แม้อัตราการครอบคลุมของเครือข่ายบรอดแบนด์ผ่านมือถือกว่า 96% ของประชากรในภูมิภาค แต่ช่องว่างการใช้งานในหมู่ประชาชนยังใหญ่ที่สุดในโลก
สมาคมจีเอสเอ็ม หรือ GSMA จัดทำรายงานล่าสุด Mobile Economy Asia Pacific 2022 report เผยให้เห็นถึงข้อมูลที่มีความชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการใช้งานอินเตอร์เน็ตผ่านมือถือของผู้คนในภูมิภาค โดยพบว่า 96% ของประชากรทั้งหมดในภูมิภาคสามารถเข้าถึงเครือข่ายบรอดแบนด์ผ่านมือถือได้อย่างครอบคลุม แสดงให้เห็นถึงการลงทุนในการพัฒนาเครือข่าย 3G, 4G มาอย่างต่อเนื่องโดยผู้ให้บริการ รวมไปถึงการลงทุนในการพัฒนาเครือข่าย 5G ที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม มีเพียง 44% ของประชากรหรือราว 1.23 พันล้านคนเท่านั้นที่ใช้บริการอินเตอร์เน็ตบนมือถือ
เหตุผลหลายประการที่ทำให้ยอดผู้ใช้งานยังมีความไม่ครอบคลุมนั้น เป็นเพราะการขาดทักษะด้านดิจิทัล ความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย และความกังวลด้านความปลอดภัยบนเครือข่ายออนไลน์ โดยรายงานประจำปีนี้ได้แสดงให้เห็นถึงการที่ประเทศต่างๆ มองเห็นช่องว่างในการใช้บริการเหล่านี้
“การชี้ให้เห็นถึงช่องว่างดังกล่าว ยังแสดงให้เห็นถึงคุณประโยชน์ของการใช้อินเตอร์เน็ตแก่ประชาชนในสังคมในวงกว้างขึ้นนั้นสำคัญเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องการความร่วมมือและความพยายามจากผู้ถือผลประโยชน์ร่วมจากหลายภาคส่วน ในการทำงานร่วมกับผู้ให้บริการเครือข่าย และธุรกิจต่างๆ ในอีโคซิสเต็มส์ อาทิ ผู้ผลิตอุปกรณ์มือถือ และผู้สร้างสรรค์คอนเทนต์ดิจิทัล เป็นต้น เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดการใช้งานและก้าวข้ามผ่านช่องว่างดังกล่าว” นายจูเลียน กอร์แมน ประธานสมาคมจีเอสเอ็ม ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก กล่าว
เทคโนโลยีบนมือถือก่อให้เกิดคุณประโยชน์ด้านเศรษฐกิจและสังคม
เทคโนโลยีโมบายล์ รวมถึงการให้บริการในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง มีส่วนช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมาอย่างต่อเนื่อง โดยสามารถสร้างรายได้มากกว่า 5% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP ของทั้งภูมิภาคในปี 2564 ซึ่งเท่ากับ 7.70 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ ของมูลค่าทางเศรษฐกิจ โดยทั้งระบบอีโคซิสเต็มยังช่วยก่อให้เกิดการจ้างงานราว 8.8 ล้านอัตราในปี 2564 และยังสามารถส่งเสริมด้านเงินทุนให้กับการทำงานของภาครัฐผ่านการเก็บภาษีได้ประมาณ 8 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐฯ
ตั้งเป้าสู่ 400 ล้านการเชื่อมต่อบนระบบ 5G ภายในปี 2568
ความพยายามในการนำเทคโนโลยี 5G มาใช้นั้น คาดว่าจะช่วยเร่งให้เกิดการขยายตัวในการใช้เทคโนโลยีดังกล่าวในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น ปัจจุบันเครือข่าย 5G สามารถใช้ได้แล้วใน 14 ตลาดทั่วภูมิภาค ขณะที่ตลาดอย่างประเทศอินเดียและเวียดนาม กำลังเริ่มให้บริการดังกล่าวในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า
จากรายงานของ GSMA คาดว่าจะมีการเชื่อมต่อเข้าสู่ระบบ 5G ได้ถึง 400 ล้านการเชื่อมต่อภายในปี 2568 หรือเท่ากับ 14% ของการเชื่อมต่อทั้งหมด ซึ่งมีหลายประเทศในภูมิภาคที่รุดหน้าไปมากในการให้บริการเครือข่ายนี้ เช่น ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ ซึ่งคาดว่าจะมีการใช้การเชื่อมต่อผ่านระบบ 5G เป็นการเชื่อมต่อหลักถึง 55% ภายในปี 2568
การขับเคลื่อนเทคโนโลยีเมตะเวิร์สในเอเชียแปซิฟิก
รายงานฉบับดังกล่าวยังสํารวจการถือกําเนิดขึ้นของ เมตะเวิร์ส และการโชว์ให้เห็นกรณีศึกษาต่างๆ ของการใช้เครือข่าย 5G ในภูมิภาค
โดยหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ในภูมิภาคเริ่มมีการร่างแผนงานในการใช้ประโยชน์จากศักยภาพของแพลตฟอร์มนี้มาเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการสาธารณะในส่วนต่างๆ โดยเกาหลีใต้ประกาศแผนการที่จะใช้งบประมาณถึง 186.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสร้างอีโคซิสเต็มของเมตะเวิร์ส และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศ
นโยบายด้านนวัตกรรมดิจิทัล
บรรดาผู้กำหนดนโยบายในประเทศต่างๆ มีส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเติบโตและการใช้นวัตกรรม โดยการสร้างกฎระเบียบที่มีความยืดหยุ่นในการรองรับการใช้งานของระบบเครือข่ายการสื่อสารต่างๆ โดยรายงานฉบับนี้ยังแสดงให้เห็นถึงประเด็นด้านคุณประโยชน์ของการปฏิรูปด้านกฎระเบียบข้อบังคับในภูมิภาค
งาน Mobile 360 Asia Pacific ในประเทศสิงคโปร์
ประเด็นด้านการนำเทคโนโลยี 5G มาประยุกต์ใช้ในประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จะเป็นประเด็นหลักในการเสวนาบนเวที GSMA’s Mobile 360 Asia Pacific ซึ่งจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 2-3 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรม JW Marriott South Beach ประเทศสิงคโปร์ กิจกรรมต่างๆ ยังรวมไปถึงการปาฐกถาพิเศษและการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น รวมถึงแผนยุทธศาสตร์สู่การเป็น Digital Nation ซึ่งมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลกยุคหลังโรคระบาด
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปดูได้ที่ www.mobile360series.com/asia-pacific หรือติดต่อข่าวสารอัพเดทได้ที่ Twitter @GSMA และแฮชแท็ก #Mobile360 หรือ www.linkedin.com/showcase/gsma-mobile-360-series.
You must be logged in to post a comment.