ทักทาย วันจันทร์ มันส์เดย์ – สายคาดอก วัดหัวใจ ยังใช้กันไหม

วันนี้มาคุยกันเรื่องอุปกรณ์ด้านสุขภาพกันสักหน่อย  แม้ว่ายุคนี้จะสามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจผ่าน Smartwatch และ Smartband เป็นเรื่องปกติไปแล้วก็ตาม แต่ทว่าก่อนหน้านี้ วิธีการวัดอัตราการเต้นของหัวใจในการออกกำลังกาย ที่ใช้งานกันก็จะมีสายคาดอกนี่ล่ะ ที่ช่วยให้เรื่องนี้ได้ โดยเป็นอีกหนึ่งอุปกรณ์ที่จะช่วยเก็บข้อมูลการเต้นของหัวใจขณะออกกำลังกาย โดยสามารถต่อเชื่อมกับอุปกรณ์ต่างๆ ที่รองรับได้ นับว่าเป็นวิธีคลาสสิคก็ว่าได้ ซึ่งในยุคนี้ผมว่าน่าจะมีน้อยคนแล้วล่ะที่ใช้ เพราะวัดบนข้อมือได้แล้ว ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมาคาดหน้าอก ซึ่งก็อาจจะดูเกะกะเสียด้วยซ้ำ แต่ข้อดีก็มี นั่นคือความแม่นยำ ซึ่งสายคาดอก จะวัดอยู่ตรงตำแหน่งหน้าอก หรือที่หัวใจพอดี ดังนั้นความแม่นยำจึงมากกว่านั่นเอง อย่าง Garmin  HRM-Pro ที่รองรับการเชื่อมต่อทั้ง Dual Band ANT+ และ Bluetooth ซึ่งเซ็นเซอร์ก็ไม่ได้ใช้ Optical หรือแบบแสงเหมือนบนข้อมือ แต่เป็น EKG ที่นับจากคลื่นไฟฟ้าที่ส่งออกมาซึ่งเป็นวิธีที่ใช้งานกันเป็นมาตรฐานสากลและใช้ในทางการแพทย์

แต่อย่างไรก็ตาม การวัดอัตราการเต้นของหัวใจด้วยข้อมือ ก็เป็นที่ยอมรับและแพร่หลายมากกว่า เพราะเนื่องจากการสวมใส่ที่สะดวกมากกว่า มีเรื่องของแฟชั่น ดีไซน์ ที่มาแทนที่นาฬิกาข้อมือแบบเดิมๆ และที่สำคัญใส่ได้ตลอดเวลาแม้แต่การนอน ซึ่งคงไม่มีใครเอาสายคาดหน้าอกไปใส่นอน หากอยากจะวัดว่าตอนนอนคงไม่สะดวกเอาจริงๆ ล่ะครับ ดังนั้นสรุปได้ว่าการใช้สายคาดหน้าอก แม้ว่าจะมีความแม่นยำก็จริง เหมาะกับการใช้งานในด้านของการออกกำลังกายหรือในบางเวลาที่เฉพาะเจาะจงเสียมากกว่า ส่วนข้อมืออันนี้ใส่ได้ตลอดเวลา และใช้งานได้ทุกงานจริงๆ แต่ในบางกิจกรรมหรือในบางเคสที่อาจจะต้องการความแม่นยำสูง ก็ค่อยใส่สายคาดหน้าอก หรือจริงๆ แล้วหากมีปัญหาด้านสุขภาพจริงๆ ส่วนใหญ่ก็น่าจะไปที่ รพ. ซึ่งข้อมูลที่เก็บไว้จาก Smartwatch/Smartband ก็เพียงพอจะให้แพทย์วินิจฉัยได้นะครับ ถ้าไม่มากไม่น้อยไป สายคาดหน้าอกมีติดไว้ก็ดีเหมือนกันนะ



ถูกใจบทความนี้  0