รีวิว Asus Zenfone 4 Pro Selfie สายเซลฟี่ก็มา

Asus Zenfone 4 Selfie Pro สมาร์ทโฟนที่เห็นแค่ชื่อก็รู้แล้วว่าจะมีจุดเด่นในด้านใดซึ่งแน่นอนว่าความตั้งใจของทางแบรนด์สำหรับรุ่นนี้ก็คือทำมาเพื่อสายเซลฟี่โดยเฉพาะ ด้วยกล้องหน้าคู่ความละเอียด 12+8 ล้านพิกเซลที่สามารถใช้ทำภาพแบบชัดตื้นหรือหน้าชัดหลังเบลอได้ และตัวเครื่องมาพร้อมสเปคมาตรฐานของสมาร์ทโฟนระดับกลางแห่งปี 2017 คือใช้งานชิปเซ็ต Snapdragon 625 ซึ่งก็ไม่น่ากังวลเรื่องการใช้งานทั่วไปนักแต่สำหรับคอเกมส์ดูจะไม่เหมาะเท่าไหร่ อย่างไรก็ตามกลับตั้งราคามาสูงเกินตัวไปพอควรซึ่งจะจริงอย่างที่พูดมั้ยคงต้องมาอ่านรีวิวกันต่อแล้วล่ะ 

Asus Zenfone 4 Selfie Pro Specs:
– หน้าจอ AMOLED ขนาด 5.5 นิ้ว ความละเอียด Full HD
– Chipset: Qualcomm MSM8953 Snapdragon 625
– CPU: Octa-core 2.0 GHz Cortex-A53
– GPU: Adreno 506
– RAM 4GB
– หน่วยความจำตัวเครื่อง 64GB
– รองรับ Micro SD Card (Hybrid Slot)
– กล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล พร้อมระบบโฟกัสแบบ Dual Pixel และไฟแฟลช LED
– รองรับการถ่ายวิดีโอความละเอียด 2160p@30fps, 1080p@30/60fps, 720p@120fps
– กล้องหน้าคู่ความละเอียด 12+8 ล้านพิกเซล
– Wi-Fi 802.11 b/g/n, WiFi Direct, hotspot
– Bluetooth 4.2,A2DP, EDR, LE
– Fingerprint Scanner
– Fast Charging
– Battery 3,000mAh
– Android 7.1 Nougat
– ขนาดตัวเครื่อง 154 x 74.8 x 6.9มม.
– น้ำหนัก 147 กรัม
– ราคา 13,990 บาท

แกะกล่อง

กล่องของ Asus Zenfone 4 Selfie Pro เป็นกล่องสีขาวล้วนพร้อมหน้าตาที่เกี่ยวกับตัวเครื่องในรูปแบบภาพการออกแบบตัวเครื่องซึ่งดูเผินๆ หากไม่รู้ชื่อรุ่นคงคิดว่ารุ่นนี้มีกล้องหลังคู่เป็นแน่แท้แต่ความจริงแล้วมันคือกล้องหน้าคู่ ฉะนั้นดีไซน์หน้ากล่องไมได้บ่งบอกอะไรถึงหน้าตาตัวเครื่องเลยแม้แต่น้อยซึ่งก็แปลกดี

สำหรับ Zenfone 4 Edition ด้านข้างกล่องต้องมีคำว่า We love Photo

ด้านหลังบอกสเปคแบบคร่าวๆ พร้อม Serial Number, IMEI

เปิดกล่องมาจะยังไม่เจอตัวเครื่องแต่เจอกับกล่องใส่เคสใส คู่มือ ใบรับประกันและเข็มจิ้มถาดซิม

พอยกกล่องออกจึงจะพบกับตัวเครื่องนอนรอในห่อพลาสติกใส

ยกตัวเครื่องขึ้นมาดูอุปกรณ์ที่ให้มาในกล่องซึ่งเป็นสีขาวทั้งหมดประกอบด้วย

  1. Adapter
  2. สาย Micro USB
  3. หูฟังแบบ in-ears

หูฟังที่แถมเป็นแบบ in-ears พร้อมมีจุกยางให้เปลี่ยนขนาดได้อีก 2 ขุด

Adapter ที่แถมจ่ายไฟ 5V 2A ซึ่งมิใช่แบบ Fast Charging แต่จากสเปคตัวเครื่องระบุว่ารองรับ ซึ่งถือว่าแปลกที่ไม่แถม Adapter Fast Charging มาให้ในกล่องเลย

