ฟอร์ด เผยผลสำรวจ ผู้บริโภคนิยมใช้เทคโนโลยีใหม่เพื่อการสัญจร

Tech on the Rise - Regional mobility survey_2

  ประวัติศาสตร์ของมนุษย์เต็มไปด้วยนวัตกรรมแห่งการสัญจร เริ่มตั้งแต่การคิดค้นล้อรถมาจนถึงยุครถม้า จากรถฟอร์ด โมเดลที ที่บุกเบิกการสัญจรให้เกิดขึ้นทั่วโลกจนมาสู่รถยนต์ล้ำสมัยในยุคปัจจุบัน ในวันนี้ภาพรวมของการขนส่งในอดีตจะผสมผสานเข้ากับเทคโนโลยีใหม่ที่มีความแตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง และพร้อมสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหม่ให้แก่โลกอีกครั้ง  

Tech on the Rise - Regional mobility survey_1

Tech on the Rise - Regional mobility survey_3

ผลการสำรวจของ ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี ในทั่วภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก พบว่า ผู้บริโภคเป็นผู้ขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เนื่องจากเทคโนโลยีได้ถูกออกแบบให้ใช้งานง่ายและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้นเพื่อช่วยผู้บริโภคในการวางแผนการเดินทาง ไม่ว่าจะเป็น การเลือกใช้รถยนต์ส่วนตัว รถยนต์สาธารณะ หรือการเลือกใช้ทั้งสองรูปแบบ

 “สมาร์ทโฟนได้รับการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วเพื่อให้เข้าถึงชีวิตประจำวันของเราบนท้องถนน และแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดก็เกี่ยวกับการค้นหาวิธีการสัญจรที่สร้างสรรค์เพื่อยกระดับการใช้ชีวิตของประชากร โดยมอบทางเลือกอันชาญฉลาดและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น” จอห์น ลาร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ด ประจำฟอร์ด เอเชียแปซิฟิก กล่าว

แผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดเป็นความมุ่งมั่นของบริษัทในการก้าวไปสู่การเป็นผู้นำในเรื่องการเชื่อมต่อสื่อสาร การสัญจร รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ การสร้างสรรค์ประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้ขับขี่ รวมทั้งการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล ฟอร์ดมุ่งศึกษาค้นคว้าและพัฒนาตั้งแต่เทคโนโลยี โครงสร้างกายภาพทางการสัญจร การเชื่อมต่ออัจฉริยะภายในรถยนต์ ความยืดหยุ่นในการเป็นเจ้าของและการแชร์รถ นวัตกรรมยานยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และอื่นๆ อีกหลายโครงการ

“ความท้าทายด้านการสัญจรมีความเฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่ และไม่มีที่ใดในโลกที่มีปัญหาหรือมีโอกาสที่เหมือนกัน แต่เราสามารถใช้เทคโนโลยีในการแก้ไขซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถานที่ต่างๆ ในโลกได้” ลาร์สัน กล่าว “เรากำลังมองหาสภาพแวดล้อมการสัญจรที่แตกต่างและพยายามใช้วิธีการที่ไม่เหมือนกัน เช่น การทดลองระบบใหม่ในการแชร์รถ หรือการพัฒนาแพลตฟอร์มการสัญจรที่ผู้คนสามารถมีตัวเลือกในการเดินทางที่แตกต่างกันไป และยังสามารถตัดสินใจใช้ตัวเลือกที่ดีที่สุดในทุกเวลา ทั้งหมดนี้เพื่อค้นหาตัวเลือกในทุกแนวทางการใช้งาน”

เทคโลยีบนท้องถนน
จากผลการสำรวจในแต่ละท้องที่ 1 ใน 4 ของผู้ทำแบบสอบถามใช้แอพบริการรถรับ-ส่งมากกว่า 1 ครั้งต่ออาทิตย์ในการเดินทาง โดยผู้ทำแบบสอบถามชาวจีนและอินเดียเป็นผู้ที่ใช้แอพบริการรถรับ-ส่งมากที่สุด อยู่ที่ 28 เปอร์เซ็นต์ในแต่ละประเทศ  ในขณะเดียวกันผู้ทำแบบสอบถามชาวออสเตรเลียและนิวซีแลนด์มีอัตราการใช้แอพบริการรถรับ-ส่งน้อยที่สุด อยู่ที่ 5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามชาวออสเตรเลียและ 3 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามชาวนิวซีแลนด์ที่ใช้แอพบริการรถรับ-ส่งเป็นประจำ

