Camera Review: Unboxing แกะกล่อง ฟูจิ Fujifilm XT10 กล้อง Retro สไตล์ ร่างเล็กแต่พกสเปคมาไม่แพ้รุ่นใหญ่ !!!
รับชมในฉบับวีดีโอกันไปแล้ว Camera Review: Unboxing Fujifilm X T10 แกะกล่อง ฟูจิ เอ็กซ์ ที เท็น ฉบับ วีดีโอ !!! วันนี้มาอ่านกันต่อในรูปแบบบทความภาพนิ่งครับ และยังขอออกตัวก่อนเหมือนเช่นเคยว่า “ผมไม่ใช่โปรทางด้านกล้องนะครับ” เพียงแต่ชื่นชอบและมีความจำเป็นต้องซื้อมาใช้ในสายงานครับ และในบทความครั้งนี้ก็ยังคงเป็นการ Unboxing, Hands On, ประมาณแรกจับประทับใจ ยังไม่ได้ลงรายละเอียดในเชิงลึกนะครับ แต่ขอเน้นแกะกล่องในแบบบ้าน ๆ สำรวจตัวเครื่องและอุปกรณ์ที่ให้มา พร้อมบอกเล่าสู่กันฟังในส่วนที่น่าสนใจของตัวกล้องอีกนิดหน่อยครับผม……
ราคาเปิดตัวของกล้อง Fujifilm X-T10 ในประเทศไทย และเช็ทที่มีวางจำหน่ายประกอบไปด้วย
1. X-T10 เฉพาะ Body ราคา 26,990 บาท
2. X-T10+ เลนส์ 16-50mm II ราคา 31,990 บาท
3. X-T10+ เลนส์ 18-55mm ราคา 38,990 บาท
4. X-T10+ เลนส์ 16-50mm II+Instax Share ราคา 35,990 บาท
5. X-T10+ เลนส์ 16-50mm II+50-230mm II ราคา 38,990 บาท
สำหรับสเปคดูกันได้โดยตรงจากทางเว็บของฟูจิเลยครับ X Series FUJIFILM X-T10 Specifications
แพคเกจตัวกล่องของ Fujifilm X T10 มาในโทนสีดำ เรียบ ๆ ขรึม ๆ และมีขนาดค่อนข้างใหญ่พอสมควร
ด้านบนโชว์รูปตัวโปรดักส์และชุดเลนส์คิทที่แถมมาในกล่อง
ด้านข้างจะเน้นไปที่ซีรีย์และชื่อรุ่น พร้อมบอกรายละเอียดของชุดเลนส์คิท
ด้านหลังจะบอกดีเทลรายละเอียดที่สำคัญต่าง ๆ มาให้อย่างคร่าว ๆ
เทกระจาดทั้งหมดในกล่องออกมากองก็จะมีดังนี้
คู่มือการใช้งาน “ภาษาไทย” และภาษาอังกฤษ, แผ่นพับ Information ภาษาญี่ปุ่น-อังกฤ
และจะมีกล่องขนาดเล็กอีกหนึ่งใบ ที่บรรจุ Accessories ของ Fujifilm X T10 แยกไว้อย่างเป็นสัดส่วน
ประกอบไปด้วย
1. สายคล้องกล้อง Fujifilm
2. แบตเตอร์รี่ ในรุ่น NP-W126 ความจุ 1260mAh
3. แท่นชาร์ BC W126 และสายไฟ
4. ห่วงร้อยสายกล้อง + แผ่นป้องกันและเครื่องมือร้อยห่วง
มาดูที่ตัวเลนส์กันบ้าง ข้อดีของค่ายนี้ ก็คือแถมฝาปิดท้ายเลนส์ + ฮูดมาให้ด้วย
สำหรับเซ็ทที่ผมซื้อมาใช้งาน เป็นเซ็ท Standard ที่มาพร้อมกับเลนส์คิท Fujifilm XC 16-50mm F3.5-5.6 OIS II ที่เป็นเลนส์คิทเวอร์ชั่น 2 นั่นเองครับ