ตัวเครื่องที่ทางแบรนด์ให้ยืมมาทำรีวิวนั้นเป็นสีทอง (Gold) ซึ่งด้านหน้าตัวเครื่องจะเป็นสีขาวล้อมรอบหน้าจอ

เหนือหน้าจอมีกล้องหน้าคู่อยู่ทางขวาของลำโพงสนทนา

ใต้หน้าจอมีปุ่มสัมผัสสามปุ่มประกอบด้วย Back Home Recent Apps ซึ่งปุ่ม Home เนี่ยจะไม่ใช่ปุ่มกดนะ มันคือปุ่มสัมผัส

ด้านหลังตัวเครื่องเสมือนใช้วัสดุเป็นโลหะเคลือบด้วยสีที่ดูเหมือน Rose Gold มากกว่าสีทองตามข้างกล่อง

กล้องถ่ายรูปด้านหลังถูกจัดวางไว้ตรงกลางขนาบไฟแฟลชทางซ้ายของกล้อง

ด้านล่างมีเพียงเส้นเสาอากาศเท่านั้น

ด้านบนตัวเครื่องมีไมโครโฟนตัวที่สองสำหรับตัดเสียงรบกวน

ด้านซ้ายตัวเครื่องมีช่องให้เสียบเข๋มเพื่อดึงถาดซิมแบบ Hybrid ออกมา

ถาดซิมของ Zenfone 4 Selfie Pro เป็นแบบ Hybrid ต้องเลือกใช้งานระหว่าง 2 Sims หรือ 1Sim+Micro SD Card

ด้านขวาของตัวเครื่องมีปุ่มพาวเวอร์และปุ่มเพิ่มลดเสียง งานประกอบแน่นหนาดี กดแล้วไม่ก๊อกแก๊ก

ด้านล่างตัวเครื่องมีชองเสียบหูฟังขนาดมาตรฐาน 3.5มม., ลำโพงตัวเครื่องและช่องเสียบสายชาร์จแบบ Micro USB

ด้วยขนาดตัวเครื่อง 5.5 นิ้วและขอบหน้าจอที่บางมาก ทำให้จับถือใช้งานมือเดียวถนัดกว่าเดิมอีกนิด

ภายในกล่องมีเคสยางใสแถมมาให้เสร็จสรรพเรียกว่าไม่ต้องหาเคสใช้งานกันเลยทีเดียว แต่ฟิล์มกันรอยนี่ยังคงต้องไปหาอยู่นะ

Software

User Interface ของสมาร์ทโฟน Asus จะถูกครอบด้วย Zen UI ซึ่งจะใช้ Launcher และไอคอนที่ทำขึ้นมาเอง ส่วน Launcher นั้นการใช้งานเหมือนเดิมคือมีการแบ่งหน้า Home, App Drawer ไว้ และในส่วนของหน้าแถวแอปพลิเคชั่นสามารถเลือกได้ทั้งสองหน้า

แน่นอนว่าในการตั้งค่าสามารถเลือกขนาดของ App Drawer ได้ว่าหน้านึงจะให้แสดงแอปพลิเคชั่นกี่ตัว เช่น 5:5 รวมถึงสามารถตั้งค่า Unread count badge ทีเ่ป็นการแจ้งเตือนตรงมุมแอปฯ บ่งบอกว่ามีกี่ข้อความบนแอปฯ ดังกล่าวที่ยังมิได้อ่าน

Theme เองก็มีให้เลือกดาวน์โหลดมาเปลียนกันได้หลากหลาย ใครสาวกกงยูนี่คงฟินกันไป

Notification Bar แบ่งเป็นแถบแจ้งเตือนต่างๆ และทางลัดในการเปิดปิดการเชื่อมต่อและการควบคุมเครื่องหลายๆ ส่วน ซึ่งสามารถปรับแก้ไขการวางตำแหน่งตามใจชอบได้

asus-zenfone-4-max-app-lock

AppLock: ฟีเจอร์ที่เอาไว้ล็อคแอปพลิเคชั่นให้รอดพ้นจากมือผู้ไม่หวังดีซึ่งก่อนจะเข้าใช้งานแอปฯ จะต้องใส่รหัสหรืออาจตั้งเป็นสแกนลายนิ้วมือได้ เผื่อบางทีวางไว้บนโต๊ะแล้วเพื่อนแอบหยิบไปโพสต์เฟสบุ๊คเล่นก็ป้องกันงานเข้าได้ไม่รู้ตัวนะ ฮ่าๆ หรือใครแอบเก็บของลับอะไรไว้ทางนี้ก็ช่วยได้เช่นกัน

