การเปลี่ยนแปลงจากการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ “Digital Disruption” ไม่ใช่สิ่งใหม่ นับตั้งแต่บริษัทอย่างกูเกิลและแอปเปิลมีชื่อขึ้นพาดหัวข่าวอยู่บ่อยครั้ง เมื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ปฏิวัติวงการไอทีนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000
โลกธุรกิจที่แตกต่าง : บทบาทของสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
โดย ซาฟรุล ฮาชิม (Zafrul Hashim) รองประธานระดับภูมิภาคด้านกฎหมาย ข้อบังคับ และรัฐกิจสัมพันธ์, แกร็บ
“จะเปลี่ยนหรือจะถูกเปลี่ยน (Disrupt or be disrupted)” คือป้ายที่ติดอยู่บนผนังสำนักงานของแกร็บ เพื่อคอยเตือนใจพนักงานอยู่เสมอว่า การสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องคือพลังงานขับเคลื่อนบริษัทนี้
การเปลี่ยนแปลงจากการปรับใช้เทคโนโลยีดิจิทัล หรือ “Digital Disruption” ไม่ใช่สิ่งใหม่ นับตั้งแต่บริษัทอย่างกูเกิลและแอปเปิลมีชื่อขึ้นพาดหัวข่าวอยู่บ่อยครั้ง เมื่อนำเสนอนวัตกรรมใหม่ที่ปฏิวัติวงการไอทีนับตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 2000
สิ่งใหม่ ที่แท้จริงคือการแผ่ขยายอย่างรวดเร็วของ Digital Disruption ซึ่งได้สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาลในอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้ง การขนส่ง การเงินการธนาคาร การศึกษา การสาธารณสุข เหลือไว้เพียงอุตสาหรรมไม่กี่ประเภทเท่านั้นที่ยังไม่ถูกเปลี่ยน
Digital Disruption ไม่ใช่สิ่งที่ทุกคนหรือทุกภาคธุรกิจให้การยอมรับ องค์กรในหลายธุรกิจรู้สึกว่าถูกคุกคาม ผู้เชี่ยวชาญหรือแรงงานจำนวนมากเกรงว่านวัตกรรมเหล่านี้อาจเข้ามาทดแทนทักษะของตน รัฐบาลในหลายประเทศพยายามทำความเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่บริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี (Tech Startup) สามารถสร้างขึ้นได้ในตลาด นับเป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดการแบ่งฝ่ายเป็น 2 ขั้ว (Us and Them scenario) ขั้วหนึ่งคือภาคประชาชนหรือองค์กรที่เชื่อมั่นในการดำเนินธุรกิจแบบเดิม และอีกขั้วหนึ่งคือภาคประชาชน องค์กร รวมทั้งบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่ยอมรับการประยุกต์ใช้นวัตกรรมทางดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจ
จำเป็นหรือที่ต้องแบ่งเป็นสองฝ่าย?
ความร่วมมือคือนิยามใหม่ของการแข่งขัน (Collaboration – The New Competition)
ความขัดแย้งระหว่างแนวคิดการดำเนินธุรกิจแบบเก่าและแบบใหม่นั้น ไม่เพียงแต่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค หากแต่ยังทำลายธุรกิจในระยะยาว อีกทั้งชะลอความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม
Digital Disruption ไม่จำเป็นต้องมีผู้แพ้หรือผู้ชนะ องค์กรธุรกิจแบบเดิมสามารถร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคและสังคมที่เปลี่ยนไป และเพื่อเพิ่มความเป็นไปได้ใหม่ๆ ให้แก่สังคม
ในทวีปอเมริกาเหนือและยุโรป มีโครงการใหม่จำนวนมากที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี
สำนักงานขับเคลื่อนเมืองสู่ยุคใหม่ในบอสตัน (Office of New Urban Mechanics) ได้ทำงานเพื่อชุมชนโดย จับมือร่วมกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีหลายแห่งที่มีศักยภาพในการพัฒนาบริการเพื่อสังคม เช่น การใช้ แอพลิเคชั่น Ticket Zen ช่วยให้เจ้าของรถยนต์ชำระค่าปรับในกรณีที่จอดรถผิดที่ผ่านสมาร์ทโฟนได้อย่างง่ายดาย หรือในกรุงเฮลซิงกิ มีการพัฒนาระบบขนส่งมวลชนแบบออนดีมานด์ (Mobility on demand) ที่ผสานระบบการชำระเงินของขนส่งมวลชนและบริการคาร์พูลทุกประเภทให้เป็นหนึ่งเดียว โดยจุดมุ่งหมายสูงสุดของโครงการคือลดอัตราการครอบครองรถยนต์ส่วนตัวให้เป็นศูนย์ภายในปีค.ศ. 2025