เมื่อดูผลสำรวจทั่วทั้งภูมิภาค อัตราการใช้แอพดังกล่าวมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา 32 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมด โดยมีอินเดีย (42 เปอร์เซ็นต์) และจีน (33 เปอร์เซ็นต์) เป็นสองประเทศหลักที่ขับเคลื่อนให้อัตราการใช้แอพบริการรถรับ-ส่งมีแนวโน้มสูงขึ้น ในขณะที่ประเทศนิวซีแลนด์ (7 เปอร์เซ็นต์)  ไต้หวัน (9 เปอร์เซ็นต์) และออสเตรเลีย (12 เปอร์เซ็นต์) นั้นมีอัตราการใช้แอพบริการรถรับ-ส่งเพิ่มขึ้นน้อยที่สุด

โปรแกรมการแชร์รถได้กลายเป็นอีกหนึ่งแอพยอดนิยม โดย 1 ใน 5 ของผู้ทำแบบสอบถามกล่าวว่า การใช้แพลตฟอร์มการแชร์รถของพวกเขาเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา ผู้ทำแบบสอบถามชาวอินเดียมีอัตราการแชร์รถสูงที่สุด อยู่ที่ 33 เปอร์เซ็นต์ ตามด้วยผู้ทำแบบสอบถามชาวจีน (19 เปอร์เซ็นต์) และชาวมาเลเซีย (16 เปอร์เซ็นต์)

“ในหลายๆ พื้นที่ โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ชุมชนเมือง โปรแกรมการแชร์รถมีประโยชน์อย่างมาก เรากำลังศึกษาระบบการแชร์รถในประเทศสหรัฐอเมริกา ทวีปยุโรป และภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก เพื่อค้นหาวิธีที่จะพัฒนาระบบการแชร์รถให้ดียิ่งขึ้น” ลาร์สัน กล่าว “ตัวอย่างเช่นประเทศอินเดีย เรากำลังนำร่องทดลองใช้แผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดเพื่อค้นหาระบบการแชร์รถในหมู่คนใกล้ชิด เช่น ครอบครัวหรือเพื่อนร่วมงาน”

จากผลการสำรวจพบว่า มีการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากที่สุดสำหรับการสัญจรในประเทศไทย โดย 77 เปอร์เซ็นต์ใช้รถยนต์ส่วนตัวในการเดินทางเป็นประจำ หรือมากกว่า 1 ครั้งต่ออาทิตย์ และเป็นอีกหนึ่งประเทศร่วมกับนิวซีแลนด์ที่มีอัตราการใช้รถยนต์ส่วนตัวมากที่สุด โดยผลการสำรวจการเดินทางของผู้ทำแบบสอบถามชาวไทยมีดังนี้
• รถยนต์ส่วนตัว: 77 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามทั้งหมด
• รถไฟฟ้าใต้ดิน รถราง หรือ รถไฟ: 32 เปอร์เซ็นต์
• รถประจำทาง: 32 เปอร์เซ็นต์
• รถมอเตอร์ไซค์รับจ้าง: 29 เปอร์เซ็นต์
• รถแท็กซี่: 28 เปอร์เซ็นต์
• สกูตเตอร์ไฟฟ้า หรือ มอเตอร์ไซค์: 17 เปอร์เซ็นต์
• การใช้แอพบริการรถรับ-ส่ง: 15 เปอร์เซ็นต์
• การแชร์รถ 9 เปอร์เซ็นต์

ผู้ทำแบบสอบถามชาวไทยเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีอัตราการใช้วิธีการสัญจรแบบคละรูปแบบสูง โดยมากกว่าครึ่งของผู้ทำแบบสอบถามได้ใช้วิธีการสัญจรมากกว่า 1 รูปแบบในการเดินทางหนึ่งครั้ง หรือมากกว่าสองครั้งในแต่ละอาทิตย์ มีแค่ 8 เปอร์เซ็นต์ที่กล่าวว่า พวกเขาไม่เคยใช้มากกว่าหนึ่งรูปแบบการสัญจรในการเดินทาง นอกจากนี้ผลสำรวจยังพบว่า การใช้รถยนต์ส่วนตัวมีอัตราเพิ่มขึ้น 40 เปอร์เซ็นต์ และเป็นรูปแบบการสัญจรที่ผู้ทำแบบสอบถามเลือกใช้มากที่สุด ทั้งยังเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา สำหรับการสัญจรในรูปแบบอื่นที่ผู้ทำแบบสอบถามใช้เพิ่มขึ้น ได้แก่ รถไฟฟ้าใต้ดิน รถราง หรือ รถไฟ (27 เปอร์เซ็นต์) รถประจำทาง (20 เปอร์เซ็นต์) และการใช้แอพบริการรถรับ-ส่ง (17 เปอร์เซ็นต์) และ 12 เปอร์เซ็นต์ของผู้ทำแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาใช้โปรแกรมการแชร์รถบ่อยขึ้นมากกว่าปีที่ผ่านมา