ได้เวลาสำรวจตัวกล้องกันแล้ว สำหรับกล้อง Fujifilm X T10 นั้นมีหน้าตาหล่อเหลาเอาการ ซึ่งเอกลักษณ์ในเรื่องของดีไซน์จากค่าย Fuji อย่างที่รู้กันก็คือจะโดดเด่นในสไตล์ Retro นั่นเองครับ
ดูผ่านๆ เหมือน XT-1 ย่อส่วนลงมา แต่ตัว XT-10 ในภาพรวมจะเน้นความเป็นเหลี่ยมมุมมากกว่า ตอนเห็นในโฆษณาและตามสื่อต่างๆ ก็ไม่รู้สึกประทับใจเท่าไหร่ พอได้ลองไปสัมผัสตัวจริงแล้วกลับชอบและรู้สึกว่าโดดใจเลย แต่เรื่องความสวยความงามและความชอบ ตรงนี้ก็เป็นเรื่องของปัจเจกบุคคลล่ะครับ
พูดถึงวัสดุและงานออกแบบสักนิด… ตัวบอดี้ในส่วนด้านบนและฐานล่างจะเป็นวัสดุแมกนีเซียมอัลลอยด์ ส่วนช่วงกลางเป็นโพลีคาร์บอเนต ก็คือพลาสติกนั่นแหล่ะ แต่งานประกอบโดยรวมแน่นหนา ปราณีตและเรียบร้อยดีมาก ๆ เรียกว่าสมราคาค่าตัวในระดับ 30,000+ อย่างแน่นอนครับ
ถึงแม้จะเป็นรุ่นเล็ก แต่สเปคและคุณสมบัติทางด้าน Hardware ไม่ได้หมายความว่าจะเบาตามไปด้วย และเห็นตัวเล็ก ๆ อย่างนี้ แต่ปุ่ม Dial ที่ให้มาก็ครบถ้วน ทั้งหน้า-หลัง และด้านบน ตอบโจทย์ได้ดีไม่แพ้รุ่นพี่ตัวโปรจากภายในค่ายเลยครับ
สำหรับตัวไมค์บันทึกเสียงจะเป็นแบบสเตอริโอ จัดวางตำแหน่งนั้อยู่ด้านหน้า ใต้โลโก้ Fujifilm นะครับ
ก่อนที่จะพูดถึงตัว Dial ต่าง ๆ ที่อยู่ในพาเนลด้านบน ขอพูดถึงจุดเด่นกันก่อน ปุ่มชัตเตอร์เป็นแบบเกลียวครับ สามารถใช้งานร่วมกับสายลั่นชัตเตอร์และยังหาของมาแต่งเสริมความงามได้อย่างสะดวก ตรงนี้แอบ”ดีงาม”กว่าตัวรุ่นพี่บางรุ่นนะ ^^
สำหรับตัว Dial ที่อยู่ทางฝั่งขวามือของตัวเครื่องก็จะมี Dial ปรับชดเชยแสง และ สปีดชัตเตอร์ เมื่อสังเกตให้ดีจะเห็นว่ามีชัตเตอร์ T มาให้ใช้งานด้วยครับ และตรง Dial ปรับสปีดชัตเตอร์จะมีก้านคันโยกเพื่อปรับไปใช้งานโหมด AUTO ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และต้องบอกว่าโหมด AUTO ของ Fujifilm X T10 ค่อนข้างยืดหยุ่น คือยังพอสามารถปรับตั้งค่าการทำงานร่วมได้อีกนิดหน่อย ไม่ AUTO แบบ Fix บังคับ 100% ครับ
Dial ทางฝั่งซ้ายจะเป็น Drive mode ซึ่งแตกต่างกับบางแบรนด์ หรือที่เราพบเห็นกันบ่อย ๆ ว่าส่วนใหญ่จะเป็นโหมด P A S M อะไรพวกนั้น และตรง Dial จะมีก้านคันโยกเพื่อเปิดใช้งานแฟลช ป๊อปอัพครับ
เมื่อดันก้านคันโยกก็จะเปิดแฟลชขึ้นมาตามภาพตัวอย่าง
ตัวแฟลช ป๊อปอัพจะซ่อนอยู่ภายในหัวกะโหลก มองผ่านๆแทบไม่รู้ เพราะเก็บงานได้เนียนเรียบร้อยดีมากๆเลยครับ
