ผลสำรวจไมโครซอฟท์-ไอดีซี ชี้“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” พร้อมขับเคลื่อน GDP ไทยให้เติบโตสูงขึ้นกว่า 2.82 แสนล้านบาทในปี 2564

งานแถลงข่าว ไมโครซอฟท์เผยผลสำรวจไมโครซอฟท์-ไอดีซี ชี้“ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น” พร้อมขับเคลื่อน GDP ไทยให้เติบโตสูงขึ้นกว่า 2.82 แสนล้านบาทในปี 2564 นำโดย (ขวาสุด) นายอัลเบอร์โต้ กรานาดอส รองประธานฝ่ายการขาย ไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก (ซ้ายสุด) นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด (ที่สองจากขวา) นายไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ และ (ที่สองจากซ้าย) คุณปริยา จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ดิจิทัลและการตลาดรายได้เสริมองค์กรบริษัท การบินไทย (จำกัด) มหาชน

 

    • รายงานวิจัยที่ไอดีซีจัดทำขึ้นร่วมกับไมโครซอฟท์ คาดการณ์ว่าผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลจะสร้างมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 40 ของ GDP ของประเทศไทยในปี 2564 พร้อมเสริมให้อัตราการเติบโตปีของ GDP ไทยสูงขึ้นด้วยค่าเฉลี่ยราว 0.4% ต่อปี
    • การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) ส่งผลให้องค์กรมีผลกำไรที่ดีขึ้น ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสร้างรายได้เพิ่มเติมได้จากทั้งผลิตภัณฑ์และบริการทั้งที่มีอยู่เดิม และที่คิดค้นขึ้นใหม่ด้วยเทคโนโลยี โดยภายใน 3 ปีข้างหน้านี้ องค์กรจะได้รับผลประโยชน์ในด้านต่างๆ ดังกล่าวเพิ่มสูงขึ้นไม่น้อยกว่า 40%
    • องค์กรที่เป็นผู้นำในการปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะได้รับผลประโยชน์มากกว่ากลุ่มผู้ตามถึงหนึ่งเท่าตัว
    • การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะช่วยให้คนไทยมีรายได้มากขึ้น ผ่านทางงานอิสระและงานเชิงดิจิทัล พร้อมด้วยตำแหน่งงานใหม่ๆ ที่มีระดับรายได้สูงกว่าในปัจจุบัน

     

    กรุงเทพฯ  20 กุมภาพันธ์ 2561 – รายงานวิจัย ปลดล็อคโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล ที่จัดทำขึ้นโดยไมโครซอฟท์และไอดีซี เอเชียแปซิฟิก เผยว่าการปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 2.82 แสนล้านบาท ภายในปี 2564 และขับเคลื่อนให้อัตราการเติบโตของ GDP เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 0.4% ต่อปี

    นอกจากนี้ รายงานฉบับนี้ยังคาดการณ์ว่ากระบวนการการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้นมากในอนาคต จากที่ในปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์และบริการที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในด้านอุปกรณ์พกพา คลาวด์ IoT (Internet of Things) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) สามารถสร้างมูลค่า GDP ให้กับประเทศไทย คิดเป็นอัตราส่วนราว 4% เท่านั้น

    “ประเทศไทยกำลังเร่งเครื่องเพื่อเดินหน้าต่อไปบนเส้นทาง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น อย่างรวดเร็ว โดยภายในช่วง 4 ปีข้างหน้า เราคาดว่ามูลค่า GDP จากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลจะพุ่งสูงขึ้นเป็นราว 40%” นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าว “ในขณะเดียวกัน องค์กรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างก็นำเทคโนโลยีล่าสุดอย่าง AI มาใช้งานเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปฏิรูปธุรกิจ ซึ่งจะมีผลให้การเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลยิ่งรวดเร็วขึ้นไปอีก”

    รายงานวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซี ได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้บริหารในองค์กรขนาดกลางและใหญ่จำนวน 1,560 ท่าน ใน 15 ประเทศและเขตการปกครองทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเผยถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล

    สำหรับในประเทศไทย ผู้บริหารรวม 100 ท่าน ได้ระบุถึงประโยชน์หลัก 5 ประการที่องค์กรได้รับจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ดังต่อไปนี้

