มอธเหยี่ยวปีกใสขาหนาม Clear-winged Hawkmoth : Cephonodes picus
เรียกกันหลายชื่อ มอธเหยี่ยวเขียวปีกใสบ้าง มอธเหยี่ยวปีกใสบ้าง และผีเสื้อหัวจรวดปีกใสบ้าง
วงศ์มอธเหยี่ยว (Family SPHINGIDAE) มอธเหยี่ยวเขียวปีกใส หรือ Hummingbird Hawk Moth มีสองชนิดด้วยกัน คือ Cephonodes picus และ Cephonodes hylas มีลักษณะที่คล้ายกันมาก แต่ C. hylas มีขนาดใหญ่กว่า C. picus เล็กน้อย และถ้าดูที่ขาหน้าบริเวณแข้งของ C. hylas จะมีหนามเล็กๆ อยู่ด้วย แต่ว่าสังเกตได้ยาก มันไม่ค่อยยอมเกาะให้เราได้เห็นขาของมันชัดๆ ทั้งสองชนิดมีพื้นที่ส่วนใหญ่ของปีกทั้งสองคู่เป็นเยื่อบางใส มองเห็นทะลุได้ มีเกล็ดปีกแค่บริเวณโคนปีก (สีเขียว) และขอบปีก (สีดำ) เท่านั้น ปีกคู่หน้าใหญ่กว่าปีกคู่หลังเกินครึ่ง ท้องปล้องกลางๆ สองปล้องมีสีน้ำตาลแดง เห็นได้ชัดเจน
การถ่ายไม่ได้ยุ่งยากอะไรครับ จุดสำคัญต้องตั้ง Speed Shutter ให้เร็วมาก ๆ เร็วพอที่จะหยุดการเคลื่อนไหวของแบบ ยิ่งสูงมากเท่าไรยิ่งจับภาพได้นิ่งมากเท่านั้น ผมใช้ 1/2000 ทุกภาพเพื่อจับการกระพือปีกที่ไวมากให้หยุดนิ่งครับ การถ่ายเพื่อไม่ให้พลาดทุกช่วงจังหวะควรตั้งถ่ายรัวหรือแบบต่อเนื่องครับ โฟกัสต้องเร็วตั้งเป็นแบบติดตามหรือไม่ก็แล้วแต่สถานการณ์ครับ เพราะเราเข้าใกล้เขามากไม่ได้ ระยะประมาณ 1-2 เมตรหรือมากกว่า มอธเหยี่ยวปีกใสจะดูดกินน้ำหวานไปเรื่อย ๆ แต่ไม่ได้หยุดนิ่งนะครับ บินตลอดเวลา เราต้องโฟกัสให้ไวถ่ายทันทีครับ ผมมีภาพมาฝากนิดหน่อย แต่ผมถ่ายมาเยอะมากนะครับ ภาพอาจดูซ้ำ ๆ กันเลยคัดมาให้ชมเท่านี้ครับ ทุกภาพครอปมานะครับ ถ่ายจริงไม่ได้เต็มเฟรมแบบนี้
You must be logged in to post a comment.