หลังจากที่ Huawei ได้ปล่อยสมาร์ทโฟนรุ่นแรกของโลกที่มีการพัฒนากล้องร่วมกันกับ Leica ออกมากับ Huawei P9 และ P9 Plus แล้วทาง Huawei ยังคงเดินหน้าพัฒนากล้องสมาร์ทโฟนร่วมกันกับทาง Leica ต่อไปจนออกมาเป็นรุ่นที่สองซึ่งได้ใช้เทคโนโลยีดังกล่าวบน Huawei Mate 9 ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อมีรุ่นใหม่ออกมาหลายๆ คนก็คงอยากจะรู้ว่าแล้วมันแตกต่างกันมากน้อยแค่ไหนกันระหว่าง Huawei Mate 9 VS Huawei P9 Plus ซึ่งผมเองก็ได้พาเจ้าทั้งสองเครื่องออกไปเก็บภาพมาประมาณนึง จึงมาเขียนบทความให้เพื่อนๆ ได้เดากันใน Blind Test ครั้งนี้ครับ
ทั้งคู่ใช้กล้องที่พัฒนาร่วมกันกับ Leica คือเป็นกล้องคู่ตัวนึงถ่ายเฉพาะภาพขาวดำอีกตัวถ่ายภาพสีครับ โดยสเปคคร่าวๆ ดังนี้
Huawei Mate 9: Dual Camera ประกอบด้วยกล้องขาวดำความละเอียด 20 ล้านพิกเซลและกล้องสีความละเอียด 12 ล้านพิกเซล (F2.2) พร้อมระบบกันภาพสั่นไหว (OIS), Laser Focus, PDAF และไฟแฟลช LED
Huawei P9 Plus: Dual Camera ประกอบด้วยกล้องขาวดำความละเอียด 12 ล้านพิกเซลและกล้องสีความละเอียด 12 ล้านพิกเซล (F2.2) พร้อม Laser Focus, PDAF และไฟแฟลช LED
ต่อไปเป็นตัวอย่างภาพถ่ายจากกล้องของทั้งสองรุ่นซึ่งภาพบนและภาพล่างผมจะให้รุ่นเดียวกันอยู่บนและล่างเสมอนะครับ แต่จะเป็นรุ่นไหนเราลองมาทายกันดูนะครับ แน่นอนว่าภาพทั้งหมดมิได้มีการตกแต่งใดๆ เพิ่มเติมทั้งสิ้น เพราะว่ารอบนี้ผมเอาไฟล์ภาพดิบๆ จากตัวเครื่องมาโยนลงเวลาเขียนบทความเลยครับ
ภาพที่ 1: ภาพนี้ถ่ายออกมาเวลาราวๆ บ่ายสองโมง วันนั้นท้องฟ้าเปิด ฟ้าสวยงามออกมาเป็นสีฟ้าเลย และแดดไม่แรงมากนัก
ภาพที่ 2: ภาพนี้ก็ถ่ายช่วงเวลาเดียวกันกับภาพแรก แต่หันกล้องไปทางที่ค่อนข้างย้อนแสงหน่อย ซึ่งภาพบนจะมืดกว่าภาพล่าง รายละเอียดใต้ชายคาจึงมืดไปแต่แลกกับการเก็บท้องฟ้าสีสันสวยๆ มาได้ ส่วนภาพล่างรายละเอียดจะได้ท้องฟ้าสว่างขึ้นไปหน่อยแลกกับรายละเอียดของวัตถุและใต้ชายคา
ภาพที่ 3: ยังคงถ่ายวิวเวลาเดิม ย้อนแสงเช่นเคย ผลที่ได้จึงคล้ายกันกับภาพที่ 2
ภาพที่ 4: ภาพนี้เวลาราวๆ บ่ายสี่โมง ฟ้าเปิดโล่งได้อีก ซึ่งทั้งสองภาพเก็บรายละเอียดของแสงเงาและสีสันได้ดีทั้งคู่ แต่ครั้งนี้ภาพบนจะได้ภาพสว่างกว่าเล็กน้อย