    ทั้งนี้ ผู้บริหารที่เข้าร่วมการสำรวจมองว่าองค์กรของตนจะได้รับผลประโยชน์ในด้านต่างๆ เหล่านี้มากขึ้นอีกกว่า 40% ภายในปี 2563 โดยเฉพาะในด้านการสร้างรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการรูปแบบใหม่

    ผู้นำโลกดิจิทัลทั่วเอเชียแปซิฟิก พร้อมชิงชัยคว้าโอกาสเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ

    รายงานวิจัยฉบับนี้พบว่ากว่า 82% ขององค์กรในประเทศไทยได้เริ่มเดินหน้าบนเส้นทาง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แล้ว แต่หากถอยมามองในภาพรวมระดับภูมิภาค กลับมีองค์กรเพียงแค่ 7% เท่านั้น ที่มีศักยภาพและกลยุทธ์เชิงดิจิทัลอยู่ในระดับผู้นำ ทั้งนี้ องค์กรที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัลจะต้องมีกลยุทธ์สำหรับการปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสาม โดยขณะนี้ เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้องค์กรในกลุ่มผู้นำนี้สามารถยกระดับประสิทธิภาพและผลงานขององค์กรได้ราว 20-30% ในแต่ละด้าน

    เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรในกลุ่มผู้ตามแล้ว ผู้นำเชิงดิจิทัลจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปธุรกิจมากกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตามราวหนึ่งเท่าตัว และช่องว่างนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกในปี 2563 ปัจจุบัน ราวครึ่งหนึ่งขององค์กรในกลุ่มผู้นำมีกลยุทธ์ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่นเต็มรูปแบบไว้ขับเคลื่อนการทำงานขององค์กรแล้ว

    “การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลเป็นกระแสความเคลื่อนไหวที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ โดยไอดีซีคาดว่าในปี 2564 กว่า 48% ของ GDP ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีที่มาจากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัล ในขณะที่ประเทศไทยมีอัตราส่วนนี้อยู่ที่ 40% ซึ่งถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่การเติบโตและพัฒนาของทุกภาคอุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์ บริการ ระบบงาน และความร่วมมือที่ล้วนผ่านการยกระดับด้วยนวัตกรรมดิจิทัล ส่วนองค์กรในกลุ่มผู้นำจะสามารถสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ดีกว่ากลุ่มผู้ตามถึงหนึ่งเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นในด้านประสิทธิผลการทำงาน การลดค่าใช้จ่าย หรือเสียงสนับสนุนจากฐานลูกค้า องค์กรที่ต้องการจะแข่งขันในตลาดได้อย่างทัดเทียม จะต้องเปลี่ยนระบบการประเมินผลงานขององค์กร ปรับโครงสร้างการทำงาน และออกแบบแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ใช้งานอยู่ขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสม” นายไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ กล่าว

    รายงานวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซี เผยให้เห็นถึงข้อแตกต่างหลักๆ ระหว่างองค์กรในระดับผู้นำและผู้ตามเชิงดิจิทัลไว้ดังนี้

    • องค์กรกลุ่มผู้นำจะให้ความสนใจกับคู่แข่งและเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่า เนื่องจากระบบเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้เปิดทางให้กับคู่แข่งทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่เช่น AI ที่เข้ามาพลิกโฉมรูปแบบการทำธุรกิจในหลายมิติ
    • ความคล่องตัวในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับองค์กรในระดับผู้นำ ขณะที่กลุ่มผู้ตามมักมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานและศักยภาพในการทำกำไร
    • องค์กรหลายรายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เริ่มหันมาวัดผลการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลด้วยเกณฑ์วัดผล (KPI) ในรูปแบบใหม่ๆ เช่นประสิทธิภาพของระบบงาน การใช้ข้อมูลให้เกิดประโยชน์กับผลประกอบการ และการเสริมสร้างความผูกพันของลูกค้ากับองค์กร ซึ่งวัดได้ด้วยระบบคะแนน Net Promoter Score (NPS) ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว องค์กรในระดับผู้นำมีความสนใจในด้านการใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มรายได้ เสริมประสิทธิภาพการทำงาน และพลิกรูปแบบการทำธุรกิจ มากกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตามเป็นอย่างมาก
    • องค์กรในกลุ่มผู้นำเล็งเห็นถึงและเข้าใจในอุปสรรคบนเส้นทางการปฏิรูปธุรกิจมากกว่ากลุ่มผู้ตาม โดยนอกจากประเด็นปัญหาด้านการขาดทักษะและความปลอดภัยเชิงไซเบอร์แล้ว องค์กรระดับผู้นำยังตระหนักดีถึงความจำเป็นในการเสริมศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการแข่งขันในตลาด
    • องค์กรระดับผู้นำต่างสนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยี AI และ IoT ในปี 2561 นี้ และยังมีความมุ่งมั่นที่จะลงทุนในด้านศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลสูงกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตามอีกด้วย

