Garmin Forerunner 225 นับว่าเป็นรุ่นล่าสุดของ นาฬิกานักวิ่ง งานนี้มีฟีเจอร์ล้ำๆ อย่าง Heart Rate Sensor มาให้ด้วย เรียกว่าเป็นตัวอัพเดทจากรุ่น Forerunner 220 มาปีนี้จัดเต็มให้นักวิ่ง ที่ต้องการควบคุมการวิ่งให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม เร็วกว่า อึดกว่า แน่นอนว่าวันนี้ผมก็จัดมาแล้ว จะมารีวิวให้ชมกันนะครับ จริงๆ มีรุ่น Limited ด้วย ต่างกันตรงราคาและสี ฟีเจอร์ก็เหมือนกัน สรุปเอาตัวปกตินี่ก็แล้วกัน และรุ่นนี้ยังเป็นรุ่นแรกที่มี Heart Rate Sensor สำหรับวัดอัตราการเต้นของหัวใจในซีรีส์ Forerunner อีกด้วย ว่าแล้วก็มาชมกันดีกว่านะ
สำหรับ Garmin นี่สมัยตั้งแต่เป็น GPS ยุคโน้น เค้าก็มีเจ้า Forerunner มานานแล้ว ตั้งแต่รุ่น Forerunner 101 ที่ออกมาเมื่อปี 2003 หรือเมื่อประมาณ สิบกว่าปีที่แล้วนั่นล่ะ ซึ่งกีฬาวิ่งไม่ใช่แค่เพิ่งมี แค่ได้รับความนิยมในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาจากคนรุ่นใหม่อย่างเราๆ ท่านๆ นี่ล่ะครับ ทำให้เจ้า Forerunner นี่ก็พัฒนาตามมาเรื่อยๆ สำหรับเจ้า Forerunner 225 ก็คือรุ่นต่อยอดจาก Forerunner 220 ที่ออกมาได้สองปีแล้ว รุ่นนี้ก็เอาดีไซน์เดิมกลับมาพร้อมกับฟีเจอร์ที่ล้ำมากขึ้นอย่าง Hear Rate sensor ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจขณะวิ่งได้เลย แน่นอนว่ามันมีประโยชน์สำหรับนักวิ่งจริงๆ
ราคาค่าตัวของเจ้า Forrunner 225 อยู่ที่ประมาณ 10,900 บาท บางท่านอาจจะหาได้ราคาดีกว่านี้ก็แล้วแต่ ซึ่งรุ่น Limited ค่าตัวแพงกว่านิดนึงอยู่ที่ 11,400 บาท ก็ดูน่าสนใจดี แต่ฟีเจอร์ก็เท่าๆ กันนะครับ แล้วแต่เลือกเลย
ก่อนไปดูตัวเครื่อง มาดูสเปคกันก่อนก็แล้วกัน อ้างอิงมาจาก garmin thailand
และก็มาชมแกะกล่องและรีวิวกันล่ะครับ
รุ่นที่ซื้อมาใช้งานคือรุ่นธรรมดา ตัวกล่องไม่ได้ใหญ่โตอะไร
ตัวกล่องด้านข้าง มีระบุการใช้งานทั้งการเชื่อมต่อกับ Garmin Connect ผ่าน iOS และ Android และหน้าปัทม์ บอกสถานะระหว่างการใช้งาน
ด้านหลังของตัวกล่อง มีบอกรายละเอียดการฟีเจอร์ที่ใช้งานได้ หลักๆ ก็บอกเอาไว้ว่าเป็น GPS Running watch ที่วัด heart rate ได้ ตัวแรกของ Garmin เลยล่ะ
แกะกล่องออกมา ที่เห็นเลยก็คือ ตัว Garmin Forerunner 225 พร้อมด้วยแท่นชาร์จผ่านพอร์ท USB และ คู่มือ
ตัวขนาดของ Forerunner 225 นี่ จริงๆ แทบจะไม่ต่างอะไรจากรุ่น Forerunner 220 มีแค่ตัวขนาดเรือนที่อาจจะดูใหญ่กว่านิดนึง และน้ำหนักที่มากกว่าประมาณ 10 กรัม
