ดีแทค ย้ำมาตรการบรรเทาปัญหา SMS ที่ไม่พึงประสงค์ ชี้ปัญหาต้องเร่งแก้ร่วมกันทั้งระบบ

 5 กุมภาพันธ์ 2561 – ดีแทคกำหนดมาตรการบรรเทาปัญหา SMS ไม่พึงประสงค์ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมเสนอวิธีให้ลูกค้ากำจัดบริการ SMS ไม่พึงประสงค์ได้ผ่าน dtac App ปัจจุบัน พบมัลแวร์สาเหตุหลักของ SMS ไม่พึงประสงค์ แนะผู้บริโภคติดตั้งมัลแวร์ (malware protection) แอปที่ช่วยป้องกันการตอบรับ SMS ไม่พึงประสงค์ได้ ดีแทคยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจที่มุ่งรักษาผลประโยชน์และข้อมูลส่วนบุคคลของลูกค้า

 

นายโรจน์ เดโชดมพันธุ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ธุรกิจโพสต์เพด สายงานพาณิชย์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทครับฟังเสียงของลูกค้า และตระหนักถึงปัญหาที่ลูกค้ากำลังเผชิญอยู่จากบริการ SMS ที่ไม่พึงประสงค์ โดยใช้ทั้งมาตรการเชิงรุกและเชิงรับที่จะเร่งแก้ปัญหาให้ลูกค้าได้ทันที ทั้งการตรวจและดักจับมัลแวร์ไอพีซึ่งทำเป็นรายวันและรายสัปดาห์ ยกเลิกคอนเท้นท์พาร์ทเนอร์ที่มีการร้องเรียนเข้ามา ตลอดจนตรวจสอบและแก้ไขการใช้บริการของลูกค้าก่อนที่จะออกใบแจ้งค่าใช้บริการ รวมถึงคืนเงินและบล็อกการใช้บริการ SMS ที่ไม่พึงประสงค์ให้กับลูกค้า

อย่างไรก็ตาม ปัญหานี้ไม่สามารถแก้ให้หมดไปจาก โอเปอเรเตอร์เพียงฝ่ายเดียวได้ การจัดการกับ SMS หรือข้อความที่ไม่พึงประสงค์ เกิดมาจากระบบนิเวศน์ หรือ Ecosystem ในการให้บริการ ซึ่งประกอบไปด้วยหลายประเภทธุรกิจที่อยู่ในวงจรนี้ คือ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่(Operator) ผู้ให้บริการคอนเท้นท์ (Content Provider) และกลุ่มบริษัท (Affiliate provider) ที่ทำแพลตฟอร์มให้บริการในการทำโฆษณาออนไลน์ สำหรับให้นักโฆษณา (Advertiser) หรือเจ้าของธุรกิจที่ต้องการทำโฆษณาออนไลน์ ใช้เพื่อทำการโฆษณาออนไลน์ ให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายหรือกลุ่มลูกค้าของผู้โฆษณาโดยมีช่องทางที่หลากหลาย ทุกธุรกิจที่อยู่ในกระบวนการต้องมีจริยธรรมในการให้บริการ ต้องคำนึงถึงความถูกต้อง ไม่ฉ้อโกง หรือเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภค

ทั้งนี้ดีแทคตระหนักถึงผู้บริโภคเป็นสำคัญและไม่ได้ละเลยในประเด็นข้อร้องเรียนใดๆ เราจึงพยายามพัฒนาจัดทำระบบเพื่อดูแลผู้บริโภคให้ได้รับความเป็นธรรมและเกิดความพึงพอใจสูงสุดในการใช้บริการ นอกจาก *137 บริการแจ้งยกเลิก SMS ที่ไม่ต้องการแล้ว ดีแทคยังพัฒนาเทคนิคการป้องกันอีกหลายรูปแบบ อาทิ การตรวจสอบการรับบริการบนดีแทค แอป จัดทำระบบแนะนำการสมัครใช้บริการ AOC (Advise of charge) ที่ใช้กับ Content partner ทุกราย เมื่อลูกค้าต้องการสมัครบริการเสริมผ่านช่องทางต่างๆ เช่น Web/Wap/App Banner On-Net ระบบAOC จะช่วยให้ลูกค้าดีแทคได้ทราบถึง ชื่อบริการ รายละเอียด ราคา และจำนวนการส่งข้อความให้เป็น วัน/สัปดาห์/เดือน นอกจากนี้ ยังได้ให้รายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสมัครว่า หากผู้ใช้บริการประสงค์จะสมัครจะต้องดำเนินการอย่างไร เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบรายละเอียดที่จำเป็นครบถ้วนเพียงพอแก่การพิจารณาและตัดสินใจในการสมัครใช้บริการนั้นๆ โดยมีลิงค์ให้เข้าไป ยืนยันยอมรับ ข้อกำหนดและเงื่อนไขให้รับทราบก่อนยืนยันการสมัครบริการ

