สวัสดีวันพฤหัสบดีที่ 5 พฤษภาคม 2559 ครับพี่น้องชาว PDAMobiz.com วันนี้มาเจอผม tcvaio ครับ วันนี้เป็นวันฉัตรมงคล ซึ่งถือว่าเป็นวันสำคัญมากๆ วันหนึ่ง นอกเหนือจากวันหยุดยาวที่พวกเราจะได้เที่ยวๆ กัน ดังนั้นผมขอเอาบทความเกี่ยวกับวันฉัตรมงคลมาให้อ่านกันครับ
วันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคลของทุกปีตรงกับวันที่ 5 พฤษภาคม วันสำคัญอีกวันหนึ่งของปวงชนชาวไทย ที่อยู่ใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ควรระลึกถึง วันนี้กระปุกจึงมีเรื่องราวความสำคัญวันฉัตรมงคล ประวัติวันฉัตรมงคลมาฝากค่ะ
ความหมายของวันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคล (อ่านว่า ฉัด-ตระ-มง-คล) มีความหมายตามพจนานุกรมว่า พระราชพิธี ฉลองพระเศวตฉัตร ทำในวันซึ่งตรงกับวันบรมราชาภิเษก
ความสำคัญของวันฉัตรมงคล
วันฉัตรมงคล เป็นวันที่รำลึกถึงพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เป็นพระมหากษัตริย์ รัชกาลที่ 9 แห่งราชวงศ์จักรี และราชอาณาจักรไทย ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติ ต่อจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 และดำรงพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช”เนื่อง จากยังมิได้ทรงผ่านพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ก็เสด็จพระราชดำเนินไปทรงศึกษาอยู่ ณ ทวีปยุโรป จนกระทั่งทรงบรรลุนิติภาวะ จึงได้เสด็จนิวัตประเทศไทย
ดังนั้นรัฐบาลไทยและพสกนิกร จึงได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อม จัดงานพระราชพิธีฉลองพระเศวตฉัตรหรือรัฐพิธีฉัตรมงคล หรืออาจเรียกว่าพระราชพิธีฉัตรมงคล ซึ่งกระทำในวันบรมราชาภิเษก ถวายเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2493 ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ได้มีพระปฐมบรมราชโองการในพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้นว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม”
ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา พสกนิกรชาวไทยจึงได้ถือเอาวันที่ 5 พฤษภาคม ของทุกปีเป็นวันฉัตรมงคล เพื่อน้อมรำลึกถึงวันสำคัญนี้
ความเป็นมาของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น มีหลักฐานปรากฏในหลักศิลาจารึก วัดศรีชุมของพญาลิไทว่า เริ่มต้นมาตั้งแต่ครั้งพ่อขุนผาเมืองได้อภิเษกพ่อขุนบางกลางหาว หรือ พ่อขุนบางกลางท่าว ให้เป็นผู้ปกครองเมืองสุโขทัย
จากนั้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีบรมราชาภิเษกให้ถูกต้องสมบูรณ์ โดยพระมหากษัตริย์ที่ยังมิได้ทรงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก จะไม่ใช้คำว่า “พระบาท” นำหน้า “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” และคำสั่งของพระองค์ก็ไม่เรียกว่า “พระบรมราชโองการ” และอีกประการหนึ่งคือ จะยังไม่มีการใช้ นพปฎลเศวตฉัตร หรือฉัตร 9 ชั้น
ความเป็นมาของพระราชพิธีฉัตรมงคล
ก่อนหน้ารัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชพิธีฉัตรมงคลถือเป็นพิธีของเจ้าพนักงานในพระราชฐาน ที่มีหน้าที่รักษาเครื่องราชูปโภคและพระทวารประตูวัง ได้จัดการสมโภชสังเวยเครื่องราชูปโภคที่ตนรักษาทุกปีในเดือนหก และเป็นงานส่วนตัว ไม่ถือเป็นงานหลวง
จนกระทั่ง สมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงกระทำพิธีฉัตรมงคลขึ้นเป็นครั้งแรก ในวันบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ.2393 โดยมีพระราชดำริว่า วันบรมราชาภิเษกเป็นมหามงคลสมัยที่ควรแก่การเฉลิมฉลองในประเทศที่มีพระเจ้า แผ่นดิน จึงถือให้วันนั้นเป็นวันนักขัตฤกษ์มงคลกาล และควรที่จะมีการสมโภชพระมหาเศวตฉัตรให้เป็นสวัสดิมงคลแก่ราชสมบัติ แต่เนื่องจากเป็นธรรมเนียมใหม่ ยากต่อการเข้าใจ อีกทั้งเผอิญที่วันบรมราชาภิเษกไปตรงกับวันสมโภชเครื่องราชูปโภคที่มีแต่ เดิม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอธิบายว่า วันฉัตรมงคลเป็นวันสมโภชเครื่องราชูปโภค จึงไม่มีใครติดใจสงสัย
ดังนั้นจึงได้มีพระราชดำริจัดงานพระราชกุศลพระราชทานชื่อว่า “ฉัตรมงคล” นี้ ขึ้น โดยได้มีการเฉลิมฉลองด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดเจริญพุทธมนต์ ในวันขึ้น 13 ค่ำเดือน 6 รุ่งขึ้นมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท และพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ด้วยเหตุนี้จึงถือว่าการเฉลิมฉลองพระราชพิธีฉัตรมงคล เริ่มมีในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นครั้งแรก
ต่อมาในสมัยรัชกาล ที่ 5 วันบรมราชาภิเษกตรงกับเดือน 12 จึงโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานฉัตรมงคลในเดือน 12 แต่ไม่ได้รับการยินยอม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงแก้ไขด้วยการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยตราจุลจอมเกล้าสำหรับตระกูลขึ้น ให้มีพระราชทานตรานี้ตรงกับวันคล้ายบรมราชาภิเษก ท่านผู้หลักผู้ใหญ่จึงยินยอมให้เลื่อนงานฉัตรมงคลมาตรงกับวันบรมราชาภิเษก แต่ยังให้รักษาประเพณีสมโภชเครื่องราชูปโภคอยู่ตามเดิม รูปแบบงานวันฉัตรมงคลจึงเป็นเช่นนี้จนถึงปัจจุบัน
credit: kapook.com
แล้วพบกันใหม่ครับ
tcvaio
You must be logged in to post a comment.