asus-zenfone-4-max-easymode

Easy mode: อันนี้เป็นเสมือนอีก Launcher นึงเลยที่ทำให้ตัวเครื่องเสมือนฟีเจอร์โฟนเลย ด้วยการแปลงไอคอนให้ใหญ่และตั้งเอาได้ว่าจะเอาแอพใดไว้ตรงไหน เหมาะสำหรับให้ผู้ใหญ่ใช้เพราะเลยจิ้มและปาด ไม่ซับซ้อนดี

asus-zenfone-4-max-kidmode

Kids Mode: โหมดสำหรับเด็ก อันนี้ตรงตัวหากเปิดใช้ก็จะให้เราทำการตั้งค่าว่าจะให้ใช้งานแอปพลิเคชั่นตัวใดบ้าง รวมถึงสามารถตั้งได้ด้วยว่าขณะใช้โหมดเด็กอยู่จะให้สายเรียกเข้าสามารถโทรหาได้หรือไม่ หรืออาจกำหนดว่าให้เฉพาะรายชื่อที่อนุญาตเท่านั้นก็ได้ แน่นอนเพื่อความปลอดภัยการจะออกจากโหมดนี้จะต้องใส่ PIN หรือ Password ที่ตั้งเอาไว้ด้วย ทำให้หมดห่วงว่าเด็กจะออกจากโหมดดังกล่าวเองได้ นอกจากจะเดาถูกล่ะ

asus-zenfone-4-max-zen-motion

ZenMotion: การใช้การเคลื่อนไหวต่างๆ แทนคำสั่งทั้งหลายในนี้จะแบ่งออกเป็น 3 ส่วนดังนี้

  • Touch Gesture: มีให้มาด้วยแน่นอนซึ่งเป็นการจับความเคลื่อนไหวต่างๆ ยกตัวอย่างเช่น หากหน้าจอดับอยู่ เราก็สามารถเคาะหน้าจอสองครั้งเพื่อให้หน้าจอติดขึ้นมาได้ หรือจะเคาะหน้าจอสองครั้งเพื่อปิดหน้าจอก็ทำได้ครับ (แต่ต้องอยู่ที่หน้าโฮมนะ) รวมถึงยังมี Gesture หลายๆ อย่างอีกที่ใช้ ณ ตอนหน้าจอดับโดยการเขียนตัวอักษรอีกดังนี้
    – C เพื่อเปิดกล้องถ่ายรูป
    – W เพื่อเปิดเว็บบราวเซอร์
    – S เพื่อเปิดกล้องถ่ายรูป (กล้องหน้า)
    – e เพื่อเปิดอีเมล
    – Z เพื่อเปิด Asus Boost
    – V เพื่อเปิดหน้าโทรออก
  • Motion Gesture: มีแค่สองคำสั่งคือ Flip mute หรือคว่ำหน้าจอให้เสียงเรียกเข้าเงียบและ Hands Up คือเมื่อมีสายเรียกเข้าให้เอาโทรศัพท์มาแนบหูจะเป็นการรับสายทันที
  • One-handed mode: คนมือเล็กอาจใช้งานมือเดียวไม่ค่อยสะดวกจึงได้ใส่ฟีเจอร์ One Hand Mode มาให้ด้วยเพื่อทำการย่อหน้าจอลงมา จะได้ใช้งานด้วยมือข้างเดียวได้สะดวกมากยิ่งขึ้นครับ

กล้องถ่ายรูป

Zenfone 4 Selfie Pro มีกล้องถ่ายรูปด้านหน้าที่เป็นจุดเด่นมากกว่ากล้องหลัง โดยกล้องหน้าเป็นกล้องคู่ความละเอียด 12 (F1.8) +8 ล้านพิกเซล รองรับการทำหน้าชัดหลังเบลอได้เวลาเซลฟี่ ส่วนกล้องหลังความละเอียด 16 ล้านพิกเซล (F2.2) พร้อมไฟแฟลช LED มี Auto HDR ทำให้การถ่ายภาพทำได้ง่ายเพราะตัวเครื่องจะเลือกเองว่าภาพไหนต้องใช้งานหรือไม่ใช้งาน HDR นอกจากนี้ยังมีโหมด Pro รองรับการตั้งค่าต่างๆ อัตโนมือเราอีกด้วยซึ่งปรับได้ทั้ง White Balance, ISO, Speed Shutter (ต่ำสุด 32 วินาที), EV และระยะโฟกัส

