ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัททรู มีมติอนุมัติกำหนดวันการประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่าง ผู้ถือหุ้นทรู และ ผู้ถือหุ้นดีแทค เพื่อพิจารณาวาระต่างๆ ในเรื่องการรวมธุรกิจ

กรุงเทพฯ 12 มกราคม 2566 – ทรู แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายงานความคืบหน้าที่สำคัญของการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น โดยที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ได้มีมติกำหนดวันประชุมผู้ถือหุ้นร่วมระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และผู้ถือหุ้นของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อพิจารณาเรื่อง ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการรวมธุรกิจ

วันนี้ (12 มกราคม 2566) ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้มีมติให้เตรียมเสนอที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วม พิจารณาและอนุมัติชื่อของบริษัทใหม่ คือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทรูและดีแทคเป็นชื่อที่แข็งแกร่งและคุ้นเคยในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยทรูยังเป็นที่รู้จักในบริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัลอีกด้วย ทั้งนี้ ภายใต้บริษัทใหม่ ทรูและดีแทคจะยังคงให้บริการโดยแยกสองแบรนด์ต่อไป เพื่อนำเสนอบริการที่หลากหลาย สามารถแข่งขันได้ในตลาด และเป็นทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทั้งสองบริษัทยังคงแยกกันดำเนินธุรกิจและแข่งขันกันตามปกติจนกว่ากระบวนการรวมธุรกิจจะเสร็จสิ้น

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท ยังเตรียมเสนอรายชื่อกรรมการของบริษัทใหม่ที่จะเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ ให้ที่ประชุมผู้ถือหุ้นร่วมพิจารณาและอนุมัติ ซึ่งประกอบด้วย นายศุภชัย เจียรวนนท์, นายเยอเก้น คริสเตียน อาเร้นท์ โรสทริป, ศ. (พิเศษ) ดร. กิตติพงษ์ กิตยารักษ์, นางกมลวรรณ วิปุลากร, นายกลินท์ สารสิน, นางปรารถนา มงคลกุล, นายอติรุฒม์ โตทวีแสนสุข, ดร. เกา ถงชิ่ง, นางทูเน่ ริปเปล, นายลาส์ เอริค เทลแมนน์, และ ดร. ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ โดยกรรมการบริษัทที่ได้รับการเสนอรายชื่อล้วนเป็นผู้มากด้วยประสบการณ์ในการบริหารธุรกิจและมีวิสัยทัศน์กว้างไกลในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับคณะผู้บริหารระดับสูง สะท้อนการร่วมกันบริหารบริษัทใหม่ด้วยความเท่าเทียมของทั้งทรูและดีแทค

ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ เทเลนอร์ กรุ๊ป เชื่อมั่นว่าการรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ
บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น โดยเน้นการร่วมกันบริหารบริษัทใหม่ด้วยความเท่าเทียม เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนบริษัทใหม่นี้ให้เป็นบริษัทเทเลคอม-เทคระดับแนวหน้า ครอบคลุมบริการทั้งโทรศัพท์เคลื่อนที่ บรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โทรทัศน์แบบบอกรับสมาชิก และบริการดิจิทัล จะสร้างคุณค่าและส่งมอบประโยชน์สูงสุดแก่ผู้บริโภคผ่านนวัตกรรมสินค้าและบริการที่หลากหลาย ตลอดจนเพิ่มศักยภาพ ยกระดับขีดความสามารถของบริษัทใหม่ทั้งในด้านการเติบโต การลงทุน และการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ ระดับโลกที่ล้ำสมัยมาใช้ในการพัฒนาคุณภาพเครือข่ายและสร้างสรรค์นวัตกรรมบริการดิจิทัลต่างๆ เสริมสร้างความแข็งแกร่งของประเทศในการเดินหน้าการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล

 

 



ถูกใจบทความนี้  0