การที่ซ่อนแฟลชอยู่ในหัวกะโหลกทำให้พื้นที่และการออกแบบ รวมไปถึงการใช้งานถูกจำกัดไปบ้างครับ ที่เห็นชัดเจนก็คือ ไม่สามารถ Bounce Flash ได้นั่นเอง
ดูกันต่อที่ด้านขวาของตัวกล้อง ก็จะเห็นว่าเรียบ ๆ ไม่มีอะไรครับ
ส่วนด้านซ้ายมือของตัวกล้อง จะเป็นที่อยู่ของพอร์ตเชื่อมต่อต่าง ๆ โดยมีฝาปิดไว้อย่างเรียบร้อย
พอร์ตเชื่อมต่อของ FUJIFILM X-T10 จะประกอบไปด้วย ช่อง 2.5mm สำหรับต่อไมโครโฟนภายนอก และยังสามารถใช้งานร่วมกับสายลั่นชัตเตอร์ได้อีกด้วย ถัดลงมาคือพอร์ต Micro HDMI, และสุดท้าย Micro USB ขนาดมาตรฐาน สำหรับโอนถ่ายข้อมูลกับ PC ครับ
ยลโฉมด้านหลังกันต่อ
การจัดวางเลยเอาท์ของปุ่มต่าง ๆ ยังให้ความใกล้เคียงกับกล้องรุ่นพี่ภายในค่าย เรียกว่าถ้าเคยใช้งานกล้องฟูจิมาก่อน จะคุ้นเคยเป็นอย่างดี ไม่งงหรือต้องปรับตัวแต่อย่างใด ตัวกริปด้านหลัง ก็ตามที่เห็นในภาพครับ มีที่พักนิ้วมาให้ด้วย ช่วยให้การใช้งานมีความถนัดและกระชับในการจับถือมากยิ่งขึ้น
Dial ด้านหลัง นอกจากหมุนได้รอบแล้วยังสามารถกดลงตรง ๆ ได้ และเป็นปุ่ม Fn ที่มีประโยชน์ในการใช้งานได้ดีมากเลยครับ อ้อ..อีกนิดครับ ที่ด้านล่างของปุ่ม Dial นั้นจะมีไฟแสดงสถานะ ช่วยแจ้งเตือนการโฟกัสครับ
ช่องมองภาพ EVF ของ X-T10 ให้ความละเอียดมาถึง 2,360,000 พิกเซล แต่อัตราอัตราขยายอาจจะน้อยไปนิด เพียง 0.62x เท่านั้น
คุณสมบัติทางด้าน Hardware ของ EVF ก็ให้มาครบถ้วนครับ ทั้งเซ็นเซอร์อัตโนมัติและปุ่มปรับแก้ระดับสายตา พร้อมกับปุ่ม View mode การใช้งานโดยรวมตอบสนองได้ดี ทั้งความคมชัด และ responding
ตัวจอแสดงผลสามารถพับลงได้ 45 องศา
และเงยขึ้นได้ 90 องศา ในเรื่องของการใช้งานและความคล่องตัวอาจจะไม่ครอบคลุมมากนัก แต่โดยรวมก็ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานในระดับหนึ่งครับ
จอแสดงผลของ FUJIFILM X-T10 มีขนาด 3 นิ้ว และไม่ใช่จอทัชสกรีน เมื่อนำไปใช้งานในสภาพแสงทั่ว ๆ ไป การแสดงผลทำได้ในระดับที่ดีเลยครับ
ส่วนการใช้งานงานกลางแจ้งถือว่าโอเคในระดับหนึ่ง คือยังพอมองเห็นได้ชัดเจน ไม่ต้องเพ่งมาก แต่ทั้งนี้ด้วยความที่ FUJIFILM X-T10 มาพร้อมกับ EVF ก็อาจจะไม่มีผลกระทบเท่าไหร่
ฐานด้านล่างของตัวกล้อง จะเห็นว่า Made in Thailand ผลิตในบ้านเราด้วยล่ะครับ ส่วนที่น่าเสียดายคือเกลียวขาตั้งกล้องจัดวางตำแหน่งชิดฝาปิดแบตไปหน่อย ทำให้เมื่อใช้ขาตั้งกล้องคงจะคลุกคลักมีปัญหาในการถอดเปลี่ยนแบตอยู่บ้างครับ
