรื่องแรกคือประเทศไทยได้พัฒนาแผนเศรษฐกิจดิจิทัลและสังคมแห่งชาติ ซึ่งมุ่งเป้าไปที่การพัฒนาการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและการเดินตามวิสัยทัศน์ไทยแลนด์ 4.0 เรื่องที่สองคือข้อมูลอ้างอิงจาก Speedtest Global Index 2020 ระบุว่าประเทศไทยได้รับการจัดอันดับเป็นอันดับหนึ่งใน 176 ประเทศในแง่ของความเร็วอินเทอร์เน็ตแบบฟิกซ์บรอดแบนด์ ซึ่งทำให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในแง่การวางโครงสร้างพื้นฐานสำหรับเทคโนโลยี 5G เรื่องที่สามคือประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี 5G ในภาคเกษตรกรรม กาคสาธารณสุข ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และการสร้างอีโคซิสเต็มด้านดิจิทัล นอกจากนี้ ประเทศไทยยังแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าอย่างรวดเร็วในด้านการบ่มเพาะบุคลากรด้านดิจิทัล ซึ่งหัวเว่ยได้มีส่วนสนับสนุนผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น Huawei ASEAN Academy ซึ่งตั้งเป้าบ่มเพาะบุคลากรในประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคให้ได้ถึง 300,000 คนภายในระยะเวลาห้าปี และจะมีสัดส่วนในการฝึกอบรมบุคลากรในประเทศไทยคิดเป็นสัดส่วนถึงหนึ่งในสามจากจำนวนบุคลากรที่ได้รับการฝึกอบรมทั้งหมด

ด้านคุณอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับตลาดประเทศไทยว่า “หัวเว่ย ประเทศไทย ยังคงมุ่งมั่นสนับสนุนประเทศไทย คนไทย และธุรกิจไทยอย่างไม่หยุดยั้ง ตามพันธกิจในระยะยาวของเราที่ต้องการส่งมอบคุณค่าทางสังคมให้แก่ประเทศไทยใน 3 ด้านหลัก ได้แก่ กิจกรรมเพื่อสังคมของหัวเว่ยในด้านการรับมือกับโควิด-19 การบ่มเพาะอีโคซิสเต็มของการพัฒนาทักษะดิจิทัลในประเทศไทย และการสร้างอีโคซิสเต็มสำหรับกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพ

ทั้งนี้ หัวเว่ยยังได้ทำงานร่วมกับโรงพยาบาลในประเทศไทยอย่างใกล้ชิดในหลายโครงการตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ได้ส่งมอบโซลูชันการใช้ AI ส่งเสริมบริการด้านการแพทย์ให้แก่โรงพยาบาลรามาธิบดีและโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งช่วยส่งมอบผลการตรวจโควิด-19 ได้ในเวลาเพียง 25 วินาทีต่อเคส รวมทั้งได้จับมือกับสำนักงาน กสทช. เพื่อริเริ่มโครงการการใช้รถยนต์ไร้คนขับที่โรงพยาบาลศิริราช เพื่อใช้ในการขนเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ทางการแพทย์ และลดการสัมผัส นอกจากนี้ หลังจากการระบาดของโควิดระลอกใหม่ในประเทศไทยเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา หัวเว่ยยังได้ส่งมอบระบบโทรเวชกรรมผ่านเทคโนโลยี 5G โซลูชันจัดการผู้ป่วยในพื้นที่ InPatient area Intelligent Management และโซลูชัน eLTE broadband trunking ให้แก่โรงพยาบาลสนามบางขุนเทียน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 6 ล้านบาท และได้ทำงานร่วมกับสภาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งประเทศไทย (DCT) เพื่อบริจาคโซลูชันคลาวด์ให้แก่โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์อีกด้วย

นอกจากนี้ หัวเว่ยยังเชื่อว่าหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลขึ้นอยู่กับการวางรากฐานในด้านการพัฒนาทักษะทางดิจิทัล ซึ่งหัวเว่ยได้สนับสนุนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 อย่างต่อเนื่อง ผ่านการบ่มเพาะทักษะดิจิทัลให้แก่บุคลากรไทย โดยตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา หัวเว่ยได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องเป็นเงิน 180 ล้านบาท เพื่อเปิดตัวศูนย์ Huawei ASEAN Academy และได้ฝึกอบรมบุคลากรไปแล้วกว่า 16,500 คนผ่านศูนย์ดังกล่าว

ในด้านธุรกิจเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพของประเทศไทย หัวเว่ยได้ร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรม อาทิ สถาบันพัฒนาผู้ประกอบการการค้ายุคใหม่ ซึ่งอยู่ภายใต้กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับดีป้า (depa) สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) ลูกค้ารวมถึง               พาร์ทเนอร์ในไทยเพื่อให้การสนับสนุนเอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพในด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ผ่านการส่งมอบความรู้ในระดับสากลและหลักสูตรการอบรมชั้นนำอย่าง Huawei ASEAN Academy ประเทศไทย เพื่อช่วยให้เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพมีความเข้าใจในเทคโนโลยีมากขึ้นและสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับแผนธุรกิจได้