    องค์กรในกลุ่มผู้นำแตกต่างจากองค์กรอื่นๆ อย่างชัดเจน ด้วยความสามารถในการคว้าโอกาสจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ด้วยคุณลักษณะเฉพาะตัวเชิงวัฒนธรรมขององค์กรดังต่อไปนี้

    “องค์กรในยุคนี้ควรปรับแนวคิดให้เป็นไปตามแนวทางของกลุ่มผู้นำในโลกดิจิทัล เพื่อพัฒนาระบบนิเวศเชิงดิจิทัลในองค์กร ทั้งสำหรับพนักงาน ลูกค้า และพันธมิตร และเพิ่มมูลค่าให้กับระบบงานขององค์กรในภาพรวม” นายอัลเบอร์โต้ กรานาดอส รองประธานฝ่ายขาย การตลาด และบริการ ไมโครซอฟท์ เอเชีย แปซิฟิก กล่าว “ไมโครซอฟท์เองมีศักยภาพที่แตกต่างและโดดเด่นกว่าใครในการสนับสนุนให้องค์กรต่างๆ ทั่วทั้งภูมิภาคนี้ได้ก้าวสู่ความสำเร็จบนเส้นทาง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เราสามารถพูดเช่นนี้ได้อย่างมั่นใจ เพราะว่าองค์กรของเราเองก็ได้ผ่านกระบวนการปฏิรูปนี้มาแล้วเช่นกัน เราจึงเข้าใจดีว่าการบรรลุผลสำเร็จในโลกดิจิทัลนั้น จำเป็นต้องอาศัยปัจจัยใดบ้าง”

    ผลประโยชน์จาก ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น ครอบคลุมถึงหลากหลายภาคส่วนในสังคม

    ผู้บริหารองค์กรที่เข้าร่วมการสำรวจในครั้งนี้เชื่อว่าการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะก่อให้เกิดประโยชน์กับสังคม 3 ประการใหญ่ๆ ดังต่อไปนี้

    1. โอกาสในการสร้างรายได้ส่วนบุคคล ผ่านทางงานอิสระและงานเชิงดิจิทัล
    2. การเปิดตำแหน่งงานใหม่ที่มีรายได้สูงขึ้น
    3. สังคมเมืองที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ปลอดภัยขึ้น รองรับวิถีชีวิตที่ชาญฉลาดยิ่งขึ้น

    ผู้บริหารในประเทศไทยเชื่อว่าตำแหน่งงานกว่า 95% จะมีเนื้องานหรือขอบเขตการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในช่วง 3 ปีข้างหน้านี้ ด้วยผลกระทบจากปรากฏการณ์ ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น โดยตำแหน่งงานถึง 65% จะมีมูลค่าและความต้องการด้านทักษะเพิ่มสูงขึ้น หรือปรับเปลี่ยนรูปแบบไปในทิศทางใหม่ เพื่อให้ตอบรับความต้องการของสังคมยุคดิจิทัล

    “การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลในแถบเอเชียแปซิฟิกจะมีผลกระทบกับตลาดแรงงาน โดยตำแหน่งงานหลายประเภทอาจจะเปลี่ยนแปลงหรือพัฒนารูปแบบไปในทิศทางใหม่ๆ อย่างไรก็ดี กว่า 79% ของผู้บริหารที่เข้าร่วมการสำรวจมองว่าบุคลากรรุ่นใหม่ในองค์กรของตน มีทักษะแห่งอนาคตมากเพียงพอให้พวกเขาสามารถขยับขยายไปรับมือกับตำแหน่งงานใหม่ได้” นายธนวัฒน์เผย

    แนวทางการคว้าโอกาสในยุคแห่งการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล

    องค์กรในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างต้องเร่งเครื่องเดินหน้าบนเส้นทาง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น เพื่อคว้าโอกาสใหม่ๆ ให้ได้คุ้มค่าที่สุด และปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่จากการเริ่มประยุกต์ใช้งาน AI อย่างแพร่หลาย ยิ่งไปกว่านั้น ทุกองค์กรยังต้องหันมาให้ความสนใจกับการแปรรูปทรัพยากรข้อมูลในมือให้กลายเป็นมุมมองใหม่ๆ ในตลาด โอกาสในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลรูปแบบใหม่ หรือแม้แต่ช่องทางการสร้างรายได้จากการแลกเปลี่ยนข้อมูลกับคู่ค้าอย่างปลอดภัย