ตัวหน้าจอมีขนาด เส้นผ่านศูนย์กลาง 1 นิ้ว และความละเอียดที่ 180×180 พิกเซล จะว่าไปก็ไม่มากไม่น้อย ถ้าจะเอาเยอะๆ มาก็ไม่ได้มีประโยชน์อะไรมาก เพราะการแสดงผลไม่ได้เน้นกราฟิคมากมายอะไรอยู่แล้ว เพียงแค่มีสีสันสำหรับการแสดงผลเล็กๆ น้อยๆ แค่นั้นเอง
สำหรับ Garmin Forerunner 225 เป็นลักษณะการควบคุมการทำงานด้วยปุ่มกด ทั้งหมดมี 4 ปุ่มการทำงาน ปุ่มสีแดงที่เราเห็นอยู่นี้คือปุ่มกดเพื่อเริ่มเข้าสู่โหมดการวิ่ง หรืออีกนัยนึงคือปุ่ม enter หรือใส่คำสั่งตกลง
ที่ด้านเดียวกัน อีกปุ่มนึงคือปุ่ม back สำหรับย้อนกลับ หรือไม่ตกลง
อีกด้านนึงคือ ปุ่มเปิด-ปิดเครื่อง/เปิดหรือปิดไฟที่หน้าจอ และปุ่มลูกศรขึ้นลงเพื่อควบคุมเมนูต่างๆ
ที่ด้านหลัง จะมีเซ็นเซอร์ที่เป็น Optical เพื่อวัด Heart Rate ของเรานั่นเอง โดยเน้นย้ำว่าเป็น Mio Heart Rate Technology ก็ถือว่าเป็นเทคโนโลยีที่มีความน่าเชื่อถือในระดับนึงล่ะ
หากเราใส่ใช้งานจริง เมื่อมีการวัด Heart Rate ตัวไฟสีเขียวจะติด ซึ่งต้องบอกว่าจุดบอดอย่างนึงของการมีเทคโนโลยีนี้ก็คือ สูบแบตนั่นเอง แต่ทว่าบน Garmin Forerunner 225 เน้นเรื่องของการวิ่ง ดังนั้นตัว Heart Rate ที่วัดได้จะไม่ใช่แบบ Real time แต่จะเป็นแบบ Standby คือหากต้องการวัดอัตราการเต้นของหัวในในระหว่างวัน เราสามารถกดดูได้เป็นครั้งคราว ซึ่งหลังจากกดดู ก็จะต้องใช้เวลาสักพักนึง ถึงจะเห็นการเต้นของหัวใจเรา แต่ถ้าเป็นระหว่างการวิ่งอันนี้หากเราตั้งว่าเป็นการเปิด auto เอาไว้ ก็จัดเต็มให้เราอยู่แล้ว อย่างที่บอกว่า Garmin Forerunner 225 ออกแบบมาสำหรับนักวิ่งจริงๆ
เรื่องของสายรัดข้อมือ ก็ไม่ต้องห่วง รองรับข้อมือเล็กๆ อย่างผมสบายๆ หรือจะเล็กกว่าผมก็ยังไหว จนถึงขนาดคนข้อมือแบบว่าใหญ่บิ้กเบิ้มก็ไม่มีปัญหา และการล็อคสายก็ยึดด้วยเขี้ยว 2 อันซึ่งแน่นอนว่า แน่น ไม่หลุดแน่นอน
เรื่องของแบตเตอรี่ ที่ไม่ได้บอกขนาด เอาไว้ แต่เรื่องการใช้งานแบบเต็มสูบ ทั้งเปิด GPS และ Heart Rate จะอยู่ที่ประมาณ 7-10 ชั่วโมง ดังนั้น วิ่งมาราธอนไม่ต้องห่วงได้แน่นอน ยกเว้นจะวิ่งเกิน 10 ชั่วโมง และการชาร์จก็ต้องมีแท่นชาร์จโดยเฉพาะเท่านั้น ดังนั้นการใช้งานหากต้องนำไปใช้ในงานวิ่งต่างๆ ยังไงแนะนำให้ชาร์จแบตให้เต็มก่อนเป็นดีที่สุด
การใช้งานครั้งแรกจะมีการตั้งค่าเครื่อง โดยอาศัยเวลาสักแป๊ปนึง หากจะซื้อแล้วใช้เลย ก็พอไหว แต่ก็ต้องอาศัยการตั้งค่ากันหน่อย
หน้าจอนี้คนใช้งาน Garmin คงคุ้นเคยกันดี เป็นหน้าจอหลักที่อยู่ในทุกรุ่น
เราสามารถใช้งานปุ่มกดเพื่อตั้งค่าการทำงานต่างๆ ได้ หรือไม่หากต้องการใช้งานเลย เมื่อเราใส่อายุ น้ำหนัก และส่วนสูงในการตั้งค่าตอนแรกแล้ว ก็ใช้งานได้ทันทีเช่นกัน แต่เราไม่ควรพลาด ในการใช้งานร่วมกับ Smartphone
