เทคนิคการถ่ายฝนดาวตก Meteor Shower

เทคนิคการถ่ายฝนดาวตกมาฝากครับ

ชวนชมและถ่ายภาพฝนดาวตก (Meteor Shower) ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ในคืนวันที่ 14 ธ.ค. ถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธ.ค. 2560 ครับ เป็นฝนดาวตกที่คาดว่าจะตกสูงสุด 75-120 ดวงต่อชั่วโมง ถือได้ว่าเป็นฝนดาวตกที่ตกมากอันดับต้น ๆ เลยครับ ท่านที่ว่างหรือกำลังหาวันพักผ่อนอยู่ไม่ควรพลาดนะครับ นอนดูดาวตกกันทั้งคืน ความสุขแบบนี้หาไม่ได้ง่าย ๆ เลยครับ หรือท่านที่ชอบถ่ายภาพฝนดาวตกงานนี้ไม่ควรพลาดอย่างยิ่ง หลายท่านอยากถ่ายแต่ถ่ายไม่เป็น ไม่ยากครับ วันนี้ผมมาแนะนำวิธีการถ่ายให้ครับ

เนื่องจากฝนดาวตกจะตกเวลาไหน และตำแหน่งไหน ไม่สามารถรู้ได้ รู้แค่เพียงจุดศูนย์กลางจะอยู่บริเวณไหนเท่านั้น เพราะฉะนั้นการถ่ายรูปฝนดาวตกจึงต้องถ่ายทีละภาพติดต่อกันไปเรื่อย ๆ จะกว่าจะถ่ายไม่ได้ อาจจะเป็น 1000-2000 ภาพได้ครับ

         สถานที่เหมาะกับการถ่ายฝนดาวตก แนะนำให้ไปหาสถานที่ท่องเที่ยวที่มืดมาก ๆ ไม่มีแสงไฟรบกวน ขึ้นยอดเขาสูง ๆ ยิ่งดีครับ เลือกที่มีฉากหน้าสวย ๆ หน่อย ภาพที่ได้ก็จะน่าชมมากขึ้นครับ

ภาพนี้ถ่ายเมื่อเช้ามืดวันที่ 18 พฤษศจิกายน 2560 นี้เองครับ ฝนดาวตกลีโอนิดส์ อัตราการตกอยู่ที่ 10-15 ดวงต่อชั่วโมง ถือว่าน้อยมาก ผมเก็บมาได้แค่ 4 ดวงเท่านั้นเอง ใช้เลนส์ 15 มิล เอฟ 2.0 ครับ ใช้กับกล้องฟูลเฟรม หากเทียบกับกล้อง Aps-c ก็ประมาณ 9-10 มิลครับ

อุปกรณ์ที่ต้องมี
1. กล้องถ่ายรูป
— ที่มีโหมด M สามารถปรับตั้งค่ากล้องได้ตามต้องการ
— มีโหมด Interval หากกล้องไม่มี ก็ต้องมีช่องต่อรีโมทแบบ Interval ได้
— แบ็ตเตอรี่สำรองไว้เยอะ ๆ หน่อย เพราะการถ่ายฝนดาวตกต้องถ่ายกันยาวนานมากอาจข้ามคืนเลยครับ เพราะเราไม่รู้ว่าจะตกเวลาไหน จึงต้องถ่ายภาพติดต่อกันไปเรื่อย ๆ ครับ
— เมโมรี่การ์ด ควรหาที่ขนาดความจุมาก ๆ หน่อย หากความจุน้อย ๆ เราต้องเสียเวลาในการเปลี่ยนบ่อย ๆ โอกาสพลาดฝนดาวตกลูงใหญ่ ๆ งามได้ครับ และเตรียมเผื่อไว้เยอะ ๆ ครับ
— อุปกรณ์คลุมกล้องกันน้ำค้าง ควรหาซื้อมาใช้ครับ บางสถานที่น้ำค้างแรงมาก กล้องบางรุ่นเป็นหวัดง่ายครับ
— อุปกรณ์กันเลนส์เป็นฝ้า อันนี้หาซื้อยากหน่อย หลายท่านทำใช้กันเอง ใน eBay เคยเห็นมีขายครับ แต่ใช้ได้ผลหรือไม่ไม่ทราบครับ ของผมเพื่อนทำให้
2. รีโมทตั้งเวลาได้ (Timer Remote) หรือ Interval Remote ในกรณีที่กล้องไม่มีโหมด Interval ครับ หรือกล้องมีแต่อยากใช้ Remote ก็ใช้ได้ครับ ผมเองกล้องก็มีโหมดนี้แต่ชอบใช้ Remote ในการสั่งงานกล้องมากกว่า สะดวกกว่าครับ