    คุณปริยา จุลกะรัตน์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายการพาณิชย์ดิจิทัลและการตลาดรายได้เสริมองค์กร บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เผยว่า “การบินไทยได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาปรับใช้ภายในองค์กร ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจให้เติบโตต่อไปเท่านั้น แต่เรายังต้องการพลิกธุรกิจให้ทันวันพรุ่งนี้ การตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่อง จำเป็นต้องอาศัยความเข้าใจที่ลึกซึ้งในตัวลูกค้าเอง ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญในทุกภารกิจของเรา”

    เมื่อเร็วๆ นี้ การบินไทยได้ยกระดับประสบการณ์การบริการลูกค้าด้วยการเปิดตัว “น้องฟ้า” แชทบอทที่นำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ในการตอบคำถามและข้อสงสัยของลูกค้า โดยสามารถสนทนากับลูกค้าได้ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ “น้องฟ้า” พัฒนาขึ้นโดยใช้ชุดเครื่องมือการพัฒนาบอทของไมโครซอฟท์ (Microsoft Bot Framework) และบริการบอทสำหรับแพลตฟอร์มคลาวด์ ไมโครซอฟท์ อาซัวร์ (Azure Bot Service) จึงทำให้สามารถตอบสนองทุกข้อซักถามได้อย่างทันท่วงทีตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นในด้านข้อเสนอพิเศษ การเช็กอินออนไลน์ ตารางเที่ยวบิน สินค้า และบริการเสริมมากมาย และหากคำถามใดที่บอท “น้องฟ้า” ไม่สามารถให้คำตอบได้ ลูกค้าสามารถเลือกติดต่อเจ้าหน้าที่ต่อไปได้

    นอกจากนี้ การบินไทยยังมีแผนที่จะพัฒนาเว็บไซต์รูปแบบใหม่ที่นำข้อมูลของลูกค้ามาใช้เป็นพื้นฐานในการปรับเปลี่ยนข้อมูลและเนื้อหาที่แสดงบนหน้าเว็บให้ตรงกับความสนใจของผู้เยี่ยมชมแต่ละคน ขณะที่แอปพลิเคชันสำหรับสมาร์ทโฟน ของการบินไทยก็จะได้รับการพัฒนาต่อยอดให้มีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

    “ยุคนี้เป็นยุคของการพลิกธุรกิจด้วยคลาวด์ จึงทำให้เราสามารถเสริมศักยภาพของพนักงานให้ได้เข้าถึงระบบการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อทำความเข้าใจกับลูกค้าให้ลึกซึ้งกว่าเดิม และนำความเข้าใจนี้ไปยกระดับบริการของเราให้ตรงกับความต้องการของพวกเขามากยิ่งขึ้น เรามุ่งหวังให้พนักงานของเราสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ ในระบบงาน ที่ทบรวมกันจนเกิดเป็นความประทับใจที่เหนือกว่าสำหรับลูกค้า” คุณปริยาเสริม

    ไมโครซอฟท์แนะนำให้องค์กรต่างๆ เดินหน้าสู่สถานะความเป็นผู้นำบนเส้นทางการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ภายใต้กลยุทธ์ดังนี้