ภาพที่ 5: ถ่ายกำแพงอิฐส้มๆ แดงๆ เวลาราวบ่ายสี่โมง เช่นกัน ภาพนี้เห็นความแตกต่างของสีภาพที่ได้ค่อนข้างชัดเจน โดยภาพบนจะออกโทนอุ่น ภาพล่างจะออกโทนเย็นกว่า
ภาพที่ 6: กลับมาถ่ายภาพตอนเช้าราวๆ 10 โมงเช้าได้ พร้อมวิวภูเขา แสงแดดส่องมาจากทางซ้ายมือเต็มๆ ภาพที่ได้ใกล้เคียงกันมากจริงๆ
ภาพที่ 7: มุมเดียวกันกับภาพที่ 6 แต่ถ่ายด้วยการ Zoom 2X
ภาพที่ 8: มุมเดียวกันกับภาพที่ 6 แต่ถ่ายด้วยเลนส์ Monochrome เพื่อลองภาพขาวดำดู
ภาพที่ 9: ย้ายสถานที่ไปที่ทุ่งดอกทานตะวันเวลาเที่ยงตรงกัน แสงแดดแรงๆ จัดๆ ตอนกลางวันทำให้มีเงาตรงดอกทานตะวันไป สีสันของภาพเอาจริงคือแทบจะเหมือนกันแต่ต่างกันที่ภาพล่างสว่างกว่าเล็กน้อย
ภาพที่ 10: ครั้งนี้ถ่ายเพื่อเอาดอกทานตะวันที่หันหน้ามาหากล้องด้วย สีสันภาพใกล้เคียงกันจริงๆ คู่นี้ แต่ภาพล่างยังคงสว่างกว่าเล็กน้อย
ภาพที่ 11: ดอกทานตะวันดอกเดิม เพิ่มเติมคือใช้ Wide Apenture เพื่อถ่ายภาพหน้าชัดหลังเบลอ ปรับที่ F4 เท่ากัน และแตะโฟกัสที่กลางดอกทานตะวันเหมือกัน ครั้งนี้ภาพล่างแสง Over ไปเยอะเลยแฮะ แปลกดี
ภาพที่ 12: ถ่ายพระอาทิตย์ก่อนจะลับฟ้าเวลาราวๆ 5 โมงเย็นจากวิวที่ทำงานชั้นสูงๆ ภาพนี้เห็นความแตกต่างในเรื่องความสว่างชัดเจนมาก
ภาพที่ 13: ถ่ายหลอดไฟสีเหลืองนวลจากร้านอาหารยามค่ำคืน สีภาพใกล้เคียงกันเสมอจริงๆ คู่นี้ และภาพล่างยังคงสว่างกว่า
ภาพที่ 14: ถ่ายวัตถุในร้านตอนกลางคืนที่แสงเหลืองๆ นวลๆ ไฟตรงโต๊ะที่นั่งนี่แทบไม่มีฉะนั้นตรงขวดเหล้าจึงมองมืดมากเหมือนถ่ายย้อนแสง
ภาพที่ 15: ถ่ายท่อนไม้ที่มีแสงไฟสีเหลืองส่องมา ภาพบนแอบติด Tint แดงๆ ส่วนภาพล่างแอบติด Tint เหลืองๆ เล็กน้อย ซึ่งภาพนี้ผมว่าภาพล่างเก็บสีได้ดีสมจริงกว่า
ภาพที่ 16: รูปต้นไม้ที่ติดไฟสีเหลืองนวลๆ ถ้ามองเฉพาะไฟก็ให้ภาพบน แต่ถ้ามองพื้นดินนี่ให้ภาพล่างนะ
ภาพที่ 17: ยังคงอยู่กับภาพกลางคืน ภาพนี้ถ่าย Reception ของที่พัก ติดไฟเหลืองนวล ผลลัพธ์ที่ได้ใกล้เคียงกันได้อีก แต่ภาพล่างให้ภาพสว่างกว่าเล็กน้อย
ภาพที่ 18: หันมาถ่ายภาพอาหารกันบ้าง ภาพนี้เวลาบ่ายสองกับเมนูหมูคลุกฝุ่น สีสันของภาพใกล้เคียงกันดีจริงๆ เขียวเป็นเขียวเลยผักเนี่ย