โดย Garmin มีแอพอย่าง Garmin Connect มาให้เชื่อมต่ออยู่แล้ว รองรับทั้ง iOS และ Android รวมถึงบน PC ที่มี Garmin Express ให้โหลดมาใช้งานด้วย
การเชื่อมต่อก็ไม่ยากครับ ผ่านทาง bluetooth ให้เราเปิดเข้าสู่โหมด pair จากนั้นก็เข้าไปที่ Smartphone ที่เราใช้งาน แล้วก็เลือก รุ่นที่ต้องการเพิ่มอุปกรณ์ และจัดการ add เลย
ก็เป็นอันเสร็จขั้นตอนการใช้งาน เมื่อราวิ่งเรียบร้อยแล้ว ก็นำมาซิงค์กับ Garmin Connect เพื่อมาดูรายงานต่างๆ แบบละเอียดได้เลย
อีกนิดนึงคึอข้อแตกต่างเผื่อว่าใครกำลังเล็งอยู่แล้วคิดว่า Garmin Forerunner 225 นี่เหมาะกับตัวเองหรือเปล่า
จะว่าไปแล้ว ถ้าหากใครครอบครอง Garmin Forerunner 220 อยู่ก็น่าจะเปลี่ยนได้แล้วนะครับ ฮ่ะๆ
เนื่องจาก Garmin Forerunner 225 เป็นรุ่นที่สามารถแทรคแอคทิวิตี้ของเราระหว่างวันได้ด้วย คือการก้าวเดินระหว่างวันและการนอน ซึ่งเรียกว่าสามารถใส่ได้ทั้งวัน ไม่ใช่แค่เฉพาะตอนวิ่งเท่านั้น
ตัวแอพ Garmin Connect มีสรุปรายงานเพียบ การนอน การเดิน การออกกำลังกาย รวมถึง จำนวน calories ที่เชื่อมต่อกับบริการของ Myfitnesspal
เมนูที่ให้เลือกก็เพียบ สามารถเลือกดูรายละเอียดต่างๆ ได้เต็มเลย คงไม่ได้ลงรายละเอียดให้นะครับ เอาเป็นว่าตามลิสต์เมนูที่เห็นในรูปเลยก็แล้วกัน มีอะไรให้เล่นหลายอย่าง เช่น social ก็เชื่อมต่อกับเพื่อนๆ ได้ สามารถเปิด Live track เพื่อให้เพื่อนๆ ติดตามเราผ่าน social ได้ด้วย อีกทั้ง fitness ที่เข้าไปดูรายละเอียดรายงานหรือผู้นำกลุ่ม ฯลฯ หากอยากรู้ว่าทำอะไรยังไงได้บ้าง แนะนำ ซื้อมาลองด้วยกันครับ ฮาๆๆ
มาดูรายงานจากแอพเรื่องของแอคทิวิตี้กันหน่อย
รายงานการนอน ข้อดีของ Garmin ก็คงเป็นเรื่องของมีรายงานของการเคลื่อนไหวของร่างกายด้วย ปกติ ถ้าเป็นแอพค่ายอื่นๆ จะมีแค่ หลับลึก หลับตื้น หรือตื่นนอน แต่นี่ มีลักษณะการขยับตัวมากน้อยด้วย ซึ่งสังเกตุดีๆ คือหากเรานอนนิ่งๆ ไม่มีการขยับตัวก็จะเข้าสู่การหลับลึก
รายงานการเคลื่อนไหว หรือการจับการก้าวเดินระหว่างวัน ก็ต้องบอกว่าเหมือนกับค่ายอื่นๆ ทั่วๆ ไป ที่สามารถตั้งเป้าหมายการเดินได้ว่ากี่ก้าว และจำนวน calories ที่เผาผลาญพลังงาน และช่วงเวลาที่เรามีการก้าวเดินมากน้อยในระหว่างวัน
และแน่นอนที่พลาดไม่ได้ก็คือ การเก็บสถิติรายงานการวิ่งของเรา
มีบอกรายละเอียดที่จำเป็นสำหรับการวิ่งครบๆ
ดูจำนวนรอบซึ่งเราตั้งค่าได้ว่าแต่ละรอบนี่จะให้เป็นกี่กิโล แต่ที่ตั้งค่าเอาไว้มาตรฐานก็ 1 กิโลเมตรนั่นล่ะครับ
