พฤติกรรม “ไลฟ์” ออนไลน์ไร้เซ็นเซอร์ ที่เด็กและเยาวชนต้องระวัง

dtac

  พฤติกรรม “ไลฟ์” ออนไลน์ไร้เซ็นเซอร์ ที่เด็กและเยาวชนต้องระวัง โดย อรอุมา ฤกษ์พัฒนาพิพัฒน์ ผู้อำนวยการอาวุโสสายงานสื่อสารองค์กรและการพัฒนาอย่างยั่งยืน บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค  “พบกับเรื่องราวสุดเด็ดแบบสดๆไม่มีตัดต่อ วันนี้จะ Live เข้ามาดูกันเยอะๆนะ” ข้อความเชิญชวนยอดฮิตบนโลกโซเชี่ยลมีเดียที่กลายเป็นสื่อส่วนบุคคลที่ไม่มีราคาค่างวดในการจองโฆษณา แต่กลับเป็นสื่อที่ทรงพลังสามารถสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายได้ตรงที่สุด อีกทั้งยังเป็นการสื่อสารถึงกลุ่มเพื่อนที่เราอนุญาตให้เข้ามาชมเรื่องราวชีวิตของเราและสื่อสารโต้ตอบกันได้แบบเรียลไทม์ โดยหนึ่งในโซเชี่ยลมีเดียยอดฮิตอย่างเฟซบุ๊คได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่ายูสเซอร์จะนิยมใช้เวลาในการดูวีดีโอสด (Live) มากกว่า 3 เท่า เมื่อเทียบกับการดูวีดีโอแบบย้อนหลัง จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมพฤติกรรมการรายงานสดถึงได้เป็นที่นิยมมากทั้งผู้โพสและผู้ติดตาม  

 

dtac

ในเชิงกฎหมาย การใช้โซเชี่ยลมีเดียในการถ่ายทอดสด ไม่ใช่เรื่องที่ผิด เเต่ถ้าใช้ในทางที่ไม่เหมาะสมถือว่ามีความผิดตามกฎหมายพ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทําผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 ตามมาตรา 14 ผู้ใดกระทำความผิดที่เผยแพร่ ส่งต่อ หรือนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ เกิดความเสียหายต่อความมั่นคงของประเทศหรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรหรือความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้ายตามประมวลกฎหมายอาญา และข้อมูลที่มีลักษณะอันลามก ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

 

แท้จริงแล้วปัญหาสังคมไม่ได้ถูกแก้ด้วยการหวังเพิ่งกฎหมายเพียงอย่างเดียว เพราะสิ่งที่สำคัญที่จะเป็นดัชนีชี้วัดการแก้ปัญหาเชิงลึกเพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่นยืน คือ Digital resilience ความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันในการใช้ดิจิทัล ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกให้ความสำคัญและใช้เป็นแนวทางในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง ดังมีตัวเลขที่น่าสนใจจากเทเลนอร์กรุ๊ป ผู้ให้บริการโมบายอินเทอร์เน็ตชั้นนำของโลก ได้ทำการสำรวจเด็กและเยาวชนจาก 12 ประเทศรวมถึงประเทศไทย กว่า 67 ล้านคนที่ใช้อินเทอร์เน็ตพบว่า เกินกว่าครึ่งคือ 35 ล้านคนมีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งบนโลกออนไลน์ (Cyberbullying) ในขณะที่ 17 ล้านคนเคยพูดคุยกับคนที่ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน โดยรูปแบบของความเสี่ยงเหล่านี้เกิดจาก 1. เนื้อหาที่ไม่เหมาะสม (Content) 2. การพูดคุยกับคนที่ไม่รู้จัก (Contact) 3. เรื่องของหลอกลวงให้ซื้อขายของ (Commerce) และสุดท้ายคือเรื่องความปลอดภัย (Security)   ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าวนี้เป็นปัจจัยส่งผลให้ดัชนีความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันในการใช้ดิจิทัลของแต่ละประเทศแตกต่างกัน ดังรายงานที่จัดทำโดยบอสตัน คอนเซาท์ติ้ง กรุ๊ป พบว่า กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างในแถบสแกนดิเนเวีย อาทิ สวีเดน, นอร์เวย์ และเดนมาร์ค มีความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันในการใช้ดิจิทัลสูงมาก ในขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างไทย, มาเลเซีย, ฮังการี, เซอร์เบีย และรัสเซีย อยู่ในระดับปานกลาง ส่วนอินเดีย, บังคลาเทศ และปากีสถาน อยู่ในระดับน้อยที่สุด

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องเร่งด่วนสำหรับประเทศไทย หากเปรียบกับอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด การสร้างความเข้มแข็งและภูมิคุ้มกันในการใช้ดิจิทัลให้เด็กและเยาวชน คือการสร้างให้ลูกหลานของพวกเราเหล่านั้นรู้จัก Digital Literacy มีความรู้และแยกแยะได้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นบนโลกออนไลน์ มีทักษะในการรับมือและนำมาใช้วิเคราะห์และแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างให้เป็นเกราะป้องกันในการใช้อินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์ได้ด้วยตัวเอง ดังในประเทศอังกฤษที่บรรจุวิชานี้อยู่ในหลักสูตรการเรียนการสอนปูพื้นฐานของเด็กประถมวัย โดยให้เป็นวิชาที่เน้นเทียบเท่าวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ โดยสามารถลดปัญหาเด็กและเยาวชนที่ใช้สื่อออนไลน์อย่างไม่เหมาะสมได้ถึง 40%

โดยเฉพาะอย่างยิ่งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครูอาจารย์ ถือเป็นบทบาทหน้าที่สำคัญในการสร้างเกราะป้องกันนี้ให้เด็กและเยาวชนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ถึงเวลาที่พ่อแม่จะต้องหายาสามัญที่ชื่อว่า “รู้ทันดิจิทัล” มาไว้เป็นอาวุธประจำบ้านก่อนลูกจะหนีออกจากบ้านผ่านทางหน้าต่างที่ชื่อว่า “อินเทอร์เน็ต”



ถูกใจบทความนี้  0