ภาพที่ 19: เมนูปูนิ่มผัดกระเทียมกับร้านไฟแสงสีเหลืองนวล มีแสงแดดส่องมาจากทางขวาบนของภาพ สีสันที่ได้ใกล้เคียงกันเช่นเคย แต่ภาพล่างมีความสว่างของภาพที่มากกว่าภาพบนเล็กน้อย
ภาพที่ 20: เมนูคอหมูย่างกับสภาพแสงแบบเดียวกับภาพที่ 19 ผลลัพธ์ที่ได้เหมือนภาพบนคือภาพล่างมีความสว่างของภาพมากกว่าเล็กน้อย
ภาพที่ 21: ลองถ่ายกระถางต้นไม้กลางแจ้งด้วย Wide Apenture Mode ปรับ F4 เท่ากัน และแตะโฟกันที่กระถางต้นไม้
ภาพที่ 22: ถ่ายกระถางกระบองเพชรแบบย้อนแสงแดดที่ตะวันกำลังจะลับฟ้าด้วยโหมด Wide Apenture รอบนี้ภาพบนได้ภาพสว่างกว่าแฮะ -_-‘ เริ่มงงละ
ภาพที่ 23: ถ่าย Laptop ที่ใช้ Acer Swift 7 พร้อมของเกะกะมากมายบนโต๊ะทั้งกาแฟ มือถือและเม้าท์ในสภาพแสงเหลืองบนโต๊ะไม้สีน้ำตาลเข้ม ภาพนี้เห็นกันชัดๆ ว่าภาพไหนดูดีกว่า ฮ่าๆ
ภาพที่ 24: ลองถ่ายตะเกียงที่ถูกครอบพร้อมใช้โหมด Wide Apenture เก็บโบเก้ดู ต้องบอกว่าสถานที่ๆ ถ่ายนั้นมืดแบบไม่มีไฟส่องมาเลยล่ะ เพราะมันเป็นชั้นดาดฟ้า
ภาพที่ 25: ลองถ่ายภาพกลางคืนด้วย Night Shot กันบ้าง ผลลัพธ์ยังคงใกล้เคียงกันและภาพล่างเหมือนจะได้ภาพที่สว่างกว่าเล็กน้อย
ดูกันมา 25 ภาพแล้วพอเดากันออกมั้ยว่าภาพไหนมาจากรุ่นอะไร เอาล่ะเฉลยเลยละกัน
ภาพบน = Huawei P9 Plus
ภาพล่าง = Huawei Mate 9
ใครเดาถูกเดาผิดกันบ้างครับ ส่วนตัวจากที่ใช้มาพบว่าภาพไม่ได้ต่างกันมากนัก ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ Software ที่จงใจให้ภาพของ Mate 9 ออกมาสว่างกว่าเดิมหรืออย่างไร หรือเป็นที่ Hardware อันนี้ก็ไม่อาจทราบได้จนกว่าจะได้เอาเจ้า P9 Plus อัพเดทเป็นกล้องเวอร์ชั่นใหม่ตามกันไปล่ะ แล้วจะมาบอกอีกที ถ้าตอนนั้นยังมีตัวเทียบอะนะเพราะผมก็คงใช้ P9 Plus ต่อไป
สำหรับบทความ Blind Test: ศึกสายเลือด !! ปะทะกล้อง Huawei Mate 9 VS Huawei P9 Plus นี้ก็ทำขึ้นเพื่อให้เห็นภาพชัดๆ กันว่ากล้องของทั้งสองรุ่นต่างกันมากน้อยแค่ไหน ซึ่งภาพส่วนใหญ่นั้นผมใช้โหมด Auto ถ่ายแทบทั้งหมดล่ะ เว้นบางภาพก็ได้มีการบอกแล้วว่าใช้โหมดอะไร ก็หวังว่าเพื่อนๆ คนไหนที่กำลังลังเลระหว่างสองรุ่นนี้อยู่คงสามารถตัดสินใจเลือกซื้อได้ง่ายขึ้นนะครับ
ถูกใจบทความนี้ 3
You must be logged in to post a comment.