รวมถึงแอปป้องกันมัลแวร์ การทำระบบแคปช่า (Captcha) ที่ใช้ทดสอบเพื่อให้ทราบว่าผู้ใช้เป็นมนุษย์จริงๆไม่ใช่ โปรแกรมอัตโนมัติหรือบอท และดีแทคจะออกใบรับรอง (Certified) ให้กับ กลุ่มผู้ให้บริการโฆษณาออนไลน์ รวมถึงการแบ่งปันข้อมูลรายชื่อมัลแวร์ไอพีร่วมกันระหว่างโอเปอเรเตอร์ เพื่อให้มั่นใจได้ทั้งอุตสาหกรรม

รวมถึงมาตรการระยะยาวในการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ Ad Network ทุกราย ที่สามารถยิงโฆษณาในเว็บจำนวนมากที่อยู่ในเครือข่ายได้ในการให้บริการอย่างถูกต้อง ชัดเจน ตรงไปตรงมา

ดีแทคให้ความสำคัญอย่างสูง ในการปกป้องข้อมูลความเป็นส่วนตัวลูกค้า การจัดเก็บข้อมูลของลูกค้า ดีแทคจะดำเนินการเท่าที่จำเป็นและเพื่อประโยชน์ในการให้บริการโทรคมนาคมของผู้ให้บริการเท่านั้น ในการเก็บรักษาข้อมูลส่วนบุคคลอยู่ภายใต้มาตรฐานในการรักษาความปลอดภัยอย่างเคร่งครัด

ข้อแนะนำสำหรับผู้ใช้บริการดีแทค ในการป้องกัน SMS ที่ไม่พึงประสงค์

  1. การตรวจสอบและลบบริการSMS ที่ไม่พึงประสงค์จาก ดีแทค แอป (dtac application) ผู้ใช้บริการดีแทค สามารถดาวน์โหลด ดีแทค แอป แล้วเข้าไปในหน้าการใช้งาน Usage details ซึ่งจะมีให้ตรวจสอบว่า มี SMS หรือ คอนเท้นท์อะไรที่เปิดบริการอยู่ ถ้าไม่ต้องการรับบริการ สามารถเข้าไปลบบริการนั้นได้เลย
  2. การให้ความรู้เรื่องมัลแวร์ (Malware) อาจมีกรณีที่ลูกค้าไม่ได้รับAOC ซึ่งอาจเป็นไปได้ที่โทรศัพท์มือถือ อาจจะเกิดมัลแวร์ที่แอบแฝงอยู่ในแอปบนสมาร์ทโฟน โดยแนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นรักษาความปลอดภัยที่สามารถสแกนไวรัสและมัลแวร์ได้ ควรติดตั้งแอปพลิเคชั่นต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพ และควรเลือกใช้ แอปพลิเคชั่น ที่สามารถสแกนหน่วยความจำ SD บนโทรศัพท์มือถือได้หมดทั้งไฟล์ที่ไม่จำเป็น ไฟล์คำสั่งที่ทำงานได้ (executables) โฟลเดอร์ขยะ และข้อมูลชั่วคราว (temp data) ทั้งนี้ควรจะหมั่นอัพเกรดซอฟต์แวร์ และอัพเดทเฟิร์มแวร์ ที่ติดตั้งในเครื่องให้เป็นเวอร์ชันล่าสุด ซึ่งจะช่วยให้สมาร์ทโฟนของเรามีความปลอดภัยอยู่เสมอ

 

ถูกใจบทความนี้  3