มีกราฟรายละเอียดครบ อัตราการเต้นของหัวใจ จำนวนก้าวต่อนาที แค่นี้ก็พอแล้ว ที่เหลือก็เอารายละเอียดพวกนี้ไปปรับปรุงการวิ่งของเรา
สรุปส่งท้ายกันนิดนึง
ต้องบอกว่าผมก็ใช้พวก Activity tracker มาหลากหลายพอสมควร และ Garmin ยังไม่ถึงขีดสุดในการเป็น Activity tracker เพราะเนื่องจากการมี Heart Rate Sensor ที่สามารถวัดอัตราการเต้นของหัวใจได้ แต่ไม่สามารถวัดทุกขณะการเคลื่อนไหว หรือไม่สามารถวัดแบบเรียลไทม์ได้ ทำให้ผมคิดว่ายังสอบไม่ผ่านในเรื่องของ Activity tracker แต่จริงๆ แล้วน่ะมันเป็นตัวเสริมเพราะชื่อรุ่นก็บอกอยู่แล้วว่า Forerunner 225 มันสำหรับนักวิ่ง จะมาคาดดหวังอะไรกับ Activity tracker ล่ะ ซึ่งแน่นอนว่าจุดประสงค์ที่ผมซื้อมาใช้งานก็คือการแทรคเรื่องการวิ่ง โดยขณะที่เราวิ่ง คอยดูอัตราการเต้นของหัวใจได้ และ ก็สามารถคุมโซนได้นั่นเอง ทำให้นำไปปรับปรุงการวิ่งของเราให้ดีขึ้น โดยมีความสามารถต่างๆ ครบถ้วน ส่วนเรื่องดีไซน์ การที่เป็นนาฬิกาลักษณะทรงกลมผมว่าดูดีกว่าแบบที่เป็นสี่เหลี่ยม และดีไซน์ก็ไม่ได้ต่างจากรุ่น Forerunner 220 สักเท่าไหร่ รวมถึงสเปคด้วย แค่มีเพิ่มเติมไม่มากนัก หากเป็นคนที่ใช้ Forerunner 220 อยู่ล่ะก็ บางทีก็อาจจะไม่คุ้มหากจะเปลี่ยนมาเป็น Forerunner 225 แต่ถ้าเป็นคนที่เพิ่งเริ่มล่ะก็ ผมว่าเพิ่มเงินอีกไม่มากแล้วเลือกรุ่นนี้เลยดีกว่า
การควบคุมการใช้งาน ด้วยปุ่มกด ถือว่าสะดวกที่สุดแล้วก็ว่าได้ หากเป็นรุ่นที่ทัชสกรีน อาจจะมีปัญหาเรื่องการทัชสกรีนที่ยังตอบสนองได้ช้ากว่า ยิ่งด้วยความเคยชินการใช้งานแล้วด้วย การใช้งานปุ่มกดในขณะที่วิ่ง กดไม่กี่ที ก็รู็แล้วว่าการกดนั้นอยู่ที่หน้าจอไหน แสดงค่าอะไร กดปุ๊ป ก็ค่อยหยิบขึ้นมาดู ดูแว๊บนึง ก็วิ่งต่อ หากเป็นหน้าจอสัมผัส การสัมผัสเลื่อนหน้าจอจากซ้ายไปขวาสามครั้ง กินเวลามากกว่า ซึ่งผมมองว่าไม่สะดวก และไม่เหมาะกับการวิ่งสักเท่าไหร่นัก แต่ทั้งหมดนี้ก็ขึ้นอยู่กับการใช้งานของแต่ละบุคคล เพราะเอาเข้าจริง คือเราไม่ได้เป็นนักวิ่งแข่ง ที่ต้องทำเวลาให้ดีสุดๆ ดังนั้นการควบคุมโดยเเสียเวลาออีกไม่กี่สิบวินาที อาจจะไม่ใช่ประเด็นที่น่ากังวลมากนัก แต่ Forerunner 225 ก็ถือว่าลงตัวด้วยการควบคุมด้วยปุ่มกด ทั้ง 4 ปุ่มที่มีครับ และที่ขาดไม่ได้ก็คงเป็นการใช้งานเชื่อมต่อกับแอพอย่าง Garmin Connect ที่สามารถบอกรายละเอียดต่างๆ ได้ครบถ้วน สรุปคือ นักวิ่งไม่ว่ามือใหม่หรือมือเก่า ควรมีติดตัวไว้ล่ะครับ ห้ามพลาดเลยทีเดียวเชียว
เพื่อนๆ สมาชิกสามารถเข้าไปคอมเม้นท์ที่เว็บบอร์ดเดิมกันได้ โดยคลิ๊ก ==> ที่นี่
You must be logged in to post a comment.