นวัตกรรมจากฟอร์ดเพื่อการสัญจรในอนาคต
แรงบันดาลใจเบื้องหลังแผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดคือ แนวโน้มใหญ่ระดับโลกทั้ง 4 ประการที่กำลังเปลี่ยนแปลงโลกใบนี้ ได้แก่ จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล การขยายตัวของชนชั้นกลาง การให้ความสนใจด้านสุขภาพและคุณภาพอากาศ และการเปลี่ยนแปลงทางด้านความคิดและการจัดลำดับความสำคัญต่างๆ ของผู้บริโภค

การหาแนวทางแก้ไขปัญหาสำหรับความท้าทายที่แตกต่างแต่มีความคล้ายคลึงกันนี้ต้องอาศัยการริเริ่มหลายรูปแบบ ขณะที่ผู้คนปรับเปลี่ยนความคิดว่าการมีรถยนต์ไว้ในครอบครองในโลกที่มีประชากรเพิ่มขึ้นนั้นหมายถึงอะไร ฟอร์ดได้ทำการสำรวจโครงการแชร์รถจากทั่วโลก รวมถึงการทำวิจัยโครงการที่เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย

สำหรับการทดลองที่เมืองบังกาลอร์นี้ ฟอร์ดได้ร่วมมือกับซูมคาร์ (ZoomCar) เพื่อสำรวจการแชร์รถยนต์ในชุมชนเล็กๆ อย่างเช่น ในละแวกเพื่อนบ้าน ระหว่างครอบครัวและที่ทำงาน ข้อมูลที่ได้จากรถฟอร์ดเอคโค่สปอร์ตที่มีการติดตั้งโปรแกรมพิเศษนี้จะนำไปใช้เพื่อวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ขับขี่และตรวจสอบว่ามีการใช้งานรถยนต์อย่างไรบ้าง สิ่งนี้จะช่วยพัฒนาระบบใหม่ในการจัดตารางการใช้รถและการบริหารสิทธิในการครอบครองผ่านแพลตฟอร์มการแชร์รถยนต์

แผนการสัญจรอัจฉริยะของฟอร์ดยังได้รวบรวมนวัตกรรมต่างๆ ที่มีในรถยนต์ฟอร์ดทั่วโลกเข้าไว้ด้วยกัน รวมถึงระบบเชื่อมต่อการสื่อสารภายในรถยนต์รุ่นล่าสุด ซิงค์ (SYNC) และฟีเจอร์ช่วยในการขับขี่กึ่งอัตโนมัติอย่างเช่นระบบควบคุมความเร็วอัตโนมัติแบบรักษาระยะห่างระหว่างรถคันหน้า (Adaptive Cruise Control) และโครงการวิจัยระยะยาวต่างๆ เช่น โปรแกรมรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติแบบเต็มรูปแบบของฟอร์ด ภายในสิ้นปีนี้ ฟอร์ดจะมีจำนวนรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจำนวนมากที่สุดในบรรดาผู้ผลิตรถยนต์ทั้งหมด โดยมีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติจำนวน 30 คันที่ได้รับการทดสอบในสภาพอากาศที่แตกต่างกันในสหรัฐอเมริกา การทดสอบล่าสุดได้ใช้รถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติของฟอร์ดให้ขับเคลื่อนในความมืดโดยไม่เปิดไฟหน้าและยังได้ส่งรถยนต์ดังกล่าวไปทดลองขับเคลื่อนในสภาพอากาศที่มีหิมะปกคลุมเป็นครั้งแรกของวงการรถยนต์

เมื่อเร็วๆ นี้ ฟอร์ดได้ประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม FordPass ที่มอบนิยามใหม่ด้านความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิตรถยนต์และผู้บริโภค โดย FordPass ได้รับการออกแบบเพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงบริการด้านการสัญจรได้จาก Marketplace การชำระค่าบริการต่างๆ ได้จาก FordPay การโต้ตอบกับผู้ช่วยส่วนตัวด้านการสัญจรไม่ว่าจะเป็นตอนกลางวันหรือกลางคืนกับ FordGuides และทุกการใช้งานจะกลายเป็นแต้มสะสมสำหรับสมาชิกเพื่อรับรางวัลและสิทธิพิเศษอีกด้วย แพลตฟอร์ม FordPass ยังรวมถึง FordHubs ศูนย์มอบประสบการณ์ของฟอร์ด ซึ่งผู้บริโภคสามารถเรียนรู้เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการสัญจรล่าสุดจากฟอร์ด