คุณอาเบลได้ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมว่า ประเทศไทยยังคงเป็นตลาดสำคัญของหัวเว่ย ซึ่งหัวเว่ยจะยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในประเทศไทยใน 4 ด้าน อันได้แก่ ด้านเทคโนโลยี 5G ด้านดาต้าเซ็นเตอร์และคลาวด์ ด้านพลังงานดิจิทัล และด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล โดยมีจุดประสงค์เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การเป็นดิจิทัลฮับของภูมิภาคอาเซียน รวมทั้งบรรลุเป้าหมายในการเป็นประเทศผู้นำด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคนี้ให้จงได้

คุณอาเบล เติ้ง ยังเปิดเผยว่าหัวเว่ยยังเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีและพลังงานดิจิทัลมาเนิ่นนาน ซึ่งได้รับการนำไปประยุกต์ใช้ในกว่า 170 ประเทศและภูมิภาค โดยส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัลของหัวเว่ยได้เติบโตอย่างต่อเนื่องและรวดเร็ว ทั้งในแง่ของผลประกอบการและส่วนแบ่งตลาด ทั้งในส่วนธุรกิจ Prefabricated Modular Data Center, Smart PV และ Site Power Facility ที่หัวเว่ยถือว่าเป็นผู้นำส่วนแบ่งตลาดในระดับโลก สำหรับส่วนธุรกิจ mPower หัวเว่ยถือเป็นบริษัทแห่งแรกในโลกที่ส่งมอบนวัตกรรมใหม่ในชื่อว่า X-in-1 ePowertrain ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้พลังงานให้แก่รถยนต์พลังไฟฟ้า นอกจากนี้ หัวเว่ยยังได้ส่งมอบผลิตภัณฑ์ Modular Power ประสิทธิภาพสูงเป็นจำนวนมากกว่า 300 ล้านชิ้นทั่วโลก โดยในปี 2563 หัวเว่ยทำยอดขายในส่วนธุรกิจพลังงานจากทั่วโลกได้มากกว่า 5,500 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้บริการประชากรถึง 1 ใน 3 จากทั่วโลก

นั่นทำให้หัวเว่ยตัดสินใจขยายส่วนธุรกิจพลังงานดิจิทัลสำหรับตลาดประเทศไทยในปีนี้ โดยปัจจุบัน หัวเว่ยได้ให้บริการลูกค้าระดับองค์กรธุรกิจมากกว่า 1,000 รายในตลาดประเทศไทย ทั้งนี้ องค์กรธุรกิจ 35 แห่งจาก 50 แห่ง ได้เลือกหัวเว่ยเป็นพาร์ทเนอร์ในด้านพลังงานดิจิทัล ซึ่งหัวเว่ยกำลังสร้างเครือข่ายพาร์ทเนอร์สำหรับด้านการบริการ การติดตั้ง และด้านโซลูชันมากกว่า 50 รายในประเทศไทย โดยหัวเว่ยคาดว่าการขยายส่วนธุรกิจในครั้งนี้จะช่วยสร้างงานในทางอ้อมได้มากกว่า 1,000 ตำหน่งในประเทศไทย ซึ่งหัวเว่ยทีมกับพาร์ทเนอร์หวังว่าเทคโนโลยีชั้นนำและกรณีตัวอย่างการใช้งานในระดับโลกจะสามารถช่วยส่งเสริมประเทศไทยในการขึ้นเป็นผู้นำด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอาเซียนได้

“ในด้านเทคโนโลยี 5G ประเทศไทยได้ขึ้นเป็นผู้นำในเรื่องการริเริ่มติดตั้งเครือข่าย 5G ในระดับภูมิภาคไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งผู้ให้บริการเครือข่ายรายต่าง ๆ ในไทยที่ช่วยผลักดันเรื่องนี้อย่างเต็มที่ อย่างไรก็ตาม ภายในสิ้นปีนี้ ประเทศอื่น ๆ ก็จะเริ่มตามทันไทยในแง่ของการขยายเครือข่าย 5G ต้องการจะเอาชนะในยก 2 ต่อจากนี้ ประเทศไทยจำเป็นต้องผลักดันให้มีอัตราการใช้งาน 5G เพิ่มขึ้นอย่างเร็วที่สุด เพื่อสร้างงานและโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ รวมถึงช่วยเพิ่มสัดส่วนที่เศรษฐกิจดิจิทัลจะมีผลต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (GDP) ซึ่งหัวเว่ยจะสนับสนุนประเทศไทยผ่านการลงทุนอย่างต่อเนื่องในด้านนวัตกรรม 5G และเสริมสร้างอีโคซิสเต็มในประเทศ“ คุณอาเบลกล่าว

