ผลสำรวจผู้บริหารธุรกิจยานยนต์ทั่วโลกประจำปี ครั้งที่ 23 ของเคพีเอ็มจี พบว่า ผู้บริหารร้อยละ 83 มั่นใจว่าอุตสาหกรรมยานยนต์จะเติบโตและมีกำไรมากขึ้นในอีกห้าปีข้างหน้า แต่ความคาดหวังด้านยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกในปี 2573 มีความเป็นจริงมากขึ้น ในขณะเดียวกัน ผู้บริหารยังคงกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการจัดหาสินค้าและส่วนประกอบต่างๆ
รายงาน Annual Global Automotive Executive Survey ครั้งที่ 23 ของเคพีเอ็มจี สำรวจผู้บริหาร 915 ราย ในอุตสาหกรรมยานยนต์และอุตสาหกรรมใกล้เคียง พบว่าร้อยละ 83 มั่นใจว่าอุตสาหกรรมจะเห็นการเติบโตที่มีผลกำไรมากขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า เทียบกับร้อยละ 53 ของผลสำรวจปีที่แล้ว การสำรวจจาก ซีอีโอ ประธานบริษัท และประธานกรรมการบริหาร 207 คน พบว่าพวกเขาเฝ้าระวังผลลัพธ์ในระยะสั้นมากขึ้น เมื่อพิจารณาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจมหภาค
“ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์มองเชิงบวกอย่างมากต่ออนาคต แต่ขณะเดียวกัน ในความมั่นใจนั้นยังมีความจำเป็นในการเปลี่ยนความฝันของแวดวงยานยนต์ให้เป็นความจริง ผู้ผลิตรถยนต์ทุ่มเงินกว่าครึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐเพื่อพัฒนายานยนต์รุ่นใหม่ๆ ในโรงงานผลิตขั้นสูง และเพื่อให้เป็นไปตามความตั้งใจ บริษัทรถยนต์ต่างๆ จะต้องใช้หลายกลวิธีเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งบางวิธีจะนำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ ในขณะที่บางวิธีอาจไม่ประสบผลสำเร็จ” แกรี่ ซิลเบิร์ก หัวหน้าฝ่ายยานยนต์ระดับโลก เคพีเอ็มจี กล่าว
อนาคตของระบบส่งกำลัง
ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์คาดว่าส่วนแบ่งตลาดของรถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 40 ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมดภายในปี 2573 โดยในปีที่แล้ว การคาดการณ์สูงถึงร้อยละ 70 ผู้บริหารได้ลดความคาดหวังลงอย่างมากในด้านการเติบโตของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในอินเดีย (ความท้าทายด้านโครงสร้างพื้นฐาน) บราซิล (เชื้อเพลิงชีวภาพเป็นพลังงานทางเลือก) และญี่ปุ่น (การมุ่งเน้นระบบไฮบริดและแหล่งพลังงานต่างๆ นอกจากแบตเตอรี่)
อย่างไรก็ตาม มีความมั่นใจมากขึ้นว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะบรรลุเป้าหมายด้านต้นทุนที่เท่าเทียมกับรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) โดยไม่ต้องพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาล ร้อยละ 82 เชื่อว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า รถยนต์ไฟฟ้าจะถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายโดยไม่ต้องใช้เงินอุดหนุนจากรัฐบาล
ผู้บริโภคดิจิทัล
ด้วยการเพิ่มขึ้นของรถยนต์รุ่นใหม่ ผู้เล่นรายใหม่ และเทคโนโลยีใหม่ๆ ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์เชื่อว่าการตัดสินใจซื้อ ของผู้บริโภคในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเน้นที่ประสิทธิภาพการขับขี่และภาพลักษณ์ของแบรนด์ ความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลก็เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ
ลูกค้ารถยนต์มีแนวโน้มที่จะซื้อทางออนไลน์มากขึ้น ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตสามารถขายตรงต่อผู้บริโภค รวมถึงทางออนไลน์ผ่านตัวแทนจำหน่าย ผู้เล่นอีคอมเมิร์ซแบบดั้งเดิมก็จะร่วมแย่งลูกค้ารถยนต์ด้วย
ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์มองเชิงบวกในด้านรายได้หลังการขาย โดยร้อยละ 62 มั่นใจเป็นอย่างยิ่งว่าผู้บริโภคจะยินดีจ่ายค่าสมาชิกรายเดือนสำหรับบริการซอฟต์แวร์ เช่น การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า การวิเคราะห์การบำรุงรักษารถยนต์ ความช่วยเหลือผู้ขับขี่ขั้นสูง และการอัพเดทข้อมูลอื่นๆ
ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์คิดว่าผู้ผลิตรถยนต์ยังคงมองว่าตลาดประกันภัยเป็นโอกาสในการเติบโตที่สำคัญ แต่ผู้ผลิตรถยนต์ได้เปลี่ยนโฟกัสจากการแข่งขันกับบริษัทประกัน มาเป็นพันธมิตร หรือขายข้อมูลให้บริษัทประกันแทน
ห่วงโซ่อุปทานที่เปราะบาง
ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์ยังคงกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการจัดหาสินค้าและส่วนประกอบต่างๆ โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ ตลอดจนสินค้าต่างๆ เช่น เหล็กไฟฟ้าและวัสดุที่มีน้ำหนักเบาซึ่งมีความสำคัญต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงและการขยายความจุแบตเตอรี่
เพื่อตอบสนองต่อปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน ผู้ผลิตรถยนต์จึงมุ่งเน้นไปที่การย้ายฐานการผลิตมาใกล้ขึ้น (Near-shoring) และการย้ายฐานผลิตมาในประเทศ (On-shoring) เพื่อลดการพึ่งพาเพียงหนึ่งหรือสองประเทศ
เทคโนโลยีใหม่ๆ และผู้ผลิตรายใหม่
ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์จำนวนมากคิดว่า Apple จะเข้าสู่ตลาดรถยนต์และกลายเป็นผู้นำด้านรถยนต์ไฟฟ้า ภายในปี 2573 โดยขยับขึ้นเป็นอันดับที่ 4 จากอันดับที่ 9 ของผลสำรวจในปี 2564 และคาดว่า Tesla จะยังคงเป็นผู้นำตลาดด้านรถยนต์ไฟฟ้า และไม่ว่าบริษัทใดจะกลายเป็นผู้นำ ผู้บริหาร 9 ใน 10 คนกล่าวว่า สตาร์ทอัพจะส่งผลกระทบอย่างมากต่ออุตสาหกรรมยานยนต์
ผู้บริหารธุรกิจยานยนต์มากกว่าหนึ่งในห้ากล่าวว่า มีแนวโน้มสูงที่จะขายธุรกิจส่วนที่ไม่ใช่กลยุทธ์ เนื่องจากต้องใช้เงินลงทุนจำนวนมากในการแข่งขัน การทำสัญญาการผลิตจะกลายเป็นกลยุทธ์ที่ดียิ่งขึ้นในอนาคต
สำหรับประเทศไทย รัฐบาลมีเป้าหมายที่จะขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน ตามนโยบาย 30@30 ซึ่งตั้งเป้าให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 30 ของการผลิตทั้งหมดให้เป็นยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ หรือ ZEV (Zero Emission Vehicle) ภายในปี 2573
“เพื่อคว้าโอกาสในช่วงเวลาที่ไม่แน่นอน ธุรกิจยานยนต์ควรมีกลยุทธ์ที่ยืดหยุ่น ปัจจุบันเป็นเวลาที่เหมาะสมในการทบทวนและปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ รูปแบบการดำเนินงาน และห่วงโซ่อุปทานให้มีความคล่องตัวมากขึ้น นอกจากนี้ การขับเคลื่อนความเป็นกลางทางคาร์บอน การนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน และการปรับโฉมประสบการณ์ของลูกค้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเร่งความสำเร็จ” ธิดารัตน์ ฉิมหลวง หัวหน้าฝ่ายอุตสาหกรรมการผลิต เคพีเอ็มจีประเทศไทยกล่าว
ท่านสามารถอ่านรายงานฉบับเต็ม ได้ที่ https://kpmg.com/th/en/home/insights/2022/12/global-automotive-executive-survey-2023.html
You must be logged in to post a comment.