ฟอร์ดถือเป็นผู้นำด้านการเชื่อมต่อสื่อสารภายในรถยนต์ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2550 เมื่อฟอร์ดได้เปิดตัวระบบซิงค์ในรถยนต์เป็นครั้งแรก ระบบซิงค์รุ่นแรกมอบการสั่งการด้วยเสียงง่ายๆ สำหรับการโทรออกและรับสาย รวมถึงควบคุมฟีเจอร์ต่างๆ เช่น เพลงและวิทยุ ช่วยให้ผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องละมือจากพวงมาลัยหรือละสายตาจากท้องถนน สำหรับระบบซิงค์ 3 รุ่นล่าสุด ฟอร์ดมอบการสั่งงานด้วยเสียงที่เป็นธรรมชาติยิ่งกว่าเคยและยังผสานการทำงานกับ SYNC AppLink ที่ช่วยให้ผู้ขับขี่ใช้การสั่งงานด้วยเสียงเพื่อควบคุมแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนได้

“ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ขณะเดินทาง การเรียกดูสภาพการจราจรแบบเรียลไทม์ หรือการจองรถยนต์ผ่านทางแอพ เทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงวิธีการสัญจรของพวกเราอย่างรวดเร็ว” ลาร์สันกล่าว “ฟอร์ดกำลังมองหาแนวทางในการผสานวัตกรรมเหล่านี้เข้ากับรถยนต์ของเรา เพื่อช่วยให้การสัญจรสะดวกสบายยิ่งขึ้นและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน”

# # #

รายละเอียดเกี่ยวกับการสำรวจ: การสำรวจออนไลน์ครั้งนี้จัดทำขึ้นโดย GlobalWebIndex ให้กับฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี  โดยมีผู้ร่วมตอบแบบสอบถามทั้งหมด 12,619 คน จาก 12 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย  (1,053 คน) จีน (1,058  คน)  เขตบริหารพิเศษฮ่องกงแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ( 1,047 คน) อินเดีย (1,050 คน) อินโดนีเซีย (1,052 คน) มาเลเซีย (1,050 คน) นิวซีแลนด์ (1,050 คน) ฟิลิปปินส์ (1,052 คน) เกาหลีใต้ (1,057 คน) เกาะไต้หวัน (1,050 คน) ไทย (1,049 คน) และเวียดนาม (1,051 คน) โดยได้ทำการสำรวจเสร็จสิ้นลงเมื่อเดือนมกราคม 2559 ที่ผ่านมา


ข้อมูลเกี่ยวกับฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี
ฟอร์ด มอเตอร์ คัมปะนี เป็นบริษัทชั้นนำระดับโลกในอุตสาหกรรมยานยนต์และการสัญจร ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ที่เมืองเดียร์บอร์น มลรัฐมิชิแกน  ประเทศสหรัฐอเมริกา มีพนักงานรวมประมาณ 201,000 คน และมีโรงงาน 67 แห่งทั่วโลก โดยธุรกิจหลักของบริษัท ได้แก่ การออกแบบ ผลิต ทำการตลาด การให้บริการด้านการเงิน และบริการหลังการขาย สำหรับรถยนต์ รถกระบะ รถเอสยูวี และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ในแบรนด์ฟอร์ด และ แบรนด์ลินคอล์น ซึ่งเป็นแบรนด์ในตลาดรถหรู  ในขณะเดียวกัน บริษัทมีความมุ่งมั่นอย่างตั้งใจในการเดินหน้าแผนการสัญจรอัจฉริยะเพื่อก้าวไปสู่การเป็นผู้นำด้านการเชื่อมต่อ การสัญจร การควบคุมรถยนต์แบบไร้ผู้ขับขี่ การมอบประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า รวมไปถึงการเก็บและวิเคราะห์ข้อมูล หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับฟอร์ด ในด้านผลิตภัณฑ์ หรือ บริษัท ฟอร์ด มอเตอร์ เครดิต โปรดเยี่ยมชมเว็บไซต์ที่ www.corporate.ford.com



ถูกใจบทความนี้  0