    1. วางรากฐานวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล – องค์กรในปัจจุบันต้องพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานภายในอย่างแน่นแฟ้น ควบคู่ไปกับความสัมพันธ์อันดีกับลูกค้าและคู่ค้าหลากหลายราย โดยองค์กรสามารถนำข้อมูลมาวิเคราะห์และประยุกต์ใช้เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ในหลายด้าน จนทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของทั้งลูกค้าและคู่ค้าได้ดียิ่งขึ้น
    2. พัฒนาระบบนิเวศเชิงข้อมูล – ในโลกยุคดิจิทัล องค์กรทุกแห่งต่างมีกระแสข้อมูลไหลเข้ามามากมาย ทั้งจากแหล่งภายในและภายนอกองค์กร กุญแจสำคัญที่จะทำให้องค์กรก้าวสู่ความเป็นผู้นำในยุคดิจิทัลได้ คือการแปรรูปข้อมูลเหล่านี้ให้กลายเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่า และการแบ่งปันแลกเปลี่ยนข้อมูลทั้งภายในและภายนอกองค์กร ในรูปแบบที่ทั้งเปิดกว้างและปลอดภัยควบคู่กันไป นอกจากนี้ การวางกลยุทธ์ด้านข้อมูลให้เหมาะสมกับแนวทางการปฏิบัติงานจะช่วยให้องค์กรสามารถเริ่มต้นพัฒนาระบบ AI ของตนเองได้ เพื่อเสริมศักยภาพในด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ค้นหามุมมองและแนวทางใหม่ๆ ในการทำธุรกิจต่อไป
    3. เปลี่ยนแปลงจากเรื่องเล็ก ทบผลไปสู่เรื่องใหญ่ – โดยส่วนใหญ่แล้ว การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลไม่ได้เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทั่วทั้งองค์กร แต่กลับออกเดินก้าวแรกด้วยการเปลี่ยนแปลงจุดเล็กๆ จำนวนมาก ผ่านทางโครงการขนาดย่อมที่ใช้เวลาไม่นาน ทำประโยชน์ให้กับธุรกิจได้อย่างเห็นผล และสามารถต่อยอดหรือขยายตัวไปสู่การดำเนินนโยบายเชิงดิจิทัลในรูปแบบที่กว้างขวางและแปลกใหม่ยิ่งขึ้นต่อไป
    4. ปลูกฝังทักษะแห่งอนาคต ทั้งในระดับบุคคลและองค์กร – องค์กรในปัจจุบันต้องหันมาพิจารณาแนวทางการพัฒนาบุคลากรและการปรับพื้นฐานทักษะของพนักงาน เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถพร้อมรับมือกับความท้าทายในอนาคต เช่นการแก้ไขปัญหาที่ซับซ้อน การคิดวิเคราะห์ หรือความคิดสร้างสรรค์เชิงเศรษฐกิจดิจิทัล นอกจากนี้ องค์กรยังต้องปรับสมดุลเชิงบุคลากรเพื่อให้สามารถดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความถนัดในเชิงดิจิทัลได้ ควบคู่ไปกับการใช้ประโยชน์จากความยืดหยุ่นของกลุ่มคนทำงานอิสระสำหรับความต้องการเฉพาะทางในบางโอกาส สำหรับทักษะที่จำเป็นในยุคดิจิทัลนั้น ทาง LinkedIn ได้สรุปผลงานวิจัยเอาไว้ว่าบุคลากรที่จะประสบความสำเร็จในอนาคตนั้น ต้องอาศัย 3 ทักษะ “ABC” ซึ่งได้แก่ AI, Big Data และ Cloud Computing

    ผู้สนใจสามารถค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับโซลูชั่นเพื่อการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลของไมโครซอฟท์ สำหรับองค์กรขนาดกลางและใหญ่ได้ที่ https://enterprise.microsoft.com/en-apac/

    ###

     

    ข้อมูลเกี่ยวกับไมโครซอฟท์

    บริษัท ไมโครซอฟท์ (Nasdaq “MSFT” @Microsoft) ผู้นำระดับโลกในด้านการพัฒนาแพลตฟอร์มและบริการที่มุ่งเสริมประสิทธิภาพการสร้างสรรค์ในโลกยุคโมบายและคลาวด์ เพื่อขับเคลื่อนทุกคนและทุกองค์กรทั่วโลกให้บรรลุผลสำเร็จทีดียิ่งกว่า

    บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ก่อตั้งขึ้นในปี 2536  มีความมุ่งมั่นในการช่วยให้คุณภาพชีวิตคนไทย 70 ล้านคน ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์   ไมโครซอฟท์ ส่งเสริมให้คนไทยและภาคธุรกิจได้ตระหนักถึงศักยภาพที่มีอย่างเต็มเปี่ยมผ่านการใช้เทคโนโลยีที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลง ในการทำงาน การใช้ชีวิต และการสื่อสาร  ไมโครซอฟท์ให้บริการซอฟต์แวร์ บริการ และดีไวซ์ ที่สามารถก่อให้เกิดโอกาสใหม่ๆ  มีความสะดวกทันสมัย  และช่วยให้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  ไมโครซอฟท์ ไม่หยุดนิ่งในการทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ พันธมิตร อย่างต่อเนื่องในการนำพลังของเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทย



ถูกใจบทความนี้  2