กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  จับมือ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส ยกระดับการศึกษาไทยด้วยเทคโนโลยีคลาวด์

 

 

กรุงเทพฯ กุมภาพันธ์ 2566 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับ Amazon Web Services (AWS) ซึ่งเป็นบริการคลาวด์ที่ครอบคลุมและได้รับการยอมรับมากที่สุดในโลก เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรด้านเทคโนโลยีคลาวด์ของกระทรวงฯ เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของประเทศไทย

 

ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “พันธกิจของ อว. คือการพัฒนากำลังคน สร้างความรู้ และสร้างสรรค์นวัตกรรม เพื่อให้ความรู้และหล่อหลอมผู้นำในอนาคต อว. ได้สร้างระบบนิเวศเพื่อเตรียมคนไทยให้พร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี การเปลี่ยนแปลงนี้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ในด้านดิจิทัล ซึ่งกำหนดให้ภาครัฐและรัฐวิสาหกิจสร้างรากฐานดิจิทัลเพื่อให้บริการประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ และแก้ปัญหาต่าง ๆ ในสังคม

 

ซึ่งภายใต้บันทึกความเข้าใจนี้ AWS จะให้การสนับสนุน อว. โดยทำการทดลองเพื่อทดสอบความเป็นไปได้และการย้ายปริมาณงานมายังระบบคลาวด์ รวมถึงใช้การฝึกอบรมของ AWS เพื่อเพิ่มทักษะด้านระบบคลาวด์ให้กับบุคลากรในสถาบันการศึกษากว่า 200 แห่ง และหน่วยงานวิจัยในสังกัด อว. อีก 20 แห่งทั่วประเทศภายในต้นปี 2569

 

การเปลี่ยนแปลงของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในครั้งนี้ นับเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาคอุดมศึกษาของประเทศไทย เพื่อส่งเสริมให้นักวิจัยและนักศึกษาใช้ความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการขับเคลื่อนประเทศสู่การเป็น Smart Nation ได้อย่างเต็มที่” ศ.ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวว่า “AWS ในฐานะผู้ให้บริการระบบคลาวด์ที่เราเลือกใช้ จะนำเทคโนโลยีระบบคลาวด์เข้ามาเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาการศึกษาและการวิจัย สร้างแนวคิดและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงส่งเสริมความเสมอภาคทางการศึกษาและก้าวสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

เทคโนโลยีคลาวด์จะมีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ อว. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถประหยัดต้นทุนและมีความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น ตลอดจนพัฒนาความก้าวหน้าในการดำเนินงาน และการใช้โครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศที่มีประสิทธิภาพและคุ้มค่า นอกจากนี้ยังช่วยอำนวยความสะดวกในการเปลี่ยนสถาบันอุดมศึกษาไทยให้เป็นมหาวิทยาลัยอัจฉริยะด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง เช่น การวิเคราะห์ข้อมูล การประมวลผลประสิทธิภาพสูง ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และแมชชีนเลิร์นนิง (ML)

 

มีสถาบันอุดมศึกษาของไทยที่ได้ใช้ประโยชน์จากคลาวด์ในการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัลแล้ว ตัวอย่างเช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่มีความจำเป็นต้องลดช่องว่างและสร้างทักษะด้านคลาวด์ให้กับนักศึกษาและบุคลากร เพื่อให้ประเทศไทยมีบุคลากรที่มีความพร้อมในด้านดิจิทัล โดย สจล. ได้ร่วมมือกับ AWS เพื่อนำเนื้อหาระบบคลาวด์ของ AWS Educate และ AWS Academy มาใช้ในหลักสูตรของมหาวิทยาลัย ทำให้นักศึกษาที่ผ่านการอบรมได้รับใบรับรองที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมคลาวด์ทั่วโลก และเข้าสู่ตลาดงานในด้านที่เป็นที่ต้องการสูงได้อย่างง่ายดาย

 

อีกตัวอย่างหนึ่ง คือมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช (มสธ.) ที่ย้ายปริมาณงานทั้งหมดมาอยู่บนระบบคลาวด์ของ AWS เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ในการเป็นมหาวิทยาลัยดิจิทัลและขับเคลื่อนการเรียนรู้ไปทั่วโลก ก่อนหน้านี้โครงสร้างพื้นฐานด้านไอทีที่ตั้งอยู่ภายในองค์กรของ มสธ. ไม่สามารถรองรับผู้ใช้งานที่มีมากกว่า 7,000 คนที่เข้ามาใช้งานพร้อมกันได้ ซึ่งจํากัดความสามารถของมหาวิทยาลัยในการปรับขนาด จัดหลักสูตรและการสอบออนไลน์ต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อย้ายมายังระบบคลาวด์ทำให้มหาวิทยาลัยสามารถรองรับการเรียนออนไลน์และการสอบออนไลน์ได้ 100 เปอร์เซ็นต์ในช่วงที่มีสถานการณ์โรคระบาด ไม่เพียงเท่านั้น มหาวิทยาลัยยังได้วางรากฐานที่เหมาะสมในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง และแนะนำซอฟต์แวร์เพื่อการเรียนรู้และแอปพลิเคชันใหม่ ๆ ให้แก่ผู้เรียน 200,000 คนใน 64 ประเทศทั่วโลกในช่วงสองปีที่ผ่านมา

 

“AWS รู้สึกเป็นเกียรติที่ได้สนับสนุน อว. ในการเดินทางสู่การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ด้วยบริการนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่คุ้มค่าและปลอดภัย รวมถึงการยกระดับบุคลากรให้มีทักษะด้านดิจิทัล เพื่อพัฒนานวัตกรรมด้านการศึกษาและการวิจัยในประเทศไทย” จูเลี่ยน เลา ผู้จัดการฝ่ายขาย กลุ่มลูกค้าภาครัฐ ภาคพื้นเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ของ AWS กล่าวว่า “อว. มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากคลาวด์และทำให้ทุกห้องเรียน สำนักงาน และหน่วยงานต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์ของคลาวด์ได้ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศไทย

ถูกใจบทความนี้  0