ส่วนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลายประเทศยังอยู่ในจุดเริ่มต้นของการปรับใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมต่างๆ ยกเว้นประเทศสิงคโปร์และมาเลเซียซึ่งมีสภาพแวดล้อมที่เปิดรับอีโคซิสเต็มด้านเทคโนโลยีสูงในระดับหนึ่งแล้ว การพัฒนาดังกล่าวรุดหน้าไปอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งหลายภาคส่วนพยายามผลักดันให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ตระหนักถึงศักยภาพของเศรษฐกิจดิจิทัล เนื่องจากกลยุทธ์ด้านดิจิทัลที่ถูกต้องจะช่วยเพิ่มมูลค่าจีดีพีของภูมิภาคนี้ได้สูงถึง 1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายใน 10 ปีข้างหน้า
หากมองตามบริบทดังกล่าว จะเห็นได้ถึง 3 วิธีที่บริษัทสตาร์ทอัพสามารถนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อผสานพลังกับภาคส่วนต่างๆ และผลักดันความฝันของการพัฒนาด้านดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นจริง
การร่วมมือกับธุรกิจต่างๆ : ปรับปรุงกระบวนการต่างๆ ให้ทันสมัยและสร้างความเปลี่ยนแปลงให้อุตสาหกรรม
เทคโนโลยีใหม่ๆ ส่งผลให้องค์กรธุรกิจที่ยังยึดติดกับวิธีการทำงานแบบเดิมตระหนักว่า พวกเขาต้องเปลี่ยนแนวทางการดำเนินธุรกิจ หากต้องการอยู่ในการแข่งขันต่อไป ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีที่จะทำให้องค์กรธุรกิจเหล่านี้ได้ผสานความร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับองค์กรธุรกิจขนาดเล็กที่มีแนวคิดล้ำสมัยแต่ขาดความพร้อมทางด้านเงินทุน โดยบริษัทขนาดใหญ่อาจจ้างบริษัทสตาร์ทอัพขนาดย่อมให้เข้ามาช่วยดำเนินงาน ในส่วนที่สอดคล้องกับสิ่งที่บริษัทสตาร์ทอัพนั้นกำลังดำเนินการอยู่ โดยอาจลงทุนหรือช่วยพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถของบริษัทเหล่านั้นไปพร้อมกัน
อีกทางหนึ่ง องค์กรธุรกิจขนาดใหญ่อาจนำ “หลักปฏิบัติที่ดี” ของบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีมาเลียนแบบ เช่น ความคล่องตัวในกระบวนการทำงาน แม้ท้ายที่สุดทั้ง 2 ฝ่ายจะไม่ได้ร่วมมือกันอย่างเป็นทางการ แต่การแข่งขันก็ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมนั้นๆ ไปอีกขั้นหนึ่ง ส่งผลให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์อย่างสูงสุด ทั้งจากผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายขึ้นและบริการที่ดียิ่งขึ้น
หนึ่งในตัวอย่างที่น่าสนใจเกิดขึ้นเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ณ ประเทศสิงคโปร์ บริษัทรถแท็กซี่ต่างๆ เริ่มต้นใช้โครงสร้างอัตราค่าโดยสารแบบตายตัว (Fixed Fare) ซึ่ง แกร็บ (Grab) บริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเรียกรถแท็กซี่เป็นผู้ริเริ่มความคิดขึ้น ระบบนี้ช่วยให้ทั้งสมาชิกผู้ขับขี่และผู้ใช้งานแอพลิเคชั่นแกร็บได้รับประโยชน์ กล่าวคือ สมาชิกผู้ขับขี่ของแกร็บจะได้รับเงินค่าเรียกใช้บริการเป็นจำนวนที่แน่นอน เมื่อมีผู้เรียกใช้บริการแท็กซี่ผ่านแอพลิเคชั่น อีกทั้งยังช่วยให้สมาชิกผู้ขับขี่เข้าถึงฐานผู้ใช้งานแอพลิเคชั่นแกร็บได้โดยตรง ส่วนผู้ใช้บริการก็มีทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น และสามารถทราบค่าใช้จ่ายที่แน่นอนได้ทันทีที่เรียกใช้บริการ
ยกระดับความสามารถของคนในท้องถิ่น : เพิ่มความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี
หลายฝ่ายมองว่า Digital Disruption จะทำให้คนจำนวนมากสูญเสียงาน แต่ในทางกลับกัน บริษัททางเทคโนโลยีเหล่านี้ช่วยสร้างอาชีพใหม่ๆ และตำแหน่งงานที่มีค่าตอบแทนสูงได้เป็นจำนวนมาก เช่น e-Commerce, Digital Marketing และ Cybersecurity เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ปัญหาสำคัญในขณะนี้คือการขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังจะเห็นได้จากที่ประเทศสิงคโปร์มีแนวโน้มประสบภาวะขาดแคลนผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศถึงเกือบ 30,000 ตำแหน่ง ส่งผลให้บริษัทสตาร์ทอัพหลายแห่งจ้างผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศให้มาปฏิบัติงานในบริษัทของตน โดยเฉพาะตำแหน่งในระดับบริหาร
หากแต่นับเป็นเรื่องที่ดี เมื่อคนในท้องถิ่นสามารถเรียนรู้แนวคิดและประสบการณ์ที่เป็นสากลจากผู้มีความสามารถที่บริษัทจ้างมาได้ เป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการของบริษัทสตาร์ทอัพในหลายประเทศ เช่น รัฐบาลอินโดนีเซียวางแผนจะเชิญผู้เชี่ยวชาญทั้งจาก Silicon Valley และทั่วทุกมุมโลกมาให้คำแนะนำแก่บริษัทสตาร์ทอัพเกิดใหม่ ภายใต้โครงการ Go Digital Vision 2020 หรือในกรณีของแกร็บ ก็ได้วางแผนสร้างศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งจะช่วยยกระดับให้เมืองหลวงของอินโดนีเซียกลายเป็นสมาชิกใหม่ในเครือข่ายศูนย์วิจัยและพัฒนาของแกร็บ นอกเหนือไปจากนครซีแอตเทิล กรุงปักกิ่ง ประเทศสิงคโปร์ และนครโฮจิมินห์ อีกทั้งยังส่งผลให้เกิดการแลกเปลี่ยนทักษะและแนวคิดใหม่ๆ อีกด้วย
ในส่วนภาครัฐเองก็สามารถสร้างโครงการฝึกสอน หรือโครงการเพื่อการศึกษาที่ช่วยบ่มเพาะคนในท้องถิ่นให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีสารสนเทศได้ หนึ่งในโครงการที่น่าสนใจคือโครงการ SkillsFuture ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีเงินทุนสำหรับการพัฒนาตนเองให้กับประชาชนทั่วไปที่ได้รับการคัดเลือก
ร่วมมือกับภาครัฐ : สร้างทางออกร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหา
บริษัทสตาร์ทอัพมักถูกมองว่าเข้ามาเพื่อ “เปลี่ยนแปลงโลก” ในขณะที่ภาครัฐ ซึ่งเป็นผู้กำหนดกฎระเบียบถูกมองว่าเป็นฝ่ายที่เชื่องช้า และสกัดกั้นความก้าวหน้า
ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นตลาดเกิดใหม่ที่มีอุปสรรคในการพัฒนามากกว่าภูมิภาคอื่นทั่วทุกมุมโลก ทั้งความไม่เท่าเทียมกันด้านรายรับ การจราจรติดขัด และปัญหาประชากรที่ไม่รู้หนังสือ การแก้ปัญหาเหล่านี้ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ตั้งแต่ระดับนโยบาย อย่างไรก็ดี ปัญหาที่สำคัญคือภาครัฐมักจะไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้อย่างทันท่วงที ซึ่งแตกต่างจากภาคเอกชน อีกทั้งยังขาดความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
นวัตกรรมและแนวคิดใหม่ๆ ทางเทคโนโลยีสามารถช่วยลดช่องว่างทางสังคม ตัวอย่างหนึ่งซึ่งเป็นปัญหาสำคัญของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้คือปัญหาด้านการผสานข้อมูลทางการเงินให้เป็นระบบ เพราะภูมิภาคนี้มีประชากรกลุ่มผู้ใหญ่กว่า 264 ล้านคนที่ยังไม่มีบัญชีธนาคาร ทำให้ไม่มีข้อมูลเครดิต และไม่สามารถเข้าถึงบริการทางการเงินต่างๆ เช่น เงินกู้ยืมสำหรับสร้างที่อยู่อาศัยหรือเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา
การคิดค้นแอพลิเคชั่นด้านเทคโนโลยีการเงินการธนาคาร (FinTech) สำหรับใช้งานร่วมกับสมาร์ทโฟนราคาถูกช่วยให้ประชากรที่อยู่ห่างไกลสามารถใช้บริการทางการเงินได้ อำนวยความสะดวกให้กับประชากรของประเทศที่มี ภูมิประเทศเป็นหมู่เกาะอย่างอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็น 2 ประเทศที่มีกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ที่ไม่มีบัญชีธนาคารสูงที่สุดในอาเซียน
อนาคตของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องเผชิญกับความท้าทายอีกมาก เพื่อทำความฝันด้านดิจิทัลให้เป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในพื้นที่ห่างไกลที่มีจำกัด หรือแม้แต่ความแข็งแกร่งของระบบรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ในแต่ละท้องที่ที่ยังแตกต่างกันเป็นอย่างมาก รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคนี้ต่างต้องการจะใช้นวัตกรรมดิจิทัลยกระดับเศรษฐกิจของตน แต่องค์กรภาครัฐที่มีหน้าที่กำหนดระเบียบหรือข้อบังคับต่างๆ ยังคงไม่ขานรับการเปลี่ยนแปลง และส่งผลให้บริษัทสตาร์ทอัพเกิดใหม่หลายรายไม่สามารถเติบโตได้
มีหลายสิ่งที่ทุกฝ่ายต้องร่วมมือกันเพื่อบรรลุเป้าหมาย ซึ่งจะส่งผลต่อศักยภาพของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทุกฝ่ายสามารถร่วมกันสร้างอีโคซิสเต็มที่เหมาะสมสำหรับภูมิภาคนี้ ทั้งบริษัทสตาร์ทอัพ องค์กรธุรกิจแบบดั้งเดิม และภาครัฐ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้ในที่สุด
ความท้าทายของการทำฝัน Thailand 4.0 ให้เป็นจริง
นายวีร์ จารุนันท์ศิริ กรรมการฝ่ายธุรกิจและบรรษัทสัมพันธ์ บริษัท แกร็บ (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า “ตลอดระยะเวลาสามปีครึ่งที่แกร็บดำเนินธุรกิจในประเทศไทย เรารู้สึกยินดีที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ผลักดันประเทศไทยไปสู่ยุคดิจิทัล สิ่งที่แกร็บให้ความสำคัญที่สุดคือการยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คน เราจึงมุ่งมั่นทำงานร่วมกับทุกฝ่ายไม่ใช่แค่ภาครัฐเท่านั้น แต่ยังให้ความช่วยเหลือและแบ่งปันประสบการณ์ของเราให้กับบริษัทสตาร์ทอัพที่มีเป้าประสงค์เดียวกัน ร่วมมือกันขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่ยุคสมัยของเศรษฐกิจดิจิทัลด้วย”
“หนึ่งในความท้าทายหลักที่ประเทศไทยต้องเผชิญในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่แนวคิด Thailand 4.0 นั้นก็คือการจูงใจให้ผู้คนเชื่อมั่นและเปิดรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมากขึ้น และสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในกระบวนการดังกล่าวเนื่องจากองค์กรเหล่านี้มีข้อมูลที่มีประโยชน์มากมายที่เกิดจากการดำเนินงาน ยกตัวอย่างเช่น แกร็บเป็นองค์กรที่ใช้เทคโนโลยียกระดับวิถีชีวิตและการทำงานของผู้ขับขี่รถแท็กซี่หลายหมื่นคน ผู้ขับขี่รถแท็กซี่เหล่านี้จำนวนหนึ่งไม่เคยใช้สมาร์ทโฟนมาก่อนด้วยซ้ำ และสามารถถ่ายทอดประสบการณ์สู่ผู้อื่นได้ว่าเทคโนโลยีได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของพวกเขาไปอย่างไร” นายวีร์กล่าวสรุป
###
เกี่ยวกับ แกร็บ
แกร็บ (Grab) ผู้นำแพลตฟอร์มด้านการขนส่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ความท้าทายของเราคือการแก้ปัญหาด้านระบบขนส่งและทำให้คนทั้ง 620 ล้านคนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รู้สึกถึงความสะดวกสบายในการเดินทางอย่างแท้จริง แอพพลิเคชั่นแกร็บให้บริการที่หลากหลาย อาทิ บริการเรียกรถยนต์ส่วนบุคคลบริการมอเตอร์ไซค์รับส่งของและบริการเรียกรถแท็กซี่ ทั้งนี้แกร็บถือเป็นผู้บุกเบิกในการมอบทางเลือกการเดินทางที่มีความรวดเร็วปลอดภัยและเชื่อถือได้ ให้แก่ผู้ขับขี่และผู้โดยสาร รวมถึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์แพลตฟอร์มการชำระเงินอย่างแกร็บเพย์ ในปัจจุบัน แกร็บให้บริการในประเทศสิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม พม่า และไทย สามารถอ่านและติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ http://www.grab.com
You must be logged in to post a comment.