คุณภาพของภาพถ่ายจากกล้องของรุ่นนี้นับว่าพอใช้ได้ จัดอยู่ในระดับกลางๆ ซึ่งภาพที่ถ่ายได้จะเป็นเช่นไรลองมาดูกัน ทั้งหมดใช้ Auto Mode ไม่ผ่านการตกแต่งนอกจากย่อขนาดและใส่ลายน้ำเท่านั้น

ในส่วนของ Auto HDR นับว่าทำได้ดีในเรื่องของแสงสีที่เก็บรายละเอียดของส่วนมืดและส่วนสว่างในภาพเอาไว้ได้ โดยอย่างภาพนี้ท้องฟ้าไม่ขาวสว่างหรือหายไป

ลองถ่ายคนกันดู ถ้าแสงพอนี่ยังไงภาพก็สวยสำหรับกล้องสมาร์ทโฟนสมัยนี้ และ Zenfone 4 Selfie Pro ก็ทำได้ดีเช่นกัน

ถ่ายคนแบบย้อนแสงก๋จะเห็นว่า Auto HDR ทำได้ดี เก็บรายละเอียดคนมาครบ (แม้จะดำไปหน่อยก็ตาม) แต่ฉากหลังก็ไม่หายไป

ลองถ่ายอาหารในร้านไฟสีเหลืองดู ถ้าจับมาถ่ายอาหารนี่นับว่าทำได้ดีกับแสงไฟที่มีมากพอ

อย่างภาพนี้แสงไฟน้อยและมีแดดส่องจากทางซ้าย รูปน่ะถ่ายออกมาดูออกว่าอะไรเป็นอะไร แต่รายละเอียดนับว่าเก็บได้ไม่ดีเลยล่ะ

ปิดท้ายภาพจากกล้องหลังด้วยภาพถ่ายกระป๋องโค้กในร้านอาหารแสงน้อยมาก อย่างที่บอกว่ารุ่นนี้ไม่เน้นกล้องหลัง ภาพก็พอถ่ายออกมาได้ แต่อย่าซูมดูรายละเอียดจะดีืที่สุด

กล้องหน้า

กล้องหน้าของรุ่นนี้สามารถทำภาพแบบชัดตื้นได้ (Portrait Mode) จะได้เบลอฉากข้างหลังทิ้งซึ่งก็ทำได้ดีในระดับนึง แน่นอนว่าแม้จะเปิดการใช้งานโหมดนี้ก็ยังสามารถปรับแต่งความสวยได้ทั้งหน้าเนียน ความสว่างของหน้า ตาโต หน้าเรียว ที่เด็ดกว่าคือเปลี่ยนสีผิวได้ด้วย ฮ่าๆ จะเอาให้ขาวอมชมพูกันก็จัดไปได้ แต่ปรับมากเกินระวังจะไม่เหมือนตัวจริง

ภาพนี้ลองเซลฟี่โดยไม่เปิด Portrait Mode ซึ่งภาพที่ได้ดูเก็บรายละเอียดได้ดีกว่าและไม่ฟุ้งเพราะซอฟต์แวร์ไม่จำเป็นต้องไปพยายามทำฉากหลังให้เบลอล่ะมั้ง

สรุป: Asus Zenfone 4 Selfie Pro เป็นสมาร์ทโฟนที่มีจุดเด่นหลักคือกล้องหน้าคู่เหมาะกับสายเซลฟี่ที่ปรับได้ทั้งหน้าชัดหลังเบลอ หน้าสวยระดับสิบที่ปรับได้ตั้งแต่หน้าเนียน ตาโต หน้าเรียว สีผิว ทั้งยังปรับความสว่างได้อีกด้วย ส่วนกล้องหลังมีคุณภาพพอใช้งานได้แบบไม่จริงจังมากนัก สามารถถ่ายรูปออกมาดูออกแม้สภาวะแสงน้อย อย่างไรก็ตามตัวเครื่องกลับมีสเปคที่ไม่แรงมากนักเมื่อนึกถึงราคาหมื่นกว่าทั้งยังใช้ชิปเซ็ตที่นับว่าเก่าพอตัวอีกด้วย ฉะนั้นสำหรับใครที่จะนำมาเล่นเกมส์จริงจังคงไม่เหมาะเท่าไหร่นัก แต่สำหรับการใช้งานทั่วไปก็นับว่าไปได้ไม่ติดปัญหาอะไร ซอฟต์แวร์ยังคงเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลงอะไร คงต้องรออัพเดท Android 8.0 Oreo อีกทีว่าจะมีอะไรน่าสนใจขึ้นหรือไมสำหรับแบรนด์นี้



ถูกใจบทความนี้  7