ลองแง้มดูช่องใส่แบตเตอร์รี่ของ Fujifilm X T10 กันสักเล็กน้อย รวม ๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรสะดุดตา แต่สิ่งที่ชอบคือ มันใช้แบตในรุ่น NP-W126 ซึ่งเป็นข้อดี เพราะสามารถใช้งานร่วมกับกล้องหลาย ๆ รุ่นภายในค่ายได้เช่นกัน
จับประกอบร่างเข้ากับตัวเลนส์คิท XC 16-50mm F3.5-5.6 OIS II
น้ำหนักรวมเลนส์และแบตจะอยู่ราว ๆ 600 กรัม ก็ค่อนข้างหนักอยู่เหมือนกันครับ
เมื่อซูมสุดก็จะยาวประมาณนี้ครับ (ความยาวเฉพาะเลนส์เมื่อซูมสุดประมาณ 10.cm)
Dimension ของกล้อง 118.4 มม.x 82.8 มม. x 40.8 มม. (31.9 มม. ไม่รวมส่วนที่ยื่นออกมา วัดจากส่วนที่บางที่สุด)
ขนาดโดยรวมถือว่าไม่ใหญ่จนเกินไปนัก น่าจะตอบโจทย์กลุ่มผู้ใช้งานที่ชื่นชอบความคล่องตัวแต่ยังคงได้ฟีเจอร์และความสามารถไม่แพ้ในรุ่นโปรครับ
การจับถือด้วยสองมือ ไม่มีปัญหา ส่วนการถือกล้องด้วยมือเดียว สำหรับคนมือใหญ่อาจจะรู้สึกไม่เต็มไม้เต็มมือเพราะกริปของ X-T10 มันค่อนข้างสั้นไปนิดครับ
อย่างที่บอกในตอนต้น ด้วยความที่กริปเล็กและสั้นไปนิด ถือในลักษณะนี้นาน ๆ แล้วเมื่อยนิ้วพอสมควรเลยครับ
สำหรับการแกะกล่องและ Hand On ก็ขอจบแต่เพียงเท่านี้ครับ
จากนี้มาดู Sample ภาพถ่ายจากกล้อง Fujifilm X-T10 กันสักเล็กน้อย
โดยขอเริ่มด้วยการทดสอบ iso test เป็นลำดับแรกเลยนะครับ
iso_400
iso_51200
ที่ iso 6400 ยังสามารถนำไปใช้งานได้สบาย ๆ ส่วน 12800 ย่อแล้วใช้งานพวกโซเชี่ยลก็พอไหว ส่วนสูงกว่านั้น คงหวังพึงพาจริงจังไม่ได้เท่าไหร่ครับ
และตามด้วยภาพ Sample ทั่ว ๆ ไป โดยผมจะใช้โหมด Auto และ Aperture ในการทดสอบครับ
ดาวน์โหลดไฟล์ต้นฉบับไปดูได้ที่นี่ครับ >>>Fujifilm X T10 Sample Image
ยังไม่สรุปนะครับ ขอลองเล่นและทดสอบในแบบยาว ๆ ก่อน เดี๋ยวจะมาบอกเล่าและสรุปข้อดี ข้อด้อยกันในภายหลัง
บทความในครั้งนี้จึงขอทดสอบเพียงคร่าว ๆ ละกัน เพราะยังไม่มีเวลาไปถ่ายอย่างจริงจังเท่าไหร่ แต่คงจะมีบทความมาฝากเรื่อย ๆ เพราะกล้องตัวนี้ซื้อมาใช้งานเอง ไม่ใช่เครื่องที่แบรนด์ส่งมารีวิว ฉะนั้นจึงมีเวลาอยู่ด้วยกันอีกยาวนาน
สำหรับบทความแกะกล่อง Fujifilm X-T10 ก็ขอฝากไว้แต่เพียงเท่านี้ แล้วพบกันใหม่ในโอกาสหน้า
สุดท้าย ขอขอบคุณที่ติดตามอ่านครับผม
ถูกใจบทความนี้ 15
You must be logged in to post a comment.