ทั้งนี้ หัวเว่ยได้ลงทุนเป็นเงิน 475 ล้านบาทในโปรเจ็ค 5G EIC เพื่อพัฒนานวัตกรรม 5G สำหรับใช้งานในหลากหลายภาคอุตสาหกรรม สร้างโมเดลธุรกิจใหม่ และเพิ่มทักษะให้แก่สตาร์ทอัพและเอสเอ็มอี โดยหัวเว่ยยังได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์เพื่อจัดงานประชุมสุดยอด 5G Summit ในไทยในปีนี้ เพื่อช่วยวางรากฐานให้แก่อุตสาหกรรมและอีโคซิสเต็มของ 5G ในประเทศ ซึ่งหัวเว่ยเชื่อว่างานประชุมสุดยอดในครั้งนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลในประเทศไทยด้วยการประยุกต์ใช้ 5G ในอุตสาหกรรมแนวดิ่ง นอกจากนี้ หัวเว่ยยังจะได้รับการสนับสนุนจากดีป้าในการสร้างอีโคซิสเต็มของพาร์ทเนอร์เพื่อก่อตั้งกลุ่มพันธมิตรด้าน 5G และเพื่อสร้างอีโคซิสเต็มสำหรับนวัตกรรมและแอปพลิเคชัน 5G ในภาคอุตสาหกรรมที่สมบูรณ์

“ที่สำคัญคือหัวเว่ยจะยังคงมุ่งมั่นสร้าง อีโคซิสเต็มของ 5G ในประเทศไทยต่อไป เพื่อสร้างนคร 5G ระดับแนวหน้า และมีมาตรฐานโครงสร้างพื้นฐานของโครงข่าย 5G ในขั้นสูง เสริมแกร่งแอปพลิเคชันรวมทั้งนวัตกรรมด้าน 5G เพื่อสร้างโมเดลและคุณค่าใหม่ทางธุรกิจ ซึ่งจะช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูงพอที่จะขึ้นเป็นเมือง 5G แห่งภูมิภาคอาเซียน รองรับการเป็นเจ้าภาพเอเปคในปี 2565 ของไทยที่จะจัดขึ้นในจังหวัดกรุงเทพมหานคร พัทยา และเชียงใหม่” เขากล่าวเสริม

คุณอาเบลได้กล่าวเพิ่มเติมว่าสำหรับในด้านคลาวด์ หัวเว่ยจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีคลาวด์ โดยในปีนี้ หัวเว่ยจะลงทุนเป็นเงิน 700 ล้านบาท สำหรับศูนย์ข้อมูลการให้บริการคลาวด์แห่งที่สามในประเทศไทย ซึ่งทำให้หัวเว่ยเป็นผู้ให้บริการ HUAWEI CLOUD ระดับโลกในไทยเพียงรายเดียวที่มีศูนย์ข้อมูลในประเทศถึงสามแห่ง โดยหัวเว่ยต้องการสนับสนุนด้านการวางจุดยืนให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ดูน่าลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติในด้านการตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) และการลงทุนในครั้งนี้ยังช่วยสร้างงานใหม่กว่า 200 ตำแหน่ง ด้วยความร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในไทยกว่า 200 ราย ทั้งนี้ หัวเว่ยต้องการจะผลักดันให้ประเทศไทยดูน่าดึงดูดและน่าลงทุนมากขึ้นในสายตาขององค์กรธุรกิจข้ามชาติ ที่ต้องการจะตั้งศูนย์ข้อมูลในภูมิภาคนี้

หัวเว่ยยังเชื่อว่าหัวใจสำคัญของการผลักดันการพัฒนาด้านดิจิทัลนั้นขึ้นอยู่กับโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัล ซึ่งทางบริษัทได้ผลักดันนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ผ่านการบ่มเพาะบุคลากรในไทย เพื่อช่วยลดช่องว่างเรื่องการขาดจำนวนบุคลากรด้านดิจิทัลในประเทศไทย ด้วยโครงการพัฒนาอย่าง Huawei ASEAN Academy ประเทศไทย ซึ่งตั้งเป้าฝึกอบรมบุคลากรที่ทำงานด้านไอทีในไทยให้ได้รับทักษะในระดับโลกเป็นจำนวน 100,000 คนภายในเวลา 5 ปีนี้

“เทคโนโลยีจะมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่งในการเชื่อมต่อทุกคนเข้าด้วยกันรวมถึงนำเสนอโอกาสใหม่ ๆ ในฐานะที่หัวเว่ยเป็นองค์กรด้าน ICT ชั้นนำที่มุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างต่อเนื่องและส่งมอบคุณค่าให้แก่สังคมไทยมากว่า 22 ปี เราจะมุ่งผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลในประเทศไทยต่อไป เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลเชื่อมต่อทุกผู้คน ทุกครัวเรือน และทุกองค์กรเข้าด้วยกันอย่างชาญฉลาด และช่วยให้ประเทศไทยสามารถฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็ว หัวเว่ยจะไม่หยุดยั้งในด้านการมุ่งผลักดันประเทศไทยต่อไป ตามพันธกิจของการเติบโตไปพร้อมกับประเทศไทยและสนับสนุนช่วยเหลือประเทศไทยเพื่อช่วยสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวขึ้นสู่การดิจิทัลฮับแห่งอาเซียนและการขึ้นเป็นผู้นำด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จลุล่วง” คุณอาเบลกล่าวปิดท้าย

คุณอาเบล เติ้ง ประธานกรรมการบริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด

 



ถูกใจบทความนี้  0