 

 

3. เลนส์มุมกว้าง หรือ Wide-Angle Lens ยิ่งกว้างก็ยิ่งดี เพราะจะเก็บภาพได้กว้างมาก ๆ แต่ก็มีข้อเสียตรงจะเก็บฝนดาวตกได้ขนาดเล็ก ๆ เพราะเลนส์มุมมันกว้าววัตถุก็เลยดูขนาดเล็กลงตามอัตราส่วนครับ บางท่านอยากได้ดวงใหญ่ ๆ ก็อาจใช้เลนส์ที่แคบขึ้น 24-50 มิล (สำหรับกล้องฟูลเฟรม) ได้ดวงใหญ่แน่ ๆ ครับ แต่โอกาสดาวตกไม่เข้าเฟรมก็มากด้วยเช่นกันครับ เลนส์ที่ใช้ควรมีรูรับแสงกว้างมาก ๆ ยิ่งมากยิ่งดีครับ ไม่ควรแคบเกิน f/2.8 เพราะจะได้ไม่ต้องใช้ ISO สูงเกินไป Noise ก็จะมารบกวนน้อยด้วยครับ ถามว่ามีที่แคบกว่านี้ได้ไหม ได้ครับ ก็ต้องเพิ่ม ISO ขึ้นไปอีก ภาพที่ได้ก็อาจมี Noise เยอะหน่อย แต่ก็ยังดีกว่าไม่ได้ถ่ายนะครับ
4. ขาตั้งกล้อง ขาตั้งกล้องแบบไหนก็ใช้ได้หมดครับ แต่อยากให้ใช้รุ่นที่แข็งแรงและมั่นคงหน่อยครับ เพราะบางสถานที่ไปตั้งกล้องถ่ายอาจมีลมแรง กล้องอาจสั่นไหวได้ทำให้ภาพเบลอ หรืออาจลมกระโชกรุนแรงถึงขั้นขาตั้งล้มลงได้ เสียหายหนักเลย โดยเฉพาะกล้องครับ
5. ขาตามดาว หรืออุปกรณ์ติดตามการเคลื่อนที่ของดาวหรือวัตถุบนท้องฟ้า อุปกรณ์นี้จะมีหรือไม่ก็ได้ครับ หากมีก็ควรนำไปใช้ด้วย เพราะศูนย์กลางของฝนดาวตกจะเคลื่อนสูงขึ้นเรื่อย ๆ หากไม่มีอุปกรณ์นี้ศูนย์กลางฝนดาวตกก็จะเคลื่อนผ่านเลยหน้าเลนส์ไป อาจทำให้พลาดฝนดาวตกบางดวงไปครับ ต้องคอบปรับตามอยู่บ่อย ๆ ถ้ามีอุปกรณ์นี้ตั้งครั้งเดียวนอนหลับรอได้เลยครับ กล้องจะขยับตามศูนย์กลางฝนดาวตกไปจนลับขอบฟ้าเลยครับ

 

การตั้งค่ากล้อง
— ใช้โหมด M
— ตั้งที่เมนูปรับ Long exp. noise reduction ให้เป็น OFF

— ISO1600 ขึ้นไปแล้วแต่ความกว้างของรูรับแสงและสภาพแสงของสถานที่ ต้องทดสอบถ่ายดูแล้วปรับตามให้พอดีครับ
— Speed Shutter ตั้งแต่ 15-25 วินาที ไม่ควรเกินกว่านี้ดาวจะยืดมากเกินไป หากใช้ Timer Remote ให้ตั้งเป็น Shutter B แล้วตั้งค่าที่รีโมทแทนครับ
ตั้งค่า Interval หรือ Remote
— Long shutter 15-25 วินาที
— Interval 3 วินาที เพื่อให้กล้องบันทึกภาพเสร็จก่อนค่อยถ่ายต่อ หากกล้องของท่านบันทึกได้เร็วก็ลดเวลาลงเหลือ 1 หรือ 2 วินาทีได้ครับ
— จำนวนครั้ง ตั้งแบบไม่จำกัดเลยครับ

เมื่อถ่ายเสร็จแล้วจะได้ภาพจำนวนมาก ให้นำเข้าคอมฯแล้วค่อย ๆ เลือกภาพที่ติดฝนดาวตกแยกมาต่างหาก ใช้โปรแกรม Photoshop ทำการซ้อนภาพ แล้วรวมเป็นภาพเดียวกัน วิธีการจะเขียนแนะนำอีกครั้งหลังจากถ่ายฝนดาวตกมาก่อนนะครับ



ถูกใจบทความนี้  8