ดีแทคร่วมประชาพิจารณ์ดันประมูลคลื่นความถี่เพื่ออนาคตและนโยบาย “ประเทศไทย 4.0”

18 ธันวาคม 2560 – ดีแทคเข้าร่วมการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศการประมูลคลื่นความถี่ซี่งจัดโดย กสทช. พร้อมแสดงจุดยืนต่อแนวทางการประมูลคลื่นความถี่ที่จะนำมาสู่ประโยชน์สูงสุดของการพัฒนาเพื่ออนาคตของประเทศ และส่งผลให้คนไทยได้ใช้งานคลื่นความถี่อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล ที่จะกำหนดอนาคตของประเทศไทยให้ก้าวไปสู่การแข่งขันยุค 5G และเป็นการแสดงความพร้อมร่วมกับรัฐบาลที่กำลังผลักดันนโยบาย ประเทศไทย 4.0

 

 

นายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคเสนอให้ปรับปรุงเงื่อนไขการประมูลที่สำคัญบางประการจากร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมย่าน 900 MHz (890-895 MHz/935-940 MHz) และย่าน 1800 MHz (1740-1785 MHz/1835-1880 MHz) ของ กสทช. เพื่อที่จะสามารถจัดสรรคลื่นความถี่ที่กำลังหมดสัมปทานในเดือนกันยายน 2561 มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนี้นับเป็นการเริ่มมิติใหม่ของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทย ที่ผู้ประกอบการทุกรายได้ก้าวจากยุคสัมปทานไปสู่ใบอนุญาตและแข่งขันบนกฎเกณฑ์กำกับดูแลเดียวกัน”

ที่ผ่านมา จะเห็นได้ชัดว่าประเทศไทยอยู่ในสถานการณ์ที่ขาดแคลนคลื่นความถี่ จากการเติบโตของการใช้งานอินเทอร์เน็ตบนมือถือและพฤติกรรมการใช้งานที่ก้าวสู่ดิจิทัล ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งภาครัฐที่กำลังผลักดันนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” การขาดแคลนคลื่นความถี่ได้ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยให้บริการ 4G ด้วยคุณภาพที่ต่ำกว่าเมื่อเทียบกับหลายประเทศ ทั่วโลก ทั้งๆ ที่ประเทศไทยมีจำนวนเสาโทรคมนาคมและสถานีฐานมากกว่า

ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้ปัญหาการขาดแคลนคลื่นความถี่ของประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ดีแทค จึงสนับสนุนการนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่กำลังจะว่างลงทั้งหมดจำนวน 2×45 MHz มาจัดประมูล เพื่อนำไปใช้งานให้เกิดประโยชน์สูงสุดตอบสนองความต้องการบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงบนมือถือที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่เนื่องจากความต้องการใช้คลื่นความถี่ของผู้เข้าประมูลแต่ละรายมีไม่เท่ากันซึ่งขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น  ปริมาณคลื่นความถี่ และย่านความถี่ที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน  ความพร้อมทางการเงิน  แผนการให้บริการ  ดังนั้น ดีแทค จึงเห็นว่า กสทช. ควรมีการจัดขนาดชุดคลื่นความถี่เป็นขนาดเล็กลงเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้เข้าประมูลแต่ละราย ซึ่งอาจมีความต้องการปริมาณคลื่นความถี่ที่แตกต่างกัน แต่ในขณะเดียวกัน ควรกำหนดเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดให้เหมาะสมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประมูลทุกรายสามารถแข่งขันในการประมูลเพื่อถือครองคลื่นสูงสุดได้โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข N-1

ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อการประมูลคลื่นความถี่

  • ยกเลิกข้อกำหนดกรณีผู้เข้าร่วมประมูลมีจำนวนเท่ากับหรือน้อยกว่าจำนวนใบอนุญาต หรือ N-1 โดยนำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ทีมีอยู่จำนวน 2×45 MHz ออกประมูลในคราวเดียวกันทั้งหมด เพื่อไม่ก่อให้เกิดปัญหาความขาดแคลนคลื่นความถี่ที่ประเทศไทยประสบอยู่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ N-1 เป็นกลไกการสร้างความขาดแคลนคลื่นความถี่เทียม  (Artificial Spectrum Scarcity) ที่จะส่งผลด้านลบมากกว่าผลดี
  • กำหนดชุดคลื่นความถี่เป็น 9 ชุด ขนาด 2×5 MHz  และกำหนดเพดานการถือครองคลื่นความถี่สูงสุดในย่าน 1800 MHz ทั้งหมด ไม่เกิน 2×30 MHz (Band-Specific Cap)  ซึ่งจะทำให้ตอบเสนอความต้องการของผู้เข้าประมูลแต่ละรายได้ดีกว่าการกำหนดชุดคลื่นความถี่ขนาด2×15 MHz เพียงขนาดเดียว และกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันในการประมูลคลื่น  โดยไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข N-1
  • กำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลในระดับที่จูงใจ และให้กลไกการแข่งขันเสนอราคาเป็นตัวกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่เหมาะสม ไม่ควรนำราคาชนะการประมูลในปี 2558 ที่สูงผิดปกติมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลในครั้งนี้ ราคาที่สูงเกินควรจะมีความเสี่ยงที่ กสทช. ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ทั้งหมด หรือ หากจัดสรรได้ก็จะเป็นภาระต้นทุนของผู้ชนะการประมูลในการลงทุนขยายโครงข่ายและลดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่จะกระทบต่อผู้บริโภคอีกทอดหนึ่งต่อไป
  • เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวทันประเทศต่างๆในการนำคลื่นความถี่มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่เพื่อพัฒนาคุณภาพบริการการใช้งานดาต้า จึงควรมีแผนการจัดสรรคลื่นความถี่แต่ละย่านความถี่ (Spectrum roadmap) ที่ชัดเจน เพื่อให้ผู้ต้องการใช้ความถี่ได้วางแผนการเข้าประมูลแต่ละย่านความถี่ เพื่อนำไปใช้งานตามแผนการลงทุน แผนธุรกิจ และใช้ในการแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ

#  #  #  #  #  #  #  #  #  #  #  #

ข้อมูลอ้างอิงการใช้งาน 4G

ข้อมูลรายงานจาก OpenSignal (https://opensignal.com/reports/2017/06/state-of-lte) ซึ่งเป็นสถาบันมาตรฐานระดับโลกในการวิเคราะห์ด้านโทรคมนาคม ได้ทำการทดสอบเปรียบเทียบคุณภาพความเร็วของบริการ 4G จาก ทั่วโลก พบว่าประเทศไทยมีคุณภาพความเร็ว 4G ที่ให้บริการเฉลี่ยอยู่ในอันดับรั้งท้าย คือ 66 จาก 76 ประเทศทั่วโลก  โดยตามหลังประเทศในภูมิภาคเดียวกัน คือ มาเลเซีย และกัมพูชา ซึ่งอยู่อันดับที่ 62 และ 65 ตามลำดับ

dtac attends public hearing on spectrum auction in support of Thailand 4.0 policy



ถูกใจบทความนี้  0